Amazing Grand Canyon

Story & Photo by Kanjana Hongthong

นักท่องเที่ยวที่ไปเยือนแกรนด์แคนยอนร้อยทั้งร้อย ออกตัวกันจากลาสเวกัสกันทั้งนั้น เมื่อท่องราตรีสำรวจไนต์ไลฟ์กันเสร็จแล้ว ถึงจะได้ฤกษ์ไปเยือนแกรนด์แคนยอนกัน และโดยมากก็ไปกันแบบวันเดย์ทริป

ฉันเองก็เช่นกัน ทั้งที่จริงใจอยากจะนอนค้างอ้างแรมในอุทยานสักคืน ดื่มกินธรรมชาติให้จุใจแล้วค่อยกลับ ถ้าเป็นแบบนั้นได้จะสมบูรณ์แบบมาก

บ่อยครั้งที่การเดินทางก็ไม่ได้ดั่งใจเสมอไปเป็นทริปบูดๆ เบี้ยวๆ บ้าง ครึ่งๆ กลางๆ บ้าง ต้องคอยบอกตัวเองว่า เอาเถอะ ยังดีนะ ดีกว่าไม่ได้เที่ยวเลย

จากลาสเวกัสมาราวๆ 50 กิโลเมตร รถเลี้ยวเข้าไปจอดพรืดบนมุมหนึ่งที่อยู่ข้างทาง เขาไม่ได้แวะให้ฉี่หรือยืดเส้นยืดสาย แต่ดงคอนกรีตและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่รอบตัว ปลุกให้หูตาเบิกโพลง เมื่อเห็นป้ายเขื่อนฮูเวอร์ สารภาพตามจริงพื้นเพความรู้เรื่องเขื่อนน้อยมาก แค่รู้ว่าประเทศไทยมี 24 เขื่อน มีเขื่อนภูมิพลใหญ่สุด แค่นั้นจบข่าว

ไม่รู้เป็นไง เป็นมนุษย์ประเภทไม่มีใจให้เขื่อน ถ้ามองในเชิงความเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ฉันคนหนึ่งละ ไม่นิยมเที่ยวเขื่อนเอาซะเลยทั้งๆ ที่เป็นสถานที่อันทรงพลัง แต่ฉันไม่เคยอบอุ่นหรือรื่นใจเมื่ออยู่ใกล้เขื่อน ทำไมเป็นแบบนั้นไม่รู้ ประสบการณ์จากการเที่ยวเขื่อนอัสวานที่อียิปต์กับเขื่อนอิไตปูที่บราซิลทำให้รู้ใจตัวเองว่า ใจไม่กระเพื่อมเวลาเห็นเขื่อน

หน้าที่ของมันคือเก็บกักน้ำเพื่อเกษตรกรรม เป็นปราการเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อผลิตไฟฟ้า ตอนเสร็จใหม่ๆ เมื่อ 70 กว่าปีที่ผ่านมาเขื่อนคอนกรีตแห่งนี้ถูกยกให้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เอาชนะภัยธรรมชาติได้เรื่องก่อร่างสร้างเขื่อน เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย ดูตามประวัติเขาว่าใช้เวลาสร้างตั้ง 7 ปี แต่ที่ยากกว่าน่าจะเป็นช่วงสำรวจที่ต้องใช้เวลา 20 กว่าปี สำหรับชาวอเมริกันพวกเขาคงถูกใจ ที่หลังจากเขื่อนแห่งนี้ถูกเนรมิตขึ้น คุณประโยชน์มหาศาลก็เกิดขึ้นแผ่ไปทั่วดินแดนแถบนี้

จากผืนดินที่เคยเป็นทุ่งแล้งในทะเลทรายก็ช่วยลดความร้อนแล้งลง จากที่บางรัฐเคยขาดแคลน กระแสไฟก็สามารถผลิตกระแสไฟมาเติมเต็มได้ ที่เราเห็นลาสเวกัสมลังเมลืองวับวาวไปด้วย แสงนีออนห่มเมือง ก็จากเขื่อนฮูเวอร์นี้ที่ช่วย ลำเลียงไฟไปป้อนให้ถึงที่ แต่ทั้งหมดนี้แลกมาด้วยแรงงานที่ลงแรงอย่างยากลำบากแสนสาหัสแน่นอนว่ามีหลายชีวิตทิ้งลมหายใจไว้ที่นี่ง

