สุโขทัย สุโขไทม์ (Sukhothai-Sukho time)

เรื่องและรูปโดยทีมงาน Vacationist

“มรดกโลกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง ดำรงพุทธศาสนา
งามตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการแม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณแห่งความสุข”

สุโขทัยอาณาจักรแรกของชนชาติไทยเมื่อกว่า 700 ปีที่ผ่านมา จากคำขวัญของจังหวัดบ่งบอกเรื่องราว งานฝีมือ และภาพรวมของเมืองที่ได้ชื่อว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข ตามความหมายของคำว่า “สุโขทัย” ที่เกิดจากคำว่า “สุข+อุทัย” ได้เป็นอย่างดี

แม้ฉันจะเคยแวะเวียนมาสุโขทัยหลายครั้งแต่ที่ทุกครั้ง สุโขทัยก็ยังให้ความรู้สึกที่ สุโขไทม์ ทุกครั้ง ครั้งนี้ก็อีกเช่นกัน

อดีตล้ำค่า

เมืองสุโขทัยในยามช่วงเช้าตรู่ บริเวณตลาดตระพังทอง ชื่อเดียวกันกับวัดตระพังทอง ไม่ได้คลาคลั่งไปด้วยนักท่องเที่ยวมากนัก มีเพียงลุงป้าน้าอา และพี่น้องชาวพื้นที่ที่ออกมาจับจ่ายซื้อของกัน บ้างก็มาซื้อกับข้าวเช้า บ้างก็มาซื้ออาหาร ดอกไม้ เฉกเช่นเดียวกับฉัน เพื่อนำไปใส่บาตรที่สะพานบุญ สะพานไม้ที่ทอดยาวจากตัววัดตระพังทองออกมาที่ถนนด้านหน้า

ในช่วงยามเช้าเวลาประมาณ 06.00 น. พระสงฆ์จะเดินออกมาจากวัดที่อยู่กลางน้ำ มาบิณฑบาตโดยใช้เส้นทางของสะพานแห่งนี้ เริ่มต้นวันด้วยการทำบุญเป็นการเริ่มต้นรุ่งอรุณแห่งความสุข ที่อิ่มเอบใจได้อย่างดีทีเดียว

วัดตระพังทอง นั้นตั้งอยู่บนเกาะกลางสระน้ำที่เรียกว่า ตระพัง มาจากรากศัพท์มาจากภาษาเขมรว่า “ตรฺพำง” (อ่านว่า ตรอ-เปียง) แปลว่า บ่อหรือสระน้ำที่ขุดขึ้น มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงลังกา หรือทรงระฆัง ที่ใช้ศิลาแลงก่อเป็นฐาน ส่วนด้านบนนั้นใช้อิฐเป็นวัสดุก่อสร้างรอบเจดีย์ประธาน และมีเจดีย์รายล้อมจำนวน 8 องค์ ด้านหลังของเจดีย์ประธาน มีพระอุโบสถที่สร้างขึ้นใหม่บนฐานพระอุโบสถหลังเก่าสมัยสุโขทัย ภายในประดิษฐานหลวงพ่อขาวเป็นพระประธาน นอกจากนี้ ยังมีมณฑปจัตุรมุข ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทเบื้องขวาที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระมหาธรรมราชาลิไท กรุงสุโขทัยอยู่อีกด้วย

ไม่ไกลจากวัดตระพังทองเป็นพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (Sukhothai Historical Park) ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกโดยยูเนสโก ในนามของเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) อันประกอบไปด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งโบราณสถานทั้งในและนอกกำแพงเมืองรวมทั้งหมดมากกว่าร้อยแห่ง ซึ่งหากว่าจะเดินชมให้ครบทุกแห่งในทริปเดียวก็อาจจะเป็นเรื่องยากมาก และด้วยเวลาจำกัดทำให้การเดินทางของฉันในครั้งนี้จึงมีโอกาสได้เยี่ยมชมโบราณสถานเพียงบางจุดเท่านั้น แต่ก็เป็นจุดหลักที่น่าเยี่ยมชมเป็นอย่างยิ่ง

