Beam Sensei – สิษฐารัตน์ ปี่ทอง

Story by Sartttra Feangkasem / Picture by Beam Sensei

Beam Sensei 3

หากคุณเคยค้นหาข้อมูลอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่น อย่างสถานที่ท่องเที่ยว การเดินทาง วัฒนธรรม รวมไปถึงภาษาหรือชีวิตประจำวันแบบคนญี่ปุ่น น่าจะเคยผ่านตาเห็น บีม-สิษฐารัตน์ ปี่ทอง หรือ Beam Sensei อย่างน้อยสักครั้ง เพราะเธอได้ใช้ความคลั่งไคล้ในทุกอย่างที่เป็นญี่ปุ่นมาเปลี่ยนเป็นคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อให้ความรู้กับคนที่แวะผ่านเข้ามาในแฟนเพจและช่องของเธอ จนล่าสุดเธอเพิ่งได้รับตำแหน่ง ทูตประชาสัมพันธ์ทิวทัศน์ยามค่ำคืนของประเทศญี่ปุ่นประจำประเทศไทย!

Beam Sensei 8

หลงใหลวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาตั้งแต่เด็ก

หลายคนมีอาชีพทุกวันนี้ได้จากจุดเริ่มต้น หรือความชอบเล็กๆ น้อยๆ ในวัยเด็ก คุณบีมก็เช่นกัน เธอหลงใหลการ์ตูนญี่ปุ่นจนกลายเป็นเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ”เด็กๆ บีมอ่านการ์ตูนค่ะ ชอบวัฒนธรรมการ์ตูน ทำให้บีมเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นตอนมัธยมฯ ต้นถึงมัธยมฯ ปลาย มีคุณครูมาสอนที่บ้านสัปดาห์ละครั้ง แล้วไปเริ่มเรียนจริงจังแบบเจาะลึกตอนมหาวิทยาลัย บีมเรียนเอกภาษาญี่ปุ่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วไปต่อปริญญาโทเกี่ยวกับการสอนภาษาญี่ปุ่นโดยตรงเลยค่ะ

Beam Sensei 9

แต่โดยส่วนตัวบีมชอบการดำรงชีวิตของคนญี่ปุ่นในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ความอ่อนน้อมถ่อมตน แล้วก็ความมีเอกลักษณ์ของป๊อป-คัลเจอร์ด้วย แล้ววัฒนธรรมทางความคิดของเขาก็มีเสน่ห์มากค่ะ อย่างพวกจิตสำนึกในการแยกทิ้งขยะ ความสะอาด ความมีระเบียบ ความภูมิใจในชาติ บีมว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เลยค่ะ” แค่เกริ่นให้ฟังก็สัมผัสได้ถึงความคลั่งไคล้แล้ว

Beam Sensei 5

จากทริปแรกที่เหมือนความฝัน สู่ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น

“ยังจำความรู้สึกตอนทริปแรกที่ไปญี่ปุ่นได้ ประทับใจมาก เหมือนความฝันเราเป็นจริง ตอนนั้นอายุแค่ 15 ปี เป็นตัวแทน 4 คนของประเทศไทยไปร่วมร้องเพลงเพื่อสันติภาพที่ปราสาท Nijo ในเมืองเกียวโตค่ะ ตื่นเต้นมาก ตอนนั้นรถไฟใต้ดินที่บ้านเรายังไม่มี บีมก็ได้ไปขึ้นรถไฟใต้ดินครั้งแรกในชีวิตที่ญี่ปุ่นนั่นแหละค่ะ ได้เห็นความสะอาดของถนนจริงๆ เห็นแล้วรู้สึกแบบ โอ้โห ทำไมมันสะอาดแบบนี้”

Beam Sensei 13

Beam Sensei ในวัย 15 ปี ไม่รู้เลยว่าเธอจะได้มีโอกาสมาใช้ชีวิตที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลารวมถึงสี่ปีครึ่ง “ตอนสมัยเรียนปริญญาตรีได้มาเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่หนึ่งปี พอจบก็มาต่อปริญญาโทอีก 3 ปี แถมหลังเรียนจบก็อยู่ต่ออีกครึ่งปีค่ะ ระหว่างเรียนก็รับงานนิดๆ หน่อยๆ ช่วยงานอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยบ้าง เป็นพรีเซนเตอร์งานอีเวนต์ที่ประเทศไทยบ้าง ออกโทรทัศน์ที่ญี่ปุ่นบ้างค่ะ”

