Tea Time

Story by Editorial Staff

วัฒนธรรมการดื่มชาถือว่าเป็นวัฒนธรรมอันดับต้นๆ ของโลกที่ถือปฏิบัติในหลายๆ ประเทศตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชาถือเป็นเครื่องดื่ม อันดับ 2 รองจากน้ำที่คนเลือกดื่ม เพราะนอกจากจะใช้ชาดื่มเพื่อดับกระหายให้ประโยชน์ต่อสุขภาพแล้ว การดื่มชายังเป็นเหมือนสิ่งเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และก่อให้เกิดวัฒนธรรมประเพณีที่หลากหลายในหลายประเทศทั่วโลก

เราจะเห็นได้จากวัฒนธรรมการชงชาของแต่ละประเทศ เช่นที่ประเทศญี่ปุ่นการชงชา ทำให้เราเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและมีจิตใจที่สงบตามหลักของศาสนาพุทธนิกายเซน ในประเทศรัสเซีย การได้มาร่วมดื่มชากันเป็นเหมือนการได้เข้ามาเจรจาเปิดใจ หรือประเทศจีนที่มีกาน้ำชาแทบทุกบ้าน เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตก็ว่าได้

การดื่มชาที่ดี ควรดื่มทันทีหลังชงเสร็จร้อนๆ ไม่ควรปล่อยนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะสีจะคล้ำและรสฝาด เนื่องจากชามีกรดแทนนินสูง (Tannin) หากคุณดื่มตอนที่มีรสฝาดจะส่งผลกระทบมายังกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งมันจะทำให้การดูดซึมสารอาหารไม่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการดูดซึมธาตุเหล็ก แคลเซียมและแมกนีเซียม แทนที่จะเกิดคุณอาจเกิดโทษได้

ชื่อเรียกและลักษณะของชาจำนวนมากในท้องตลาดได้มาจากชาต้นเดียวกัน คือ ต้นคาเมลเลีย ซิเนนซิส (Camellia Sinensis) เพียงแต่นำไปผ่านกระบวนการผลิตแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการตาก อบ หรือบ่ม ซึ่งแต่ละกระบวนการจะทำให้ใบชานั้นเกิดปฏิกิริยา และให้รสชาติที่ต่างกัน ซึ่งเราสามารถจัดประเภทตามกระบวนการแปรรูปต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้

ชาขาว (White Tea)
ผลิตจากตูมและยอดอ่อนมากของต้นชา มีขนสีขาวบางๆ ปกคลุมจนดูเหมือนใบชาเป็นสีขาว แหล่งเพาะปลูกชาขาวที่มีชื่อเสียงอยู่ที่มณฑลฝูเจี้ยน ทางตอนใต้ของประเทศจีน กรรมวิธีผลิตชาขาวเริ่มจากการเลือกเก็บยอดอ่อนชาในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หลังจากเก็บเกี่ยวจะรีบนำมาตากแดด ตากลม แบบธรรมชาติให้แห้งอย่างรวดเร็ว ทำให้สดใหม่ และทำให้สูญเสียสารอาหารน้อยที่สุด ปริมาณสารต่อต้านอนุมูลอิสระและคุณค่าทางโภชนาการของชาขาวยังคงไว้ได้มาก น้ำชาที่ได้จะมีสีเหลืองใส กลิ่นหอมอ่อนๆ และรสชาติของชาขาวที่ยังคงความสดชื่นและนุ่มนวล และราคาค่อนข้างแพง เพราะเก็บเกี่ยวได้ปีละ 2 ครั้ง เท่านั้น

ชาเขียว (Green Tea)
เป็นยอดชาอ่อนสีเขียว หลังจากเก็บเกี่ยวจะรีบนำมาอบด้วยไอน้ำ เพื่อคงความสดใหม่ของใบชาเอาไว้ ไม่ผ่านการหมัก เพื่อไม่ให้ใบชาเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันกับออกซิเจน ทำให้ได้ใบชาที่ยังมีสีเขียว มีรสชาติ สี และกลิ่นใกล้เคียงกับธรรมชาติมากที่สุด ชาเขียวที่นิยมดื่มมี 2 ประเภท คือชาเขียวญี่ปุ่นซึ่งไม่ผ่านการคั่ว และชาเขียวแบบจีนที่ผ่านการอบการคั่วด้วยกระทะร้อน ชาเขียวมีสารคาเทชิน (Catechin) เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดโอกาสเกิดมะเร็ง ลดระดับคอเลสเตอรอล ป้องกันการจับตัวของลิ่มเลือดในหลอดเลือด ลดโอกาสการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคลมชัก ชาเชียวเป็นชาที่คนญี่ปุ่นนิยมดื่มมากที่สุด น้ำชาเขียวมีสีเขียวอ่อนและกลิ่นหอมจางๆ หรือแทบไม่มีกลิ่น

