8 ที่เที่ยวตาม วิถีริมน้ำ…อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทอง

เรื่องและภาพโดย ทีมงาน Vacationist

จังหวัดสุพรรณบุรีและอ่างทอง ถือได้ว่าเป็น 2 จังหวัดที่ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนักใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง สามารถท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์แบบ 2 วัน 1 คืนได้อย่างสะดวกและไม่เหนื่อยมากนัก ยิ่งในเส้นทางท่องเที่ยวตามวิถีสายน้ำดั่งเดิมแล้ว นอกจากจะได้การพักผ่อนและคุณได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่มีคุณค่าจับจ่ายใช้สอยสินค้าและอาหารท้องถิ่นในพื้นที่มากขึ้น

ที่พิเศษกว่านั้นในช่วงระหว่างเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2563 ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี ร่วมกับผู้ประกอบการและพันธมิตร ได้จัดโปรโมชั่นราคาพิเศษแพ็คเกจท่องเที่ยว/แพ็คเกจรายการนำเที่ยว น่าสนใจมากมาย สามารถสอบถามได้ที่ ททท.สำนักงานสุพรรณบุรี
โทร. 035 525 880, 08 2486 2010
Line ID : @586xxcxb

ส่วน 8 แหล่งท่องเที่ยวที่น่าอัศจรรย์ใจในเส้นทาง “เที่ยววิถีริมน้ำ…อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทอง” ในระยะเวลา 2 วัน 1 คืน มีที่เที่ยวไหนบ้าง ตามไปดูกัน
เริ่มต้นวันแรกที่ จังหวัดสุพรรณบุรี 4 แห่ง ได้แก่

สุ่มปลายักษ์ อำเภอสองพี่น้อง

ภาพของสุ่มปลาขนาดใหญ่ เครื่องมืออุปกรณ์ของปลาของชาวบ้าน ตั้งเด่นเป็นสง่ากลางบึงบัวที่บานรับแสงแดดและท้องฟ้าใส คือที่เที่ยวจุดแรกของเรา สุ่มปลายักษ์ อำเภอสองพี่น้องที่เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้าน จากถนนเดินข้ามคลองสองพี่น้อง ไปตามทางสะพานไม้ไผ่ระยะทางประมาณ 300 เมตร สู่สุ่มปลาที่ทำจากไม้ไผ่กว่า 5,000 ชิ้น ด้านบนของสุ่มปลา สามารถขึ้นไปชมวิวแบบ 360 องศาของหมู่บ้านต้นตาลได้

ข้างๆ ของสุ่มปลายักษ์เป็นทางเดินที่สองข้างทางเป็นร้านขายสินค้าชุมชน เรียกว่า ตลาดน้ำสะพานโค้ง ซึ่งโค้งไปตามแนวลำคลองนั่นเอง

สินค้าที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าในชุมชน บางส่วนตั้งร้านค้าภายใต้หลังคามุงจาก บางส่วนก็พายเรือมา ของกิน เช่น ข้าวโพดปิ้ง กุ้งเผ่า ก๋วยเตี๋ยว ผักผลไม้ ฯลฯ

สุ่มปลายักษ์เปิดทุกวันตั้งแต่ 07.00 -17.00 น. แต่ร้านค้าของตลาดสะพานโค้งจะมีจำนวนมากเฉพาะเสาร์ – อาทิตย์หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

ชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า

จากสุ่มปลายักษ์ ขับรถต่อไปอีกไม่ถึง 30 นาที พวกเราก็มาถึง ชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน ชาวบ้านจากตำบลบ้านแหลม 5 หมู่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลมขึ้น มีการจัดแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีประวัติศาสตร์วิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำสุพรรณบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาของชุมชนและเพื่อรองรับการท่องเที่ยว

หากเรามาเป็นหมู่คณะ สามารถซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวแบบ 1 วันของทางชุมชนได้ ซึ่งก็จะมีกิจกรรมพาไปเรียนรู้ภูมิปัญญาพื้นบ้านต่างๆ โดยจะแบ่งออกเป็นฐานๆ เช่น ทำขนม ตำน้ำพริก และล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้น ของรัชกาลที่ 5 ชมวิถึชุมชน รวมไปถึงไหว้พระที่วัดป่าพฤกษ์เป็น วัดในตำนานทัพพม่าอังวะ – มอญรามัญ