Beam Sensei 10

ไปบ่อยจนใช้ชีวิตแบบคนพื้นที่

ตั้งแต่กลางปีก่อนที่คุณบีมกลับมาอยู่เมืองไทย นับถึงตอนนี้ก็กินระยะเวลาราวหนึ่งปีพอดี แต่เธอเดินทางไปญี่ปุ่นมาแล้วถึง 8 ครั้ง “รวมๆ แล้วใช้เวลาอยู่ญี่ปุ่นประมาณสองเดือนกว่าได้ค่ะ ส่วนใหญ่จะไปกับการท่องเที่ยว ชมเมืองต่างๆ ของญี่ปุ่นเพื่อมาเล่าให้คนไทยฟังอีกที บางครั้งก็ไปถ่ายรายการบ้าง ไปเจอเพื่อนบ้างค่ะ” เธอพูดถึงรอบปีที่ผ่านมา

Beam Sensei 4

ก่อนจะพูดต่อว่า “สมัยเรียนที่นั่นในฐานะนักเรียนก็จะใช้ชีวิตแบบคนญี่ปุ่นเลย ตื่นมาก็ไปเรียน ปั่นจักรยานไปซื้อกับข้าว ขึ้นรถไฟไปแหล่งช้อปปิ้ง ไปกินข้าว ท่องเที่ยวแบบคนญี่ปุ่น ทำงานบ้าง เขียนวิทยานิพนธ์บ้าง

Beam Sensei 17

ส่วนตอนนี้ไปในฐานะนักท่องเที่ยว ก็เที่ยว กินอย่างเดียวเลยค่ะ แต่ก็พยายามถ่ายรูปสวยๆ เก็บข้อมูลมาฝากทุกคนด้วย ถ้าครั้งไหนมีเวลาก็จะไปแวะที่โตเกียว เพราะบีมเคยอยู่ที่นี่จนเป็นเหมือนบ้านหลังที่สองไปแล้ว” นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากไปเยือนญี่ปุ่นในสถานะที่เปลี่ยนไป แต่เธอก็ไม่ลืมที่จะเผยถึงย่านโปรดของตัวเองให้เราฟัง “ฮาราจุกุ นี่ชอบไปเดินบ่อยๆ ค่ะ แต่ต้องไปวันธรรมดานะ เพราะเสาร์อาทิตย์คนเยอะมาก ซื้อของไม่สนุกเลย ของที่นี่ราคาไม่แพง เน้นความน่ารักแบบวัยรุ่นค่ะ ไม่ต้องซื้ออะไรก็ได้ แค่ไปเดินดูของบีมก็มีความสุขแล้ว” เธอปิดประโยคด้วยเสียงหัวเราะ

Beam Sensei 2

รับตำแหน่งทูตประชาสัมพันธ์ทิวทัศน์ยามค่ำคืนจากสมาคม Yakei

ความหลงใหล คลั่งไคล้ นำไปสู่การรู้จริง และสิ่งนั้นไปสะดุดตากับสมาคม Yakei เข้า ทำให้เธอกลายเป็นทูตประชาสัมพันธ์ทิวทัศน์ยามค่ำคืน “ตอนแรกบีมก็สงสัยว่าทำไมเขาเลือกเรา เขาตอบว่าบีมเป็นตัวแทนคนไทยที่สามารถประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวญี่ปุ่นให้กับคนไทยได้รับรู้ และคาแรกเตอร์บีมมีความสดใสและระยิบระยับเหมือนกับวิวตอนกลางคืนค่ะ

Beam Sensei 16

แต่ก็คิดว่าทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากความพยายามของเราที่เขามองเห็น บีมรู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากๆ มันหายเหนื่อยนะ จากการที่เราต้องหาเรื่องมาอัปเพจทุกวัน บางบทความบีมใช้เวลาเขียนเป็นวัน หลายวัน หรือคลิปที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์ก็มีค่ะ เหมือนเราได้รับกำลังใจให้ก้าวต่อไป”

