Beautiful Temple (part 1)

ในฐานะประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือศาสนาพุทธจึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่มีวัดมากกว่า 40,000 แห่งกระจายอยู่ทั่วภูมิภาคของประเทศไทย บางวัดเป็นวัดเก่าแก่โบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาและสุโขทัย มีอายุมากกว่า 100 ปี บางวัดเพิ่งสร้างใหม่แต่ก็มีความสวยงามที่นอกจากดึงดูดผู้มีจิตศรัทธาไปเยี่ยมเยือนทำบุญบูชา อธิษฐานแล้ว บางวัดยังเป็นที่สนใจและกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่สนใจในศาสนาพุทธอีกด้วย

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าวัดมีเยอะมาก เราคงไม่สามารถที่จะนำเสนอดสวยงามทั้งหมดได้ในคราเดียว ครั้งนี้จึงได้รวบรวมวัดที่ได้รับความนิยมและสวยงามเป็นที่รู้จักมาให้ก่อนสัก 10 วัดส่วนจะมีที่ไหนบ้างนั้นตามกันมาเลย

วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) กรุงเทพมหานคร

วัดสำคัญที่งดงามของกรุงเทพมหานคร เป็นวัดที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินิยมมากันเป็นอย่างยิ่ง วัดพระแก้วเปิดให้เข้าชมทุกวัน 08.30-15.30 น. คนไทยเข้าฟรี ชาวต่างชาติ 200 บาท ปัจจุบัน (ปี 2564) สถานการณ์โควิดทำให้นักท่องเที่ยวลดลง เป็นช่วงที่เหมาะที่เราจะได้เข้าชมวัดพระแก้วได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีผู้คน เราเข้าวัดโดยผ่านทางจุดคัดกรองวัดอุณหภูมิบริเวณช่องทางเดินในฝั่งสนามหลวง ช่วงนี้สำหรับพระบรมมหาราชวัง ที่ตั้งอยู่ภายในพื้นที่เดียวกันยังไม่เปิดให้เข้าชม สามารถเข้าชมได้แค่ภายในวัดพระแก้วเท่านั้น

วัดอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นนอกทางทิศตะวันออก มีระเบียงล้อมรอบเป็นบริเวณ เป็นวัดคู่กรุงที่ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ใช้เป็นที่บวชนาคหลวง และประชุมข้าทูลละอองพระบาทถือนำพระพิพัฒน์สัตยา จุดที่เรามักจะเห็นค้นุ ตา คือ ภาพยักษ์วัดพระแก้วพระศรีรัตนเจดีย์สีทอง ปราสาทพระเทพบิดร พระอัษฎามหาเจดีย์ และจิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว ที่ตั้งเป็นกลุ่มเรียงรายกันงดงาม

วัดพระแก้วถือเป็นศูนย์รวมของเหล่ายักษ์มากที่สุดถึง 12 ตนซึ่งล้วนเป็นชั้นกษัตริย์ และเป็นคู่ต่อสู้ของพระรามทั้งสิ้น จากเรื่องรามเกียรติ์ ทำหน้าที่เป็นทวารบาลยืนเฝ้าซุ้มประตูพระระเบียงคด ทางเข้า-ออกพระอุโบสถประตูละคู่ในวัดพระแก้ว ซึ่งยักษ์เหล่านี้สร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3พร้อมกับยักษ์วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม)

พระศรีรัตนเจดีย์สีทองเป็นพระเจดีย์ทรงกลมแบบลังกา รูปแบบเดียวกับพระเจดีย์ 3 องค์ ที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นพระเจดีย์ก่ออิฐถือปูนประดับกระเบื้องโมเสกทองทั้งองค์ ภายในกลวงเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์องค์เล็กบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ องค์ปราสาทพระเทพบิดร เป็นอาคารจัตุรมุขทรงไทย ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปปางสมาธิทำด้วยมณีสีเขียวเนื้อเดียวทั้งองค์ หนึ่งข้อห้ามของวัดคือ ห้ามถ่ายรูปภายในพระอุโบสถ และพระแก้วมรกตพระอัษฎามหาเจดีย์หรือพระปรางค์ 8 องค์นั้น ตั้งเรียงกันทางทิศตะวันออกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ลักษณะของปรางค์ คือ ฐานเป็นรูปแปดเหลี่ยมก่ออิฐฉาบปูนองค์ปรางค์ตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีมียักษ์ปูนปั้นแบกพระปรางค์ไว้โดยรวมทั้ง 4 ทิศนับเป็นศิลปะชั้นสูง