ท่ามกลางหุบเขาแบล็กแคนยอนอันสลับซับซ้อน พอเขื่อนฮูเวอร์ถูกมือมนุษย์ถักทอขึ้นเลยพลอยให้เกิดทะเลสาบมี้ดเหนือเขื่อนขึ้นมาด้วย เคยฟังผู้มีประสบการณ์นั่งเฮลิคอปเตอร์บินวนอยู่เหนือเขื่อนฮูเวอร์ เขาว่าจังหวะที่มองลงมาเห็นทะเลสาบมี้ดเนี่ย เหมือนกำลังชมงานศิลปะชิ้นงามๆ อยู่ยังไงยังงั้นที่เห็นเวลานี้เลยมีแต่คอนกรีตเสริมใยเหล็กและสายไฟระโยงระยาง หรือนี่คืองานศิลปะอีกชิ้นหนึ่ง เป็นงานแนวแอ็บสแตร็กที่เราต้องอาศัยจินตนาการเยอะหน่อย จึงจะเข้าใจถึงความหมายและเข้าถึงความงามของมัน ระยะทางจากเขื่อนฯ ไปแกรนด์แคนยอน ไม่ใกล้เอาซะเลย สำหรับคนที่ไม่อัตคัดเวลาจริงๆ เชียร์ให้นอนค้างแถวอุทยานน่าจะเวิร์กกว่า

บ่ายโมงโดยประมาณบัสก็เริ่มเข้าสู่ชายคาอุทยาน โดยเข้าทางด้าน South Rim วิวยังไม่ทันสวยดี ถ้าดูจากแผนที่ก็ต้องบอกว่าหลักๆ คนมาเที่ยวในอุทยาน ถ้าไม่เข้ามาทางด้านเหนือ (North Rim) ก็ด้านใต้ (South Rim) นักท่องอุทยานหลายคนบอกว่าด้านเหนืองดงามกว่า แต่ก็มีข้อจำกัดเรื่องดินฟ้าอากาศ เพราะเขาจะเปิดให้เข้าจากด้านนี้ได้เฉพาะเดือน พ.ค. – ต.ค. เท่านั้น ช่วงที่เหลือถนนจะปิด เพราะหิมะปกคลุมถนนจนการเดินทางลำบาก ส่วนทางเข้าด้านทิศใต้เปิดประตูรับแขกตลอดทั้งปี

หินแถวนี้เขาว่าอายุมากกว่า 2 พันล้านปี แม้ระยะห่างระหว่างจุดชมวิวจากด้านเหนือกับใต้จะห่างกันไม่ไกลเท่าไร แต่ด้วยสภาพอากาศแตกต่างกันมาก ด้านเหนือเขาว่าเวลาฤดูหนาวแสดงตัวจะหนาวจัด ส่วนฝั่งใต้ยังหนาวพอทนแต่แค่ South Rim ก็ทำให้เราอิ่ม

ถ้ามีคำไหนที่มันมีความหมายเหนือกว่าความมหัศจรรย์ได้ ฉันคงใช้คำนั้น มันน่าอัศจรรย์ไหมล่ะ ถ้าความงดงามทั้งมวลที่ปรากฏอยู่ตรงหน้าคือฝีมือของธรรมชาติล้วนๆ ไม่มีมีดหมอจากน้ำมือมนุษย์มาช่วยชำแหละเลยแม้แต่นิดเดียว

การขยับตัวของเปลือกโลกแต่ละครั้ง ทำให้โฉมหน้าของแผ่นดินเปลี่ยนไป บางที่อาจจะยุบตัวลง แต่ที่นี่ถูกยกตัวขึ้นมาเองและเมื่อมีทั้งภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว เจอทั้งสายลม แสงแดด หิมะสายน้ำ ต่างฝ่ายต่างกัดกร่อนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน นานเข้านับร้อยนับพันล้านปีก็กลายเป็นรอยแยกของหุบเขา เกิดเป็นแอ่งลึกและหน้าผากว้าง

เมื่อมองลงไปเห็นแม่น้ำโคโลราโดเลื้อยไหลไปตามรอยแยก พูดถึงแม่น้ำสายนี้ยาว กว่า 2 พันกิโลเมตร แต่เฉพาะช่วงที่ไหลผ่าน แกรนด์แคนยอน ประมาณ 300 กว่ากิโลเมตร เท่าๆ กับแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสายเลยก็ว่าได้ หุบผาเก่าแก่แห่งนี้เป็นชั้นหินที่ทับซ้อนกันมานานหลายล้านปี แน่นอนว่าหินชั้นล่างสุดอายุเยอะสุด ผ่านร้อนผ่านหนาวผ่านลม ผ่านน้ำมามากที่สุด ส่วนหินชั้นบนสุดอายุน้อยสุด อายุและความเก่าใหม่ของหินสะท้อนได้จากสีของหินที่ไม่เหมือนกัน น้ำตาล ดำ แดง ส้ม เหลือง ชมพู บอกไม่ได้ว่าชั้น หินสีไหนอายุมากกว่ากัน

