The Mystery of Easter Island

Story & Photo by เรื่องเล่าจากกระเป๋าเดินทาง

Easter Island_2_002

เกาะอีสเตอร์ (Easter Island) เป็นชื่อของเกาะที่คนจำนวนไม่น้อยน่าจะเคยได้ยินชื่อเสียงผ่านหูมาบ้าง หนึ่งในสถานที่ที่ขึ้นชื่อว่าไกลที่สุดในโลก โดยเฉพาะความโด่งดังของหินสลักขนาดยักษ์ “โมอาย” (Moai) ที่เรียงรายกันอยู่ตามชายหาดของเกาะเป็นจำนวนมากมาย

Easter Island_2_028

เรื่องราว ปริศนาลึกลับที่ยังไม่มีผู้ใดหาคำตอบที่แน่ชัดได้ ดินแดนอันไกลโพ้นแห่งนี้จึงกลายเป็นจุดหมายที่ใฝ่ฝันของนักเดินทางผู้หลงใหลความแปลกใหม่ และท้าทาย

Easter Island_2_010

ฉันเห็นโมอายครั้งแรกจากหนังเรื่องราปานุย แล้วก็ฝันว่าสักวันจะได้ไปชมด้วยตาตัวเองสักครั้ง แต่ด้วยระยะทางและค่าใช้จ่าย เลยได้แต่เก็บใส่ลิ้นชักความฝันไว้อยู่หลายปี

Easter Island_2_013

จนเมื่อมีโอกาสเดินทางมาทวีปอเมริกาใต้ครั้งแรก จึงได้เปิดลิ้นชักความฝันนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แม้ค่าใช้จ่ายจะสูงลิ่ว แต่ก็พอตั้งสติได้ก็คิดว่าไหนๆ ก็มาถึงนี่แล้ว…ครั้งหนึ่งในชีวิต

Easter Island_2_011

เกาะอีสเตอร์ หรือตามภาษาถิ่นเรียกว่า เกาะราปานุย (Rapa Nui) และในภาษาสเปนเรียกว่า เกาะปัสกวา (Isla de Pascua) ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะขนาดเล็กภายใต้การปกครองของประเทศชิลี (Chile) ที่มีพื้นที่เพียง 160 ตารางกิโลเมตร

Easter Island_2_012

ตัวเกาะห่างจากฝั่งของชิลีไปกว่า 3,600 กิโลเมตร จนได้ชื่อว่าเป็นสถานที่อันโดดเดี่ยวแห่งหนึ่งของโลก ถูกค้นพบโดยนักเดินทางชาวดัตช์ชื่อจาค็อบ ร็อกเกวีน (Jacob Roggaveen) ซึ่งค้นพบในวันอีสเตอร์ของปี ค.ศ. 1770 จึงได้ตั้งชื่อเกาะว่า Easter Island

Easter Island_2_day2_005

การเดินทางมาที่สะดวกสุดทางเดียวคือนั่งเครื่องบินมาจากซานติอาโก (Santiago) เมืองหลวงของประเทศชิลี โดยสายการบิน LATAM ซึ่งมีเที่ยวบินตรงทุกวัน วันละหนึ่งเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณห้าชั่วโมง ราคาค่อนข้างโหดเพราะความไกล ผูกขาดสายการบินเดียว และเส้นทางนี้สามารถมีเครื่องบินบินได้ทีละลำเท่านั้น หลังจากอยู่บนฟ้ากว่าห้าชั่วโมง ในที่สุดเครื่องบินก็ลงจอดที่ท่าอากาศยาน Mataveri International Airport โดยสวัสดิภาพ สนามบินมีขนาดเล็กแต่มีเสน่ห์และเอกลักษณ์

Easter Island_2_047

เวลาที่นี่ช้ากว่าที่แผ่นดินใหญ่ของชิลีสองชั่วโมง ฉันมองหาป้ายชื่อตัวเองเพราะทางเกสต์เฮาส์แจ้งว่าจะส่งคนมารับ แคทธารีนา (Catharina) โบกมือทักทายและแนะนำตัวกับฉัน พร้อมคล้องพวงมาลัยดอกไม้ให้ที่คอเป็นธรรมเนียมต้อนรับน่ารักๆ ของที่นี่

