Coffee Routes
เครื่องดื่มสีเข้มดำ ที่เรียกกันว่า กาแฟ นั้น เรียกได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของนักเดินทางก็ว่าได้ หลายคนชื่นชอบที่นั่งร้านริมทาง แล้วดื่มด่ำกาแฟสักแก้วพร้อมกับดูผู้คนที่เดินผ่านไปมา หลายคนเลือกมุมเล็กๆ ในร้านขนาดกะทัดรัดแล้วเพลิดเพลินไปกับหนังสือเล่มโปรดพร้อมปล่อยเวลาให้ผ่านไปอย่างไร้กังวล
ดังนั้นร้านกาแฟหลายแห่งจึงไม่ได้เป็นเพียงร้านขายเครื่องดื่ม แต่เป็นเหมือนสถานที่ พักร้อน สำหรับผู้ที่เหนื่อยล้ากับความวุ่นวาย เป็นสถานที่สังสรรค์ สำหรับผู้คนเพื่อนฝูงที่มารวมตัว เข้าสังคม แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนเป็นสถานที่ส่งผ่านวัฒนธรรมจากกลุ่มคนหนึ่งสู่อีกกลุ่มคน
ประวัติและประเภทของกาแฟ
มีเรื่องราวของกาแฟเล่าขานกันมาว่า หลักฐานบันทึกว่าการดื่มกาแฟได้ปรากฏขึ้นราวกลางคริสต์ศตวรรษที่ 15 อันเป็นหลักฐานซึ่งเชื่อถือได้และเก่าแก่ที่สุด ถูกพบในวิหารซูฟี ในเยเมน แถบอาระเบีย (Arabia) จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมดื่มกาแฟในช่วงเทศกาลรอมฎอน เพราะกาแฟช่วยคลายง่วงทำให้ผู้คนสามารถทำพิธีในตอนกลางคืนได้ของโลกมุสลิม จนพัฒนาเป็นร้านกาแฟ และเริ่มแพร่ขยายไปยังทวีปยุโรป อินโดนีเซีย และทวีปอเมริกา
แต่ในบางเรื่องราวก็ว่าแหล่งกำเนิดของกาแฟนั้นมาจากถูกพบในเมืองคัพฟา (Kaffa) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเอธิโอเปีย (Ethiopia) สมัยนั้นไม่มีผู้ใดให้ความสนใจเท่าใดนักจนกระทั่งล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 9 มีคนเลี้ยงแพะชาวอาระเบียคนหนึ่งชื่อ คาลดี (Kaldi) นำแพะออกไปเลี้ยงตามปกติ แพะได้กินผลไม้สีแดงชนิดหนึ่งเข้าไปแล้วเกิดความคึกคะนองผิดปกติ จึงได้นำเรื่องไปเล่าให้ชาวมุสลิมท่านหนึ่งฟัง จึงได้นำผลของต้นไม้นั้นมากะเทาะเปลือกเอาเมล็ดไปคั่วแล้วต้มในน้ำร้อนดื่มเห็นว่ามีความกระปรี้กระเปร่า และเริ่มแพร่หลายเพิ่มขึ้นจากประเทศอาระเบีย เข้าสู่ประเทศอิตาลี เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ฝรั่งเศส
แม้ว่าในโลกนี้จะมีกาแฟมากมายหลากพันธุ์ หลายชนิด แต่ที่รู้จักกันโดยทั่วไปจะมีอยู่ 4 พันธุ์ คือ อะราบิก้า (Arabica) โรบัสต้า (Robusta) เอกเซลซ่า (Excelsa) และลิเบอริก้า (Liberica) แต่กาแฟพันธุ์ ลิเบอริก้าและเอกเซลซ่า ไม่นิยมปลูกเนื่องจากด้อยเรื่องของกลิ่นและรสชาติ ทำให้ไม่ค่อยอร่อยถูกปาก ดังนั้นจึงมีเพียง 2 พันธุ์ ก็คือ อะราบิก้า และโรบัสต้า
กว่า 80% ในตลาดกาแฟโลกเป็นพันธุ์อะราบิก้าซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่นิยมปลูกและบริโภคกันมากที่สุดในโลก แต่จะมีจำนวนเพียง 1 ใน 8 เท่านั้นที่เป็นกาแฟที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและเป็นที่นิยม
ลักษณะของเมล็ดจะมีรูปร่างที่ค่อนข้างเรียวผอมและรอยผ่าไส้กลางมีลักษณะคล้ายตัว S ในภาษาอังกฤษ เมื่อผ่านกระบวนการผลิตแล้ว กาแฟพันธุ์นี้จะมีกลิ่นหอมหวานอบอวล ซับซ้อน คล้ายกลิ่นช็อกโกแลตและดอกไม้ รสชาตินุ่มละมุน มีปริมาณกาเฟอีนต่ำมากประมาณ 1.1-1.7 เปอร์เซ็นต์หรือประมาณครึ่งหนึ่งของพันธุ์โรบัสต้าในสัดส่วนเท่ากัน