พื้นที่กว่า 70 ตารางกิโลเมตรของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มีการวางผังเมืองเป็นสี่เหลี่ยมที่ล้อมรอบไปด้วยคูเมือง กำแพงเมืองและประตูเมือง ภายในมีสถานที่สำคัญ ที่เป็นพระราชวัง ศาสนสถาน โบราณสถาน มากกว่า 30 แห่ง

โดยวัดที่มีความสำคัญมากที่สุด เปรียบดังวัดหลวงประจำราชธานีสุโขทัย คือ วัดมหาธาตุ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของเมือง ภายในวัดมีโบราณสถานมากมายประกอบด้วย เจดีย์ประธาน วิหาร มณฑป อุโบสถ (โบสถ์) และเจดีย์รายจำนวนมากถึง 200 องค์  ถ้ามองจากทางด้านหน้าของวัดจะเห็นพระประธานและเจดีย์ประธานของวัด และเมื่อเดินเข้าไปด้านในผ่านบริเวณวิหารซึ่งปัจจุบันเหลือเพียงเสาที่เรียงรายที่ก็ให้ความรู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และรุ่งเรืองในอดีตได้อย่างชัดเจน

โดยเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ทรงเจดีย์ที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปกรรมสมัยสุโขทัย ลักษณะศิลปกรรมแบบไทยแท้ ไม่เหมือนเจดีย์อื่นใด สันนิษฐานว่าเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยชั้นล่างสุดมีพระพุทธสาวกเดินพนมมือประทักษิณ ส่วนบนฐานเดียวกันยังมีปรางค์ 4 องค์ประจำอยู่บริเวณมุมทั้ง 4 ทิศ และบริเวณมุมทั้ง 4 ทิศยังมีเจดีย์ทรงปราสาทแบบศรีวิชัยผสมลังกา 4 องค์

นอกจากนี้ที่วัดมหาธาตุยังมีเจดีย์ 5 ยอดเป็นเจดีย์รองประธานของวัด ซึ่งสันนิษฐานว่าภายในเจดีย์บรรจุอัฐิของพระมหาธรรมราชาลิไท และมีวิหารพระศรีศากยมุนีหรือวิหารหลวง ซึ่งอยู่ถัดจากเจดีย์ประธานไป ในวิหารหลวงประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่มีพระวรกายอวบอิ่ม พระพักตร์อมยิ้ม บริเวณด้านรอบวัด ยังมีบึงน้ำทั้งขนาดเล็กใหญ่อีกหลายแห่ง

บึงน้ำจุดหนึ่งคือ บริเวณหน้าวัด ซึ่งในยามเย็น ภาพของแสงพระอาทิตย์ที่ตกหลังด้านวัดและภาพเงาสะท้อนบนผิวน้ำที่สวยงาม จนทำให้บริเวณนี้เป็นหนึ่งจุดชมพระอาทิตย์ตกที่ห้ามพลาดของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยแห่งนี้

วัดถัดไปซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของวัดมหาธาตุประมาณ 350 เมตร คือ วัดศรีสวาย ที่มีความโดดเด่นด้วยความสวยงามและเอกลักษณ์เฉพาะตัวกับภาพที่หลายคนคุ้นตาอย่างพระปรางค์สามยอด ที่มีรูปแบบศิลปะลพบุรี ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะขอม

พระปรางค์มีลักษณะเป็นรูปกลีบขนุน ประดับด้วยปูนปั้นรูปครุฑยุดนาค ประดับอยู่ระหว่างนางอัปสรทั้งสอง บริเวณกลางพระปรางค์ของแต่ละด้านประดับด้วยกรอบหน้านาง ซึ่งเป็นรูปนาคซ้อนกันเป็นชั้นอย่างสวยงาม ด้านหน้าพระปรางค์เป็นที่ตั้งของพระวิหาร ซึ่งมีระเบียงคดล้อมองค์พระปรางค์และพระวิหาร ทั้งนี้ภายในพระปรางค์มีงานจิตรกรรมฝาผนัง เป็นภาพลายเส้น แสดงรูปคนยืนพนมมือ ที่เห็นไม่ค่อยชัดเจนมากนัก ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไป

ส่วนด้านหลังโบราณสถานมีสระน้ำ เรียกว่า สระลอยบาป ใช้เป็นที่ทำพิธีลอยบาปหรือล้างบาปตามความเชื่อลัทธิพราหมณ์

นอกจากวัด โบราณสถานต่างๆ แล้วอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยยังมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงมหาราชเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่ทรงอัจฉริยภาพทั้งด้านการปกครอง เศรษฐกิจ ศาสนาและศิลปวิทยาต่างๆ รวมไปถึงที่ทรงประดิษฐ์อักษรไทย สำหรับองค์พระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหงหล่อด้วยทองเหลืองผสมทองแดงรมดำ มีลักษณะพระพักตร์และทรวดทรงของพระบรมรูป ที่ทางกรมศิลป์ได้จินตนาการตามลักษณะของสุภาพชนและเจ้านายสมัยสุโขทัย อีกทั้งลักษณะของพระพักตร์ยังเป็นการจำลองแบบตามพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ประทับนั่งห้อยพระบาทบนพระแท่นมนังคศิลาบาตรเพื่อทรงว่าราชการและสั่งสอนประชาชน โดยพระหัตถ์ขวาถือคัมภีร์ พระหัตถ์ซ้ายอยู่ในท่าทรงสั่งสอนประชาชน ด้านซ้ายมีพานรองรับพระขรรค์ บริเวณด้านหน้าประดับด้วยหลัดศิลาจารึกจำลอง แสดงเรื่องราวพระราชกรณียกิจ

ที่กล่าวมาคือวัดที่อยู่ในเขตกำแพงเมือง สำหรับมีวัดที่อยู่ในเขตนอกกำแพงเมืองที่ควรแวะไปชม ก็มีอีกหลายจุด อย่างเช่น

วัดศรีชุม ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่สูง 15 เมตร ขนาดหน้าตักกว้างประมาณ 11.30 เมตร มีนามว่าพระอจนะ หมายถึงผู้ไม่หวั่นไหว หรือการบูชานับถือ ในแง่ของงานศิลปะ พระอจนะเป็นหนึ่งในงานพุทธศิลป์ชิ้นเอก ด้วยมีพุทธลักษณะอันงดงามสมส่วนและเป็นพระพุทธรูปสุโขทัยโบราณองค์ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน

พระอจนะ ได้ชื่อว่าพระพุทธรูปพูดได้ เพราะถ้ามองเพียงภายนอกจะเห็นมณฑปมีพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่ตรงกลางเพียงองค์เดียว แต่จริงๆแล้วมณฑปหลังนี้มีผนังหนามากก่ออิฐเป็นกำแพง 2 ชั้นมีบันไดเป็นขั้นๆ ขึ้นสู่ยอดมณฑปได้ เรามักเรียกกันว่า อุโมงค์วัดศรีชุม มีทางเข้าทั้งด้านซ้ายและด้านขวา แต่ทางด้านซ้ายเท่านั้นที่เข้าไปได้ถึงช่องลมด้านข้างและช่องหลังพระเศียรพระพุทธรูป หากออกไปแอบอยู่ทางช่องนี้แล้วพูดออกมาดังๆ ผู้ที่อยู่ในวิหารก็อาจเข้าใจว่าพระพุทธรูปพูดได้ เล่ากันว่าในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชได้มาชุมนุมทัพที่วัดศรีชุม พระองค์ทรงวางแผนสร้างกำลังใจให้กับทัพทหารโดยการให้คนปีนบันไดขึ้นไปทางด้านหลังองค์พระเพื่อและพูดให้กำลังใจแก่เหล่าทหาร ทำให้เกิดตำนานพระพุทธรูปพูดได้ขึ้นที่วัดแห่งนี้ นับเป็นภูมิปัญญาคนโบราณที่น่าทึ่งเป็นอย่างยิ่ง

อีกวัดที่ไม่ไกลจากโรงแรมที่ฉันพักมากนักคือ วัดช้างล้อม ที่อยู่ในส่วนของอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เป็นวัดในเขตนอกกำแพงเมืองทางฝั่งตะวันออก มีประวัติความเป็นมาว่าได้สร้างอุทิศให้กับพระมหาธรรมราชาที่ 1 ราวศตวรรษที่ 20

