สีสัน…นาฏศิลป์ไทยและโขนบนเวทีโลก

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

ท่ามกลางความงดงามแห่งสีสันการแต่งกายที่เกิดขึ้นตามกระแสละครดังทางโทรทัศน์นั้นได้ทำให้หลายคนหันกลับมาสนใจแต่งกายอย่างละครหรือย้อนยุคสมัยมากขึ้น ทั้งๆ ที่เรื่องโขน ละครนอก ละครใน รวมถึงระบำรำฟ้อนนั้น ต่างมีบทบาทในการรับมิตรไมตรีจากนานาประเทศมาช้านาน การรักษาวัฒนธรรมการแสดงที่เป็นของดั้งเดิมนั้น

ได้มีการสืบทอดและถ่ายทอดต่อรุ่นมานานตั้งแต่ยุคสมัยสุโขทัย อยุธยาจนถึงปัจจุบันนี้ เพียงแต่การต่อรุ่นของวิชาการแสดงนั้นได้รับความสนใจน้อยลง หากไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบวิชานาฏศิลป์ไทย โขน ละคร และดนตรีไทย-ดนตรีสากล ในสำนักสังคีตศิลป์แล้วก็คงจบสิ้นไปได้ง่าย ตามแม่ยกของละคร โขน ลิเก ที่เริ่มจะอายุมากขึ้น

ระบำกินรีกับฉากสวยงาม

นาฏศิลป์ไทยนั้นเป็นการเล่นเครื่องดนตรีหลายๆ ชนิด การละครฟ้อนรำและดนตรีอันมีคุณสมบัติตามคัมภีร์นาฏะหรือนาฏยะ ซึ่งกำหนดว่า ต้องประกอบไปด้วย ๓ ประการ คือ การฟ้อนรำ การดนตรี และการขับร้อง รวมเข้าด้วยกัน ซึ่งทั้งสามสิ่งนี้เป็นอุปนิสัยของคนมาแต่ดึกดำบรรพ์

ระบำกินรี

โดยเฉพาะนาฏศิลป์ไทยนั้นมีประวัติมาจากความรู้สึกกระทบกระเทือนทางอารมณ์ไม่ว่าจะอารมณ์แห่งสุข หรือความทุกข์และวิธีการสะท้อนออกมาเป็นท่าทางแบบธรรมชาติและการประดิษฐ์ท่าทางให้เป็นลีลาการฟ้อนรำ หรือเกิดจากลัทธิความเชื่อในการนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า โดยแสดงความเคารพบูชาด้วยการเต้นรำ ขับร้องฟ้อนรำ ให้สร้างความพึงพอใจ เป็นต้น

การแสดงพื้นเมืองอีสาน

แม้ว่านาฏศิลป์ไทยนั้นจะรับอิทธิพลแบบแผนตามแนวคิดจากต่างชาติเข้ามาผสมผสานด้วย โดยเฉพาะวัฒนธรรมอินเดียที่มีวรรณกรรม ที่เป็นเรื่องของเทพเจ้าและตำนานการฟ้อนรำ โดยผ่านเข้าสู่ประเทศไทยทั้งทางตรงและโดยผ่านชนชาติชวาและเขมร ก็จะถูกปรับปรุงให้เป็นรูปแบบจนเป็นเอกลักษณ์ของไทย

การแสดงพื้นเมืองอีสาน

ดังจะเห็นได้จากเทวรูปศิวะปางนาฏราชที่สร้างเป็นท่าการร่ายรำของพระอิศวร ซึ่งมีทั้งหมด ๑๐๘ ท่า หรือ ๑๐๘ กรณะ โดยมีการฟ้อนรำครั้งแรกในโลก ณ ตำบลจิทรัมพรัม เมืองมัทราส อินเดียใต้ ปัจจุบันอยู่ในรัฐทมิฬนาฑูนั้น ถือเป็นคัมภีร์สำหรับการฟ้อนรำ แต่งโดยพระภรตมุนี เรียกว่าคัมภีร์ภรตนาฏยศาสตร์ ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญต่อการสร้างแบบแผนและถ่ายทอดนาฏศิลป์ของอินเดียนี้ โดยเผยแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา

