สีสัน…ศิลปะทับหลัง ประติมากรรมศรัทธาเทพที่นับถือ

เรื่องโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

ด้วยเหตุที่ขอมนั้นเคยมีอำนาจอยู่ในพื้นที่ของไทยมาก่อน จึงทำให้มีปราสาทขอมตั้งอยู่หลายแห่งในภาคอีสานและภาคกลาง แม้ว่าจะถูกทำลายให้ทิ้งร้างหรือเป็นผลจากสงครามก็ตาม โบราณวัตถุที่แตกพลัดกระจัดกระจายนั้นยังเป็นสิ่งหายากและนิยมสะสมกัน โดยเฉพาะทับหลัง ประติมากรรมสำคัญที่สร้างจากความศรัทธาต่อเทพเจ้าที่นับถือนั้น จึงมีเรื่องราวและลวดลายบอกสมัยให้เรียนรู้ถึงความสำคัญของปราสาทหินแต่ละแห่ง

ทับหลัง เป็นแท่งหินขนาดใหญ่ที่วางทับบนเสาหิน เป็นส่วนโครงสร้างแนวนอนของปราสาทหิน ทำหน้าที่รับน้ำหนักของผนังที่อยู่เหนือช่องว่าง เช่น วงกบประตูหรือหน้าต่าง และถ่ายน้ำหนักลงไปยังเสาเอ็นและยึดประตูและหน้าต่างเข้ากับผนังนั้น ทับหลังนี้ช่างมักสลักภาพพระผู้เป็นเจ้าหรือบุคคลที่นับถือประกอบลวดลายตามสมัยไว้ด้วย นอกจากนี้ทับหลังยังใช้เรียกสิ่งที่อยู่บนหน้าต่างหรือประตูหลัง บนกรอบทำหน้าที่บังคับปลายเดือยบานแผละของหน้าต่างหรือประตู ก็เรียกว่า ทับหลังหน้าต่าง หรือทับหลังประตู

การสร้างปราสาทหิน ถือเป็นสถาปัตยกรรมสุดยอดของชนชาติขอมหรือเขมร และแผ่อิทธิพล การสร้างปราสาทเข้ามาก่อนการเกิดศิลปทวารวดี ในดินแดนอีสาน เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ เป็นต้นมา ทำให้พบปราสาทหินมากมายในประเทศกัมพูชา และอีสานใต้ของไทย ศิลปะขอมนั้นเชื่อว่าได้รับอิทธิพล มาจากศิลปะของอินเดีย

สำหรับปราสาทหินในภาคอีสานนั้นพบศิลปะขอมหรือเขมรอยู่หลายแห่ง และหลายยุคสมัย เช่น กำแพงพระ พระโค บาแค็ง เกาะแกร์ บาปวน นครวัด และบายน จนกล่าวได้ว่า อารยธรรมขอมหรือเขมรนั้นมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต คติความเชื่อ และการสร้างศาสนสถานไว้ในภาคอีสานอยู่มาก ปราสาทขอมหลายแห่งจึงมีทั้งสร้างด้วย อิฐ ศิลาแลง หินทราย และไม้ เป็นเทวสถานขอมที่ทนอยู่ได้นานวัน

ดังนั้นฝีมือประติมากรรมชั้นครูจึงมีช่างสลักหินที่ประณีตเพื่อสร้างชิ้นงานเป็นเทวสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและเป็นสัญลักษณ์ในการปกครองลัทธิเทวราชาที่กษัตริย์นั้นเป็นสมมติเทพ โดยมีทับหลัง เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างประติมากรรมแห่งศรัทธาแสดงไว้

หลักฐานทางโบราณคดีได้พบว่าชนชาติขอมหรือเขมรได้รวมตัวตั้งเป็นอาณาจักรหรือรัฐ มาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๖ โดยมีการตั้งเมืองท่าสำหรับติดต่อค้าขายกับอินเดีย จนมีความเจริญภายใต้พื้นฐานของอารยธรรมอินเดีย ซึ่งปรากฏชื่อ อาณาจักรฟูนัน ว่าตั้งอยู่บริเวณที่ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงของเวียดนามตอนใต้ และแม่น้ำโขงตอนใต้ของกัมพูชา จนถึงพื้นที่บางส่วนในบริเวณอีสานตอนใต้ของไทย โดยมีเมืองออกแก้ว ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขาย และมีราชธานีนามว่า “วยาธปุระ” ตั้งอยู่ใกล้เขาบาพนมในกัมพูชา

ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๓๕๐ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ได้ยกทัพขึ้นมาประกาศเอกราชจากอาณาจักรชวา และยังรวมอาณาจักรเจนละบกและเจนละน้ำที่แตกแยกเข้าด้วยกัน สร้างเป็นอาณาจักรเขมรใหม่ มีนามใหม่ว่า เมืองกัมโพชตะวันออก โดยแยกตัวมาจากอาณาจักรลโวทยหรือละโว้ หรือลพบุรี ครั้งนั้นพระเจ้าชัยวรมันที่ ๒ ทรงตั้งราชธานีของเมืองกัมโพชขึ้นบริเวณทางเหนือของทะเลสาบเขมร พระองค์ทรงขยายพระราชอำนาจไปถึงบริเวณลุ่มแม่น้ำแถบอีสานใต้ของไทยในจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์และศรีสะเกษ ที่มีปราสาทหินสร้างอยู่ไม่น้อย

จากบทเรียนของเหตุการณ์ขอคืนทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ และการได้คืนของทับหลัง ๒ ชิ้นของปราสาทเขาโล้นและปราสาทเขาน้อย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๖๔ วันนี้นอกจากเป็นข่าวที่น่ายินดีแล้ว ยังปลุกกระแสการรักษา สืบสาน ต่อยอด ให้ผู้คนสนใจใคร่ชมทับหลัง ที่อยู่ตามปราสาทหินหลายแห่งมากขึ้น ทับหลังอีกจำนวนที่มีความสำคัญนั้นได้ถูกเก็บรักษาและแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในหลายแห่งให้เป็นสีสันของประติมากรรมแห่งศรัทธาและฝีมือช่างสลักแห่งยุคสมัย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0