ชาอู่หลง (Oolong Tea)
ชาอู่หลง หรือ “ชามังกรดำ” ผลิตจากยอดชาเช่นเดียวกับชาเขียว แต่นำมาผ่านการหมักเพียงบางส่วน ทำให้มีสี กลิ่นหอม และรสชาติ อยู่ระหว่าง ชาเขียว และชาดำ โดยชาอู่หลงผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นเอกลักษณ์ ด้วยการผึ่งแห้งใบชาด้วยแสงอาทิตย์เพื่อให้ใบชาคายน้ำ หลังจากนั้นนำไปผึ่งในที่ร่มภายใต้การควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ซึ่งเป็นการหมักใบชาเพียงบางส่วน จากนั้นนำมานวดอัดเป็นเม็ด ชาอู่หลงมีรสชาตินุ่ม และหอมมาก มีคุณสมบัติเด่นๆ คือการช่วยดักจับไขมัน และควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากชาอู่หลงมีสารชนิดพิเศษที่เรียกว่า OTTPS ซึ่งเป็นสารที่เกิดขึ้นจากการหมักใบชามีส่วนช่วยลดการดูดซึมไขมันของร่างกาย น้ำชาอู่หลงมีสีเหลืองอมเขียว กลิ่นหอมคล้ายชาเขียว มีรสฝาดและขมเล็กน้อย ดื่มแล้วชุ่มคอ

ชาดำ (Black Tea)
ชาดำ หรือที่บ้านเรามักเรียกว่า ชาฝรั่ง ชาวตะวันตกนิยมชาชนิดนี้เป็นพิเศษ ผลิตจากใบชาแห้งด้วยวิธีการรีดน้ำออกจนหมด แล้วนำไปผ่านกระบวนการหมักบ่มจนแห้งสนิท ด้วยวิธีการบ่มเพาะอาศัยแบคทีเรียเป็นตัวทำปฏิกิริยา ซึ่งเป็นกรรมวิธีที่ทำให้ใบชาหมักตัวได้อย่างเต็มที่ หากยิ่งบ่มนานยิ่งได้รสชาติมากขึ้น ชงแล้วจะมีสีส้มหรือสีน้ำตาลแดง บางทีจึงเรียกว่า “ชาแดง” มีรสชาติเข้มข้นและค่อนข้างฝาดกว่าชาชนิดอื่นๆ สรรพคุณช่วยการย่อยอาหาร ลดคอเลสเตอรอล และลดการดูดซึมไขมันในลำไส้ ชาดำที่นิยมกันมาก ได้แก่ ชาอัสสัม ชาซีลอน ชาดาร์จีลิ่ง ซึ่งมีแหล่งผลิตในประเทศอินเดียและศรีลังกา ตามชื่อชานั่นเอง นอกจากนี้ยังนิยมนำมาผสมแต่งกลิ่นเป็นรสชาติใหม่ๆ อาทิ ชาเอิร์ลเกรย์ (Earl Grey) ชาอิงลิชเบรกฟาสต์ (English Breakfast) ส่วนทางฝั่งตะวันออกชาดำที่มีชื่อเสียง เช่น ชาผู่เอ๋อ (Puer Tea) เป็นต้น

ชาอะโรม่า/ชาแต่งกลิ่น (Aromatic tea, Flavored tea)
เป็นชาสูตรใหม่ที่นำชามาแต่งกลิ่นด้วยผลไม้หรือดอกไม้ หรือที่เรียกว่า ชาผลไม้ (Fruit Tea) และชาดอกไม้ (Flower Tea) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักดื่ม มากขึ้น เช่น ลาเวนเดอร์ อบเชย (ชินนามอน) เปลือกส้ม มาผสมกับใบชาต่างๆ อาจจะเป็นชาดำ ชาขาว หรือชาเขียวก็ได้ ชากุหลาบ ชามะลิ ชาไทยบางชนิด ก็จัดอยู่ในชากลุ่มนี้ด้วย ชาอะโรม่าบางชนิดที่ผสมผลไม้บางชนิด เช่น ชาแอปเปิ้ล ชาบลูเบอร์รี ชาแครนเบอร์รี เป็นต้น แต่ผลิตภัณฑ์ชาอะโรม่าหรือชาแต่งกลิ่นนี้ ไม่แนะนำให้รับประทานแบบที่ชงสำเร็จบรรจุขวดมาขายชาอะโรม่า/ชาแต่งกลิ่นเพราะชาเหล่านี้มักจะใส่น้ำตาลในปริมาณมาก และยังมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระ น้อยกว่าแบบชงเองถึง 20 เท่า