Beam Sensei 12

ทำสิ่งที่อยากทำ แต่ผลตอบรับเกินคาด

คุณบีมเป็นคนชอบถ่ายวิดีโอแล้วอัปคลิปลงยูทูบตั้งแต่เว็บไซต์ดังนี้เพิ่งเปิดตัว แต่เริ่มมาอัดคลิปเกี่ยวกับการสอนภาษาญี่ปุ่นในช่วงที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน นั่นทำให้คนรู้จักเธอมาจนปัจจุบัน “คลิปช่วงแรกๆ เป็นคลิปที่เราร้องเพลงเล่นๆ อยู่บ้าน

Beam Sensei 6

แต่ที่เกี่ยวกับการสอน การแนะนำอะไรแบบนี้ คลิปแรกเลยจะเป็นคลิปสอนคนญี่ปุ่นพูดคำว่าสวัสดี ตอนนั้นเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ที่ญี่ปุ่น มีเวลาว่างค่อนข้างเยอะเลยอยากลองทำอะไรที่อยากทำมานานแล้วดู ปรากฏว่าลงทิ้งไว้สักพัก คนดูหลายหมื่น ตกใจมาก ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มาทำแชนแนลของตัวเองแบบจริงๆ จังๆ ค่ะ”

Beam Sensei 7

และเมื่อเป็นคลิปเกี่ยวกับการสอนตามสไตล์ที่เธอถนัดและเรียนมา ชื่อแชนแนลจึงไม่แปลกที่จะใช้ชื่อว่า Beam Sensei “บีมคือ ชื่อเล่นจริงๆ ค่ะ ส่วน เซนเซ ในภาษาญี่ปุ่นแปลว่า ครู อาจารย์ ตอนแรก บีมสอนภาษาญี่ปุ่นวันละคำผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไปเรื่อยๆ แล้วเริ่มมีคนติดตามเราเยอะขึ้น เริ่มมีคนรอบตัวเรียกเราว่าครูบีม พอตั้งเพจก็คิดว่า ชื่อ Beam ดูธรรมดาไป น่าจะจำยากเพราะมีคนชื่อนี้เยอะ เลยใช้ตามที่หลายๆ คนเรียกแล้วกัน จน Beam Sensei เหมือนเป็นชื่อเล่นไปแล้วค่ะ”

Beam Sensei 14

เที่ยวแบบพยายามค้นหาที่ใหม่ๆ หรือที่คนญี่ปุ่นชอบไปจริงๆ

“บีมชอบไปที่ใหม่ๆ หรือว่าที่คนญี่ปุ่นไปแต่คนต่างชาติไม่ค่อยไปค่ะ การที่เราพูดภาษาญี่ปุ่นได้เป็นข้อดีที่ทำให้เราสามารถไปได้ทุกที่และช่วยตัวเองได้เวลามีปัญหา บีมอยู่ญี่ปุ่นมานานก็ได้สัมผัสกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ดังนั้นบีมจะไม่ค่อยเที่ยวสไตล์นักท่องเที่ยว แต่จะเที่ยวในมุมมองของผู้อยู่อาศัยมากกว่า เราก็เลยจะสามารถแนะนำการท่องเที่ยวคู่ไปกับชีวิตประจำวันได้”

Beam Sensei 11

สไตล์การท่องเที่ยวของเธอไม่ต่างจากที่เราคาดเดาไว้มากนัก แต่เมื่อมีกูรูประเทศญี่ปุ่นมาพูดคุยด้วยทั้งที จะไม่ให้แนะนำอะไรสักอย่างก็ดูจะไม่ถูกต้องนัก เราจึงขอให้คุณบีมยกตัวอย่างมาสักที่ และคำตอบที่ได้คือเทศกาลดูดอกไม้ไฟ ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เธอการันตีเลยว่าบรรยากาศดีเหมือนในการ์ตูนไม่มีผิด

Beam Sensei 15

พูดถึงขนาดนี้ไม่ว่าจะเป็นแฟนการ์ตูนหรือไม่ใช่ก็คงต้องหาโอกาสลองไปดูสักครั้งแล้วละ

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0