กาแฟอะราบิก้าชอบความเย็น เจริญเติบโตและให้ผลผลิตดีในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 800-2,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อย่างที่ประเทศไทยพื้นที่ปลูกอะราบิก้าได้เป็นอย่างดี เช่น เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง เป็นต้น
สายพันธุ์ที่นิยมปลูกมากคือ สายพันธุ์ คาติมอร์ อะราบิก้าในประเทศไทยสามารถให้ผลผลิตได้ประมาณ 10,000 ตันต่อปี ส่วนในต่างประเทศ ดินแดนอเมริกาใต้ ถือได้ว่าเป็นเจ้าแห่งการปลูกกาแฟพันธุ์อะราบิก้าในศตวรรษนี้ โดยเฉพาะประเทศบราซิลเรียกได้ว่า เป็นอันดับหนึ่งในการส่งออก ต่อมาคือประเทศโคลอมเบีย
สำหรับเมล็ดพันธุ์โรบัสต้าจะอวบอ้วน ด้านหลังมีลักษณะนูนเป็นหลังเต่า รอยผ่าไส้กลางเมล็ดจะเป็นเส้นค่อนข้างตรง กาแฟสายพันธุ์นี้ กลิ่นไม่หอมหวานอบอวลไม่ซับซ้อน รสชาติฝาดกว่าพันธุ์อะราบิก้า และมีปริมาณกาเฟอีนสูงกว่า 1-2 เท่าตัวหรือ ประมาณ 2-4.5 เปอร์เซ็นต์
ส่วนกลิ่นของสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้าจะค่อนข้างออกไปทางฉุน รสชาติก็จะเข้มข้นและขมกว่า ส่วนมากจะถูกนำไปทำเป็นกาแฟสำเร็จรูป หรือนำมาผสมกับกาแฟพันธุ์ อะราบิก้า เพื่อให้ได้รสชาติที่แตกต่างออกไป โรบัสต้าเป็นพันธุ์ที่ต้องการความชุ่มชื้นสูง ปลูกง่ายให้ปริมาณผลผลิตมาก สามารถปลูกในพื้นที่ที่มีระดับความสูงตั้งแต่ 500-600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล
สำหรับประเทศไทยนิยมปลูกกันทางภาคใต้ เช่นที่จังหวัดชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช เป็นต้น ในประเทศไทยสามารถให้ผลผลิตได้ประมาณปีละ 70,000 ตันต่อปี ส่วนกาแฟโรบัสต้าที่มีมูลค่าสูงที่สุด ชนิดหนึ่งได้แก่ โกปี ลูวัค (Kopi Luwak) หรือกาแฟขี้ชะมดนั่นเอง
กาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์ มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ทั้งเรื่องของรสชาติและพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม หลังจากที่ได้คัดสรรพันธุ์และเมล็ดที่สมบูรณ์ ผ่านกระบวนการหมัก ล้างทำความสะอาดด้วยน้ำบริสุทธิ์ แล้วนำไปตากแห้ง จนได้เมล็ดกาแฟสีเขียว จากนั้นก็เป็นขั้นตอนของการคั่วเมล็ดกาแฟสีเขียว เพื่อทำให้กาแฟมีความหนาแน่นลดลง ซึ่งส่งผลต่อความเข้มของกาแฟ
โดยกระบวนการคั่วนั้นเป็นการทำให้อุณหภูมิภายในเมล็ดกาแฟสูงขึ้นถึงประมาณ 200 องศาเซลเซียส โดยระหว่างการคั่วจะทำให้แป้งที่อยู่ในเมล็ดกาแฟ เปลี่ยนเป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ทำให้เมล็ดกาแฟเริ่มเกรียม และเปลี่ยนสีเข้มขึ้น ซึ่งหากเมล็ดกาแฟผ่านการคั่วเป็นระยะเวลานานจะทำให้ น้ำมันหอม กรด และกาเฟอีนมีปริมาณที่อ่อนลง เมื่อได้เมล็ดกาแฟคั่วเรียบร้อยแล้วก็มาถึงขั้นตอนของการชง ทำให้เกิดเป็นกาแฟหลากชนิด ได้แก่
