วันลอยกระทง (Loy Krathong)

“ลอยกระทง” ถือเป็นวันสำคัญทางประเพณีไทย ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาช้านาน โดยมีความเชื่อว่าการประดิษฐ์กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติลอยลงไปในแม่น้ำ ก็เพื่อเป็นการขอขมาพระแม่คงคา

ลอยกระทง ตรงกับวันที่เท่าไร

วันลอยกระทง ตรงกับคืนวันเพ็ญ เดือน 12 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติ

สำหรับปี 2566 ตรงกับ วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566

ประวัติวันลอยกระทง

แม้จะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าการลอยกระทงเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร แต่ความเชื่อเกี่ยวกับประวัติลอยกระทงที่เล่าสืบต่อกันมาก็คือ นางสุชาดาได้ถวายข้าวมธุปายาสแก่พระพุทธเจ้า เมื่อเสวยเสร็จก็ทรงนำถาดทองคำไปลอยน้ำ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า “หากได้บรรลุสำเร็จเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ขอให้ถาดทองคำนี้ลอยทวนน้ำ” ปรากฏว่าถาดทองได้ลอยทวนน้ำจริงๆ

เมื่อพญานาคเห็นเหตุการณ์ก็รู้สึกเลื่อมใสอย่างมาก จึงขอให้พระพุทธเจ้ามาประทับรอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เหล่าพญานาคจึงขึ้นมาสักการบูชา ต่อมาจึงกลายเป็นที่มาของการลอยกระทง เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ถาดทองคำลอยทวนน้ำ และแสดงการสักการะต่อพระพุทธเจ้านั่นเอง

สำหรับในประเทศไทย วันลอยกระทงเป็นประเพณีที่มีมาแต่โบราณ แต่ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป” รวมทั้งยังมีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็น เป็นงานนักขัตฤกษ์รื่นเริงที่ใหญ่ที่สุดของกรุงสุโขทัย ต่อมานางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์สนมเอกของพระร่วง ได้คิดค้นประดิษฐ์รูปดอกบัวโกมุท และใช้ในพระราชพิธีลอยพระประทีป กระทำเพื่อเป็นการสักการะรอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมมทานทีซึ่งเป็นแม่น้ำสายหนึ่งอยู่ในแค้วนทักขิณาบถของประเทศอินเดีย ปัจจุบันเรียกว่า แม่น้ำเนรพุททา

ทั้งนี้ นักประวัติศาสตร์บางส่วนก็โต้แย้งว่า ตำนานนางนพมาศอาจเป็นเรื่องแต่งที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากสำนวนภาษามีความทันสมัยเกินกว่าที่ใช้กันในสมัยสุโขทัย ซึ่งก็ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในปัจจุบัน อีกทั้งประเพณีลอยกระทงก็ไม่ได้มีจำกัดอยู่ในวัฒนธรรมไทยเท่านั้น แต่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างก็มีความเชื่อเกี่ยวกับวันลอยกระทงในแบบฉบับของตัวเอง

สำหรับการลอยโคมนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ทรงสันนิษฐานว่าพิธีลอยกระทงนั้นเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ อันได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

ความเชื่อวันลอยกระทง 2566 มีอะไรบ้าง

การลอยกระทงมีวัตถุประสงค์ด้วยกัน 2 ประการ คือ

      1. เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บางท้องที่ถือว่าลอยกระทงเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสที่พระพุทธองค์ได้ไปแสดงธรรมในนาคภิภพ และทรงประทับรอยพระบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานที (1) เพราะฉะนั้นการที่บ้านเรามีประเพณีลอยกระทง ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองก็เพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเนื่องในโอกาสนี้

     ส่วนทางเหนือนั้นมีประเพณียี่เป็ง มีทั้งลอยกระทงและลอยโคมขึ้นไปบนท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งบรรจุอยู่ในจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เราจึงจุดประทีป ลอยโคม ส่งใจขึ้นไปบูชาพระเขี้ยวแก้วร่วมกับพระอินทร์ที่นำหมู่เทวดาบูชาพระเขี้ยวแก้วที่จุฬามณีในวันเพ็ญเดือนสิบสองนี้เช่นกัน

2. เพื่อบูชาพระแม่คงคา เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ เพราะมนุษย์เราอยู่ได้เพราะน้ำ ตั้งแต่โบราณมาชุมชนทั้งหลายเวลาสร้างเมือง ต่างก็เลือกติดแม่น้ำ ดังนั้นถึงเวลาในรอบ 1 ปี ก็เลือกเอาวันเพ็ญเดือนสิบสอง ระลึกว่าตลอดปีที่ผ่านมา เราได้อาศัยน้ำในการดำรงชีวิต  ขณะที่ลอยกระทงเราก็นึกถึงคุณของน้ำ ไม่ใช่ลอยเฉยๆ ต้องรำลึกว่าต้องรู้จักใช้น้ำอย่างถูกวิธี และใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ไม่ใช้ทิ้งขว้าง  ไม่ทำให้น้ำสกปรก ไม่ปล่อยของเสียลงแม่น้ำ เป็นการขอขมาและขอบคุณพระแม่คงคา ไม่ใช่เป็นการไหว้เทวดาพระแม่คงคาแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงการขอบคุณน้ำ ในฐานะที่เป็นผู้ให้ชีวิตเรา

นอกจากกระทงจะตกแต่งด้วยใบตองและดอกไม้อย่างสวยงามแล้วมีการปักธูปเทียน บ้างก็ตัดปลายเส้นผมและเศษเล็บใส่ลงไปด้วย โดยถือเคล็ดว่าเปรียบเสมือนการปล่อยทุกข์โศกให้ลอยไปกับสายน้ำ รวมถึงการนำเหรียญใส่ลงไปในกระทง เพราะเชื่อว่าจะทำให้เงินทองไหลมาเทมาตลอดทั้งปี

ปัจจุบันมีการรณรงค์เรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้คนที่เดินทางไปร่วมงานลอยกระทง มักเตรียมกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุที่ย่อยสลายได้ ไปแทน เช่น กระทงขนมปังเป็นต้น

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0