สีสัน… “อุทัยธานี” เมืองพระชนกจักรี

เรื่องและรูปโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

วันจักรี ๖ เมษายน นั้นเป็นวันระลึกถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นพระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรี จากหลักฐานประวัติศาสตร์และพระราชหัตถเลขา รัชกาลที่ ๔ นั้นได้กล่าวถึง การกำเนิดของบรรพบุรุษผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) หรือโกษาปานนั้น ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่พื้นที่แขวงเมืองอุไทยธานี

ซึ่งมีแม่น้ำสะแกกรังไหลผ่านและเป็นเส้นทางน้ำไปสู่กรุงศรีอยุธยา ก่อนที่จะมีการแบ่งพื้นที่ใหม่และย้ายเมืองมาอยู่ที่บ้านสะแกกรัง ซึ่งตั้งเป็นหมู่บ้านในรัชกาลที่ ๓ ดังนั้นร่องรอยถิ่นที่อยู่ของจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) ลูกหลานโกษาปานในสมัยอยุธยา

จึงยากที่จะระบุแน่นอนเพราะไม่มีหลักฐานใดชี้ชัดได้นอกจากประมาณจากชุมชนและวัดที่เกิดขึ้นในสมัยอยุธยา และเมืองอุทัยธานีเก่า สมัยอยุธยานั้นก็อยู่เสียที่ดอนลึกจากแม่น้ำสะแกกรัง

กล่าวคือเมืองอุไทยเก่านี้ ตั้งอยู่ที่บ้านอุทัยเก่า อำเภอหนองฉาง จังหวัดอุทัยธานี ห่างจากตัวจังหวัดปัจจุบัน กว่า ๒๒ กิโลเมตร เมืองอุไทยธานีเก่าแห่งนี้เดิมมีทะเลสาบเป็นแหล่งน้ำใหญ่มีวัดสำคัญคือวัดหัวเมือง วัดแจ้ง วัดหมา วัดกุฏิ และมีบ้านคลองค่าย บ้านทุ่งทอง บ้านทุ่งหลวง บ้านเก่าหินโจน บ้านป่าแดง บ้านป่าช้า เป็นต้น ตั้งอยู่โดยรอบ เป็นชุมชนของชาวไทยเชื้อสายมอญจากพะตะเบิด เจ้าเมืองอุไทยธานีคนแรก ซึ่งมีการสร้างวัดในสมัยอยุธยาขึ้นอีกหลายวัดตามชื่อหมู่บ้าน

เมืองนี้เป็นหัวเมืองด่านชั้นนอกในสมัยอยุธยา ครั้งนั้นมีชื่อ พระอุไทยธานี เป็นเจ้าเมืองแต่ครั้งอยุธยา และปลายสมัยกรุงธนบุรีนั้นปรากฏชื่อขุนสรวิชิต (หน) เป็นนายด่านเมืองอุทัยธานี เป็นบุคคลผู้มีวีรกรรมและเหตุการณ์สำคัญคือ การนำชาวด่านเมืองอุไทยธานีเก่าไปช่วยป้องกันพระนครในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือพระเจ้าตากสิน และเป็นผู้นำข่าวเหตุการณ์จลาจลไปแจ้งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (ทองด้วง) แม่ทัพทราบและนำทัพกลับมาปราบจลาจลและจัดแจงบ้านเมืองในที่สุด ในวันปราบดาภิเษกขึ้นเป็น พระปฐมกษัตริย์ราชวงศ์จักรีในวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้นลำดับแรกได้มีพิธีสถาปนาราชวงศ์จักรีโดยสถาปนาพระอัฐิของพระบิดา (ทองดี) ขึ้นเป็น “สมเด็จพระชนกาธิบดี” เป็นพระปฐมราชวงศ์จักรี แล้วจึงสถาปนาพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศ์ตามลำดับเป็นราชสกุลชั้นต้น

ด้วยเหตุเมืองอุไทยธานีเก่าเป็นชุมชนเมืองชายแดนติดต่อกับเมืองมอญมาแต่สมัยอยุธยา ทำให้เมืองอุไทยธานีเก่ามีหน้าที่ป้องกันข้าศึกที่เดินทัพเข้าทางด้านตะวันตก ซึ่งมีด่านสำคัญตั้งอยู่ตั้งแต่ ด่านแม่กลอง ด่านหนองหลวง ด่านทัพเสลา ด่านสลักพระ ด่านเมาะตะมะ ด่านเมาะตำเลิม และด่านเมืองอุไทยเก่า โดยมีแม่น้ำสะแกกรัง เป็นเส้นทางออกและหัวเมืองอื่นตั้งกำลังดูแลอยู่

กล่าวคือ พระนเรศ หรือ พระนเรศวร กษัตริย์อยุธยา นั้นให้จัดตั้งด่านตามแนวตะวันตกขึ้นเป็นแนวระวังชายแดนด้านตะวันตกจากแม่กลองหนองหลวง (อุ้มผาง) กำแพงเพชร ไปจนถึงด่านทางเมืองกาญจนบุรีเก่า

ต่อมาพระเอกาทศรถ ได้โปรดเกล้าฯ ให้บัญญัติอำนาจการใช้ตราประจำตำแหน่ง จึงระบุในกฎหมายเก่าลักษณะพระธรรมนูญ ว่า เมืองอุไทยธานี (เก่า) เป็นหัวเมืองขึ้นแก่มหาดไทย ที่มีสมุหนายก เป็นผู้รับผิดชอบหัวเมืองฝ่ายเหนือ ด้วยเหตุนี้เมืองอุไทยธานีเก่าจึงมีความสำคัญในฐานะด่านที่ต้องสอดแนมสู้รบอยู่ทุกรัชกาลในยามที่มีข้าศึกเข้ามา ในสมัยพระนารายณ์นั้นทัพพม่าได้ล่วงเข้ามาในแนวรบตะวันตก

ครั้นเมื่อมีการตั้งบ้านสะแกกรังขึ้นริมแม่น้ำสะแกกรังในสมัยรัชกาลที่ ๓ จึงมี การย้ายตัวเมืองมาอยู่ที่แห่งใหม่ เมืองอุไทยธานีเก่าสมัยอยุธยาจึงลดบทบาทน้อยลง จนชาวจีนจากโรงงานถลุงเหล็กบ้านท่าซุงพากันมาอยู่ที่นี่เช่นเดียวกับผู้คนจากตำบลอื่นๆ จนเป็นตลาดค้าขายกันหนาแน่น

จนชวนให้เจ้าเมืองที่มาจากกรุงเทพฯ สมัยนั้นไม่ยอมขึ้นไปเมืองอุไทยธานีเก่า ทำให้ต้องจัดเขตเมืองกันใหม่ให้ตัวเมืองตั้งอยู่ตำบลน้ำซึม บ้านปากกาบาด หลังสุดตั้งเป็นตำบลอุทัยใหม่คือ จังหวัดอุทัยธานีในปัจจุบัน

ด้วยความเป็นเมืองประวัติศาสตร์ว่า สมเด็จพระชนกาธิบดี (ทองดี) หรือ สมเด็จพระปฐมชนกนาถในรัชกาลที่ ๑ กำเนิดเมืองอุไทยธานีเก่าครั้งสมัยอยุธยา มีตลาดสะแกกรังเป็นเมืองใหม่ จึงถูกเรียกเมืองนี้ว่า “เมืองพระชนกจักรี” ปัจจุบันอาคารบ้านเรือนทาสีม่วงสดใสให้เป็นสีสันของเมืองด้วยมีตำหนักส่วนสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งอยู่ที่จังหวัดนี้นั่นเองนา

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0