เอสเปรสโซ (Espresso) คำว่า Espresso มาจากคำภาษาอิตาลี แปลว่า เร่งด่วน เอสเปรสโซเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของเมนูกาแฟทุกอย่าง เริ่มจากการสกัดกาแฟจากเครื่องชงกาแฟ 1 shot มีปริมาตรเท่ากับ 30 ml หรือ 1 oz หรือที่เรียกว่า Espresso shot ชงโดยใช้แรงอัดไอน้ำหรือน้ำร้อนผ่านเมล็ดกาแฟคั่วที่บดละเอียด ให้รสชาติเข้มที่สุด และเสิร์ฟเป็นชอตแบบไม่เติมน้ำตาลหรือนมเพิ่ม ควรดื่มตอนชงใหม่ๆ เพื่อไม่ให้เสียรสชาติ เป็นกาแฟที่นิยมมากที่สุดในแถบประเทศยุโรปตอนใต้ โดยเฉพาะประเทศอิตาลี
ลาเต้ (Caffe latte) คำว่า Latte ก็มาจากภาษาอิตาลี แปลว่า นม กาแฟลาเต้นี้รู้จักกันในชื่อของ “caffe e latte” ซึ่งหมายถึง กาแฟกับนม ซึ่งใกล้เคียงกับในภาษาฝรั่งเศส คำว่า “cafe au lait” กาแฟลาเต้เริ่มเป็นที่นิยมนอกประเทศอิตาลีในช่วงต้นทศวรรษที่ 1980 มีส่วนผสมของเอสเปรสโซ 1/3 ส่วนและนมร้อนอีก 2/3 ส่วน อาจจะมีฟองนมด้านบนด้วยก็ได้ มีรสชาตินุ่ม กลมกล่อม หวานมัน นุ่มละมุนลิ้น ไม่เข้มจนเกินไป ที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งก็คือ ลาเต้
นิยมทำลวดลายบนหน้ากาแฟเพื่อความสวยงามอีกด้วย หรือที่เราเรียกกันว่า “Latte Art” แต่ไม่ได้มีเฉพาะกาแฟลาเต้เท่านั้น กาแฟชนิดอื่นที่มีนมผสมอยู่ ก็สามารถเติมลวดลายลงไปได้เช่นกัน
คาปูชิโน่ (Cappuccino) มีส่วนประกอบ ของเอสเปรสโซ 1/3 ส่วน นมร้อนผ่านไอน้ำหรือนมสตรีม 1/3 ส่วน และฟองนมอีก 1/3 ส่วน อยู่ด้านบนตัวกาแฟ โรยหน้าด้วยผงอบเชยหรือโกโก้เล็กน้อย ส่วนผสมของนมทำให้รสนุ่มขึ้นและดื่มง่ายกว่ากาแฟดำทั่วไป ถือเป็น จุดเด่นของคาปูชิโน่เลยทีเดียว มันคือกาแฟผสมฟองนมหรือโฟมนม
อเมริกาโน่ (Americano) สำหรับที่มาของชื่ออเมริกาโน่ซึ่งหมายถึงสหรัฐอเมริกานั้น ว่ากันว่าเอสเปรสโซเพียวๆ นั้น เข้มข้นเกินไปสำหรับคอกาแฟชาวอเมริกัน จึงมีการเสิร์ฟกาแฟเอสเปรสโซซึ่งทำให้เจือจางด้วยน้ำร้อน ดังนั้นอเมริกาโน่จึงประกอบด้วย เอสเปรสโซ 1 ส่วน และน้ำร้อน 1 ส่วน ทำให้ยังมีกลิ่นและรสชาติที่เข้มจากเอสเปรสโซอยู่ สำหรับผู้กำลังลดความอ้วน หรือรักษาหุ่น เหมาะสุด เพราะไม่มีส่วนผสมของนมและน้ำตาล
มอคค่า (Caffè Mocha) หมายถึงกาแฟมอคค่า เป็นกาแฟอะราบิก้า ชนิดหนึ่ง ซึ่งปลูกอยู่บริเวณท่าเรือมอคค่าในประเทศเยเมน กาแฟมอคค่า มีสีและกลิ่นคล้ายช็อกโกแลต แม้ว่าจะไม่มีส่วนประกอบของช็อกโกแลตในมอคค่าเลยก็ตาม ส่วนกาแฟมอคค่าที่เป็นที่รู้จักและนิยมกันอย่างแพร่หลาย ประกอบไปด้วย เอสเปรสโซ 1/3 ส่วน นมร้อน 2/3 ส่วน และช็อกโกแลตผสมรวมอยู่ด้วย ซึ่งจุดเด่นของกาแฟแบบนี้อยู่ที่ มีส่วนผสมของช็อกโกแลตนั่นเอง รสชาติหอมของตัวกาแฟหน่อยผสมผสานความหวานมันของนมและช็อกโกแลตได้อย่างลงตัว เป็นกาแฟอีกประเภทหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ยังปิดท้ายด้วยวิปปิ้งครีม ราดด้วยไซรัปช็อกโกแลตสุดแสนจะลงตัว
มัคคิอาโต้ (Macchiato) มีทั้งลาเต้ มัคคิอาโต้ (latte macchiato) หรือ เอสเปรสโซมัคคิอาโต้ (espresso macchiato) คือ กาแฟเอสเปรสโซ หรือกาแฟลาเต้ ที่แยกชั้นระหว่างนมกับกาแฟ Espresso shot โดยนม วิธีการทำคือจะใส่นมธรรมดาหรือผสมด้วยไซรัปต่างๆ ไปก่อน ตามด้วยการค่อยๆ เท Espresso shot ลงบนนม จะทำให้เกิดการแยกชั้นเพราะน้ำกาแฟมีความหนาแน่นน้อยกว่านม เมนูนี้เกิดมาเพื่อสร้างความสนุกและสีสันให้กับวงการกาแฟมากขึ้นเมื่อคนให้เข้ากันก็จะได้รสชาติเหมือนลาเต้