จิตรกรรมฝาผนังวัดพระแก้ว เรียกว่าเป็นภาพเขียนที่ยาวที่สุดในโลกเป็นงานจิตรกรรมชิ้นเอกของไทยที่สะท้อนฝีไม้ลายมือของจิตรกรไทยที่รังสรรค์ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวจำนวน 178 ห้อง ภาพจิตรกรรมไม่ใช่ภาพดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เนื่องจากมีการบูรณะ เรื่องราวเกี่ยวกับมหากาพย์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ อยู่บริเวณระเบียงคดรอบพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หากมีเวลาศึกษาและเสพงานศิลป์ที่อยู่ทั่วทั้งบริเวณวัด บอกเลยว่าคุ้มค่าแน่นอน

วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

นอกจากพระบรมมหาราชวัง และวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วภาพของวัดอรุณราชวราราม ย่อมเป็นวัดต้นๆ ที่อยู่ในความนึกคิดของหลายต่อหลายคนเมื่อนึกถึงประเทศไทยวัดอรุณฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหารหมายถึงพระอารามที่พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี สมเด็จพระยุพราช ทรงสร้างหรือปฏิสังขรณ์เป็นการส่วนพระองค์ ตั้งอยู่แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

จุดโดดเด่นของวัด คือ งานสถาปัตยกรรม วัดอรุณราชวราราม ไม่ว่าจะเป็นตัวองค์พระปรางค์และพระเจดีย์บริวาร มีนัยสอดคล้องกับเรื่องของไตรภูมิกถา สื่อถึงเขาพระสุเมรุ ทวีปทั้ง 4 และเขาสัตตบริภัณฑ์พระปรางค์ใหญ่วัดอรุณฯ ถือได้ว่าเป็นศิลปกรรมที่สง่าและโดดเด่นที่สุด ก่อสร้างโดยช่างฝีมือที่มีความเชี่ยวชาญ บนพระปรางค์ประดับด้วยเครื่องกระเบื้องเคลือบและเครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ที่นำเข้ามาจากจีน ซึ่งมีลวดลายงดงามเป็นของเก่าแก่และหายาก

โดยได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ 5 ปรางค์ทิศเป็นปรางค์องค์เล็กก่ออิฐถือปูนประดับกระจกเคลือบสีแบบเดียวกับพระปรางค์องค์ใหญ่ เหนือเป็นนภศูลปิดทอง ตั้งอยู่มุมทักษิณชั้นล่างของปรางค์องค์ใหญ่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันตกเฉียงเหนือ ตะวันตกเฉียงใต้ ทิศละองค์มีรูปทรงเหมือนกัน คือมีช่องรูปกินนรและกินรี เชิงบาตรเหนือช่องมีรูปมารแบกกระบี่แบกสลับกัน เหนือขึ้นไปเป็นซุ้มคูหารูปพระพายทรงม้า เหนือขึ้นไปเป็นยอดปรางค์มีรูปครุฑยุดนาคและเทพนมอยู่เหนือซุ้มคูหา ซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถ จะมียักษ์วัดแจ้งที่มีชื่อเสียงยืนเฝ้าอยู่เป็นยักษ์ศิลปะแบบจีน ตรงบริเวณหน้าซุ้มทางเข้าพระอุโบสถ แฝงไว้ด้วยคติความเชื่อในการทำหน้าที่ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา

วัดอรุณฯ ยังมีสถาปัตยกรรมอื่นๆ อีกมากมายให้ได้ชม เปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้าเยี่ยมชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 07.30-17.30 น. คนไทยเข้าชมฟรี นักท่องเที่ยวต่างชาติเสียค่าเข้าคนละ 40 บาท ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเข้าชมวัดอรุณฯ แนะนำให้ว่าช่วงเช้าหน่อยหรือช่วงเย็นเพราะอากาศไม่ร้อนมากนัก และยังได้ชมความสวยงามของบรรยากาศยามเย็นริมแม่นำเจ้าพระยาอีกด้วย

วัดร่องขุ่น เชียงราย

หากพูดถึงวัดสวยในใจของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติแล้วละก็ ย่อมมีวัดร่องขุ่น ที่จังหวัดเชียงรายของอาจารย์เฉลิมชัยโฆษิตพิพัฒน์ อยู่ในรายการด้วยเป็นแน่ สำหรับวัดร่องขุ่น เป็นวัดพุทธ ตั้งอยู่ในตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์

