กางเต็นท์ในช่วงฤดูฝน

ช่วงฤดูฝน เป็นช่วงฤดูที่นักท่องเที่ยวนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามอุทยานป่าเขา เพื่อสัมผัสความสดชื่นของธรรมชาติ และหนึ่งในกิจกรรมต้องทำคือ การกางเต็นท์แคมปิ้งกำลังมาแรง
และได้รับความสนใจ แต่การกางเต็นท์ในช่วงฤดูฝนก็มีข้อควรระวังและข้อแนะนำหลายอย่าง

  1. เลือกเต็นท์ที่มีการกันน้ำอย่างดี ปัจจุบันเต็นท์มีหลากหลายยี่ห้อมาก เราควรเลือก
    ที่มีระดับการกันน้ำของผ้าเต็นท์ อย่างต่ำที่ 1,500 มม.ขึ้นไป โดยมากจะมีค่ากันน้ำ
    ระหว่าง 800-10,000 มม. ยิ่งค่ามากเท่าไรก็หมายความว่ามีคุณสมบัติในการกันน้ำได้มากขึ้นเท่านั้น
  2. สถานที่กางเต็นท์ที่ปลอดภัย กางเต็นท์ในที่โล่งแจ้ง บนเนินดินที่ไม่ใช่ทางไหลของน้ำ หลีกเลี่ยงบริเวณริมลำธารหรือบริเวณที่เป็นแอ่งกระทะ หากฝนตกอาจถูกกระแสน้ำพัด หรือน้ำไหลท่วมเต็นท์ ห่างจากคลอง หรือน้ำตก หรือลำห้วยต่างๆ ไม่อยู่ใกล้ต้นไม้ที่ยืนต้นตายหรือกิ่งไม้แห้งที่เสี่ยงต่อการหักโค่น
  3. ก่อนกางเต็นท์ควรเก็บกวาดและทำความสะอาดพื้นเศษใบไม้บริเวณที่จะกางเต็นท์นอนให้โล่งเตียน เพราะอาจมีแมลงหรือสัตว์เลื้อยคลานมีพิษหลบซ่อนอยู่ และเพื่อป้องกันสัตว์เลื้อยคลาน เช่น แมงป่องตะขาบ หรือแม้แต่งู จะเข้ามาซุกซ่อนตัวตามถุงนอน กองเสื้อผ้าหรือหลืบต่างๆ
  4. ยึดเต็นท์กับพื้นให้มั่นคง โดยเฉพาะบนยอดดอยมีลมพัดแรง อาจทำให้เต็นท์ปลิวเสียหายหรือได้รับอันตราย แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ควรใช้สมอบกยึดเต็นท์ทุกด้านให้แน่น โดยปักสมอบกมุมทแยงแนวต้าน 45 องศา
  5. พื้นที่ส่วนกลางที่กันฝนได้ บริเวณนอกเต็นท์ ที่ทำอาหาร พูดคุยรอบกองไฟ ต้องมีหลังคากันน้ำอย่างน้อย 2,000 มม.
  6. ช่วงฤดูฝน การเลือกใช้เตาฟืนหรือกิ่งไม้ ก็อาจจะยากหน่อยเพราะไม้ตามธรรมชาติมักจะมีความชื้นอยู่จากฝนตกสะสม ดังนั้นถ้าหากอยากใช้เตาฟืน อาจจะต้องเตรียมไม้ฟืนหรือถ่านหุงต้มไปเองจากบ้านเตรียมใส่ถุงดำหรือถุงกันน้ำไว้ให้ดี แต่ไม่ควรที่จะจุดตะเกียง เทียนหรือสูบบุหรี่ภายในเต็นท์ เพราะเต็นท์เป็นผ้าใบ จึงติดไฟง่าย เคยมีกรณีคนถูกไฟคลอกเสียชีวิต และควันไฟทำให้ขาดอากาศหายใจ เพื่อความปลอดภัย ควรใช้ไฟฉายแทนการจุดไฟ
    ที่สำคัญ รักษามารยาทอันดีที่ควรพึงมีต่อส่วนรวม ไม่ควรส่งเสียงดังเพราะนอกจากจะสร้างความรำคาญให้เกิดขึ้นแก่ผู้อื่นที่พักอยู่บริเวณใกล้เคียงแล้ว เสียงอันดังอาจทำให้สัตว์ตื่นตกใจ แตกกระเจิงเข้าทำร้ายผู้อื่นหรือตัวเองได้
Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0