อัฟโฟกาโต (Affogato) ในภาษาอิตาลีแปลว่า “ถูกทำให้จม” คือของหวานที่ใช้กาแฟเป็นฐานการปรุง สำหรับ อัฟโฟกาโต สไตล์ (Affogato style) หมายถึงการราดหน้าเครื่องดื่มหรือของหวานด้วยเอสเปรสโซ และอาจจะราดตามด้วยซอสคาราเมล หรือซอสช็อกโกแลต ที่นิยมคือ การนำไอศกรีมมาราดด้วยชอตเอสเปรสโซ ทำให้ไอศกรีมค่อยๆ ละลายจมไปในชอตเอสเปรสโซ ให้ได้รสชาติหอมหวานละมุนจากไอศกรีมและความขมของกาแฟ เข้ากันได้อย่างลงตัว
เมืองขึ้นชื่อสำหรับคนรักกาแฟ
ไม่ว่าจะเป็นกาแฟทั้งเอสเปรสโซแบบเพียวๆ กาแฟนุ่มๆ แบบลาเต้ คาปูชิโน่ หรือกาแฟแบบไหน ก็ถือเป็นเมนูโปรดในหลากหลายประเทศ หากคุณอยากเริ่มต้นวันใหม่ได้อย่างสมบูรณ์แบบหรือผ่อนคลายไประหว่างวันเดินทาง ในบรรยากาศของเมืองที่มีวัฒนธรรมและหลงใหลในการดื่มกาแฟแล้วละก็ ขอแนะนำเมืองเหล่านี้
Italy
อิตาลี ไม่เพียงแต่ขึ้นชื่อเรื่องอาหารและที่เที่ยวสุดโรแมนติกเท่านั้น การดื่มกาแฟกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของอิตาลี โดยเฉพาะ ในกรุงโรมชาวอิตาเลียนจะมีความสุขมากกับการได้จิบกาแฟดำหรือกาแฟสดผสมนมข้นเพื่อเพิ่มอรรถรสในการสนทนาให้ครบรสยิ่งขึ้น กาแฟโปรดของชาวอิตาเลียนเริ่มจากกาแฟลิงโก้ (lingo) เช่น คาปูชิโน่ ลาเต้ และมัคคิอาโต้ ไปจนถึงกาแฟลุงโก้ (lungo) หรือกาแฟสไตล์อิตาลีที่ทำจากเครื่องชงเอสเปรสโซ และมีน้ำเป็นส่วนผสมมากกว่ากาแฟลิงโก้ กาแฟที่นิยมเป็นพิเศษคงหนีไม่พ้นเอสเปรสโซร้อน ที่ดื่มได้เรื่อยๆ
เนื่องจากกาแฟที่นี่พิเศษที่แม้จะมีรสขมหน่อยแต่ก็เกิดจากกรรมวิธีในการชง คือการใช้แรงดันไอน้ำหรือน้ำร้อน กลั่นผ่านเมล็ดกาแฟที่คั่วละเอียดออกมา แก้วเล็กนิดเดียวแต่ได้รสชาติที่เข้มข้น ในแต่ละวันมักดื่มเอสเปรสโซ 5 ชอตขึ้นไป และจะเห็นได้ว่าบาร์กาแฟทั่วเมืองจะให้บริการแบบใช้แนวคิด “ดื่มแล้วค่อยไป” หนึ่งในบาร์ยอดนิยมและชื่อดังที่สุดที่ควรไปเยือนคือ Sant’Eustachio Il Caffe ซึ่งเสิร์ฟกาแฟกว่า 6,000 แก้วในแต่ละวัน หนึ่งในร้านที่เก่าแก่ที่สุดในโลก คงต้องยกให้ “Caffe Florian” ณ จัตุรัสเซนท์มาร์โคเกาะเวนิส นอกจากนั้นกรุงโรม (Rome) เมืองตูริน (Turin) บ้านเกิดของแบรนด์ Lavazza และเมืองทรีเอสเต้ (Trieste) บ้านเกิดของแบรนด์ Illy นับเป็นสองเมืองที่มีชื่อเสียงมากเรื่องกาแฟ
คนอิตาลีมีวิธีการดื่มกาแฟที่น่าสนใจ ปกติจะดื่มกาแฟกันที่บ้านและไม่นิยมที่จะซื้อกาแฟกลับบ้าน (Take away) แต่ถ้าจะดื่มกาแฟกันที่ร้านหรือคาเฟ่ (Café) เนื่องจากอุณหภูมิของกาแฟจะต่ำกว่าของกาแฟในประเทศอื่นเล็กน้อย เหมาะสำหรับยกดื่มทันที แล้วก็จ่ายเงินเดินออกไปทำธุระของตัวเองต่อเลย และนิยมดื่มคาปูชิโน่หรือลาเต้ในช่วงเช้า พร้อมอาหารเช้าหรือหลังอาหารเช้า เพราะมีส่วนผสมของนม ดื่มง่ายไม่เข้มเกินไปสำหรับช่วงเช้าๆ อากาศดีๆ ดังนั้นหลังจากเวลาเที่ยงวัน หากอยากดื่ม กาแฟ คนอิตาลีจะดื่มแต่พวกกาแฟดำหรือเอสเปรสโซเท่านั้น เพื่อช่วยย่อยอาหาร ตอนบ่ายก็จิบชากับขนม ตอนเย็นมื้อเย็นก็ยังดื่มกาแฟเพื่อช่วยย่อยอีกเช่นกัน
