สีสัน… ๒๕๐ ปีของการกู้ชาติ สถาปนากรุงธนบุรี

เรื่องโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

วันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้นเป็นวันที่พระยาตาก (สิน) ปราบดาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทนกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นการกู้ชาติของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ที่รู้จักกันในนามสมเด็จพระเจ้าตากสินนั้น จึงมีการศึกษาสืบค้นด้านประวัติศาสตร์และจัดกิจกรรมตามรอยฯ ทั้งทางบกและทางน้ำ จนทำให้เกิดความสนใจใคร่รู้เรื่องราวของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมากขึ้น จากโครงการ “๒๕๐ ปีตามรอยกองเรือยกพลขึ้นบกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จากจันทบุรีสู่อยุธยา” ที่กองทัพเรือร่วมกับ ๑๐ จังหวัดนั้น ได้ปลุกให้สถานที่ตามเส้นทางยาตราทัพในอดีตคือ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และกรุงเทพมหานคร มีบทบาทมาร่วมกันสร้างบรรยากาศการอัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ขนาดเท่าพระองค์จริงเพื่อทำพิธีบวงสรวงในทุกจังหวัดที่กองเรือผ่าน โดยมีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมเทิดพระเกียรติเสมือนหนึ่งเป็นวีรกรรมการกู้ชาติในครั้งนั้น

จำลองค่ายสู้รบ

เหตุการณ์กู้ชาติของพระยาตาก (สิน) เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ นั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทย หลังจากเสียพระนครแล้วส่งผลให้เกิดการจลาจลไปทั้งแผ่นดิน จนราชอาณาจักรอยุธยาเดิมนั้นถูกแบ่งออกเป็นชุมนุมอิสระขึ้นมากมาย กล่าวคือปี พ.ศ. ๒๓๐๙ ก่อนเสียกรุง พระยาตาก (สิน) ได้นำไพร่พลและทหารในบังคับบัญชาฝ่าวงล้อมข้าศึกไปทางด้านทิศตะวันออก เพื่อรวบรวมผู้คนและยุทธปัจจัยต่างๆ มาสู้รบกู้ชาติ เมื่อพระยาตาก (สิน) เตรียมกำลังรบจนพร้อมสรรพแล้ว จึงได้เคลื่อนกองเรือเข้าปากแม่น้ำเจ้าพระยาทำการสู้รบขับไล่ข้าศึกจนสำเร็จวันที่ ๖ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๓๑๐ ซึ่งเป็นวันที่พระยาตาก (สิน) เข้าตีค่ายโพธิ์สามต้น และมีชัยชนะ การกู้ชาติเริ่มต้นเมื่อพระยาตาก (สิน) เข้าเมืองจันทบุรีได้เมื่อเดือน ๗ ปีกุน พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว พระยาตากได้เร่งระดมการต่อเรือรบ และรวบรวมอาวุธยุทโธปกรณ์เตรียมกำลังไว้ โดยหมายจะยกเข้ามาตีคืนกรุงศรีอยุธยาจากพม่าในฤดูแล้ง ครั้งนั้นพระยาตากได้มองเห็นการศึกกู้ชาติไว้อย่างรอบคอบ เห็นว่าเวลานั้นมีผู้ตั้งตัวเป็นใหญ่หลายชุมนุมหรือหลายก๊กอยู่ ถ้าใครจะเป็นใหญ่ให้ได้ทั่วทั้งแผ่นดินแล้ว จะต้องทำลายอำนาจข้าศึกที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยาเสียก่อนและจะต้องให้ก๊กอื่นๆ ยอมอยู่ในอำนาจด้วย จึงจะมีอำนาจเป็นใหญ่ได้ ซึ่งทุกก๊กนั้นคงคิดอ่านเช่นเดียวกัน แม้จะคิดจะทำการสู้รบก๊กอื่นก็ยังขัดข้องที่จะต้องหาโอกาสและอุบายสู้รบจึงรอรั้งอยู่ ในเวลานั้นมีแต่พระยาตากผู้เดียวที่เห็นว่าต้องรีบทำการก่อน ก๊กอื่นๆ หากรั้งรอไปจนก๊กอื่นทำได้ก่อนก็จะต้องไปขึ้นกับเขา พระยาตากจึงมุ่งที่จะยกทัพมารบกับข้าศึกชิงเอากรุงศรีอยุธยา ให้ได้ก่อนก๊กอื่น

อัญเชิญพระบรมรูปสู่อยุธยา

การตีค่ายโพธิ์สามต้นครั้งนี้เป็นชัยชนะของการกู้ชาติของพระยาตาก (สิน) ครั้นเมื่อพระยาตาก (สิน) นำทัพกลับคืนเข้าพระนครศรีอยุธยาก็ให้สังเวชที่เห็นพระราชวัง วัดวาอารามและบ้านเรือนเสียหายย่อยยับยากที่จะฟื้นฟูให้มั่นคงได้ จึงตัดสินใจใช้ “กรุงธนบุรีศรีสมุทร” เป็นเมืองหลักในการสร้างเอกราชและได้ปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๐ มีพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ หรือพระบรมราชที่ ๔ หรือสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี นอกจากทรงทำการสงครามปราบชุมนุมต่างๆ และรบกับข้าศึกนอกประเทศแล้ว พระองค์ได้ทรงฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมของแผ่นดินให้คนไทยมีประเทศสืบมาจนทุกวันนี้ นี่คือบทเรียนที่คนไทยจดจำวีรกรรมบารมีของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมาตลอด จากสีสันการนำกองเรือกู้ชาติร่วมขบวนกับผู้กล้าโดยอัญเชิญพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปตามเส้นทางสู้รบนั้น ได้ทำให้สีสันของบรรยากาศการสู้รบในอดีตนั้นกลับคืนมาพร้อมกับความรู้สึกร่วมที่ได้จากละครสะท้อนเหตุการณ์จากสถานที่จริงตามประวัติศาสตร์ ซึ่งเกิดขึ้นจากทุกฝ่ายที่รวมใจทำงานเป็นหนึ่งเดียวกัน

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0