มีฐานกำแพงแก้วก่อด้วยอิฐล้อมรอบ​ มีลานประทักษิณโดยรอบ มีวิหารหน้าเจดีย์ มีเจดีย์ราย มีกำแพงแก้วล้อมรอบชั้นหนึ่งก่อนที่เป็นชั้นของคูน้ำ​ จุดเด่นที่ตัวเจดีย์ทรงลังกา หรือระฆังคว่ำ มีช้างล้อมรอบฐาน จำนวน 32 เชือก คล้ายคลึงกับเจดีย์วัดช้างล้อม อีกแห่งในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ที่นั้นจะเห็นเป็นช้างเต็มตัว

ซึ่งในการเดินทางครั้งนี้ ฉันก็ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชม วัดช้างล้อมที่อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยด้วยเช่นกัน ที่นี่ตั้งอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย ห่างจากอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยประมาณ 1 ชั่วโมง และห่างจากสนามบินสุโขทัยแค่ 30 นาทีเท่านั้น ปัจจุบันอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยพร้อมด้วยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยและอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับเกียรติให้ลงทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโกภายใต้ชื่อว่า เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ในส่วนของที่นี่มีพื้นที่ทั้งหมด 28,217 ไร่ และมีสํารวจพบโบราณสถานทั้งหมด 281 แห่ง โบราณสถานที่สำคัญในเขตกำแพงเมือง โบราณสถานที่อยู่นอกกำแพงเมือง นอกจากนั้นยังมีโบราณถานที่ตั้งอยู่บนเขา อย่างเช่นวัดช้างล้อมที่เรากำลังเดินทางไปชมนี้เป็นโบราณสถานที่อยู่เขตกำแพงเมือง

จุดเด่นของวัดช้างล้อม ที่ศรีสัชนาลัยคือ ช้างปูนปั้นที่นี่จะยืนเต็มตัวแยกออกจากผนัง มีขนาดใหญ่เทียบเท่าหรือใหญ่กว่าช้างจริงเลยทีเดียว รายล้อมเจดีย์ทรงลังกาที่ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส รอบฐานทั้ง 4 ด้าน นับช้างรวมได้ 39 เชือก หมายถึง โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ ซึ่งเป็นธรรมอันเป็นเครื่องหมายการตรัสรู้ ประกอบกับวิมุตติ 2 ประการ ช้างเชือกที่ใหญ่ที่สุดจะอยู่ที่มุมเจดีย์  ซึ่งช้างทรงเครื่องมีลวดลายปูนปั้นประดับที่คอและข้อเท้าสวยงามกว่าช้างอื่นๆ

รอบฐานสี่เหลี่ยม มีซุ้มประตูทั้ง 4 ทิศ ประตูด้านหน้าและประตูด้านหลังเป็นทางเข้าออกก่อเป็นกำแพงศิลาแลงหนามีการเล่นระดับที่ซุ้มประตูอย่างสวยงาม สำหรับประตูด้านข้างก่อเรียงอิฐศิลาแลงปิดไว้เป็นประตูตัน

นักวิชาการบางท่านสันนิษฐานว่า วัดช้างล้อมนี้น่าจะเป็นวัดเดียวกันที่กล่าวในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า ในปี พ.ศ. 1892 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชให้ขุดเอาพระธาตุขึ้นมาบูชาและเฉลิมฉลอง หลังจากนั้นจึงฝังลงกลางเมืองศรีสัชนาลัย และก่อพระเจดีย์ทับลงไป

หนึ่งจุดไฮไลต์ของอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัยคือ วัดนางพญา มีเจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังอยู่บนฐานทักษิณ แต่เดิมมีช้างปูนปั้นประดับอยู่โดยรอบเช่นเดียวกับวัดช้างล้อม รูปทรงของเจดีย์คล้ายคลึงกับเจดีย์ประธานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ถูกสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษ ที่ 21 ด้วยเช่นกัน บริเวณองค์ระฆังมีการทําซุ้มจระนํายื่นออกมาทั้งสี่ทิศ วิหารประธานเป็นอาคารทึบขนาด 7 ห้อง ก่อด้วยศิลาแลง หลังคาเป็นเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา ผนังทึบเจาะช่องแสงเป็นลูกกรงสี่เหลี่ยม ผิวปูนฉาบด้านนอกของวิหารประดับลายปูนปั้น เช่น ลายรักร้อยแข้งสิงห์ ลายประจํายาม และยังมีลวดลายปูนปั้นทำเป็นกึ่งมนุษย์กึ่งวานรกำลังวิ่ง ทว่าถูกทำลายไปบางส่วน