ชาสมุนไพร (Herbal Tea)
จริงๆ แล้วไม่ใช่ชา เพราะไม่มีส่วนประกอบของใบชาแม้แต่น้อย แต่ทำจากสมุนไพร ผลไม้ ดอกไม้ เช่น เก๊กฮวย ตะไคร้ มะตูม ดอกกระเจี๊ยบ ขิง ใบหม่อน ใบบัวบก ใบเตย หรือมะรุม เป็นต้น แต่ที่เรียกว่าชาเพราะว่าวิธีการชงนั้นเหมือนกับการชงชาทั่วๆ ไป ชาชนิดนี้ไม่มีกาเฟอีน แต่ไม่แนะนำให้ดื่มชาสมุนไพรยี่ห้อที่อ้างสรรพคุณว่าช่วยลดน้ำหนัก เพราะมีโอกาสสูงมากที่จะเจอชาที่ผสมยาระบายที่อาจเป็นพิษต่อร่างกายได้

China

ประเทศจีน เป็นแหล่งผลิตดั้งเดิมของใบชา มีประวัติการดื่มชามากว่า 4,000 ปีแล้ว และชาเป็นเครื่องดื่มที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันของชาวจีน กล่าวว่า สิ่งของ 7 อย่างในชีวิตประจำวันของคนจีนคือไม้ ข้าว น้ำมัน เกลือ ซีอิ๊ว น้ำส้มและชา ย้อนไปเมื่อ 2,737 ปีก่อนคริสต์ศักราช ชาเขียวได้ถูกค้นพบโดยจักรพรรดินามว่า เสินหนง ซึ่งเป็นบัณฑิตและนักสมุนไพร ผู้รักความสะอาดเป็นอย่างมาก ดื่มเฉพาะน้ำต้มสุกเท่านั้น วันหนึ่งขณะที่เสินหนงกำลังพักผ่อนอยู่ใต้ต้นชาในป่า และกำลังต้มน้ำอยู่นั้น ปรากฏว่าลมได้โบกกิ่งไม้ เป็นเหตุให้ใบชาร่วงหล่นลงในน้ำซึ่งใกล้เดือดพอดี เมื่อเขาลองดื่มก็เกิดความรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาก

ชาเขียวถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ 3 ชาวบ้านหันมาปลูกชามากขึ้น ใช้ชาเป็นเหมือนยาบำรุงกำลังและเป็นที่นิยมมาก ต่อมาศตวรรษที่ 4-5 มีการผลิตชาในรูปแบบการอัดเป็นแผ่น ยุคนี้มีการนำน้ำชาถวายจักรพรรดิในสมัยราชวงศ์ถังถือเป็นยุคทองของชา คนดื่มชาเป็นประจำทุกวัน ราชวงศ์ซ้องเริ่มมีการเติม ดอกบัว ดอกมะลิเข้าไป ช่วงราชวงศ์หมิง ชาที่ปลูกในจีนทั้งหมดเป็นชาเขียว และในศตวรรษที่ 7 เริ่มมีการค้าขายกับคนยุโรปมากขึ้น

สำหรับการปลูกชาเริ่มกระทำตามแนวมณฑลเสฉวนถึงมณฑลยูนนาน จนมาถึงสมัยราชวงศ์ถัง และได้กระจายไปในมณฑลต่างๆ กว่า 10 มณฑล ตามลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียง (ฉางเจียง) ปริมาณการผลิตใบชาของจีนมีประมาณ 3 ล้านตัน (คิดเป็น 55% ของยอดการผลิตใบชาทั่วโลก) ส่วนใหญ่ปลูกในมณฑลยูนนานกวางตุ้งและเจ้อเจียงของประเทศจีน ชาที่มีชื่อเสียงของจีน อย่างเช่น ชาฉีเหมิน มณฑลอานฮุย ชาเขียวหลงจิ่ง แห่งทะเลสาบซีหู เมืองหางโจว มณฑลเจ๋อเจียง หรือชาหวู่หยีหยานฉา หรือชาวูหลงฉาแห่งภูเขาอู๋อี๋ซาน ของมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ที่ชาวไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เป็นต้น