Austria
กรุงเวียนนา เมืองหลวงของสาธารณรัฐออสเตรีย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่และยังเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ความมีเสน่ห์มนตร์ขลังและวัฒนธรรมของชาวเวียนนาตั้งแต่อดีต ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเสื่อมคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการดื่มกาแฟ
การดื่มกาแฟของชาวเวียนนาในยุคแรกยังคงดื่มแบบพวกเติร์ก (ออตโตมัน) กาแฟที่มีการชงแบบชาวเติร์กดั้งเดิม ยังคงมีเศษกากของกาแฟที่ไม่ได้กรองออก สีดำข้นไม่ได้ผสมอะไรลงไป และในยุคนี้เอง (ปลายศตวรรษที่ 17) ชาวเวียนนาเริ่มประยุกต์การชงกาแฟดื่มให้หลากหลายและมีรสชาติมากขึ้น โดยการผสมส่วนผสมอื่นๆ เข้าไป หลักๆ มี “นม” และ “น้ำตาล” และที่สำคัญที่สุด คือการกรองเอา “กากของกาแฟ” ออกนั่นเอง
วัฒนธรรมคอฟฟี่เฮาส์สไตล์เวียนนา ได้รับการขึ้นทะเบียนในปี ค.ศ. 2011 “Viennese Coffee House” จากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น “Intangible Cultural Heritage” (ICH) นั่นก็คือ “มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ซึ่งแสดงให้เห็นถึงตัวตนของวัฒนธรรมการดื่มกาแฟของชาวเวียนนาได้เป็นอย่างดี ย่านวีเดน (Wieden) เป็นย่านคาเฟ่ที่เป็นที่นิยมและเป็นสวรรค์ของเหล่าคนนิยมกาแฟ ที่นี่ยังมีสวนที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง Johannes Diodato ผู้ก่อตั้งคอฟฟี่เฮาส์แห่งแรกสุดของเวียนนา
Australia
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 วัฒนธรรมกาแฟนั้นได้ก่อตัวขึ้นในประเทศออสเตรเลียโดย Joaquin Hernandez ผู้คลั่งไคล้กาเฟอีนจากสเปน ตัดสินใจใช้ประโยชน์จากเทรนด์ที่เพิ่มขึ้นนี้และแบ่งปันความหลงใหลในเมล็ดกาแฟในเวลาเดียวกันโดยเปิด Cafe Hernandez ในปี 1973 ตั้งแต่นั้นมาออสเตรเลียก็ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้บริโภคกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้พัฒนาวัฒนธรรมกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะที่เมลเบิร์น (Melbourne) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองหลวงแห่งกาแฟของออสเตรเลีย
ชาวเมืองเมลเบิร์นชื่นชอบการไปคาเฟ่และร้านกาแฟมากกว่าเมืองอื่นๆ โดยร้อยละ 11.5 จะไปคาเฟ่ 16 ครั้งหรือมากกว่าภายในระยะเวลา 3 เดือน (จากการสำรวจในปี 2015 ของ Roy Morgan Research) ที่เมลเบิร์นกาแฟไม่ได้เป็นแค่เครื่องดื่ม แต่คือไลฟ์สไตล์ ยังคงได้รับความนิยมสูงมาอย่างต่อเนื่อง จะเห็นได้จากร้านกาแฟที่เกิดขึ้นอยู่ในแทบทุกที่ในเมือง ที่นี่ไม่ได้เป็นเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่าน แต่ไลฟ์สไตล์ และวิถีความ Slow Life ก็อยู่ในสายเลือด เมลเบิร์นยังเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Coffee Expo เป็นประจำทุกปีด้วย ยังมี Melbourne Coffee Review หรือการรีวิวกาแฟชั้นนำจากทั่วโลกร้านกาแฟก็มีเอกลักษณ์ประจำถิ่นที่แตกต่างกัน ทำให้คุณเพลิดเพลินทั้งรสชาติกาแฟและบรรยากาศที่ไม่ซ้ำกัน ส่วนเมนูกาแฟยอดฮิตของที่นี่ ได้แก่ Latte, Marocchino และ Miel