สนใจทำกิจกรรมชุมชนติดต่อได้ที่
กลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลมเลขที่ใบอนุญาตนำเที่ยว 13/02285
โทร. 08 0073 7397 Line ID : sophol23

สมหวัง @ วังยาง “นาแห้ว” อำเภอศรีประจันต์

อีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรสร้างสรรค์ คือ สมหวัง @ วังยาง พื้นที่ของ “นาแห้ว” อำเภอศรีประจันต์ สมหวังหรือแห้วที่กว้างสุดสายตา เป็นภาพของนาแห้วที่ไม่ค่อยมีใครได้เห็นมากนัก

สำหรับแห้วที่อำเภอเมืองและอำเภอศรีประจันต์ มีความหวาน กรอบ มัน และที่สำคัญคือกินแล้วปลอดภัยไร้สารใดๆ เจือปน ความพิเศษเช่นนี้ส่งผลให้ที่นี่เป็นแหล่งปลูกแห้วที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

แต่ถ้าคุณมาที่วังยางแห่งนี้ คุณจะได้กินแห้วอร่อยๆ แล้ว ยังได้เรียนรู้และรู้จักกับแห้วมากขึ้น ว่าสามารถทำอาหารได้หลากหลายเมนูมากกว่า 40 ผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นอาหารคาว เช่น ขนมจีนน้ำยาแห้ว ทอดมันแห้ว น้ำพริกแห้ว หรืออาหารหวาน ของกินเล่น เช่น แห้วเฟรนช์ฟรายส์ แห้วแช่อิ่ม คุกกี้แห้ว หรือทับทิมกรอบที่รู้จักกันดี ส่วนเครื่องดื่มเช่น ไวน์แห้ว สาโทแห้ว น้ำแห้วพร้อมดื่ม ชาแห้ว ฯลฯ

สนใจทำกิจกรรมติดต่อ กลุ่มท่องเที่ยวบ้านวังยาง : เทศบาลตำบลวังยาง ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ติดต่อท่องเที่ยว : 062 678 5777

ตลาดเก่าศรีประจันต์ บ้านเจ้าคุณ อำเภอศรีประจันต์

หลังจากงมแห้วเราปิดท้ายวันแรกของการเดินทางเที่ยววิถี ริมน้ำ….อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทอง ในส่วนของจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตลาดเก่าศรีประจันต์ บ้านเจ้าคุณฯ อำเภอ ศรีประจันต์ ซึ่งห่างจากนาแห้วประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น ตลาดเก่าศรีประจันต์เป็นตลาดค้าส่งในอดีตอยู่ริมแม่น้ำท่าจีน มีอายุกว่า 100 ปี

ความน่าสนใจของตลาดแห่งนี้อยู่ที่อาคารห้องแถวไม้สองชั้น ที่เป็นทั้งที่พักและร้านค้าที่มีมาตั้งแต่อดีต และยังคงความคลาสสิกอยู่ สวยงาม จนภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง เลือกที่นี่เป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำ

อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือ บ้านเจ้าคุณ ป.อ. ปยุตโต หรือ ชาติภูมิสถาน ป.อ. ปยุตโต (ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ป.อ. ปยุตโต) พระพรหมคุณาภรณ์ พระมหาเถระผู้ใหญ่ที่ได้รับการยกย่องเป็นกวีทางศาสนาพุทธและเป็นเพชรน้ำเอกของโลก มีผลงานในการเขียนหนังสือกว่า 300 เล่ม ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

บ้านของท่านเคยเป็นร้านขายผ้า ตั้งอยู่ในตลาดแห่งนี้ซึ่งในปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ให้อยู่ในสภาพเดิมและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้บุคคลเข้าไปชมได้ ภายในมีสิ่งของเครื่องใช้โบราณ รวมถึงหนังสือธรรมะอีกมากมาย

เราเลือกที่พักในจังหวัดสุพรรณบุรี แม้ไม่ได้ติดริมน่้ำ แต่บรรยากาศยามเช้าสดชื่นมาก