นอกจากนั้นยังมีลวดลายพรรณพฤกษาและรูปเทพพนมที่เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนต้น มีความงดงามอันวิจิตรที่แสดงให้เห็นถึงการรับอิทธิพลทางศิลปกรรมจากศิลปะล้านนาและศิลปะจีน ลายปูนปั้นที่วัดนางพญาเป็นแรงบันดาลใจให้ช่างฝีมือท้องถิ่น นําไปพัฒนาต่อยอดเป็น ลวดลายเครื่องประดับเงินและทองที่รู้จักกันในนามทองโบราณศรีสัชนาลัยอันเป็นงานฝีมือที่มีชื่อเสียงอย่างมากของสุโขทัย

จุดเด่นของวัดนางพญาคือมีผนังเหลืออยู่ด้านหนึ่งโดยมีลวดลายปูนปั้นที่สวยงามอยู่ แต่ปัจจุบันหลุดลอกออกไปพอสมควร แต่ยังมีการสร้างหลังคาสังกะสีคลุมผนังไว้อีกทีเพื่อการอนุรักษ์ ผนังดังกล่าวเป็นผนังที่ไม่มีหน้าต่าง แต่มีช่องอากาศตามแบบสุโขทัยและอยุธยาตอนต้น

เรียนรู้ สืบสาน งานหัตถศิลป์

จากงานลายปูนปั้นและงานวิจิตรต่างๆ เราจะเห็นได้ว่า สุโขทัยมีการส่งผ่านและสืบสานความงดงามทางหัตถศิลป์ต่อเนื่องกันมา ทำให้สุโขทัยถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีงานหัตถศิลป์ที่มีคุณค่ามากมายหลากแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานเครื่องเงิน ทองโบราณ ผ้าทอ ผ้าซิ่น งานจักรสาน และอีกมากมาย

บ้านพระพิมพ์ลักษมณศิลป์หรือศูนย์เรียนรู้บ้านพระพิมพ์เมืองสุโขทัย นอกจากจะเป็นสถานที่ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องราวผ่านการเล่าขานของคุณกบณรงค์ โตอินทร์ ผู้ก่อตั้งซึ่งได้รวบรวมพระพิมพ์ ของเมืองสุโขทัยไว้ไม่ต่ำกว่า 850 แบบ ไม่ว่าจะเป็น พระพิมพ์ที่ถูกค้นพบจากเมืองศรีสัชนาลัยและเมืองเก่าสุโขทัยให้คนรุ่นหลังได้ชมแล้ว ฉันยังได้รับฟังประวัติศาสตร์ของสุโขทัย รวมไปถึงการได้เรียนรู้การเตรียมดิน การพิมพ์พระและการเผาเพื่อให้ได้พระพิมพ์ดินเผาเนื้อแกร่งอีกด้วย

ผ้าซิ่นตีนจกผ้าทอมือของชาวไทยพวนบ้านหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย ที่ สุนทรีผ้าไทยก็เป็นหนึ่งเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นและบ่งบอกวิถีชีวิตของชุนชนได้เป็นอย่างดี ขั้นตอนกรรมวิธีการทำและเทคนิคในการทอผ้าให้เกิดลวดลายต่าง ๆ ที่ได้รับได้รับการสืบทอดมายาวนาน แสดงให้เห็นผ่านผลงานที่เกิดจากการวมตัวกันของแม่บ้านตำบลหาดเสี้ยว ผ้าทอซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวไทยพวนหาดเสี้ยว

มีนางสุนทรี ขนาดนิด เป็นตัวแทนในการนำผลิตภัณฑ์ผ้าทอออกไปจำหน่ายยังสถานที่ต่างๆ โดยจัดตั้งศูนย์หัตถกรรมพื้นบ้านโบราณหาดเสี้ยว ทำให้ผ้าทอหาดเสี้ยวเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายทั้งในจังหวัดเดียวกัน จังหวัดใกล้เคียง และที่กรุงเทพมหานคร ส่งผลให้มีความต้องการผ้าทอมากขึ้น

