New Orleans ขยับจังหวะชีวิตไปกับเสียงดนตรี

เมื่อพูดถึงคำวา่ “นิวออร์ลีนส์” (New Orleans) แว้บแรกของแทบทุกคนคงต้องนึกถึงปีกไก่นิวออร์ลีนส์ที่มีกับพิซซ่าเป็นแน่ ส่วนคนที่หลงใหลในเสียงดนตรี เสียงเพลง What a Wonderful World ของ Louis Armstrong บรรเลงขึ้นมาในหัวทันที
I see trees of green, red roses too
I see them bloom, for me and you,
And I think to myself, what a wonderful world.

แต่สำหรับฉันเสียงเพลงที่แว่บขึ้นมา คือเพลงมันๆ ที่เป็นอินโทรของซีรีส์ที่เกี่ยวกับเรื่องราวหน่วยสืบสวนแห่งกองทัพเรือ ตอนของเมืองนิวออร์ลีนส์นั่นเอง Boom boom boom boom Bang bang bang bang มาขยับจังหวะชีวิตไปกับเสียงดนตรีกัน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 พายุเฮอร์ริเคนแคทรีนา(Hurricane Katrina) ความรุนแรงระดับ 5 ซึ่งนับว่าเป็นความรุนแรงสูงสุด ได้สร้างความเสียหายใหญ่หลวงที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐหลุยเซียนา

วันนี้เวลาผ่านไป 10 กว่าปีแล้ว เมืองนิวออร์ลีนส์ได้ทำการฟื้นฟูจนกลับมาเป็นเมืองน่าเที่ยวในวันที่ฟ้าหลังฝนอีกครั้ง พร้อมผู้คนที่มีความสดใสร่าเริง ไม่เร่งรีบ แต่มากล้นไปด้วยสีสัน เสียงดนตรี สมกับชื่อเล่นของเมือง “The Big Easy”มาถึงนิวออร์ลีนส์แล้วสิ่งที่ไม่ควรพลาดเรียกว่ามาแล้วต้องลองไม่ลองไม่ได้ คงเป็นเบนเญ่ (Beignets) ที่ร้าน คาเฟ่ ดู มอนเด้ (Café du Monde) หลายคนอาจงงว่าเบนเญ่คืออะไร เบนเญ่ นั่นไซร้ก็คือขนมโดนัท
แบบฝรั่งเศสเป็นรูปสี่เหลี่ยมไม่มีรูตรงกลาง โรยหน้าด้วยผงน้ำตาล (Powder Sugar) หน้าตาคล้ายกับผงไอซิ่งหากกินต้องกินร้อนๆ เพราะเย็นไปจะแข็งและเหนียวเวลาได้กินคู่กับกาแฟหรือโกโก้แล้วล่ะก็ จะรู้สึกฟินเว่อร์แบบที่ภาษาวัยรุ่นเขาพูดกันเลย ใครคิดภาพไม่ออกว่าเป็นอย่างไร นึกถึงซาลาเปาทอดแบบสี่เหลี่ยมเข้าไว้ นั่นแหละใช่เลย

ร้านคาเฟ่ ดู มอนเด้ เปิดมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1862 และเปิด 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี หยุดวันเดียวคือวันคริสต์มาส ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมาวันไหน เวลาไหนได้กินแน่ (แต่เว้นวันคริสต์มาสหนึ่งวันนะ ท่องไว้) แม้จะเปิดตลอดเวลาเช่นนี้ แต่ด้วยความขึ้นชื่อของขนมทำให้มีผู้คนมาต่อคิวรอกินกันยาวเหยียด โดยเฉพาะสาขาแรกที่เฟรนช์ มาร์เก็ต (French Market) ตรงข้ามกับแจ็กสันสแควร์ (Jackson Square) ขนาดฉันมาถึงช่วงเย็นย่ำค่ำก็ยังมีคนรอคิวกันอยู่

นอกจากขนมที่ขึ้นชื่อแล้วเมนูกาแฟของที่นี่ก็ไม่เหมือนใคร แม้จะมีแค่ 2 แบบคือ café au lait อ่านว่า คาเฟ่ โอ เล่ คือกาแฟใส่นม กับ Black Coffee คือกาแฟเพียวๆ กับน้ำร้อนนิดหน่อยก็ตาม แต่ก็ยังมีคนนิยมมาดื่ม ก็เพราะกาแฟของเขาพิเศษตรงที่คั่วเมล็ดกาแฟผสมกับ Chicory เจ้า Chicoryเป็นพืชดอกชนิดหนึ่งที่มีรากมีกลิ่นและรสคล้ายกาแฟ พอผสมเข้าไปก็
ให้รสและกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของที่นี่เลย ส่วนใครไม่นิยมกาแฟ ที่นี่ก็มีช็อกโกแลตร้อน, น้ำส้ม, นม หรือน้ำอัดลมพวก โค้ก สไปร์ต และน้ำเปล่าบริการ แต่ถ้าจะมาลาเต้, คาปูชิโน, มอคค่า ไม่มีนะ