Easter Island_2_054

เธอเป็นเพื่อนกับเจ้าของเกสต์เฮาส์ ยังไม่ทันไรเราก็คุยกันถูกคอ หลังจากส่งฉันเอาของไปเก็บเข้าที่พัก เธอก็อาสาพาฉันออกไปเดินสำรวจตัวเมืองย่าน Hanga Roa ที่มีถนนสายหลักชื่อ Atamu Tekena มีร้านขายของ ที่พัก ร้านอาหาร ร้านเช่ารถ บริษัททัวร์ ตั้งอยู่เรียงราย

Easter Island_2_day1_105

ฉันตัดสินใจเช่ารถจักรยานมาหนึ่งคัน ด้วยตั้งใจว่าจะปั่นจักรยานตามหาโมอายรอบเกาะ แต่จู่ๆ แคทธารีนาก็บอกว่ากำลังจะไปเล่นน้ำทะเลกับเพื่อนที่ Anakena beach แล้วเอ่ยปากชวนฉันไปด้วย ฉันก็ใจง่ายตกปากรับคำด้วยความถูกชะตาและสัมผัสได้ถึงมิตรภาพที่จริงใจจากเธอ จึงเอาจักรยานไปเก็บที่เกสต์เฮาส์แล้วกระโดดขึ้นรถกระบะคันเก่าพร้อมกับน้องหมาตัวน้อยของเธอ

Easter Island_2_day1_158

ฉันคิดเสมอว่า การได้มีเพื่อนเป็นคนท้องถิ่นพาเที่ยวเป็นกำไรในการเดินทาง เพราะเรามักจะได้เห็นและสัมผัสประสบการณ์ที่แตกต่างจากนักท่องเที่ยวทั่วไป

Easter Island_2_day2_042

ความลี้ลับของเกาะอีสเตอร์ เป็นหัวข้อที่นักประวัติศาสตร์ และนักวิชาการทั้งหลายพยายามหาข้อพิสูจน์และถกเถียงกันมายาวนานนับร้อยปี โดยเฉพาะเรื่องราวปริศนาเกี่ยวกับ “โมอาย” หินแกะสลักขนาดยักษ์ ที่มีมากกว่า 600 ตัว กระจายอยู่ทั่วเกาะ ในปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของอุทยานแห่งชาติราปานุย (Rapa Nui National Park)

Easter Island_2_079

กับคำถามที่ว่ารูปปั้นลี้ลับเหล่านี้มาได้ยังไง ใครเป็นคนแกะสลักสิ่งเหล่านี้ แกะสลักเพื่ออะไร หินเหล่านี้มาจากไหน ใช้เครื่องมืออะไร เคลื่อนย้ายหินขนาดยักษ์ได้อย่างไร แล้วเหตุใดจึงยุติการสร้างหินแกะสลักเหล่านี้ โมอายเกือบทั้งหมดที่พบนั้นถูกแกะสลักมาจากหินก้อนเดียว มาจากเหมืองหินที่ปล่องภูเขาไฟราโน รารากู (Rano Raraku)

Easter Island_2_065

แต่บางตัวก็มีสิ่งประดับเป็นชิ้นแยกต่างหากอยู่บนศีรษะคล้ายหมวกหรือมวยผม ซึ่งเรียกว่า “ปูเกา” (Pukao) ข้อสันนิษฐานที่แพร่หลายที่สุดคือ โมอายถูกแกะสลักโดยชาวโปนิเซียน ซึ่งอาศัยอยู่บนเกาะนี้เมื่อพันกว่าปีก่อน เพื่อเป็นตัวแทนของบรรพบุรุษผู้ล่วงลับหรือผู้มีความสำคัญในสมัยนั้น หรืออาจจะเป็นสัญลักษณ์แสดงฐานะของครอบครัว

Easter Island_2_day1_046

การสร้างและเคลื่อนย้ายโมอายที่มีความสูงเฉลี่ยถึงสี่เมตรและหนักกว่าสิบตันจากจุดกำเนิดไปยังที่ตั้งต่างๆ บนเกาะยังคงเป็นปริศนา