วันที่สอง ไปเที่ยวจังหวัดอ่างทอง กัน กับสถานที่ท่องเที่ยวอีก 4 แห่งที่น่าสนใจ ได้แก่

หมู่บ้านทำกลอง อำเภอป่าโมก

หมู่บ้านทำกล่อง อำเภอป่าโมก ห่างจากที่พักของเราที่สุพรรณเพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้นพอเลี้ยวเข้าในหมู่บ้านตลอดสองข้างทางเราจะเห็นบ้านที่ผลิตและจำหน่ายกลองเป็นระยะๆ สามารถเข้าเยี่ยมชมและเรียนรู้วิธีการขั้นตอนการทำกลองจากผู้เชี่ยวชาญได้

ที่นี่ขึ้นชื่อว่า เป็นแหล่งที่ผลิตกลองที่มีชื่อและดีที่สุดในประเทศไทย เริ่มผลิตกลองมาตั้งแต่ พ.ศ. 2470 สืบทอดเป็นมรดกผ่านจากรุ่นสู่รุ่น เป็นการสั่งสมประสบการณ์ตลอดจนมีการ พัฒนา และปรับปรุงแก้ไข จนเป็นแหล่งผลิตกลองที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับของทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ปัจจุบันที่นี่มีการส่งออกไปยังประเทศแอฟริกา อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย ฯลฯ

เมื่อเราเดินเข้าไปในร้านค้าหรือในบ้านของชุมชน เราก็จะเห็นชาวบ้านกำลังเกลาไม้ทำตัวกลองบ้าง บ้างก็กำลัง ขึงหน้ากลอง บ้างก็กำลังวาดลวดลายบนตัวกลอง แต่ละใบมีลวดลายที่สวยงามมาก บ้านบางหลังด้านหลังนอกจากจะทำกลองแล้วยังมีรับซ่อมหน้ากลองอีกด้วย

ที่สำคัญ อย่าลืมแวะชมลองยาวใหญ่ที่สุดในโลกที่เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านทำกลอง หน้ากลองกว้าง 36 นิ้ว 92 เซนติเมตร ยาว 7.6 เมตร ทำจากไม้จามจุรีต่อกันถึง 6 ท่อน สร้างปี 2537 ใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี และซื้อของที่ระลึกเป็นกลองสักใบไปฝากที่บ้านด้วย

วัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก

จากหมู่บ้านทำกลองขับรถไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงวัดป่าโมกวรวิหาร อำเภอป่าโมก ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ด้านในวิหารของวัดมีองค์พระพุทธรูปแบบพุทธศิลป์สมัยกรุงสุโขทัย เป็นพระพุทธไสยาสน์ที่มีพระพักตร์งดงามมากที่สุดองค์หนึ่งของประเทศไทย ขนาดความยาวจากพระเมาลีถึงปลายพระบาท 22.58 เมตรก่ออิฐถือปูนปิดทอง สวยงามมาก

ตามประวัติเล่าขานกันมาว่า องค์พระได้ลอยน้ำมาจมอยู่หน้าวัดราษฎรบวงสรวงแล้วชักลากขึ้นมาไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำ ยังมีเรื่องเล่าว่าองค์พระพุทธไสยาสน์นี้เป็นพระพุทธรูปพูดได้โดยมีการจารึก โดยผู้บันทึกก็คือ พระครูปาโมกข์มุนี เจ้าอาวาสวัดป่าโมก

ส่วนข้อมูลตามประวัติศาสตร์ มีการบันทึกไว้ว่าเส้นทางผ่านทางวัดนี้เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากกรุงศรีอยุธยามาขึ้นบกที่บ้านป่าโมก โดยได้ทำพิธีเหยียบชิงชัยภูมิตัดไม้ข่มนามและนมัสการพระพุทธไสยาสน์องค์นี้ เมื่อปี พ.ศ. 2269 ก่อนจะยกทัพไปทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชาจนได้รับชัยชนะ ทำให้ผู้คนเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมานมัสการพระพุทธไสยาสน์เป็นจำนวนมาก