ตึกเก่า เสียงดนตรี สีสันของชีวิตสายแก่ๆ ในวันใหม่ของฉันเริ่มต้นวันด้วยตลาดเฟรนช์ มาร์เก็ต(French Market) เป็นลักษณะคล้ายอาคารพาณิชย์ที่รวบรวมของขายประมาณ 6 บล็อค โดยฝั่งหนึ่งก็จะมีตึกเป็นอิฐสีออกแดงน้ำตาล บางหลังก็ทาสีขาว สีโทนอ่อนๆ ส่วนอีกฝั่งจะเหมือนที่ขายของแบบเปิดคล้ายๆจตุจักรบ้านเรา ตั้งคู่เรียงขนานกันไป มีสินค้ามากมายหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นอาหารสด, อาหารปรุงสุก, ขนม, เสื้อผ้า, ของฝากของที่ระลึก,ดอกไม้เยอะแยะไปหมด เปิดกันทุกวันตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 9 – 10 โมงยาวไปจนถึงเวลาประมาณ 6 โมงเย็น เรียกได้ว่าช้อปกันได้ทั้งวันไม่แพ้ตลาดจตุจักรบ้านเราเลย ฉันไม่ได้จับจ่ายอะไรมากนักเพราะไปต่อที่แจ็กสัน สแควร์ (Jackson Square) ซึ่งคุ้นๆ ดี ก็ฝั่งตรงข้ามถนนบริเวณร้านกาแฟเจ้าดัง ใกล้แม่น้ำมิสซิสซิปปี (Mississippi) เมื่อคืนนั่นแหละ แจ๊กสัน สแควร์เป็นสวนสาธารณะเก่าแก่ของเมือง จุดเด่นคือมีอนุสาวรีย์ของแอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson) และมีฉากหลังเป็นมหาวิหารเซนต์หลุยส์ (Saint Louis Cathedral) ซึ่งเป็นมหาวิหารเก่าแก่ที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาที่ยังคงเปิดใช้งานอยู่ต่อเนื่อง

ที่นี่เป็นย่านหนึ่งที่ค่อนข้างจะคึกคักไปด้วยศิลปินและนักดนตรีท้องถิ่นนิยมมาพบปะพูดคุยกัน หรือนำเสนอผลงานตามทางเท้าและรั้วเหล็กดัด รอบๆ บริเวณ นักท่องเที่ยวอย่างเราๆ สามารถนั่งเป็นแบบให้วาดภาพเหมือนหรือภาพล้อเลียน ขณะที่นั่งฟังดนตรีไปเพลินดี
ไม่หยอกทีเดียว บริเวณนี้เรียกได้ว่าเชื่อมต่อและเหมารวมเข้ากับเฟรสช์ ควอเตอร์ (French Quarter) หรือจัตุรัสฝรั่งเศสซึ่งเป็นย่านเก่าแก่ของเมืองเช่นกัน เดิมบริเวณนี้เคยเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาก่อนทำให้ตึกรามบ้านช่อง จึงเป็นสถาปัตยกรรมสไตล์ฝรั่งเศสเสียส่วนใหญ่ อายุก็คงร่วมๆร้อยปี แม้จะเป็นตึกเก่าแต่ย่านนี้ถือเป็นแหล่งเฮฮาปาร์ตี้และมีชีวิตชีวาที่สุดของเมืองเลยก็ว่าได้ หากพระอาทิตย์เริ่มลาลับขอบฟ้า สีสันของผู้คน เสียงของดนตรีแจ๊ส บลูส์จะเริ่มบรรเลงความรื่นรมย์ให้กับคนเดินทางเต็มพื้นที่ไปหมด แต่ถ้าเป็นช่วงสายๆ ก็จะมีเพียงนักดนตรีบางกลุ่มที่ออกมาแสดงฝีไม้ลายมือทางดนตรี และนักท่องเที่ยวที่
เดินเตร็ดเตร่ เหมือนเคว้งคว้างไปมาอย่างฉันเท่านั้น