Easter Island_2_day1_080

Easter Island_2_day1_051

แต่ความคิดเห็นส่วนใหญ่เชื่อว่าโมอายถูกเคลื่อนย้ายไปในแนวตั้ง ทำให้ดูเหมือนโมอายเดินไปได้เองตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวเกาะ นอกจากนี้ยังมีบางความเชื่อที่ว่า การสร้างและเคลื่อนย้ายโมอายต้องใช้ท่อนไม้ ยิ่งโมอายมีขนาดใหญ่ก็จำเป็นต้องใช้ท่อนไม้จำนวนมาก ทำให้จากเดิมที่เกาะอีสเตอร์ปกคลุมไปด้วยป่าปาล์ม เมื่อป่าถูกทำลายจนหมดก็ทำให้การสร้างโมอายยุติไปด้วย

Easter Island_2_day1_015

การเรียกโมอายจะเรียกตาม “อาฮู” (Ahu) ที่โมอายตั้งอยู่ Ahu a Kivi เป็นที่แรกที่ฉันได้เห็นโมอายของจริง ที่นี่มีโมอายเจ็ดตัว และแปลกกว่าบริเวณอื่นตรงที่ไม่ได้ตั้งอยู่ริมทะเล แต่ตั้งอยู่กลางเกาะ แถมยังหันหน้าออกทะเล ในขณะที่โมอายที่อื่นหันหลังให้ทะเลกันหมด โดยโมอายทั้งเจ็ดจะหันหน้า ตรงกับแนวพระอาทิตย์ตกในวันที่กลางวันกับกลางคืนยาวเท่ากัน (Equinox) ในเดือนมีนาคม และหันหลังตรงกับแนวพระอาทิตย์ขึ้นในวันที่กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากันในเดือนกันยายนอีกด้วย

Easter Island_2_day1_039

จุดที่สองที่แคทธารีนาพาแวะชมคือ Puna Pau ซึ่งเป็นสถานที่แห่งเดียวบนเกาะที่มีหินภูเขาไฟสีแดง จึงกลายเป็นสถานที่ทำปูเกาะ ซึ่งก็คือหมวก “Red Hats” หรือมวยผม “Topknots” ของโมอายนั่นเอง ที่นี่ยังเป็นจุดชมวิวที่เห็นเมืองอยู่ไม่ไกลด้วย

Easter Island_2_day1_135

แล้วเราก็ได้มาถึง Anakena beach ที่นี่เป็นหนึ่งในสองหาดทรายของเกาะที่มีชายหาดเล็กๆ ให้เล่นน้ำได้ ว่ากันว่าเป็นบริเวณที่พระราชาคนแรกของชาวราปานุยชื่อว่า Hotu Matu’a เดินทางมาจากหมู่เกาะพอลินีเซียนมาขึ้นฝั่งและเริ่มตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้

Easter Island_2_day1_189

โดยเชื่อว่าการตั้งถิ่นฐานน่าจะเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี ค.ศ. 1200 ในบริเวณนี้จะพบโมอายสองกลุ่มคือ Ahu Ature ซึ่งเป็นโมอายเดี่ยวและเป็นโมอายตัวแรกที่ได้รับการบูรณะยกขึ้นตั้งบนฐานด้วยแรงงานคน และ Ahu Nau Nau ที่ประกอบด้วยโมอายเจ็ดตัว

Easter Island_2_day1_020

ชายหาดบริเวณนี้ มีต้นมะพร้าวที่เชื่อว่านำมาจากตาฮิติ ลมแรงจนต้นมะพร้าวเอนเอียงดูน่ากลัว แต่ฉันก็ได้สนุกสนานเล่นน้ำโต้คลื่นทะเลกับเพื่อนใหม่ชาวเกาะอีสเตอร์ เราใช้เวลาเล่นน้ำและพักผ่อนกันที่ Anakena beach จนเกือบค่ำ

Easter Island_2_day1_128

ถึงแม้จะพลาดการไปทัวร์ภูเขาไฟดังที่ตั้งใจไว้ แต่การได้มีไกด์ท้องถิ่นขับรถพาเที่ยว ได้เล่นน้ำ พักผ่อนในวันหยุดแบบชาวเกาะ ก็นับเป็นกำไรชีวิตมากแล้ว แม้เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ได้รู้จักกัน แต่ฉันก็รู้สึกอิ่มใจกับมิตรภาพที่ชาวชิลีมอบให้