Turkey
ตุรกี นอกจากจะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมของสองทวีปแล้ว กาแฟตุรกีก็มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยชาวออตโตมันเป็นผู้คิดค้นเมื่อหลายร้อยปีก่อน ช่วงหนึ่งเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในราชสำนัก กล่าวว่า มีพนักงานประจำที่ทำหน้าที่ชงกาแฟให้สุลต่านโดยเฉพาะ หากต้องการจะแนะนำนางกำนัลคนใดให้สุลต่านได้รู้จัก ก็จะให้ทำหน้าที่นำกาแฟไปถวายสุลต่าน นอกจากเป็นเครื่องดื่มแล้ว กาแฟยังสามารถทำนายโชคชะตาด้วย โดยจะทำนายจากถ้วยกาแฟขนาดเล็ก เมื่อดื่มหมดถ้วยแล้วผู้ดื่มจะคว่ำถ้วยกาแฟลง หมอดูจะทำนายจากการอธิษฐานและเปิดถ้วยกาแฟนั้นขึ้น
หลายๆ ประเทศมักดื่มกาแฟอย่างตุรกี คือ ดื่มกาแฟทั้งกาก คนแถบนี้นิยมคั่วกาแฟเข้มมาก จะเรียกว่าไหม้เลยก็ยังได้ ในบางถิ่นจะผสมกับพวกเครื่องเทศ หรือตอนที่คั่วเมล็ดก็จะ
ผสมเครื่องเทศลงไปคลุกกับเมล็ดกาแฟด้วยเพื่อเพิ่มความหอม การดื่มกาแฟแบบนี้ภายหลังไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอิทธิพลของเอเชียตะวันออกหรือว่าอิทธิพลทางศาสนา ประเทศที่นับถือศาสนาอิสลาม เช่น อิรัก อิหร่าน หรืออินโดนีเซียก็ดื่มกาแฟแบบทั้งกากเช่นกัน นอกจากรสชาติกาแฟที่เข้มข้นแล้ววิธีการ เตรียมกาแฟ และชงกาแฟแบบตุรกีก็เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ที่ดึงดูดกาแฟตุรกีจะผ่านการชงให้ได้อุณหภูมิที่พอเหมาะ คนให้เข้ากัน จากนั้นจึงเสิร์ฟพร้อมฟองครีมด้านบน และชั้นกาแฟดำบดด้านล่าง หาดื่มได้ทั่วไปทั้งในโรงแรมระดับไฮเอนด์และตามถนน ในอิสตันบูล เมืองที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมอันยาวนาน
USA
หากพูดถึงวัฒนธรรมเรื่องของการดื่มกาแฟของชาวอเมริกัน สิ่งแรกที่นึกถึงก็คงเป็นกาแฟอเมริกาโน่ (Americano) ที่เกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพทหารอเมริกัน เดินทางไปพร้อมกับกาแฟซึ่งเป็นหนึ่งในเสบียงของทหาร ในรูปแบบกาแฟสำเร็จรูปที่สามารถฉีกซองใส่น้ำร้อนดื่มได้เลย พอพ้นสงคราม วัฒนธรรมของอเมริกาโน่ก็แพร่หลายมากขึ้นจากเดิมที่ไม่ชงเอง ดื่มเอง เป็นชงดื่มเองที่บ้านแบบง่ายขึ้น อเมริกาโน่ บ้างก็เรียกว่า Long Black หรือ Black Coffee
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 มีการบันทึกไว้ว่าช่วงนั้นคนอเมริกัน ดื่มกาแฟกันราว 4.9 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ปริมาณเพิ่มขึ้นไปเป็นสามเท่าในเวลาไม่กี่สิบปี ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาก ต่อมาในช่วงต้น ปี 1946 คนอเมริกันดื่มกาแฟเฉลี่ย 9 กิโลกรัมต่อปีทีเดียว ทำให้เกิด coffee house หรือ Third Place ขึ้นตามเมืองใหญ่มากมาย เพราะคนอเมริกันถือว่า ร้านกาแฟเป็นเหมือน สถานที่ที่ผู้คนได้มารวมตัวพบปะพูดคุยกัน ชาวอเมริกันสร้างวัฒนธรรมเมนูกาแฟของตัวเองขึ้นมา มีการผสมผสานและปรับเปลี่ยนวัตถุดิบเข้าไปในกาแฟ เช่น กาแฟใส่นมถั่วเหลือง หรือนมพร่องมันเนยแทนนมวัว เป็นต้นทำให้เกิดแนวคิด (concept) สุดลึกล้ำที่ทำให้วัฒนธรรมกาแฟสไตล์อเมริกันแพร่หลายไปสู่คนทั่วโลก