นิวออร์ลีนส์นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นต้นกำเนิดและดินแดนแห่งดนตรีแจ๊ซแล้ว ที่นี่ก็ยังมีงานเทศกาล“มาร์ดิกราส์” (Mardi Gras) ที่ยิ่งใหญ่และสนุกสนานเป็นที่สุด โดยจะจัดประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี ภายในงานผู้คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสัน มีขนนก หมวกสูง หน้ากากสวยๆ ปิดหน้าสีหลักประจำเทศกาล คือ สีม่วง หมายถึงความยุติธรรมสีเขียวหมายถึงความศรัทธา และสีทองหมายถึงพลัง

เหล่าบรรดาคลับต่างๆในเมืองที่เรียกกันว่า “ครู” (krewe)ก็ส่งขบวนพาเหรดที่เรียกว่าจัดเต็มมาร่วมขบวน สร้างความตื่นตาตื่นให้กับผู้มาร่วมงาน และที่นิวออร์ลีนมีความเป็นพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครก็คือจะการแจกสร้อยลูกปัดเป็นของกำนัลให้กับผู้เข้าร่วมขบวนบนท้องถนนอีกด้วย

ปิดท้ายวันด้วยการเดินไปรอพระอาทิตย์สั่งลาที่ร้านดนตรีแจ๊สแห่งหนึ่งบนถนนเบอร์เบิ้น สตรีท (Bourbon St.) ถนนที่รวบรวมความบันเทิงครบรูปแบบทั้งคาเฟ่ แจ๊สคลับ หรือแม้แต่ระบำเปลื้องผ้า(หากท่านใดสนใจ) ไว้บนถนนสายนี้ อารมณ์เดียวกันกับพร้อมพงศ์บ้านเราเลย ฉันผู้ไม่ค่อยสันทัดเรื่องดนตรีนัก แต่ยามที่ได้ยินทำนองเสียงดนตรี (แจ๊ส) ก็เกิดอาการรู้สึกเศร้าสร้อยและบางครั้งรื่นรมย์ได้ในยามที่จังหวะขยับเร่งขึ้นมา ชวนให้ผ่อนคลายอารมณ์เสียจริง
นี่แหละที่เขาว่าดนตรีนั้นมีมนต์ในการบำบัดจริงๆ

ความเชื่อ หมอผี เมืองแห่งความตาย

พูดถึงนิวออร์ลีนส์นอกจากดนตรีแจ๊ส (ที่ได้ยินแทบทุกมุมเมือง),งานเทศกาลมาร์ดิการส์ (ที่ฉันพลาด), ขนมเบนเญ่ (ที่แสนอร่อย)กิตติศัพท์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมืองที่ผีดุ อาจเพราะที่นี่ยังมีคนท้องถิ่นกลุ่มหนึ่งที่เชื่อเรื่องของลัทธิวูดูและยังปฏิบัติกันอยู่จนถึงทุกวันนี้ทำให้ชื่อของเมืองนิวออร์ลีนส์ดีดขึ้นเป็นอยู่ในลำดับต้นๆ

หากพูดถึงเรื่อง แม่มด หมอผีและเรื่องลี้ลับหนึ่งในสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าผีดุประจำเมืองก็คือ Lalaurie House เลขที่ 1140บนถนนรอยัลสตรีท สมบัติตกทอดของเดลฟีน ลอรี่ (Delphine Lalaurie) เล่าต่อกันมาว่าเธอเป็นฆาตรกรต่อเนื่อง ที่ทรมานและฆ่าทาสมากว่า 100 ศพ แต่ก็รอดพ้นความผิดเพราะเธอมีญาติร่ำรวย หลายคนเล่าว่าเห็นวิญญาณหลอนพร้อมทั้งเสียงกรีดร้อง และเสียงหวดของแส้เป็นระยะๆ ที่บ้านหลังนี้ ดีน่ะที่คนขวัญอ่อนอย่างฉันไม่ได้ไป วินาทีที่เขียนนี้ยังรู้สึกสั่นๆ ชอบกล