Easter Island Show_071

คืนนั้นฉันไปกินอาหารและดูโชว์ Kari Kari ในตัวเมือง ซึ่งเป็นโชว์พื้นเมืองที่มีในแถบทะเลแปซิฟิก

Easter Island Show_046

นักเต้นทั้งชายและหญิง สวย หล่อ เซ็กซี่ และเป็นโชว์สนุกเพลิดเพลิน อีกหนึ่งกิจกรรมที่ไม่ควรพลาด เมื่อมาถึงที่นี่

Easter Island Show_043

Easter Island Show_047

หลังจากจบการแสดงก็เหมือนมีพายุเข้าถล่มเกาะอีสเตอร์ ฉันไม่เคยเจอฝนตกหนักและเสียงลมพายุดังน่ากลัวขนาดนี้มาก่อนในชีวิต แต่เจ้าของเกสต์เฮาส์ก็ปลอบใจว่านี่เป็นเหตุการณ์ปกติ แล้วฉันก็ต้องติดพายุฝนอยู่ที่เกสต์เฮาส์เพราะออกไปไหนไม่ได้จนถึงเที่ยงของอีกวันต่อมา พลาดการไปชม พระอาทิตย์ขึ้นที่ Ahu Tongariki ภาพโมอายเรียงรายกันสิบห้าตัวที่เราเห็นบ่อยๆ ตามโปสต์การ์ด เพราะเป็นแลนด์มาร์กและเป็นจุดที่มีชื่อเสียงที่สุดของเกาะอีสเตอร์ พอพายุฝนสงบลง ฉันแทบกระโดดขึ้นจักรยานตั้งใจจะปั่นไปชม Ahu Tongariki กับตาสักครั้ง ระยะทางยี่สิบกิโลเมตรไม่ใช่ปัญหาสำหรับนัก (ชอบ) ปั่นอย่างฉัน แต่ระหว่างทางฝนก็ตกลงมาอีก ไปได้ไม่ถึง ครึ่งทางฉันต้องยอมแพ้หันหลังกลับเพราะทนความหนาว และต้านความรุนแรงของลมฝนน้องๆ พายุดีเปรสชันไม่ไหว กว่าจะพาตัวเองปั่นขึ้นลงเขาเลียบชายหาด กลับมาถึงรีสอร์ตได้ สภาพที่เปียกปอนสะบักสะบอม

Easter Island_2_155

ตอนเย็นฝนหยุดตกท้องฟ้าสดใสขึ้น ฉันปั่นจักรยานอีกครั้งมุ่งหน้าไปที่ Ahu Tahai ซึ่งเป็นกลุ่มโมอายที่อยู่ใกล้เมืองมากที่สุด โมอายกลุ่มนี้ถูกยกขึ้นตั้งอีกครั้งเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้ว

Easter Island_2_128

ประกอบด้วยสามกลุ่มย่อย คือ Ahu Vai ‘Uri ที่มีห้าตัว Ahu Tahai และ Ahu Ko Te Riku ที่มีดวงตา โดยตาขาวทำจากผงปะการังและตาดำทำจากหิน Ahu Tahai ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ

Easter Island_2_147

จึงเป็นทำเลทองในการชมพระอาทิตย์ตก บรรยากาศพระอาทิตย์ตกที่นี่สวยงามมากๆ ท้องฟ้าเปลี่ยนสีทุกห้านาที บรรยากาศแบบนี้ยิ่งทำให้โมอายเหล่านี้ยิ่งดูลึกลับ พิศวง และชวนให้ค้นหามากขึ้นไปอีก

Easter Island_2_144

อดคิดไม่ได้ว่า นี่เราเดินทางมาไกลมากเลยนะ คิดถึงบ้านจัง บ้านเราอยู่ตั้งอีกซีกหนึ่งของโลกเลยนะ เวลาสามวันสองคืนที่ฉันได้มาติด (ฝนบน) เกาะ ใช้ชีวิตช้าๆ และได้มาสัมผัสความลี้ลับของโมอายกับตา เป็นประสบการณ์ที่ยากจะลืมเลือน

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0