India

อินเดียคือ หนึ่งในผู้ผลิตและผู้บริโภคชารายใหญ่รายหนึ่งของโลก ชาอินเดียถูกค้นพบในอัสสัมเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1823 การปลูกชาอัสสัมในอินเดียเริ่มจากสวนพฤกษศาสตร์เล็กๆ ในโกลกาตา (Kolkata) ก่อนจะเจริญรุ่งเรืองและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะถูกนำพาออกไปสู่นอกอินเดียเพื่อลิ้มรสครั้งแรก โดย นายโรเบิร์ต บรูซ (Robert Bruce) พ่อค้าชาวสกอตแลนด์ ในปี ค.ศ. 1823 เพื่อแข่งขันกับการผูกขาดการผลิตชาของจีนที่อยู่ใกล้เคียง ต่อมาเมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพในปี 1947 อุตสาหกรรมชามีผลผลิตเกือบ 300,000 ตันต่อปี และปัจจุบันมีการผลิตชากว่า 1.3 ล้านตันต่อปีเลยทีเดียว

ชาอินเดียมีมากกว่า 10 ชนิดที่เป็นที่นิยม มีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ ชาอัสสัม (Assam Tea) จากรัฐอัสสัมที่อยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ชาดาร์จีลิ่ง (Darjeeling Tea) ชาที่ปลูกในเขตเมืองดาร์จีลิ่ง ซึ่งอยู่ในเขตเบงกอลตะวันตกของประเทศ ชาแถบนี้จะมีรสชาติหอม เนื่องจากปลูกตามแนวเชิงเขาหิมาลัยที่มีอากาศเย็น ชานีลคีรี (Nilgiri Tea) ชานีลคีรีนี้ปลูกในภาคใต้ของเทือกเขาตะวันตก ในภาคใต้ของอินเดีย ปลูกในหมู่เขาของอำเภอนีลคีรีส (Nilgiris) ซึ่งอยู่ในเขตที่สูงกว่าดาร์จีลิ่ง ใบชามีสีเข้ม มีกลิ่นหอม และรสชาติที่เข้มข้นอย่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีราคาค่อนข้างสูง

นอกจากนี้ชาที่มีชื่อเสียงของอินเดีย อีกชนิดคือ มาซาลาชัย (Masala Chai) หรือแปลได้ว่า Mixed-Spiced Tea เป็นการผสมผสานระหว่างชาดำผสมเครื่องเทศสมุนไพรอายุรเวทและส่วนผสมอื่นๆ เช่น นม น้ำตาล กระวาน โป๊ยกั๊ก เมล็ดผักชีล้อม จันทน์เทศ อบเชย ขิง พริกไทยดำ และกานพลู อาจเพิ่มเครื่องเทศอื่นๆ ขึ้นอยู่กับภูมิภาคและสูตรของครอบครัว ชาแบบนี้มีขายตามหัวมุมถนนและในร้านอาหารและยังหาซื้อได้ตามสถานีรถไฟอีกด้วย

Japan

ชาและการชงชาถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ว่ากันว่าชาถูกนำเข้ามาในญี่ปุ่นครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถังของจีน (ค.ศ. 618-907) โดยกลุ่มพระญี่ปุ่นที่เดินทางกลับจากศึกษาศาสนาพุทธในประเทศจีนในปี ค.ศ. 806 กล่าวกันว่า พระญี่ปุ่นชื่อ คูไค (Kuukai) เป็นคนแรกที่นำวิธีชงชาจากใบชาเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น และในช่วงเดียวกัน ก็เริ่มมีการนำเมล็ดพันธุ์ชาจากจีนมาเพาะพันธุ์ในวัดที่ญี่ปุ่นอีกด้วย ในอดีตการดื่มชาและชงชาเป็นที่นิยมกันในหมู่นักรบ ขุนนาง ตลอดจนพ่อค้าชาวเมืองที่ร่ำรวยเท่านั้น แต่ต่อมาท่าน เซ็น โนะ ริคิว (Sen no Rikyu) ได้ทำให้พิธีชงชาหรือที่เรียกว่า ซะโด (Sadou) หรือ ชะโด (Chadou) กลายเป็นพิธีศักดิ์สิทธิ์ และมีแบบแผนอย่างในปัจจุบัน โดยตัดรูปแบบการเลี้ยงชาที่ฟุ่มเฟือยออกไป เน้นความเรียบง่าย เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ด้วยจิตใจที่สงบตามหลักของศาสนาพุทธนิกายเซน (Zen)

ปัจจุบันญี่ปุ่นผลิตชาได้ถึงประมาณ 80,000 ตัน โดยเฉพาะที่จังหวัดชิสึโอกะ จังหวัดคาโกชิมะและจังหวัดอุจิ ชาญี่ปุ่นที่เห็นกันนั้นมีหลายชนิด ชนิดที่นิยมกันยกตัวอย่างเช่น เกียวคุโระ (Gyokuro) เป็นชาที่มีคุณภาพสูงมีระดับที่สุด เพราะถือเป็นชาแรกของปี ก่อนเก็บชา 3 สัปดาห์จะมีการคลุมต้นชาไม่ให้โดนแดด หลังจากเก็บเกี่ยวจะถูกอบและนวดใบชา รสหวานกำลังดี ความฝาดน้อยมาก

