เส้นทางรถไฟสายประวัติศาสตร์กิ่วคอควาย – บ้านโฮ่ง ลำพูน

เรื่องและรูปโดยทีมงาน Vacationist

“กิ่วคอควาย” เป็นชื่อเรียกของคนในพื้นที่ เพราะจากเนินที่ยื่นล้ำออกมาจากดอยหลังถ้ำ มีลักษณะเหมือนควายนอนหมอบอยู่ โดยหันหน้าออกมาทางแม่น้ำลี้ มีการขุดเจาะเป็นช่องบริเวณพื้นที่ลาดต่ำ ลักษณะคล้ายคอควาย เพื่อใช้เป็นเส้นทางลำเลียงไม้สักจากอำเภอลี้ผ่านช่องทางนี้ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “กิ่วคอควาย”

ประวัติความเป็นมาของทางรถไฟสายนี้ เกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2465 เมื่อบริษัทบอมเบย์ เบอร์ม่า จากประเทศอังกฤษ ได้รับสัมปทานการทำไม้จากรัฐบาลไทย ให้เข้ามาทำสัมปทานในเขตอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ซึ่งมีป่าไม้สักทองขนาดใหญ่อยู่จำนวนมาก ทำให้มีการสร้างที่พัก การจ้างงาน ทั้งผู้ดูแล คนงานตัดไม้ ช้างลากท่อนซุงออกจากป่า หรือที่เรียกกันว่า ปางไม้ ในเขตพื้นที่ อำเภอลี้ และบ้านเกาะทุ่งม่าน ตำบลป่าพลู อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน

ในอดีตเมื่อช้างลากไม้ที่ตัดได้ออกมาจากในป่าและลากลงแม่น้ำลี้ เพื่อนำมาพักไว้ที่ปางไม้ ซึ่งไม้ที่ตัดมานั้นมีจำนวนมากหลายหมื่นต้น แต่ละต้นกว้างไม่ต่ำกว่า 1 เมตร บางต้นก็กว้างมากกว่า 2 เมตร หลังจากนั้นจะต้องรอช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อลำเลียงไม้จากปางไม้ให้ไหลไปตามลำน้ำลี้ให้ไหลไปลงแม่น้ำปิง ซึ่งใช้เวลาในการขนไม้แต่ละครั้งนานเป็นปี หากมัวรอฝนรอน้ำหลาก ก็จะเสียเวลามาก ทางบริษัทฯ จึงสร้างเส้นทางขนย้ายไม้ทางบกขึ้นมาแทน

โดยการสร้างเส้นทางรถไฟพร้อมนำหัวจักรรถไฟมาจากอังกฤษ ลำเลียงจากปางไม้บ้านเกาะทุ่งม่าน ผ่านหลายพื้นที่ ทั้งพื้นที่บ้านห้วยกาน บ้านศรีเตี้ย ไปลงแม่น้ำสิ้นสุดที่บ้านท่าหลุก อำเภอเวียงหนองล่อง เดิมเรียกปากราง ระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร แล้วจึงขนไม้ลงแม่น้ำปิงไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาไปจนถึงกรุงเทพฯ ก่อนนำขึ้นเรือขนาดใหญ่ส่งไปประเทศอังกฤษ จนเมื่อไม้เริ่มเหลือน้อย และสัมปทานก็สิ้นสุดลงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2475 รวมระยะเวลาการทำไม้ 10 ปี

เหลือทิ้งไว้เพียงร่องรอยการทำไม้ ซึ่งก็คือทางรถไฟสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ ปัจจุบันเส้นทางรถไฟนี้ส่วนใหญ่จะกลายเป็นถนน หรือเรือกสวนไร่นาของชาวบ้าน จะมีเหลือที่เห็นเป็นหลักฐานการทำไม้อยู่แห่งเดียว ก็คือที่บริเวณ “กิ่วคอควาย” แห่งนี้ อยู่ติดกับวัดดอยหลังถ้ำ บ้านศรีเตี้ย หมู่ที่ 3 ตำบลศรีเตี้ย อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน ซึ่งบริเวณนี้ลักษณะเป็นเนินเขาเล็กๆ ที่มีร่องรอยของการเจาะช่องเขาเพื่อให้รถไฟขนไม้สัก ผ่านระยะทางประมาณ 200 เมตร ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า “กิ่วคอควาย”

ในปี พ.ศ.2557 เทศบาลตำบลศรีเตี้ย ได้มีการปรับปรุงทางรถไฟเส้นนี้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ของอำเภอบ้านโฮ่ง จึงทำเรื่องขอความร่วมมือ ขอไม้หมอน เหล็กรางรถไฟ จากสถานีรถไฟอำเภอแม่ทา ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงเวลาดังกล่าวการรถไฟแห่งประเทศไทยกำลังมีการปรับปรุงเส้นทางรถไฟในเส้นทางภาคเหนือพอดี โดยปลี่ยนจากไม้หมอนมาใช้เป็นแท่งปูน จึงเป็นโอกาสดีที่ได้รับความอนุเคราะห์ไม้หมอนจำนวน 96 ท่อน และเหล็กรางจำนวน 8 ท่อน เพื่อนำมาติดตั้งบริเวณ “กิ่วคอควาย” และทางการรถไฟยังได้ส่งช่างมาวางรางให้เหมือนรางเก่าในอดีตอีกด้วย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0