สีสัน…ดินแดนดนตรีศรีสุพรรณภูมิ

เรื่องโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

เมืองสุพรรณบุรี หรือดินแดนสุวรรณภูมิโบราณแห่งนี้ เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นเมืองที่กำเนิดพ่อเพลงแม่เพลงหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นเพลงไทยเดิม เพลงลูกทุ่ง เพลงฉ่อย เพลงขอทาน เพลงลำตัด เพลงอีแซว เพลงเพื่อชีวิตและเพลงสตริงพอปร็อก หลายชนิด จนมีความโดดเด่นจนองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และจังหวัดสุพรรณบุรี

ได้ร่วมกันยกระดับการพัฒนาเมืองให้เป็นสายธารนำไปสู่การเป็นเมืองดนตรีที่สร้างการรับรู้เรื่องศิลปะ ดนตรี เพลงพื้นบ้าน และดนตรีร่วมสมัย คือเป็น “ดินแดนแห่งดนตรีสุพรรณ” เพื่อร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรีของยูเนสโก (Unesco Creative Cities Network) ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้ ซึ่งทำให้เกิดกิจกรรมประชุมเสวนา การศึกษา เรียนรู้ สร้างกระแสการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและเสริมสร้างคุณภาพนำรายได้เข้าประเทศในอนาคต

จากความเป็นเมืองประวัติศาสตร์โบราณคดีสำคัญ ในฐานะดินแดนสุวรรณภูมิโบราณ ทำให้พบหลักฐานทางโบราณคดีมีอายุไม่ต่ำกว่า ๓,๕๐๐-๓,๘๐๐ ปี โบราณวัตถุที่พบในพื้นที่มีทั้งยุคหินใหม่ ยุคสัมฤทธิ์ ยุคเหล็ก ซึ่งสืบต่อวัฒนธรรมมาตั้งแต่สมัยสุวรรณภูมิโบราณ ฟูนัน อมราวดี ทวารวดี และศรีวิชัย ซึ่งเมืองสุพรรณบุรีเดิมนั้น มีชื่อว่า ทวารวดีศรีสุพรรณภูมิ หรือพันธุมบุรี ตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำท่าจีน แถบบริเวณตำบลรั้วใหญ่ไปจดตำบลพิหารแดง พ.ศ. ๑๔๒๐ ตามหลักฐานทางโบราณคดีได้จารึกชื่อไว้ในพงศาวดารเหนือว่าเมืองพันธุมบุรีในยุคทวารวดี

ต่อมาพระเจ้ากาแตได้ย้ายเมืองมาตั้งอยู่ที่ฝั่งขวาของแม่น้ำ แล้วโปรดให้มอญน้อยไปสร้างวัดสนามชัย และบูรณะวัดป่าเลไลยก์ ชักชวนให้ข้าราชการจำนวน ๒,๐๐๐ คนบวชเป็นพระภิกษุ จึงขนานนามเมืองใหม่ว่า สองพันบุรี

ส่วนนาม “สุพรรณภูมิ” นั้นปรากฏในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมหาราชระบุว่าเป็นนครรัฐที่มีความสำคัญมาก่อนกรุงศรีอยุธยา เมื่อมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยา เมืองสุพรรณบุรีจึงจัดอยู่ในฐานะเมืองลูกหลวงซึ่งเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ

ในสมัยพระเจ้าอู่ทองนั้นได้มีการสร้างเมืองมาทางฝั่งใต้หรือทางตะวันตกของแม่น้ำท่าจีน ชื่อเมืองเรียกว่า อู่ทอง สืบสมัยมาถึงขุนหลวงพะงั่ว เมืองนี้จึงเรียกว่าชื่อว่า สุพรรณบุรี แต่นั้นมา ทั้งสุพรรณบุรีและเมืองอู่ทองจึงเป็นศูนย์กลางในการติดต่อไปยังเมืองต่างๆ รอบด้าน ได้แก่ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง นครปฐม และกาญจนบุรี

ซึ่งในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเมืองสุพรรณบุรีเป็นเมืองหน้าด่านและเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ ต้องผ่านศึกสงครามหลายต่อหลายครั้ง สภาพเมืองเดิมจึงถูกทำลายเหลือเพียงซากปรักหักพัง จนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองสุพรรณบุรีได้ฟื้นตัวขึ้นใหม่ และตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำท่าจีน (ลำน้ำสุพรรณ) มาจนทุกวันนี้

ครูมนตรี ตราโมท

จากเหตุที่สุพรรณบุรีเป็นเมืองต้นกำเนิดวรรณคดีระดับชาติที่รู้จักกันดีคือ “ขุนช้างขุนแผน” จึงทำให้ปรากฏสถานที่สำคัญตามท้องเรื่องให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวในปัจจุบัน เช่น บ้านรั้วใหญ่ วัดเขาใหญ่ ท่าสิบเบี้ย ไร่ฝ้าย วัดป่าเลไลยก์ วัดแค ส่วนแหล่งโบราณคดีนั้น มีเมืองอู่ทอง เมืองสุพรรณบุรีโบราณและวัดเขาดีสลัก ตลอดจนพ่อเพลงแม่เพลงจากอำเภอศรีประจันต์ เป็นต้น

จากการที่เมืองสุพรรณบุรีอุดมสมบูรณ์ด้วยวัฒนธรรมข้าวมาแต่อดีต จึงทำให้คนสุพรรณได้เป็นแหล่งเพลงพื้นบ้านดนตรีพื้นเมืองสืบทอดมาตั้งแต่ปู่ย่าตาทวดสืบต่อรุ่นกันมาจนปัจจุบัน พ่อเพลงแม่เพลงสืบที่รู้จักกันดี เช่น ไวพจน์ เพชรสุพรรณ – นักแหล่นักเทศน์, ขวัญจิต ศรีประจันต์ – แม่เพลงอีแซว, ครูแจ้ง คล้ายสีทอง – นักขับเสภา

ส่วนนักร้องลูกทุ่งนั้นมีชื่อหลายคนเช่น ก้านแก้ว สุพรรณ, สุรพล สมบัติเจริญ, พุ่มพวง ดวงจันทร์, นักร้องเพลงเพื่อชีวิตคือ แอ๊ด คาราบาว เพลงไทยเดิมคือครูมนตรี ตราโมท และคนอื่นๆ ซึ่งล้วนเป็นครูเพลงดนตรีแห่งแผ่นดินสุวรรณภูมิทั้งสิ้น

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0