ชาต่อมาคือ มัทฉะ (Matcha) ชาที่คนไทยรู้จักดี จะเก็บเกี่ยวในฤดูใบไม้ผลิ รสชาติอ่อนละมุนไม่ฝาด การเก็บใบชามัทฉะมีกรรมวิธีบังแสงเหมือนชาเกียวคุโระ แต่ลักษณะพิเศษของมัทฉะคือมีลักษณะเป็นผง สามารถเทน้ำร้อนใส่แล้วดื่มได้เลยไม่ต้องกรองใบออกเหมือนชาชนิดอื่น เป็นชาที่มักจะเสิร์ฟในร้านซูชิเพื่อล้างรสคาวที่เพดานปาก เป็นต้น

Morocco

โมร็อกโกได้รับวัฒนธรรมการดื่มชามาในช่วงสงครามไครเมีย จากพ่อค้าชาวอังกฤษที่ไม่สามารถขายชาจากจีนได้ เพราะเกิดภาวะสงครามกัน ในแถบประเทศบอลติก ทั้งรัสเซีย อ็อตโตมัน ฝรั่งเศส ทำให้ต้องเปลี่ยนการค้าขายไปยังแถบแอฟริกาตอนเหนือ คือ โมร็อกโก แอลจีเรีย ตูนิเซีย แทน จากนั้นโมร็อกโกก็ได้ประยุกต์วัฒนธรรมชาของตัวเองขึ้นมา โดยชาที่ขึ้นชื่อก็คือ Maghrabi Mint Tea หรือชา โมร็อกกัน (Moroccan tea) โดยชาแบบนี้มีส่วนผสมหลักคือชา ใบสเปียร์มินต์ (spearmint) หรือสะระแหน่ และน้ำตาล โดยจะนำชาเขียวไปแช่กับใบสะระแหน่ และมีการเพิ่มน้ำเชื่อมเล็กน้อย บางครั้งก็ใส่ทั้งใบสเปียร์มินต์ (spearmint) หรือสะระแหน่ และใบเปปเปอร์มินต์ (อันนี้ใบคล้ายกับโหระพาแต่กลิ่นจะออกคล้ายบ้านเราจะเป็น spearmint peppermint กลิ่นแบบสะระแหน่แต่หอมกว่า) ลงไปผสมด้วย เรียกว่าเป็น doublemint tea

การชงชาแบบโมร็อกโกดั้งเดิมก็น่าสนใจไม่น้อย ตามธรรมเนียม คนชงชาหรือเจ้าบ้านจะต้องเป็นผู้ชาย และเป็นหัวหน้าครอบครัวเท่านั้น เริ่มจากเจ้าบ้าน ล้างกาน้ำชาด้วยน้ำเดือด เติมใบชาลงในกา ล้างใบชาด้วยน้ำเดือดแล้วเททิ้ง จากนั้นใส่น้ำตาล ตามด้วยน้ำเดือด จากนั้นก็จะเทชาจากความสูงประมาณ สิบสองนิ้วหรือมากกว่าเพื่อให้เกิดโฟม ขณะที่แขกดื่มชาแก้วที่ 1 เจ้าบ้านก็จะเติมใบชาและน้ำตาลลงในกาเพิ่มขึ้น เติมน้ำเดือด ได้เป็นชาแก้วที่ 2 และแก้วต่อไป ก็จะเติมใบชาและน้ำตาลเพิ่มอีก ปกติจะเสิร์ฟให้แขก 3 ครั้ง ชาแบบนี้เป็นที่แพร่หลายและนิยมอย่างมาก หลายคนดื่มน้ำชามินต์แบบนี้หลายครั้งตลอดทั้งวันและช่วงเย็น ปัจจุบันเราสามารถดื่มด่ำกับวัฒนธรรมการดื่มชาแบบนี้ได้ทั่วไป

Russia

ไม่ว่าคุณจะอยู่ในร้านอาหารหรูหราบ้านส่วนตัวหรือแม้กระทั่งบนรถไฟ คุณจะเห็นภาชนะโลหะที่มีลักษณะคล้ายกาต้มน้ำขนาดใหญ่ ใช้สำหรับต้มน้ำที่มีใบชาอยู่ด้านในและพร้อมกับการเสิร์ฟชาอุ่นๆ เสมอ เนื่องจากสภาพอากาศทางตอนเหนือที่หนาวเย็นของรัสเซียทำให้ชาเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมของประเทศมายาวนาน

โดยการเรียนรู้การดื่มชาในครั้งแรกสมัยศตวรรษที่ 15 แม้แต่คำว่า “ชา” ในภาษารัสเซีย ยังรับมาจากภาษาจีนกลาง “ฉา” แต่วัฒนธรรมชา ถึงจุดสูงสุดในรัสเซีย เมื่อสมัยที่พระเจ้าปีเตอร์มหาราช ได้นำตัวซาโมวาร์ (Samovar) มาจากประเทศฮอลันดา เป็นเครื่องต้มชา 2 ชั้น โดยคำคำนี้ ในภาษารัสเซีย แปลว่า “ต้มเอง” มาสร้างธรรมเนียมการดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของรัสเซียต่อมา ในยุคแรกๆ ใช้ถ่านเป็นวัสดุให้ความร้อนโดยตรงด้านล่างของการะหว่างส่วนที่ติดกับขาตั้งจะมีช่องให้ใส่ถ่านได้ แต่ช่วงหลังจะพัฒนามาเป็นระบบไฟฟ้ากันหมดแล้ว

วิธีการคือ เติมน้ำเดือดในกาซาโมวาร์จากนั้นเทน้ำบางส่วนลงกาชาใบเล็ก เพื่อแช่ใบชาประมาณ 5-10 นาที ในขั้นตอนที่สอง ซึ่งจะมีความเข้มข้นมาก และเติมน้ำต้มสุกอีกเล็กน้อยเพื่อให้เจือจาง เพิ่มรสชาติด้วยแยมผลไม้ จากนั้นพักชาทิ้งไว้อีกประมาณ 15 นาที เพื่อให้รสชาติเข้ากันดียิ่งขึ้น แล้วเทชาลงในแก้วชาส่วนหนึ่ง แล้วเติมน้ำร้อนจากซาโมวาร์ลงแก้วชา เติม นม มะนาว ครีมหรือน้ำผึ้งตามใจชอบ โดยมากจะเสิร์ฟชาในแก้วแบบปริ่มแก้วกันเลย เพื่อแสดงถึงความเต็มใจต้อนรับ

ที่รัสเซียนอกจากจะดื่มชาเพื่อความอบอุ่นแล้ว ช่วงเวลาในการดื่มชาในรัสเซียปัจจุบัน ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งการพูดคุย ประนีประนอม เจรจา ตลอดจนเปิดใจเพื่อแสดงมิตรภาพที่ดีแก่อีกฝ่าย ซึ่งคนรัสเซียเองก็ดื่มชามากพอๆ กับที่คนอิตาลีดื่มกาแฟทีเดียว ใน 1 วัน ชาวรัสเซียดื่มชามากถึง 6 เวลา หรืออาจจะมากกว่านั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้าไปรัสเซีย แล้วชาวรัสเซียจะชวนดื่มชา และมักจะมีการเสิร์ฟชาหลังอาหารและในช่วงพักช่วงบ่ายกับแครกเกอร์แข็งๆ ที่เรียกว่า “Sushki” หรือ Marshmallow แบบรัสเซียที่ชื่อ “Zefir” พร้อมกันนั้นจะมีการเสิร์ฟ และมักใส่แยมผลไม้ลงไปในชา คนกับน้ำชาให้เข้ากันก่อนดื่มอีกด้วย ชารัสเซียแนะนำ เช่น ชาดำ Cherry Varanya เป็นต้น

Sri Lanka

ความชื้นอุณหภูมิที่เย็นและปริมาณน้ำฝนของพื้นที่สูงตอนกลางของประเทศศรีลังกาทำให้สภาพอากาศสมบูรณ์แบบในการผลิตชาคุณภาพสูง เช่นเดียวกับในภูมิภาคอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้ศรีลังกาเป็นหนึ่งในผู้ปลูกและส่งออกรายใหญ่อันดับสี่ของโลก ผลิตได้ 350,000 ตันโดยประมาณ 17% ของพืชชาของโลกที่ปลูกในภูเขาตอนกลาง ชาที่หาซื้อได้เช่น Dimbula, Kenilworth และ Uva มีการปลูกที่นี่ โดยส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ซีลอนสีดำสีเขียวและสีขาว ชาซีลอนมาจากประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่ของศรีลังกาซึ่งเคยเรียกว่าซีลอน

