สุพรรณบุรี-อ่างทอง

Story & Photo Editorial Staff

ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ การเดินทางสะดวก ใช้เวลาไม่นานสบายๆ เรื่อยๆ มีที่ให้แวะเที่ยว ตลอด 2 ข้างทาง แน่นอนว่าที่เที่ยวใหม่ของ 2 จังหวัดนี้ไม่ธรรมดา ใครที่อยากเที่ยวเชิงวิถีธรรมชาติ ท้องทุ่งนา วัดวาอาราม ชมวิถีชุมชน ริมแม่น้ำ

ไปดูสุ่มปลาขนาดใหญ่ (ใหญ่จริงๆ นะ) แวะช้อป สินค้าชุมชน กระจายรายได้ เราได้ของดีราคาถูก ชาวบ้าน ได้รายได้กระจายกันไป

เที่ยวไทย เที่ยวเมืองรอง เที่ยวได้เลย ไม่ต้องรอ

เริ่มต้นกันก่อนเลยที่จังหวัดสุพรรณบุรี แล้วต่อด้วยจังหวัดอ่างทอง ซึ่งจริงๆ มีที่เที่ยวมากมายทั้ง 2 จังหวัด แต่จะขอเช็กอินกันเบาๆ กับที่เที่ยวชิลๆ มาดูกันดีๆ ว่ามี ที่เที่ยวที่ไหนน่าสนใจบ้าง

ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง อุทยานมังกรสวรรค์
เป็นสถานที่รวบรวมเรื่องราวคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง เดิมเรียกว่าศาลเทพารักษ์หลักเมือง เป็นที่เคารพนับถือของชาวสุพรรณบุรี และประชาชนทั่วไป

อยู่ในเขตเมืองโบราณสุพรรณบุรี ถ.มาลัยแมน อ.เมือง เชื่อว่าหากมากราบไหว้แล้ว จะมีโชคลาภประสบ ความสำเร็จพบกับความสุข

ที่เดียวกันนี้ยังมีอุทยานมังกรสวรรค์ โดดเด่นเห็นแต่ไกลก็อาคารรูปมังกรขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้านในเป็นห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ (ส่วนนี้มีค่าเข้าชม) ภายในยังมีพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร

หมู่บ้านมังกรสวรรค์และอุทยานพุทธบัญชา (พระยูไล) ให้ได้เที่ยวชมกันอีกด้วย

ชุมชนสมหวังบ้านวังยาง
ตั้งอยู่ใน ต.วังยาง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี เป็นแหล่งปลูกแห้วที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกแห้วปลอดสารพิษ

มีรสชาติและคุณภาพดี เป็นสินค้าสร้างชื่อเสียงให้กับ จ.สุพรรณบุรี แถมรสชาติยังเป็นที่ถูกอกถูกใจ นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวสุพรรณบุรีต้องซื้อแห้วไปเป็นของฝาก กิจกรรมที่นี่มีให้ทำมากมายทั้งเก็บแห้วเอง

โดยมีชุดใส่ลงไปงมแห้วกันสนุกสนาน เรียกรอยยิ้ม เสร็จแล้วก็นำมาเป็นวัตถุดิบหลัก ในการทำ “ทับทิมกรอบ” ที่ทางชุมชนการันตีว่า ปลอดภัยไร้สารเจือปน ต้องบอกเลยทับทิมกรอบ กรอบจริงจัง ทั้งหวาน มัน กรอบ ครบรส

หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย
ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2545 บนเนื้อที่ 70 ไร่ ตั้งขึ้นเพื่อสะท้อนให้เห็นภาพชีวิตชาวนาชนบทไทยดั้งเดิม การทำนาที่ไม่ใช้เครื่องจักรทันสมัย งานฝีมือและภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไทย เห็นได้จากกลุ่มหมู่บ้านชาวนาไทยและแบบเรียบง่าย

จังหวัดสุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่ผลิตข้าวติด 1 ใน 5 ของประเทศ หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย เห็นถึงความสำคัญของควายที่อยู่คู่กับชาวนาไทยมาตั้งแต่อดีต

ช่วยทำไร่ ไถนา เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก อีกกิจกรรมที่น่าสนใจ คือ “กินแฟ ดูฟาย” ที่หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทยสุพรรณบุรี

ชมการแสดงของควายแสนรู้ และสัมผัสวิถีดั้งเดิมของชนบท จะแบ่งการแสดงเป็นรอบๆ ด้วย จะทดลองไถนาก็ไม่ว่ากัน

พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรี
หลวงพ่ออู่ทอง หรือพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ เป็นพระพุทธรูปแกะสลักภูผาที่ใหญ่ที่สุดในโลก ณ ภูผามังกรบิน เขตโบราณสถานเมืองอู่ทอง อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ก่อสร้างเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2557 – 1 พ.ค. 2561 องค์หลวงพ่อมีความสูง 108 เมตร ฐานกว้าง 88 เมตร หน้าตักกว้าง 65 เมตร อยู่ในพื้นที่ราว 100 ไร่ เป็นเหมืองหินเก่าที่หมดสัมปทานแล้ว

เป็นเขตพื้นที่ที่กรมศิลปากรยืนยันว่า เป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิและหลักฐานทางโบราณคดีที่มีข้อพิสูจน์ว่า พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดียทรงส่งพระโสณะและพระอุตตรเถระ เข้ามาตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 3 มีหลักฐานจารึกศิลา “ปุษยคีรี” และธรรมจักรบนยอดเสาอโศก บริเวณภูเขาใกล้กับวัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง นอกจากนี้บริเวณหน้าผาโดยรอบ มีภาพแกะสลักเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาให้ประชาชนได้ศึกษา เพิ่มเติมอีกด้วย

ชุมชนบ้านต้นแจงพัฒนา
อยู่ที่ ต.อู่ทอง อ.อู่ทอง เป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพร ที่นำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ยาดม-ยาหม่องหัวโตป้าต้อยภูมิปัญญาท้องถิ่น

โดยคัดสรรสมุนไพรที่มีประโยชน์ถึง 9 ชนิด เป็นยาดมสมุนไพรสูตรโบราณที่ได้รับความนิยมมานานนับ 10 ปี

ตัวผลิตภัณฑ์ก็พัฒนาให้มีอัตลักษณ์ของเมืองโบราณอู่ทอง โดยฝายาหม่องทำจากดินปั้นเป็นรูปผู้คนสมัยทวารวดีให้น่ารักเป็นงานศิลปะร่วมสมัย

ชุมชนบ้านแหลม
เป็นชุมชนเก่าแก่ริมน้ำท่าจีน บ้านทรงไทยโบราณตั้งอยู่เรียงราย มีวัดเก่าแก่ที่มีประวัติยาวนาน ภาพของวิถีชีวิตคนไทยในอดีตยังคงอยู่

เหมือนเราได้ย้อนเวลากลับไปอดีตอีกครั้ง นักท่องเที่ยวที่มาที่ชุมชนยังได้ร่วมกิจกรรมสนุกๆ ที่ทางชุมชนได้เตรียมข้าวของไว้

พร้อมให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวด้วยรอยยิ้ม ไม่ว่าจะ เป็นกิจกรรมตำน้ำพริกเผาโบราณ, ทำขนมไทยโบราณ, ทำลูกประคบสมุนไพร, สานไม้ไผ่หวาย หรือจักสานผักตบชวา, ทำต้มโคล้งปลาม้ากรอบ (ของขึ้นชื่อ)

การทำธูปหอมพรหมเศรษฐีหลากสีสันตามวัน หรือใครจะ ล่องเรือตามรอยเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 ย้อนรอย นิราศสุพรรณ สุนทรภู่ ทางชุมชนก็มีไว้รองรับ

ที่ชุมชนตำบลบ้านแหลม ได้รับคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ชุมชนต้นแบบจากชุมชนทั่วประเทศ Village Tourism 4.0 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อีกด้วย