ความโดดเด่นของวัดอยู่ที่การก่อสร้างทั้งหมด เน้นสีขาวของปูนปั้นเป็นหลัก ปรารถนาที่จะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ ประกอบกับ 3 สิ่งคือ ความรักชาติและรักงานศิลป์ต้องการให้งานศิลป์อยู่คู่แผ่นดิน ธรรมะที่อาจารย์ต้องการอุทิศตนเพื่อศาสนา และความปรารถนาที่จะสร้างงานพุทธศิลป์ถวายเป็นงานศิลปะประจำรัชกาลที่ 9 จึงเกิดมีการสร้างวัดร่องขุ่นขึ้น

นอกจากอุโบสถสีขาวจะเด่นสวยงามสะดุดตาตัดกับท้องฟ้าสีครามแล้ว ยังแฝงไปด้วยปริศนาธรรมซ่อนอยู่ผ่านประติมากรรมของนรกและสวรรค์ เริ่มจากสีขาวทั้งหมดแทนด้วยพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้าด้านหน้าทางเข้าโบสถ์มีสะพานข้ามสระน้ำ สะพานเปรียบเสมือนการเดินข้ามจากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิ สระน้ำด้านล่าง หมายถึง สีทันดรมหาสมุทรมีสวรรค์ตั้งอยู่ 6 ชั้นด้วยกัน ผ่านสวรรค์ 6 เดินลงไปสู่พรหม 16 ชั้น แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 16 ดอกรอบพระอุโบสถครึ่งวงกลมเล็ก หมายถึง โลกมนุษย์วงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู เปรียบไดกั้บกิเลสในใจแทนขุมนรกคือทุกข์

ผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าในพุทธภูมิต้องตั้งจิตปลดปล่อยกิเลสตัณหาของตนเองลงไปในปากพญามาร เพื่อเป็นการชำระจิตให้ผ่องใสก่อนที่จะเดินผ่านขึ้นไปพบกับพระราหูอยู่เบื้องซ้าย และพญามัจจุราชอยู่เบื้องขวา ถ้าสังเกตอีกนิดเราจะเห็นสันของสะพาน ที่มีอสูรอมกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16 นั่นเอง

ที่ตรงกึ่งกลางของสะพาน : เขาพระสุเมรุดอกบัวทิพย์ : มี 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทนซุ้มพระอริยเจ้า4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ก่อนเข้าโบสถ์ มีบันไดทางขึ้น 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตัวโบสถ์ที่อยู่สุดทาง เปรียบเหมือนเมืองสวรรค์ เป็นวิมานบนดินที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้ตามความตั้งใจของผู้สร้าง

ภายในอุโบสถยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังรวมทั้งอาคารแสดงภาพวาดที่ตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดเพื่อแสดงผลงานของอาจารย์เฉลิมชัยให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและที่ห้ามพลาดคือ อาคารห้องน้ำสีทอง ตกแต่งด้วยสีทองตั้งแต่หลังคาจนถึงตัวอาคาร

เปิดให้เข้าชมทุกวัน 06.30-18.00 น.
ห้องแสดงภาพเปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-17.30 น.

วัดร่องเสือเต้น เชียงราย

วิหารโทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทองที่โดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไป อีกหนึ่งจุดหมายสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปจังหวัดเชียงราย คือวิหารของวัดร่องเสือเต้นหรือที่เรารู้จักกันในนาม

วัดสีน้ำเงิน ริมแม่น้ำกก หมู่บ้านร่องเสือเต้น ต.ริมกก อ.เมือง จ.เชียงราย ตัววิหารใช้โทนสีน้ำเงินฟ้าตัดกับสีทอง เป็นผลงานการสร้างและออกแบบโดยนายพุทธา กาบแก้ว หรือสล่านก เป็นศิลปินพื้นบ้านชาวเชียงรายและการรวมตัวของชาวบ้านร่องเสือเต้น โดยสล่านกเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ผู้สร้างวัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้นจึงมีวิหารที่มีศิลปะแนวพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยหลักธรรมคำสอนของพุทธองค์ไม่ต่างจากที่วัดร่องขุ่น