การผลิตชาถูกนำเข้ามาในศรีลังกาในปี 1800 โดยชาวอังกฤษยุคที่ศรีลังกาเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ทางอังกฤษได้หาวิธีที่จะให้ศรีลังกาและอินเดียมีอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ เริ่มจากการปลูกกาแฟจนสร้างรายได้มากมาย เกาะซีลอน อีกชื่อเรียกของประเทศศรีลังกา จึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกกาแฟอันดับหนึ่งของโลกในช่วงนั้น ต่อมาประมาณ 10 ปีเกิดโรคระบาดต้นกาแฟบนเกาะเสียหายไปหมด

ในปี 1867 James Taylor ชาวสก๊อตจึงริเริ่มการปลูกชาอย่างเงียบๆ ในพื้นที่ของเขาและเริ่มส่งออกชาซีลอนลอตแรก 23 ปอนด์ไปยังอังกฤษในปี 1873 ข่าวดีนี้เรียกความสนใจจากชาวไร่ชาวสวนของศรีลังกา และเริ่มเปลี่ยนไร่กาแฟ เป็นไร่ชา กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของเกาะซีลอนและเป็นชาซีลอน (Ceylon Tea) ที่เรารู้จักกัน ธุรกิจชาซีลอนยังคงโด่งดังสร้างรายได้ให้ศรีลังกามาจนถึงปัจจุบัน ระหว่างนั่งรถไฟจาก Ella ไป Kandy จะได้เห็น Tea Valley หรือหุบเขาที่เต็มไปด้วยไร่ชา มีที่พักสวยๆ มากมาย นักท่องเที่ยวหลายๆ คนแวะลงแถบนี้เพื่อท่องเที่ยวเมือง “อังกฤษน้อย” (Little England) แห่งนี้

Turkey

นอกจากกาแฟแล้ว เครื่องดื่มประจำชาติอีกอย่างหนึ่งของตุรกีคือ ชา ดื่มกันทั้งวัน ประมาณ 4-5 แก้วต่อวัน ไม่ว่าเช้า กลางวันหรือเย็น ก่อนอาหารหรือหลังอาหาร ภาษาตุรกีเรียกชาว่า Çay ออกเสียง ‘ชา-ยี’ เวลาพูดตามปกติจะได้ยินเป็น ‘ชัย’ เราจะสังเกตเห็นสวนชาน่ารักตั้งอยู่ตามแนวของบอสพอรัส (Bosporus) หรือ บอสฟอรัส (Bosphorus) และเป็นที่รู้จักกันสำหรับชาวตุรกี ในอีกชื่อหนึ่งว่า “ช่องแคบอิสตันบูล (lstanbul Bogazı)” เป็นช่องแคบที่เป็นเขตแดน แบ่งประเทศตุรกีออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งยุโรปที่เรียกว่า “รูมีเลีย (Rumelia)” และฝั่งเอเชียที่เรียกว่า “อนาโตเลีย (Anatolia)” และตามถนนแคบๆ ที่คดเคี้ยวในตัวเมืองอิสตันบูล (Istanbul) ก็จะเห็นร้านชาตั้งเต็มไปหมด

ตุรกีเป็นหนึ่งในห้าประเทศที่ปลูกชาที่ใหญ่ที่สุดในโลกผลิตชาประมาณ 6-10 เปอร์เซ็นต์ของโลก ส่วนใหญ่บริโภคในประเทศ นิยมนำมากินคู่กับขนมหวานๆ เพราะขนมจะช่วยเพิ่มรสชาติให้กับชา เพราะชาที่คนตุรกีนิยมดื่มกันนั้นมีหลายแบบ ที่นิยมก็ชาดำทั่วไป และชาแอปเปิล รวมทั้งชาคาโมมายล์

คนตุรกีจะเสิร์ฟชาในถ้วยทรงเว้าโค้งและจานรองกระเบื้องหรือเซรามิกที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์ ชาที่คนตุรกีดื่มนั้นค่อนข้างเข้มและขม จึงไม่ถูกปากนักท่องเที่ยวมากนัก ภายหลังจึงมีการคิดค้นชารสผลไม้ขึ้นมา ชาผลไม้ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ ชาแอปเปิล ในริยาด (เกสต์เฮาส์แบบดั้งเดิม) หลายแห่งเสนอชาแก่แขกเมื่อมาถึงเพื่อต้อนรับพวกเขา