ร้านกาแฟดังๆ ของสหรัฐอเมริกา อย่างเช่น กาแฟยี่ห้อ Starbucks ที่โด่งดังไปทั่วโลกก็มีต้นกำเนิดที่เมืองซีแอตเทิล หากมีโอกาสได้ไปซีแอตเทิล ลองไปร้าน Starbucks สาขาแรกใน Pike Place Market ได้ หรือจะสั่งกาแฟเมนูโปรดสักแก้วที่ย่าน University District ซึ่งทันสมัยอยู่เสมอ หรือจะไปย่าน Capitol Hill สุดเจ๋งก็ย่อมได้ นอกจากนี้เมืองพอร์ตแลนด์ที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของรัฐออริกอน ก็เป็นอีกเมืองสำหรับคอกาแฟตัวจริง ซึ่งนอกจากรสชาติของกาแฟจะเป็นจุดขายแล้ว บรรยากาศของเมืองยังเพิ่มอรรถรสในการนั่งสนทนากับเพื่อน หรือการนั่งอ่านหนังสือเพลินๆ ด้วย นอกจากนี้การตกแต่งร้านกาแฟยังเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเขาให้ความสำคัญและใส่ใจการแต่งร้านพอๆ กับรสชาติและคุณภาพของกาแฟเลยล่ะ ซึ่งเป็นสิ่งการันตีได้ว่าคุณจะไม่ผิดหวังเลยหากได้แวะเวียนมาจิบกาแฟรสเลิศท่ามกลางบรรยากาศน่านั่งของร้านกาแฟ
Brazil
พูดถึงกาแฟ ประเทศที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ ประเทศบราซิลผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดของโลก มานานกว่า 150 ปีแล้ว โดยปัจจุบันบราซิลผลิตกาแฟราว 1/3 ของโลกแม้ว่าส่วนแบ่งทางการตลาดจะเคยสูงถึง 80% ก็ตาม กาแฟถูกนำมายังบราซิลจากเฟรนช์เกียนา (French Guiana) ในปี 1727 ในขณะที่บราซิลยังอยู่ภายใต้การปกครองของโปรตุเกส ต่อมาช่วงระหว่างปี 1820 และ 1830 การผลิตกาแฟเติบโตอย่างรวดเร็ว จากภายในประเทศและเริ่มกระจายออกไปสู่ตลาดโลก กลุ่มคนที่ควบคุมการผลิตกาแฟกลายเป็นกลุ่มคนที่ร่ำรวย มีอำนาจ และเป็นที่รู้จักกันว่าเป็น ‘บารอนส์ กาแฟ’ (Coffee Barons)
นอกจากเป็นแหล่งผลิตกาแฟขนาดใหญ่แล้ว บราซิลยังเป็นต้นกำเนิดของการดื่มกาแฟใส่นม ว่ากันว่าการดื่มกาแฟใส่นมเริ่มต้นขึ้นเมื่อกว่าสามร้อยปีก่อน ทั้งหมดเกิดจากการที่รัฐบาลยุคนั้นต้องการให้ประชาชนอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรของตัวเอง เนื่องจากเป็นประเทศที่ปลูกทั้งกาแฟและเลี้ยงวัวอยู่มาก การส่งเสริมเมนู “กาแฟใส่นม” จึงดูเหมาะสมและประสบความสำเร็จอย่างมาก ภายหลังวัฒนธรรมนี้ก็แพร่หลายออกไปในยุโรป ซึ่งถือเป็นลูกค้ารายใหญ่ของกาแฟบราซิล
ส่วนคนบราซิลชื่นชอบการดื่ม cafézinho (ภาษาโปรตุเกส แปลว่า little coffee) หรือกาแฟดำแท้รสชาติหวานเข้มข้น คล้ายกันกับเอสเปรสโซ ซึ่งมีเสิร์ฟที่บาร์และร้านค้าเล็กๆ ในแทบทุกมุมของประเทศ และเป็นเมนูที่คนบราซิลนิยมกว่าไอซ์คาราเมลแฟรปปูชิโน่
Finland
คนฟินแลนด์ชอบดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจ การันตีด้วยการสำรวจจากการจัดลำดับของหลากหลายสำนัก ฟินแลนด์ได้เป็นอันดับหนึ่ง หรืออันดับสองของคนที่บริโภคกาแฟมากที่สุด ด้วยสถิติ 12 กิโลกรัมต่อปี หรือประมาณ 410 ออนซ์ ต่อคนต่อปีนั่นเองหากคิดเป็นแก้วก็ตก 7 แก้วต่อคนต่อเดือน