สำหรับสีน้ำเงินฟ้าของตัววิหารนั้นเปรียบดังท้องฟ้าที่สงบ เย็นสบายตัดกับลวดลายผนังที่อ่อนช้อยโทนสีขาวทอง ที่ดูพลิ้วไหวดุจดั่งสายน้ำแสดงถึงธรรมะขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าที่ขจรขจายไปทั่วโลก ซึ่งเป็นหลักคำสอนที่เป็นความจริงตามหลักเหตุและผลบริเวณลานวัดมีองค์พระอุปคุตสีขาวมุกประดิษฐานกลางน้ำพุใต้ร่มเงาดอกบัว มีปลาสีน้ำเงินจากป่าหิมพานต์รายรอบ

ประติมากรรมบันไดพญานาค มีเศียรและเขี้ยวพลิ้วไหว ลำตัวมีเกล็ดสีน้ำเงินประกายเขียวนิลดูสวยงามได้รับอิทธิพลจากศิลปะของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ที่เน้นลักษณะโครงสร้างที่เข้มแข็ง น่าเกรงขามทว่าคงความอ่อนช้อยในแบบล้านนา

ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สีขาวมุก ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกคือพระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถ หมายถึง พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคล เป็นเจ้าในความเป็นแห่งราชา เป็นที่พึ่งในสามโลก ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร สูง 6.5 เมตร ตัดกับฉากพื้นหลังสีน้ำเงินฟ้าโดยมีพระรอดลำพูน จำนวน 84,000 องค์ และแก้วแหวนเงินทองหลายสิ่งถูกฝังอยู่ใต้พระพุทธรูปองค์นี้ บริเวณพระเศียรยังได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รวมทั้งยังได้รับพระราชทานนาม รัชมงคลบดีตรีโลกนาถ ที่หมายความว่า “พระพุทธเจ้าทรงเป็นมงคลเจ้าในความเป็นราชาเป็นที่พึ่งในสามโลก”

วัดสันป่ายางหลวง ลำพูน

ตั้งอยู่ในหมู่บ้านสันป่ายางหลวงตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูนเป็นวัดที่เก่าแก่และสวยงามอีกวัดของเมืองไทย บรรจุพระอัฐิธาตุของพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไว้ เมื่อก่อนนั้นเป็นศาสนสถานของพราหมณ์ แต่หลังจากมีพระเถระ จากประเทศเมียนมา จำนวน 3 รูปคือ พระกัณฑโว พระโสภโณ พระอุตตโม มาจำพรรษาแสดงธรรม เลยเปลี่ยนเทวสถานให้เป็นวัด ในปี พ.ศ. 1074

ตัววัดมีการแกะสลักลวดลายปูนปั้นวิจิตรงดงาม โดยเฉพาะวิหารพระโขงเขียว สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2550 โดยใช้วัสดุเสาไม้ตะเคียนทอง ไม้แดง จากประเทศลาว พม่า และไทย พระครูบาอินทรเป็นผู้ออกแบบก่อสร้างและออกแบบลวดลายพื้นเมือง ผสมผสานระหว่างสมัยเก่ากับสมัยใหม่ มีการแกะสลักละลายปูนปั้นที่สร้างไว้ในพระวิหารอย่างละเอียดและวิจิตรสวยงามยิ่ง ทั้งเสาพระวิหารก็จะมีลายแกะสลักลงรักปิดทองไว้

ภายในวิหารพระเขียวโขงเป็นที่ประดิษฐานพระหยกเขียวซึ่งนำมาจากแม่น้ำโขง พระนามเต็มของพระเขียวคือ พระพุทธอัญญรัตน์ มหานทีศรีหริภุญชัย ซึ่งเหมือนพระพุทธศีศากยโคดม องค์ปัจจุบัน

เป็นพระพุทธรูปแกะสลักจากหินแม่น้ำโขง บ้านดอนมหาวัน ที่ใกล้กับประเทศลาว และมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ด้านล่างพระโขงเขียว คือ พระพุทธเมตไตรจำลองมาจากพุทธคยาตอนที่พระพุทธเจ้าโคตรมะบรรลุธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนั้นก็มีพระพุทธรูปแก้วขาวของเก่าเมืองลำพูนรวมทั้งพระเครื่องสกุลหริภุญชัยซึ่งหาได้ยากอีกมากมาย

Beautiful Temple part 2 ดูที่นี่ http://www.vacationistmag.com/beautiful_temple2/

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0