ผ้าซิ่นตีนจก มีความหมายมาจากการที่ส่วนล่างผ้าซิ่นที่เรียกว่า “ตีนซิ่น” ได้มีการออกแบบลวดลายที่สวยงาม โดยผ่านกรรมวิธีการทอที่เรียกว่าการจก ซึ่งคือการใช้วัสดุปลายแหลม เช่น ขนเม่น ดึงยกเส้นด้ายขึ้นมาระหว่างการทอให้เกิดเป็นลวดลาย โดยผ้าซิ่นตีนจกของบ้านหาดเสี้ยวจะมีลวดลายโบราณ แต่ละลายล้วนงดงามและบอกเล่าวิถีแห่งสุโขทัยได้เป็นอย่างดี ที่ศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีกิจกรรมมากมาย นอกจากจะได้จับจ่ายสินค้าฝีมือเยี่ยมเป็นของฝากสำหรับผู้ที่รักแล้ว เรายังจะได้เห็นบ้านไทยพวน เรียนรู้การทอผ้าซิ่นตีนจก ร่วมทำของระลึกน่ารักๆได้อีกด้วย

จากงานผ้า เรามาที่งานกระเบื้องสังคโลกกันบ้างที่สุเทพสังคโลก ฉันเคยมาที่นี่หลายครั้งมาครั้งแรกเมื่อเกือบ 15 ปีได้ เวลาผ่านไป ฉันก็ยังคิดว่าที่นี่ยังเป็นสถานที่ควรแวะเช่นเดิม

จากงานผ้า เรามาที่งานเครื่องสังคโลกกันบ้างที่สุเทพสังคโลก ฉันเคยมาที่นี่หลายครั้งมาครั้งแรกเมื่อเกือบ 15 ปีได้ เวลาผ่านไป ฉันก็ยังคิดว่าที่นี่ยังเป็นสถานที่ควรแวะเช่นเดิม สุโขทัยได้รับการขนานนามว่า เป็นเมืองแห่งสังคโลก เป็นแหล่งผลิตเครื่องสังคโลกที่สำคัญมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 18-20

สังคโลกหรือเครื่องสังคโลก เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง (Stone Ware) ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ไม่ว่าจะเป็นถ้วย ชาม เครื่องประดับ ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม มีผู้สันนิษฐานกันว่าสังคโลก มาจากคำว่าซ้องโกลก หรือบ้างก็ว่ามาจากซันโกโรกุหรือซังโกโรกุในภาษาญี่ปุ่น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเครื่องสังคโลกของสุโขทัย เรียกได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศทีเดียว

ที่สุเทพสังคโลก มีกิจกรรมให้ได้ศึกษาเรียนรู้การทำเครื่องสังคโลก ไม่ว่าการปั้น หรือการวาดลวดลาย อย่างเช่นการวาดลวดลาย พอวาดเสร็จ ทางร้านก็จะนำไปเผา จากนั้นถึงจัดส่งให้เราถึงที่พักเป็นที่ระลึกที่น่าประทับใจมาก

ในขณะที่สุเทพสังคโลก โดยมากเป็นลักษณะของเครื่องสังคโลกแบบเดิม แต่ที่โมทนาเซรามิก คืออีกหนึ่งรูปแบบที่มีการผสมผสานความความสวยงามของงานสังคโลกแบบเดิมกับงานสมัยใหม่เป็นเครื่องถ้วยชามแบบร่วมสมัย

มีการนำลวดลายของเครื่องสังคโลก อย่างเช่นลายพรรณพฤกษา ลายดอกไม้ ลายปลา ผสมผสานรวมกับทองสุโขทัยเข้าไปในชิ้นงานได้อย่างลงตัว และอีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ คืองานของโมทนาเบามาก เมื่อเทียบกับชามเครื่องเคลือบอื่นๆ ซึ่งเกิดจากการเลือกดินและการเผา อันเป็นเอกลักษณ์ของที่นี่

