สีสัน…เมืองโบราณศรีเทพมรดกโลกแห่งใหม่

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ
บริเวณเมืองโบราณศรีเทพ

สืบเนื่องจากการที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองโบราณศรีเทพและโบราณสถานทวารวดีที่เกี่ยวเนื่อง (The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments) ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ ๔๕ ณ กรุงรียาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๖๖ นั้น ได้สร้างความชื่นชมยินดีที่ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้เมืองโบราณศรีเทพแห่งนี้มากขึ้น

แผนผังเมืองศรีเทพ
บริเวณ์ชั้้นใน
สุริยะเทพ / แผ่นทองคำลายดุนเทพเจ้า

เมืองโบราณศรีเทพตั้งอยู่ภายในจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากในยุคสมัยทวารวดี มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๘ ซึ่งพบหลักฐานว่าได้รับคติความเชื่อทางศาสนามาหลายนิกาย มีทั้งพุทธศาสนาแบบเถรวาทและมหายาน รวมไปถึงศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ในเสาวระนิกาย คือนิกายที่ถือพระสุริยะไวษณพนิกาย ที่นับถือพระวิษณุ และไศวนิกายที่นับถือพระศิวะ จนเชื่อว่าได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ ที่ใกล้เคียง ตั้งแต่วัฒนธรรมอินเดีย ขอม และทวารวดี โดยมีหลักฐานทางโบราณคดีและชิ้นงานศิลปกรรม ที่แสดงความเป็นศูนย์กลางของอารยธรรมและการค้าให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของชุมชนต่างศาสนาในระยะเวลาเดียวกัน

เขาคลังใน
ถ้ำศรีถมอรัตน์ / จารึกศรีเทพ

บริเวณเมืองโบราณแห่งนี้ได้พบหลักฐานการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องใน ๓ ยุคสมัย ได้แก่ ชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี และสมัยวัฒนธรรมขอม ที่แผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในช่วงปลาย ก่อนที่เมืองโบราณแห่งนี้จะหมดความสำคัญกลายเป็นเมืองร้างในที่สุด สมัยก่อนประวัติศาสตร์บริเวณเมืองโบราณศรีเทพแห่งนี้เคยเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่เกิดหมู่บ้านเล็กๆ ขึ้นหลายแห่ง แต่ละหมู่บ้านนั้นมีผู้นำ ผู้คนรู้จักการใช้ชีวิตและจัดการตนเองให้อยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ทำให้มีการเพาะปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการล่าสัตว์และรวบรวมทรัพยากรธรรมชาติไว้แล้ว ยังรู้จักทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผา และถลุงโลหะขึ้นในชุมชนด้วย ผู้คนกลุ่มนี้น่าจะมีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายหรือโลกหน้า ดังนั้นการฝังศพผู้ตายด้วยสิ่งของที่ไว้กับการฝังศพหลากหลายชนิดนั้นเหมือนกับฝากไว้ให้นำไปในโลกหน้า

ปรางค์สองพี่น้อง
ภาพปูนปั้้นคนแบก

เมื่อการหาอายุของเรดิโอคาร์บอน AMS ของตัวอย่างฟันจากแหล่งขุดค้นดังกล่าว ให้ผลอยู่ใน ๑,๗๓๐ ± ๓๐ ปีมาแล้ว ในส่วนของโบราณวัตถุที่พบมีทั้งศิลปวัตถุจากวัฒนธรรมอินเดีย วัฒนธรรมขอมและวัฒนธรรมทวารวดี กล่าวคือการค้นพบประติมากรรมรูปเคารพของเมืองศรีเทพ ที่มีความโดดเด่นแตกต่างจากแหล่งอื่นที่ร่วมสมัยกัน โดยเฉพาะประติมากรรมเทวรูปสุริยเทพ ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และคติความเชื่อ ด้วยสะท้อนให้เห็นว่าครั้งหนึ่งนั้นชาวเมืองผู้นับถือศาสนาพราหมณ์ มีการบูชาสุริยเทพเป็นเทพองค์สำคัญด้วย ดังนั้นการติดต่อสัมพันธ์กับต่างชาติ จึงถือว่าสุริยเทพนี้เป็นเทพแห่งแสงสว่าง เทพแห่งการเริ่มต้น เทพแห่งความรุ่งโรจน์ตามคติความเชื่อของชาวอินเดียและชาวอารยัน ส่วนที่จัดเป็นประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพนั้นก็ด้วย พบว่ามีการสร้างประติมากรรมลอยตัวอย่างแท้จริง โดยไม่มีการค้ำยันบริเวณศีรษะกับแขนไว้ด้วยกันเพื่อป้องกันการหัก มีลักษณะกายวิภาคชัดเจน ประทับยืนด้วยอาการตริภังค์หรือเอียงสะโพกเล็กน้อย แสดงอาการเคลื่อนไหวอย่างงดงาม

ธรรมจักร

นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการเดินทางมาของชาวจีน จากจารึกบนพระพิมพ์เป็นอักษรจีนมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔ จารึกชื่อภิกษุ “เหวินเซียง” อันแสดงถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมกับจีนและความสำคัญของเมืองโบราณศรีเทพในยุคสมัยดังกล่าว ที่ทำให้คนจากต่างถิ่นต้องมาแวะมาเยือนเมืองโบราณศรีเทพ ซึ่งมีเมืองใน มีพื้นที่ประมาณ ๑,๓๐๐ ไร่ ผังเมืองค่อนข้างกลม ภายในตัวเมืองมีพื้นที่ราบลอนลูกคลื่น มีกำแพงเมืองที่ก่อด้วยดินล้อมรอบ และมีคูเมืองนอกกำแพง มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ พบโบราณสถานกระจายตัวอยู่ ๔๘ แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนาและศาสนาฮินดู มีรูปแบบศิลปกรรมในวัฒนธรรมทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๘-๑๘ มีโบราณสถานที่สำคัญ อาทิ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และ ปรางค์สองพี่น้อง ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางเมืองค่อนไปทางทิศตะวันตก

ปรางค์ฤาษี / ปรางค์ศรีเทพ

นอกจากนั้นยังพบสระน้ำโบราณทั้งขนาดใหญ่และเล็กอีกมากกว่า ๗๐ แห่ง ส่วนเมืองนอกนั้น มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๘๙ ไร่ ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของเมืองใน ผังเมืองค่อนข้างเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน พบโบราณสถาน ๖๔ แห่ง มีสระน้ำโบราณจำนวนมาก นอกจากนี้ยังพบโบราณสถานอีกมากกว่า ๕๐ แห่ง โบราณสถานที่สำคัญที่พบแล้วเช่น เขาคลังนอก ปรางค์ฤๅษี กลุ่มเขาคลังสระแก้ว และสระแก้ว และเขาถมอรัตน์ อีกทั้งยังพบร่องรอยการฝังศพมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และสมัยทวารวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๗ และสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๖-๑๗ อีกด้วย จึงเป็นสีสัน..ของแหล่งโบราณคดีที่ซ้อนทับกันหลายยุคสมัยที่หาชมได้ยาก

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0