นายปรารพ เหล่าวานิช

ตามประวัติการสร้างเทวาลัยศิวะนาฏราชที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๑๘๐๐ นั้นเป็นปีเริ่มตั้งกรุงสุโขทัย ดังนั้นท่ารำไทย ที่ดัดแปลงมาจากอินเดียในครั้งแรกจึงเป็นความคิดของนักปราชญ์ในสมัยอยุธยา และมีการแก้ไขปรับปรุงหรือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในกรุงรัตนโกสินทร์ จนนำมาสู่การประดิษฐ์ท่าร่ายรำและละครไทยมาจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะการแสดงโขนนั้น ลาลูแบร์ ได้มีโอกาสชมการแสดงนาฏศิลป์ ปราชญ์สำนักไทยครั้งแผ่นดินพระนารายณ์ ได้จดบันทึกไว้ว่าชาวสยามมีศิลปะการเวทีอยู่สามประเภท

คณะโขนที่เดินทางเผยแพร่ในต่างประเทศ

ประเภทที่เรียกว่าโขนนั้น เป็นการร่ายรำเข้าๆ ออกๆ หลายคำรบ ตามจังหวะซอและเครื่องดนตรีอย่างอื่นอีก ผู้แสดงนั้นสวมหน้ากาก และถืออาวุธ แสดงบทหนักไปในทางสู้รบกันมากกว่าจะเป็นการร่ายรำ และมาตรว่าการแสดงส่วนใหญ่จะหนักไปในทางโลดเต้นเผ่นโผนโจนทะยาน และวางท่าอย่างเกินสมควรแล้ว นานๆ ก็จะหยุดเจรจาออกมาสักคำสองคำ หน้ากาก (หัวโขน) ส่วนใหญ่นั้นน่าเกลียด เป็นหน้าสัตว์ที่มีรูปพรรณวิตถาร หรือไม่เป็นหน้าอสูรปีศาจ ส่วนการแสดงประเภทที่เรียกว่า ละครนั้นเป็นบทกวีที่ผสมผสานกันระหว่างมหากาพย์ และบทละครพูด ซึ่งแสดงกันยืดยาวไปสามวันเต็มๆ ตั้งแต่ ๘ โมงเช้า จนถึง ๑ ทุ่ม ละครเหล่านี้เป็น ประวัติศาสตร์ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนที่เคร่งขรึม และขับร้องโดยผู้แสดงหลายคนที่อยู่ในฉากพร้อมๆ กัน และเพียงแต่ร้องโต้ตอบกันเท่านั้น โดยมีคนหนึ่งขับร้องในส่วนเนื้อเรื่อง ส่วนที่เหลือจะกล่าวบทพูด แต่ทั้งหมดที่ขับร้องล้วนเป็นผู้ชาย ไม่มีผู้หญิงเลย … ส่วนระบำนั้นเป็นการรำคู่ของหญิงชาย ซึ่งแสดงออกอย่างอาจหาญ นักเต้นทั้งหญิงและชายจะสวมเล็บปลอมซึ่งยาวมาก และทำจากทองแดง นักแสดงจะขับร้องไปด้วยรำไปด้วย พวกเขาสามารถรำได้โดยไม่เข้าพัวพันกัน เพราะลักษณะการเต้นเป็นการเดินไปรอบๆ อย่างช้าๆ โดยไม่มีการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว แต่เต็มไปด้วยการบิด ดัดลำตัว และท่อนแขน

นักแสดงเยาวชนที่เดินสายแสดงในต่างประเทศ
ชาวต่างชาติชมนาฏศิลปไทย

ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมได้นำ คณะนักแสดงนาฏศิลป์ไทย โดยเยาวชนของกระทรวงวัฒนธรรมและนักดนตรี CHAMBER MUSIC โดยนักศึกษาสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ไปแสดง ณ หอประชุมใหญ่ องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศในยุโรป แม้แต่การแสดงพื้นบ้านงานประเพณีบุญหลวง การละเล่นผีตาโขน ยังประกาศการสร้างสรรค์การแสดงในมหกรรมหน้ากากนานาชาติ ประจำปี ๒๕๖๑ นับเป็นการแสดงบนเวทีระดับโลกได้เห็นถึงศิลปวัฒนธรรม การแสดงที่สืบสานมาแต่อดีต ได้มีการพัฒนาให้คนต่างชาติ สามารถเข้าใจและรับรู้ถึงสุนทรียภาพการแสดงของไทยจนต่างพากันกล่าวชื่นชมกันไม่ขาดปาก

คณะผีตาโขนในมหกรรมหน้ากากนานาชาติ
Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0