เทศกาล วันไหว้พระจันทร์ (中秋节) ประวัติ และความหมายของขนมไหว้พระจันทร์

วันไหว้พระจันทร์ 2566 ตรงกับวันที่ 29 กันยายน 2566

เทศกาลไหว้พระจันทร์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือวันเพ็ญเดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ ตามปฏิทินสากลจะอยู่ในเดือนกันยายนหรือตุลาคม ซึ่งในประเทศจีนตรงกับกลางฤดูใบไม้ร่วงพอดี (ภาษาอังกฤษที่เรียกเทศกาลนี้ว่า Mid-Autumn Festival) ภาษาจีนเรียกว่า 中秋节 zhōng qiū jié (จงชิวเจี๋ย) มาจาก中 zhōng (จง) กลาง 秋 qiū (ชิว) ฤดูใบไม้ร่วง 节 jié (เจี๋ย) เทศกาล

จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองการเก็บเกี่ยว เพื่อขอพรเรื่องการเก็บเกี่ยวและความสุขในชีวิต เพราะเชื่อว่าพระจันทร์จะมีความสว่างไสวเป็นพิเศษในวันไหว้พระจันทร์  ชีวิต นอกจากนี้ยังเป็นเทศกาลที่สื่อถึงการรวมตัวของสมาชิกในครอบครัว อันมีความหมายโดยนัยคือความกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวประหนึ่งดวงจันทร์ ในบางพื้นที่จะมีกิจกรรมทั้งแขวนโคมไฟ และจัดเชิดมังกร

ประวัติของวันไหว้พระจันทร์

เทศกาลไหว้พระจันทร์มีประวัติยาวนานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น เชื่อว่าดวงจันทร์เป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ซึ่งจะประทานความอุดมสมบูรณ์ให้กับชาวนา ชาวจีนจึงไหว้พระจันทร์เพื่อขอพรให้พืชผลอุดมสมบูรณ์ และในยุคของฮั่นเหวินตี้ (漢文帝) แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ลอยขึ้นไป เที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบกับฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในสุบินนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาฉางเอ๋อที่พระองค์ได้พบเจอมา จนแพร่หลายไปสู่ราษฎรและเป็นประเพณีมา ซึ่งในอดีตชาวจีนโดยเฉพาะหญิงสาว จะสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อขอให้มีความเยาว์วัยและงดงามตลอดไป

ตำนานฉางเอ๋อสู่ดวงจันทร์ มีต้นกำเนิดจากการบูชาดวงดาวและพระจันทร์ในสมัยโบราณ ตามตำนานว่ากันว่าเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ที่ชื่อ “ฉางเอ๋อ” นั่นเป็นหญิงคนรักของโฮวอี้ นักยิงธนูแห่งสวรรค์ เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างมาก โดยสามารถยิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียว ยิงดวงอาทิตย์ตกลงไปถึง 9 ดวงจากทั้งหมด 10 ดวง ให้เหลือดวงอาทิตย์อยู่เพียงดวงเดียว เป็นการขจัดความทุกข์ให้กับประชาชนทั่วไป จึงได้รับการยกย่องให้เป็นกษัตริย์ แต่เมื่อโฮ่วอี้ได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ ก็ลุแก่อำนาจ ลุ่มหลงในสุรานารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจ ทำให้ราษฎรโกรธแค้นชิงชังเขา และคิดก่อการกบฏ เมื่อโฮ่วอี้รู้ตัว จึงได้เดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน เพื่อขอยาอายุวัฒนะมาดื่มกิน แต่ ฉางเอ๋อ ผู้เป็นภรรยากลัวว่า ถ้าสามีของนางมีอายุยืนนาน อาจจะนำพาเอาความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนเป็นแน่แท้ ดังนั้นนางจึงตัดสินใจแอบขโมยยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง เมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างของฉางเอ๋อก็เบาหวิว และลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมา บนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดา กลายเป็นตำนานฉางเอ๋อสู่ดวงจันทร์นั่นเอง

สำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์เริ่มมาเป็นที่แพร่หลายในสมัยของจักรพรรดิถังสวนจง (唐玄宗 táng xuán zōng) แห่งราชวงศ์ถังผู้มีศรัทธาในลัทธิเต๋า พระองค์มีดำริให้จัดพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลไหว้พระจันทร์อย่างเป็นทางการ หลังจากได้เสด็จเยือนพระราชวังบนดวงจันทร์ด้วยพระองค์เอง และในราชวงศ์ถังนี่เองที่เริ่มมีธรรมเนียมชมจันทร์เกิดขึ้น โดยเริ่มในหมู่ชนชั้นสูงก่อนแล้วจึงแพร่หลายมาสู่ราษฎร