ว่ากันว่าทุกครัวเรือนของคนฟินแลนด์จะมีชุดกาแฟพิเศษ (และอาจรวมถึงเมล็ดกาแฟพิเศษ) ไว้สำหรับต้อนรับแขกโดยเฉพาะและยังเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีการออกกฎหมายให้มี ‘coffee break’ เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานมีกาเฟอีนไหลเวียนอยู่ในเส้นเลือดตลอดเวลา อาจจะเพราะด้วยความที่อาหารฟินแลนด์และอาหารสวีเดนทางเหนือเป็นอาหารที่มีรสชาติเข้มข้น รวมถึงให้เนื้อสัมผัสแบบครีม คนในท้องถิ่นจึงพยายามผสมผสานเอกลักษณ์นี้กับกาแฟ เพื่อให้กาแฟมีรสชาติถูกปากมากขึ้น จนทำให้มีเมนูกาแฟที่เรียกว่า kaffeost หรือกาแฟชีส หนึ่งในเมนูสุดพิเศษ เป็นการเอาชีสจุ่มลงไปในกาแฟ ใครมีโอกาสไปฟินแลนด์ต้องลองเมนูนี้ นอกจากนี้ ชาวฟินแลนด์มีวิธีคั่วกาแฟเฉพาะที่เรียกว่า Jug Method ถือเป็นวิธีการชงกาแฟที่เก่าแก่วิธีหนึ่ง ทำได้โดยอุ่นเหยือกหรือกาให้ร้อนแล้วปิดฝาไว้ 3 – 5 นาที แล้วเทกาแฟผ่านเครื่องกรอง และชาวฟินแลนด์มักเติมหนังปลาลงไปในกาแฟชิ้นหนึ่ง เพราะหนังปลาช่วยให้กาแฟสะอาดขึ้น ก่อนเสิร์ฟก็เอาหนังปลาออก เสิร์ฟพร้อมครีม นม และน้ำตาล
Vietnam
ศตวรรษที่ 19 ฝรั่งเศสได้นำกาแฟและเผยแพร่วัฒนธรรมการดื่มกาแฟในเวียดนาม เวียดนามจึงเริ่มปลูกกาแฟและได้เป็นประเทศผู้ปลูกกาแฟสำคัญของโลก โดยในช่วงปลายศตวรรษ 1990 เวียดนามเป็นผู้ปลูกกาแฟใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากบราซิล ยอดจำหน่ายกาแฟของร้านกาแฟในเวียดนาม ในปี 2005 มีมูลค่า 14.9 พันล้านดอง หรือ 31.3 ล้านบาท มีร้านกาแฟทั่วประเทศประมาณ 8,350 ร้าน เพิ่มจากปี 2004 ร้อยละ 11 ที่นี่เป็นแหล่งปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่มีปริมาณกาเฟอีนสูง นิยมนำไปทำเป็นกาแฟสำเร็จรูป มีหลากหลายพันธุ์ในภาคต่างๆ ของประเทศ อาทิ Arabica, Robusta, Chari (Excelsa), Catimor เป็นต้น ทำให้สามารถผลิตกาแฟผสมให้ได้รส ลักษณะ และความสมดุลของกาแฟที่หลากหลาย เวียดนามนับได้ว่าเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟซึ่งสัมผัสได้แทบทุกมุมถนน เพราะคนที่นี่มักใช้ร้านกาแฟเป็นสถานที่พบปะทางธุรกิจ และสังคม ร้านกาแฟมีทั้งแบบร้านกาแฟแฟรนไชส์ สาขา และร้านกาแฟอิสระ คนหนุ่มสาวในเมืองมักนิยมเข้าร้านแฟรนไชส์ และสาขา คนรายได้น้อยมักเข้าร้านกาแฟอิสระซึ่งมีอยู่ทั่วไปในทั้งเมืองใหญ่ เช่น ฮานอย โฮจิมินห์ และในชนบท ซึ่งร้านกาแฟอิสระเป็นที่นิยมมาก
คนเวียดนามจะคั่วกาแฟแบบเข้มมาก บางแห่งนิยมนำไปคั่วกับเนย หรือใส่ก้านวานิลลาลงไปด้วยตอนคั่วเพื่อให้เกิดกลิ่นหอม เวลาชงก็จะชงผ่านฟิน (phin) หรือเครื่องดริปของคนเวียดนาม โดยดริปลงในแก้วต่อแก้ว ที่ก้นแก้วมักจะมีน้ำแข็งและนมข้นหวานนอนรออยู่ รสชาติก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณคนแก้วไปกวาดเอาความหวานของนมข้นขึ้นมาผสมกับกาแฟมากเท่าไร หรือบางครั้งคนพื้นบ้านของเวียดนาม ก็จะผสมไข่ลงไปในกาแฟด้วย นอกจากนี้ชาวเวียดนามยังนิยมดื่มกาแฟพร้อมด้วยชุดขนมปังก้อนแบบฝรั่งเศส ทาเนยหรือมาการีน ผักและหมูยอยัดไส้ นอกจากนี้ จะเห็นว่าบางร้านกาแฟมักจะมีคาราโอเกะให้บริการด้วย เพราะคนเวียดนามชอบคาราโอเกะ ดื่มกาแฟไป ร้องเพลงไปเป็นการสันทนาการที่ผ่อนคลายไปอย่างประหลาด