แต่น่าสนใจตรงที่เวลาแสงแดด ทาบลงบนผิวหิน เมื่อแสงทำปฏิกิริยากับธาตุ สีเดิมที่เรา เห็นก็จะเปลี่ยนไปตามองศาของแสงและเงา เป็น 2-3 ชั่วโมงที่เคลื่อนผ่านไปไวมาก ฉันเพลิดเพลิน ไปกับหุบเหว คลื่นหิน ริ้วรอยบนลายหินจนลืมมองนาฬิกา บางครั้งเสียงหวีดหวิวของสายลมที่กรีดเฉือนลงบนหินก็ไพเราะราวกับดนตรีคลาสสิกที่เปิดขับกล่อมแขกเหรื่อในอุทยานฯ

ถ้ามีเวลาอีกสักวันสองวัน ฉันคงเดินไต่ลงไปด้านล่างของหุบเหวตามประสาผู้ที่มีความซุกซนบนปลายเท้าเป็นทุนเดิม เพราะทางอุทยานเขาอนุญาตให้ทำแบบนั้น และมีเส้นทางเดินเท้าหลายเส้นทาง แต่จะทำแบบนั้นต้องมีเวลาพอสมควร

เคยมีเพื่อนที่ชื่นชอบการล่องแก่ง มาที่นี่แล้วอย่เูพลินเป็นอาทิตย์ เพราะมีเส้นทางล่องแก่งให้ผจญภัยในสายน้ำเดือดหลายจุด เรียกว่านักท่องเที่ยวที่โปรดปรานการผจญภัยปักหลักเที่ยวอยู่ที่นี่ได้เป็น เดือนเลยละชั่วโมงสุดท้าย เราเดินขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์ของอุทยาน

มุมที่ทำให้รู้ว่าในอดีตแกรนด์แคนยอนเคยเป็นที่ทางของชาวอินเดียนแดงมาก่อน ที่จริงไม่ใช่ชาวสหรัฐฯ ที่มาค้นพบพื้นที่บริเวณนี้ แต่เป็นชาวสเปนที่เข้ามาเจอในช่วงกลางศตวรรษที่16 หลังจากนั้นราว 300 ปีถัดมาก็มีนายทหารอเมริกัน และพร้อมคณะบุกป่าฝ่าดงเข้าไปสำรวจอีกรอบ และออกมาบอกเล่าถึงความพิศวงของดินแดนแถบนี้

นี่อาจจะเป็นครั้งแรกที่โลกได้รู้จักแกรนด์แคนยอนอย่างเป็นทางการ ที่ก่อนหน้านี้ตอนที่ชาวสเปนพยายามบอกเล่าให้ผู้คนได้รู้ แต่ยังไม่มีใครสนใจ 60 กว่าปีถัดมา สหรัฐฯ จึงประกาศให้ที่นี่เป็นเขตป่าสงวน และอพยพชาวอินเดียนแดง 6-7 เผ่าให้ไปอยู่ที่ใหม่

จากนั้นช่วงต้นศตวรรษที่ 20 รางรถไฟสายแรก ก็พาดผ่านมาถึงแกรนด์แคนยอนประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติเต็มตัวก็เมื่อปี 1919 จากปีนั้นมีผู้คนมาเยือนแค่หลักหมื่น แต่ปัจจุบันมีคนมาชื่นชมความมหัศจรรย์ของธรรมชาติที่นี่ปีละ ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคน ทางพิพิธภัณฑ์ยังเอาภาพวิวสวยหยดของแกรนด์แคนยอนมาขยายใหญ่อวดนักท่องเที่ยว

ยิ่งเห็นภาพในหลายมุมที่ไม่มีโอกาสได้ไปเห็นด้วยตาเปล่า ยิ่งรู้ว่านี่คือผลงานศิลปะชิ้นมาสเตอร์พีซที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ไว้อวดมนุษย์ ณ สถานที่ที่เปรียบเหมือนแกลเลอรีกลางแจ้งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และแน่นอนว่ามหัศจรรย์เหลือเกิน

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0