สุ่มปลายักษ์ – ตลาดน้ำสะพานโค้ง
แลนด์มาร์กที่เห็นเด่นแต่ไกลคือสุ่มปลายักษ์ขนาดใหญ่ ด้านบนเดินขึ้นไปเป็นจุดชมวิว มองเห็นวิวแบบ 360 องศา

มีสะพานไม้ไผ่ทอดยาวเป็นทางเดินตัดผ่านทุ่งบัวไปยังสุ่มปลายักษ์ที่ทำจากไม้ไผ่หลายพันลำ เกิดจากความร่วมมือของคนในชุมชน

มีชาวบ้านพายเรือนำอาหาร และสินค้าท้องถิ่นมาจอดขายริมสะพานไม้ไผ่เป็น “ตลาดน้ำสะพานโค้ง”

มีหลังคามุงจากทอดยาว เดินในร่มเลือกซื้อสินค้าได้ไม่ร้อนจนเกินไป นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ใกล้กับวัดทองประดิษฐ์ ริมคลองสองพี่น้องตลาด

เปิดทุกวัน ตั้งแต่ เวลา 09.00 – 18.00 น. ร้านค้าส่วนใหญ่จะเปิด ขายวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์

วัดป่าโมกวรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่สมัยสุโขทัย เดิมเรียกว่าวัดใต้ ท้ายตลาดหรือวัดชีปะขาว อยู่ติดริมแม่น้ำของ
จังหวัดอ่างทอง ชาวบ้านเรียกว่าวัดใต้ท้ายตลาดในอดีตเคยมีต้นโมกมากมาย ในอดีตสันนิษฐานว่าวัดนี้จมน้ำลงไปหมด

จึงได้อัญเชิญพระพุทธไสยาสน์มาประดิษฐานที่วัดอีกแห่งแล้วเปลี่ยนเป็นชื่อวัดป่าโมก ซึ่งปัจจุบันเป็นวัดหลวงชั้นโทภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ที่งดงามเก่าแก่สมัยอยุธยา พระพักตร์ยาวรีเป็น รูปไข่ มีความยาว 22.58 เมตร ภายในพระพุทธ ไสยาสน์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ 36 องค์

วัดขุนอินทประมูล
เยี่ยมชมโบสถ์ 100 ล้าน โดยมีลิฟต์ และบันไดเลื่อนอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ผู้สูงอายุ ผู้พิการที่เดินทางมาทำบุญ กราบสักการะพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอนองค์ใหญ่แห่งทุ่งโพธิ์ทองตั้งอยู่กลางแจ้ง

สันนิษฐานว่าสร้างสมัยกรุงสุโขทัย ณ วัดขุนอินทประมูล วิหารเดิมถูกไฟไหม้จึงประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง

บ้านหุ่นเหล็ก
เกิดจากความตั้งใจของคุณไพโรจน์ ถนอมวงษ์ เมื่อปี พ.ศ. 2543 ที่นำเศษเหล็กอะไหล่เก่าจากเครื่องยนต์ที่ไม่ได้ใช้แล้วมาสร้างเป็นหุ่นยนต์ต่างๆ มีทั้งจำหน่ายและตั้งโชว์

เป็นศูนย์การเรียนรู้หัตถกรรมจากเศษเหล็กและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจในอ่างทอง ทั้งยังมีร้านกาแฟ ณ ร้านสภากาแฟ@บ้านหุ่นเหล็ก กับบรรยากาศเก๋ๆ สไตล์บ้านหุ่นเหล็ก มีช็อกโกแลตในรูปแบบเครื่องมือช่างแปลกตาดี

ตั้งอยู่ที่ถนนสายเอเชีย ทางหลวงหมายเลข 32 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ อ.เมือง จ.อ่างทอง ค่าเข้าชมคนละ 20 บาท เปิดบริการทุกวัน : เวลา 09.00 – 17.00 น.

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0