ประวัติขนมไหว้พระจันทร์

ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันไหว้พระจันทร์นั้น เกิดขึ้นในยุคที่ชาวฮั่นถูกปกครองอย่างกดขี่จากชาวมองโกล (ราชวงศ์หยวน) ทำให้ชาวจีนขุ่นเคืองใจเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาท่านหลิวปั๋วเวิน จึงวางแผนเรียกร้องให้ชาวจีนร่วมมือกันขับไล่มองโกล โดยการเขียนข้อความระบุแผนการไว้บนกระดาษใบเล็กๆ แล้วสอดไส้ไว้ในขนม ความว่า เมื่อถึงวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เวลายาม 3 ให้ทุกบ้านจับอาวุธออกมาต่อสู้ขับไล่มองโกลให้พ้นแผ่นดินอย่างพร้อมเพรียงกัน ทำให้สามารถโค่นล้มอำนาจการปกครองของมองโกลในที่สุด

เพื่อเป็นการฉลอง และรำลึกการกอบกู้แผ่นดินที่ประสบความสำเร็จ ประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ในวันเทศกาลดังกล่าวจึงมีการสืบทอดกันตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าแห่งหนใดที่มีชาวจีนเดินทางไปถึงก็จะพาประเพณีรับประทานขนมไหว้พระจันทร์ ไปด้วย สำหรับขนมไหว้พระจันทร์ที่แพร่หลายในไทยนั้น เป็นแบบของกวางตุ้งโดยส่วนใหญ่ หลายปีที่ผ่านมา ขนมไหว้พระจันทร์ที่ผลิตในไทย ไม่ว่าด้านคุณภาพ รสชาติ และการบรรจุล้วนมีระดับที่สูงขึ้น

ขนมไหว้พระจันทร์

ขนมไหว้พระจันทร์ เป็นของที่ใช้สำหรับเซ่นไหว้ดวงจันทร์ ที่มีทรงกลม ลักษณะคล้ายขนมเค้ก ทำจากแป้งนวด กดใส่แป้นพิมพ์ที่มีลวดลายต่างๆ เคลือบผิวหน้าด้วยน้ำเชื่อม

โดยภายในบรรจุไส้ต่างๆ เป็นธัญพืชเช่น ทุเรียนกวน, เมล็ดบัว, ถั่วกวนต่างๆ, แมคคาเดเมีย, พุทราจีน เป็นต้น แต่ปัจจุบันก็ได้มีดัดแปลงใส่เนื้อสัตว์ต่างๆ ให้มีความหลากหลาย มากยิ่งขึ้น เช่น กุนเชียง, ไข่เค็ม, หมูแฮม, หมูแดง, หมูหยอง หรือใส่รสชาติเช่น ชาเขียว อัลมอลด์ ช็อกโกแลต ครีมคัสตาร์ด เป็นต้น

โดยแต่ละไส้ก็มีความหมายต่างกันไป

•             เม็ดบัว หมายถึง จิตใจที่บริสุทธิ์ การมีอายุยืนยาว อ่อนน้อมถ่อมตนและความสงบสุข

•             ลูกพลัม หมายถึง ความกล้าหาญและความหวัง เปรียบเหมือนดอกพลัมชูช่อในฤดูหนาว

•             ธัญพืช หมายถึง สัญลักษณ์ของโชคลาภและความอุดมสมบูรณ์

•             เกาลัด หมายถึง ลูกชายและสิ่งอันเป็นที่รัก

•             ถั่วแดง คนจีนมีความเชื่อว่าไต เป็นอวัยวะที่ขับความกลัวออกมา ซึ่งถั่วแดงสามารถเพิ่มความกล้าให้ไตได้

ขั้นตอนพิธีการไหว้พระจันทร์

ในอดีตชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เพราะเชื่อกันว่า พระจันทร์ถือเป็นหยิน ซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายเป็นหยาง ดังนั้นจึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้ แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งหญิงชายก็สามารถไหว้ได้ทั้งคู่

ช่วงเวลา :

การไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นในตอนค่ำหลังพระอาทิตย์ตกดินหรือเริ่มตอนหัวค่ำ เมื่อเห็นดวงจันทร์จะเริ่มปรากฏบนท้องฟ้า บางบ้านไหว้ตอนดึก รอให้พระจันทร์เต็มดวงการตั้งโต๊ะจะจัดให้เรียบร้อยก่อนพระจันทร์ลอยสูงเกินขอบฟ้า และเก็บก่อนที่พระจันทร์เลยหัวไปหรือเมื่อเทียนดอกใหญ่ดับลง

หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ โดยต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากัน

สถานที่ :

ลานหน้าบ้านหรือดาดฟ้ากลางแจ้ง โดยมีการตั้งโต๊ะ ทำซุ้มต้นอ้อย มีธูปเทียน กระดาษเงิน กระดาษทอง ที่พับเป็นเงินตราจีน โคมไฟและสิ่งของเซ่นไหว้

ปัจจุบันรัฐบาลจีนมักกำหนดให้เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นวันหยุดยาวติดต่อกัน 3 วัน เพื่อให้ชาวจีนที่ออกมาทำงานต่างเมืองจึงรอคอยที่จะใช้โอกาสนี้เดินทางกลับบ้านเกิดเพื่อใช้เวลาร่วมกับครอบครัว ส่วนผู้ที่ไม่ได้เดินทางกลับบ้านก็จะใช้โอกาสนี้พักผ่อนหรือใช้เวลาร่วมกับเพื่อนสนิทมิตรสหาย