United Kingdom

สหราชอาณาจักร หรือที่คนไทยมักเรียกง่ายๆ ว่า อังกฤษ เมื่อผู้คนนึกถึงชาวอังกฤษ ชาเป็นหนึ่งในภาพแรกที่อยู่ในใจ ชาในอังกฤษริเริ่มครั้งแรกประมาณปี 1660-1670 เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 อภิเษกสมรสกับแคทเธอรีนแห่งบราแกนซา เจ้าหญิงชาวโปรตุเกส ผู้ที่ชื่นชอบดื่มชาเป็นชีวิตจิตใจ เดิมการดื่มชาเป็นประเพณีสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ไม่ได้แพร่หลายโดยทั่วไปเพราะยังจัดว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ต่อมาราคาชาเริ่มถูกลง จึงทำให้ประเพณีนี้เผยแพร่ทั่วไปสหราชอาณาจักร

มีการสังสรรค์และจัดกิจกรรมหรือวัฒนธรรมเกี่ยวกับชามากมาย เช่น มีการจัดสวนชา (Tea garden) เป็นการดื่มชาพร้อมชมธรรมชาติในสวนสวยไปพร้อมๆ กันหรือการจัดงานเต้นรำชา (Tea dance) ตอนบ่ายหรือพลบค่ำ ที่อาจจะรวมทั้งการดูดอกไม้ไฟ, เลี้ยงอาหารค่ำ และจบลงด้วยการดื่มชา ช่วงเวลาพักกับ ชา (Tea Break) ที่นับเป็นการกำหนดช่วงเวลาหนึ่งขึ้นมาให้เทียบเท่า กับมื้ออาหารมื้อหนึ่ง ปัจจุบันชาวอังกฤษเป็นชาติที่ดื่มชาเป็นลำดับสองของโลก โดยชาวอังกฤษแต่ละคนดื่มชาคนละประมาณ 2.1 กิโลกรัมต่อปี หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 5-6 แก้วต่อวันต่อคนเลย

การดื่มชาในอังกฤษมักจะเป็นชาดำที่เสิร์ฟกับนมและบางครั้งก็น้ำตาลด้วย ส่วนชาแก่ที่เสิร์ฟกับนมและน้ำตาลจำนวนมากในถ้วยใหญ่ที่เรียกว่า “mug” นั้น มักจะเรียกกันว่า “ชาคนงาน” (Builders tea) อีกคำที่เรามักได้ยินเมื่อพูดถึงการดื่มชาแบบอังกฤษนั่นคือ Afternoon Tea และ High tea สำหรับ Afternoon Tea ถือว่าเป็นอาหารว่างมื้อบ่าย เริ่มจาก แอนนา รัสเซลล์ ดัชเชสแห่งเบดฟอร์ด (Anna Russell, Duchess of Bedford) ราว ค.ศ. 1800 ในรัชสมัยของพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษ เพื่อแก้หิวระหว่างคอยอาหารค่ำ และกลายเป็นมื้ออาหารเล็กๆ ยามบ่ายระหว่างการสนทนาของสังคมชนชั้นสูง ซึ่งจะเสิร์ฟประมาณบ่าย 3 โมง ถึง 5 โมงเย็น หรือบางที่อาจเริ่มตั้งแต่บ่าย 2 โมง ในขณะที่ High tea เป็นคำเรียกการดื่มชาของชนชั้นแรงงาน ที่บ้านมีพื้นที่ไม่มาก ทำให้ต้องดื่มชาบนโต๊ะกินข้าวแต่ด้วยความที่โต๊ะกินข้าวมีลักษณะสูงกว่าจึงถูกเรียกว่า High Tea และเมื่อชนชั้นแรงงานไม่มีเวลาจิบชาช่วงบ่ายแบบชนชั้นสูงในยุคนั้น จึงจะจิบชาในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น ถึงหนึ่งทุ่ม รวมกับอาหารมื้อเย็นไปเลย

ส่วนของว่างก็จะประกอบไปด้วยแซนด์วิช เค้ก หรือคุกกี้แกล้มชา แต่ที่ขาดไม่ได้คือ สโคน ขนมสุดอร่อย เมื่อกินคู่กับน้ำชา และทาด้วยครีม เนยสด หรือแยม บางครั้งเราจะเห็นขนมหวานที่จัดเรียงเป็นชั้นๆ เพื่อกินคู่กับชา โดยชั้นบนสุดมักจะเป็นสโคน ตามมาด้วยแซนด์วิชขนาดพอดีคำและชั้นล่างสุดจะเป็นขนมหวานต่างๆ จะเริ่มกินจากชั้นบนสุดก่อนแล้วค่อยๆ ไล่ลงมาชั้นล่าง โดยเมื่อกินแต่ละชั้นหมดก็ให้เอาถาดรองชั้นออกด้วย

แม้ชาจะมีประโยชน์มากแต่ควรดื่มให้พอเหมาะและถูกวิธี ก็จะสร้างประโยชน์มหาศาลกับเรา

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0

เรื่องที่เกี่ยวข้อง :