ส่วนอีกหนึ่งสถานที่ที่ได้ยินเสียงเล่าขานกันมาถึงเรื่องราวความน่ากลัวของเธอ แม่มดวูดูผู้มีนามว่า มารี ลาโว หลุมฝังศพของมารีและลูกสาวในสุสาน 2 ชั้นทำจากหินสีขาว ที่แท่นฝังศพหมายเลข 1 ในเมืองแห่งความตายสุสานเซนต์หลุยส์ 1 (St. Louis Cemetery No. 1)
แม้ที่ฝังศพของทั้งคู่จะดูไม่แตกต่างจากของคนอื่น แต่ที่สังเกตง่ายๆ คือเครื่องหมายกางเขนและสัญลักษณ์อื่นๆ ที่คนขีดเขียนไว้บนแท่นที่ฝังศพ แล้วยังมีเหรียญต้นสมุนไพร เมล็ดถั่ว กระดูก ถุงห่อ ดอกไม้ สัญลักษณ์ต่างๆ ที่สื่อถึงความโชคดีและการอวยพรแก่เจ้าแม่ลัทธิวูดูผู้นี้ เพราะเชื่อกันว่าผู้ใดที่มอบของขวัญไว้ที่หลุมฝังศพของเธอจะได้สมดังปรารถนามาก

หากมาตอนกลางวันฉันก็พูดได้ว่ามันไม่ได้เลวร้ายมากนักในยามที่อากาศแจ่มใส แท่นฝังศพสีขาวตัดกับท้องฟ้าสีฟ้า และพื้นหญ้าสีเขียว ดูดีทีเดียว แต่ถ้าให้มาตอนกลางคืนฉันขอโบกมือลาดีกว่า

นอกจากนี้ยังมีสุสานลาฟาแยต (Lafayette Cemetery No.1) ซึ่งเป็นสถานที่ยอดนิยมในการถ่ายทำภาพยนตร์อีกด้วย ฉันไม่ได้ไปเพราะแค่ที่เดียวก็คิดว่าเพียงพอแล้ว ส่วนที่สนใจดูดวง ดูลายมือ ดูไพ่ทาโร่ อ่านดวงชะตาจากแก้วคริสตัลตามแบบของวิชาวูดู (VOO DOO) ลองมองหาดูในเมืองนิวออร์ลีนส์มีหลายจุดที่ให้ตอบโจทย์ในเรื่องนี้

ยามนี้หากร่างกายคุณกำลังขยับไปกับดนตรีแจ๊สและบูล รู้สึกชื่นชมในงานสถาปัตยกรรมล่ำค่าอันโดดเด่นสไตล์ฝรั่งเศส – สเปน และหลงใหลไปกับเสน่ห์ของพลังและจิตวิญญาณของชุมชนแล้วล่ะก็ แสดงว่าคุณกำลังต้องมนต์จังหวะชีวิตของเมืองนิวออร์ลีนเข้าแล้ว

เพิ่มเติม

เมืองนิวออร์ลีน อ้างอิงชื่อมาจากเมืองออร์ลีอองส์(ORLEANS) ในประเทศฝรั่งเศสแอนดรูว์ แจ็กสัน (Andrew Jackson ) เป็นรัฐบุรุษอเมริกันและประธานาธิบดีคนที่ 7 แห่งสหรัฐอเมริกาชื่อเสียงอันโด่งของแอนดรูว์ แจ็กสันเริ่มจากสงครามเมื่อครั้งที่รบกับอินเดียนแดงที่ครีก และมีชื่อเสียงมากขึ้นอีกครั้งจาการได้ชัยชนะต่อกองทัพอังกฤษที่นิวออร์ลีนส์ (พ.ศ. 2358) เหตุผลสำคัญที่ทำให้แอนดรูว์ แจ็กสันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีเนื่องมาจากการได้รับการสนับสนุนอย่างท่วมท้นเกี่ยวกับนโยบายการพัฒนาแบบใหม่ที่เรียกกันภายหลังว่า “ประชาธิปไตยแจ็กสัน” (Jacksonian democracy) แอนดรูว์ แจ็กสันมีอิทธิพลและเป็นศูนย์กลางของวงการเมืองอเมริกันระหว่าง พ.ศ.2363 – 2372

โรงแรมที่พัก หากเป็นย่านเฟรนช์ ควอเตอร์ (French Quarter) ราคาจะค่อนข้างสูงแต่จะสะดวกสบายเพราะเป็นย่านชุมชน

French Fleur-de-Lis สัญลักษณ์ดอกลิลลี หรือเฟลอร์เดอลี เป็นสัญลักษณ์ที่แปลงมาจากดอกลิลลีหรือดอกไอริสเป็นสัญลักษณ์หรือใช้ตกแต่งในพื้นที่ที่ฝรั่งเศสเคยตั้งถิ่นฐาน มักจะเห็นได้ตามธง ตามเสาถนน ตามป้ายบอกทางต่างๆ ในนิวออร์ลีนส์ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการบูรณะเมืองขึ้นมาใหม่และสัญลักษณ์ของการระลึกถึงบ้าน

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0