ของไหว้ประกอบไปด้วย

เครื่องบวงสรวงที่ใช้จะไหว้ด้วยของเจเหมือนไหว้เจ้าแม่กวนอิม ซึ่งไหว้พระจันทร์เพื่อให้มีคู่ คนจีนจะถวายอาหารเป็นเลขคู่ แต่บางคนอาจถวายอย่างละ 5 ก็ได้

อาหารเจแห้ง 4-5 อย่าง คือ วุ้นเส้น, ดอกไม้จีน, เห็ดหูหนู, เห็ดหอม, ฟองเต้าหู้

ขนมหวาน : สาคูแดง 4 ถ้วย ขนมโก๋สีขาว ขนมไหว้พระจันทร์, ขนมเปี๊ยะ, ไส้อะไรก็ได้ที่ไม่มีไข่แดงเค็ม และต้องไม่ใช่ไส้โหงวยิ้ง, ขนมโก๋, ผลไม้ที่มีชื่อและความหมายมงคล

ธูป 3 หรือ 5 ดอกหรือธูปมังกรดอกใหญ่ดอกเดียว

ผลไม้ 4 อย่าง ควรเป็นผลไม้ที่เป็นมงคล เช่น ทับทิม มีเมล็ดเยอะ หมายถึง มีลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง แอปเปิล หมายถึง ความสงบสุข ส้มโอ หมายถึง มีกินมีใช้  องุ่น หมายถึง มีแต่ความเพิ่มพูน ส้ม หมายถึง เป็นสิ่งมหามงคล สาลี่ หมายถึง คือการมีแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต

เทียนแดงคู่

โคมไฟ : เพื่อใช้สำหรับจุดไฟ เพราะเปรียบเหมือนชีวิตที่สว่างไสว

กระดาษไหว้พระจันทร์ กระดาษเงิน กระดาษทอง เช่น ค้อซี, กอจี๊, เนี้ยเก็ง, โป๊ยเซียนตี่เอี๊ย คือ กระดาษเงินกระดาษทอง, เนี้ยเพ้า คือ ชุดเจ้าแม่พระจันทร์

ดอกไม้สด 1 คู่

น้ำชาหรือใบชา 4 ถ้วย

น้ำสะอาด

บทสวดไถ่อิมแชกุงเสี่ยเก็ง “พระคัมภีร์แม่พระจันทร์”

ไถ่ อิม ผ่อ สัก เฮี่ยง ตัง ไล๊

โชย เต๊ง ตี่ เง็ก กิ๋ว เต่ง ไค

จับ บ่วง โป้ย โซย จู ผ่อ สัก

จู ฮุก ผ่อ สัก เหลียง เปียง ไป๊

จู จุง ฮุก เก่ง บ่อ ฮุ๊ง ตี่

ฉุก จุ้ย โน๊ย ฮวย หมั๋ว ตี่ ไค

ท้าว ตั่ว ฉีก จั๊ง จู ป้อ ถะ

พั๊ว ซอ สี่ ไก่ งั้ง กวง เม็ง

เจก ฮุก ป่อ ตับ ที ตี่ อึง

หยี่ ฮุกป่อ ตับ แป๋ บ้อ อึง

ต่อ แซ แป่ บ้อ เจ็ง ฮก ซิ่ว

ก่วย สี่ แป่ บ้อ จ๋า เถี่ยว แซ

นำ มอ ฮุก นำ มอ หวบ

นำ มอ ออ นี ถ่อ ฮุก

ที ล๊อ ซี๊ง ตี่ หล่อ ซี๊ง

นั๊ง หลี่ หลั่ง หลั่ง หลี่ ซิง

เจก เฉียก ใจ เอียง ฮ่วย อุ่ย ติ๊ง

อู่ หนั่ง เนี่ยม ติ๊ก ฉีก เพียง ไถ่ อิม เก็ง

แซ ซี่ ปุก ตะ ตี่ เง็ก มึ๊ง

ถ้าหากใครที่ไม่สะดวกจะเตรียมของมากมายดังที่กล่าวไว้ สามารถใช้เพียงขนมไหว้พระจันทร์หรือขนมอื่นๆ ร่วมด้วยแต่ต้องเป็นขนมรูปทรงกลม รวมไปถึงของใช้ที่จำเป็นสำหรับผู้หญิง และโหลหรือชามใส่น้ำตั้งเอาไว้เพื่อให้เป็นแสงสะท้อนจากเงาจันทร์เสมือนว่าเราได้อาบแสงจันทร์เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ไหว้นั่นเอง

และสุดท้ายสิ่งที่หลายๆ คนหรือหลายๆ ครอบครัวจะได้จากการไหว้ใน วันไหว้พระจันทร์ ก็คือสมาชิกในครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้ากันเพราะวันดีๆ แบบนี้จะมีเพียงปีละครั้ง นอกจากนี้ยังจะได้รับประทานอาหารพร้อมหน้ากันภายใต้พระจันทร์เต็มดวง อันเป็นการนำความสุขสมบูรณ์มาสู่สมาชิกครอบครัวได้เป็นอย่างดี นับว่ามีคุณค่าแก่การสืบทอดและเผยแพร่ตลอดไป

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0