ถ้ามาที่นี่เราก็สามารถมาลองปั้นด้วยงานด้วยมือ หรือลงสี ลงเส้นลายบนงานกระเบื้องเคลือบได้เช่นกัน

และเช่นเดิม ที่พักของฉันครั้งนี้ ฉันก็ยังเลือกที่เลเจนด้า สุโขทัย รีสอร์ท (Legendha Sukhothai Resort ) มาพักกี่ครั้งไม่เคยผิดหวัง ห้องพักนอนหลับสบาย มุมถ่ายรูปเยอะมากไม่ไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวหลัก อย่างวัดช้างล้อมก็อยู่หลังโรงแรมเดินออกทางด้านหลังใกล้มาก

ช่วงนี้ทางบัตรเคทีซี ร่วมกับบางกอกแอร์เวย์ส เซเรนนาต้า โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ท กรุ๊ป การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย (ททท.) และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) จัดแพ็คเกจพิเศษสำหรับคนที่ชอบการท่องเที่ยวแนวอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน

“บิน เที่ยวสุโข โลว์คาร์บอนฯ 3 วัน 2 คืนกับ KTC World” ในราคาพิเศษ เริ่มต้นเพียง 6,550 บาท ต่อท่าน ประกอบด้วยตั๋วเครื่องบินไป-กลับเส้นทางสุโขทัย กับสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ห้องพัก 2 คืน รวมอาหารเช้าที่โรงแรมเลอเจนด้าสุโขทัยในเครือเซเรนนาต้า พิเศษมาก สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.vacationistmag.com/ktc_bangkokairways/

แม้การเดินทางของฉันในครั้งนี้ไม่นานมากนัก และไม่ใช่เป็นการเดินทางมาสุโขทัยครั้งแรกของฉัน แต่สุโขทัย ก็ได้สร้างความสุขในทุกช่วงเวลาในการเดินทาง เป็นสุโขไทม์อีกครั้งของการเดินทางครั้งนี้

ร้านอาหารแนะนำ

มาสุโขทัยสิ่งที่คุณต้องได้กินก็คือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย มาสุโขทัยสิ่งที่คุณต้องได้กินก็คือ ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย สำหรับก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยแนะนำให้กินแบบเส้นเล็กหรือเส้นบะหมี่แห้ง ซึ่งจะมาพร้อมกับถั่วฝักยาวหั่นแฉลบ ถั่วงอกลวก จากนั้นใส่หมูสับหรือหมูแดง โรยถั่วลิสง เวลาเสริ์ฟจะมาพร้อมกับมะนาว น้ำตาลปึก พริกและกากหมู เวลากินบีบมะนาว ใส่น้ำตาลปึก ใส่พริก โรยกากหมู ตามใจชอบ

ร้านที่ขายมีหลายร้าน ครั้งนี้ฉันได้ลองกินที่ร้านชมปรางค์ บ้านไม้เก่าอายุเกือบ 100 ปี ที่ถูกนำมาบูรณะให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ที่นี่นอกจากจะมีเครื่องดื่ม ขนม ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยและอาหารอื่นๆ แล้ว เรายังสามารถกินอาหารไปด้วย ชมบรรยากาศของพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหารไปด้วยได้

และถ้าคุณชื่นชอบอาหารออร์แกนิค อร่อยๆ แล้วละก็ต้องลองมากินที่ ครัวสุโข ซึ่งตั้งอยู่ในสนามบินสุโขทัยอาหารทุกจานใช้วัตถุดิบจากโครงการเกษตรอินทรีย์ของที่นี่เองเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราได้รู้จักถึงความสด ใหม่ ของวัตถุดิบ เมนูที่อยากแนะนำ ยกตัวอย่างเช่น มี น้ำพริก 3 เกลอส้มตำผักน้ำ น้ำยอดข้าวคลอโรฟิลล์ หมั่นโถสังขยาใบข้าว หมั่นโถขาหมู เสริพมาพร้อมน้ำจิ้มเปรี้ยวและน้ำพริกเผาหวาน เป็นต้น กินแล้วอยากย่อยสามารถเดินชมโครงการเกษตรอินทรีย์ของที่นี่ได้

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0