บ้านหุ่นเหล็ก อำเภอเมืองอ่างทอง

จากวัดป่าโมก เราเดินทางต่ออีกประมาณ 30 นาที มุ่งตรงไปทางอำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง กับที่ท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับครอบครัว บ้านหุ่นเหล็ก ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอเมืองนั่นเอง

มองจากด้านนอกตัวบ้านเราก็เห็นถึงความอัศจรรย์ของความชอบในการออกแบบประดิษฐ์ คิดค้นและความชอบทางด้านศิลปะของเจ้าของบ้าน หุ่นเหล็กหลายตัวขนาดสูงคอตั้งบ่า ตั้งเด่นท้าทายลมฟ้าอากาศ และเชิญชวนให้เข้าไปสัมผัส

ด้านในเราแบ่งง่ายๆ เป็นโซน ได้แก่ โซนบ้านเรือนไทยที่มีประติมากรรมเกี่ยวกับพระพุทธรูป พระพิฆเนศ มีหลากหลายองค์ให้เราได้กราบไหว้ สักการะ ส่วนด้านในอาคาร จะเป็นหุ่นขนาดตั้งแต่ 2-3 เมตร มีบางจุดที่ทำไว้ให้สามารถเข้าไปถ่ายรูปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชิ้นงานได้ ในอาคารมีชั้นลอยอยู่ ซึ่งมีงานประติมากรรมรูปในหลวง รัชกาลที่ 9 และจุดนี้สามารถถ่ายรูปมุมสูงของภายในอาคารได้ ส่วนด้านนอกอาคารจัดแสดงหุ่นขนาดใหญ่ที่ต้องมองแบบคอตั้งบ่าทีเดียว มีหลายตัวเป็นหุ่นยนต์จากภาพยนตร์ดังๆ มีหุ่นลิงที่ทำจากยางรถยนต์ก็เป็นอีกหุ่นที่แปลกตา

ที่บ้านหุ่นเหล็กมีของฝากที่น่าสนใจคือ ช็อกโกแลตนม ทำเป็นรูปเครื่องมือช่างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหัวนอต ไขควง กลอน บานพับประตู ฯลฯ เหมาะเป็นของที่ระลึกได้ สำหรับค่าเข้าชม ไม่แพงนัก ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท ถ้าเป็นนักเรียนติดต่อเข้าไปก่อนเข้าชมฟรี เปิดทุกวัน

ตลาดน้ำสามโก้ อำเภอสามโก้

ปิดท้ายวัดปิดท้ายทริปวันหยุดเที่ยววิถีริมน้ำ….อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทอง กันที่ตลาดน้ำสามโก้ – วัดสามโก้ (วัดร้าง) อำเภอสามโก้ ที่คุณสามารถซื้อของฝาก ของที่ระลึกและสินค้าชุมชนได้

ที่นี่เป็นตลาดน้ำที่เปิดเฉพาะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ มีสินค้าชุมชนหลายอ่างมาจำหน่าย ทั้งของกิน ของฝาก

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมการนั่งเรือตามเส้นทางท่องเที่ยววิถีริมน้ำ ไปกราบนมัสการพระพุทธรูป (หลวงพ่อโต) ณ โบสถ์วัดร้าง โบราณสถานสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่อยู่คู่กับชาวอำเภอสามโก้เป็นเวลากว่า 300 ปี เป็นที่นิยมไปเสี่ยงเซียมซีเสี่ยงทายดวงชะตา ซึ่งทำนายไว้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และเชื่อว่าเปิดดวงชะตาได้แม่นยำ พร้อมชมทัศนียภาพและบรรยากาศสองฝั่งคลอง

สำหรับการเดินทาง 2 วัน 1 คืน ตามเส้นทางตาม วิถีริมน้ำ…อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทอง จบลงอย่างสวยงาม เป็นช่วงเวลาแห่งความรู้ ที่ได้เรียนรู้สัมผัสและเปิดประสบการณ์หลากหลายกับเมืองท่องเที่ยวคู่อย่างเช่น สุพรรณบุรีและอ่างทองแห่งนี้ หยุดสุดสัปดาห์นี้มีใช้เวลาไปกับเส้นทางตาม วิถีริมน้ำ…อัศจรรย์ สุพรรณฯ – อ่างทองกันได้

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0