น่าน ธรรมชาติและศรัทธรา

Story & Photo by Vacationist Team

น่าน เป็นจังหวัดที่เมื่อใครได้มาสัมผัสต้องตกหลุมรักเมืองที่เวลาของผู้คนเดินช้ากว่าเข็มของนาฬิกา เราจะยังพบเห็นวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่รีบเร่งมีธรรมชาติที่สวยงาม อากาศที่ยังสดชื่น สูดหายใจได้เต็มปอด และความศรัทธาที่มีต่อศาสนายังเต็มเปี่ยม

ถนนสายท่องเที่ยว

บนเส้นทางตัวเมืองน่านมุ่งหน้าบ่อเกลือ กลายเป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต้องแวะถ่ายรูป ด้วยความที่มีเอกลักษณ์และการสร้างจุดเด่นจนเป็นจุดเช็กอินที่ต้องแวะถ่ายรูป ในเส้นทางถนนหมายเลข 1081 จะเจอโค้งตัว U ที่มีตัวหนังสือ I Love อยู่ จะตีความหมายเป็น I Love U หรือจะเป็น I Love น่าน ก็ได้

ถัดจากโค้ง I Love มาไม่ไกลกัน จุดนี้เป็นที่นิยมมากอีกแห่ง เพราะด้วยตัวถนนจะโค้งไปมามองดูจะคล้ายเลข 3 แน่นอนว่าพลาดไม่ได้ที่จะต้องมีการถ่ายรูปเพื่อเก็บไว้ดู หรือลงโซเชี่ยล

แต่สิ่งที่ควรระวังคืออย่าลงไปถ่ายกลางถนน เพราะเป็นจุดขึ้นลงเนิน รถยนต์จะต้องเร่งเครื่องเพื่อขึ้นเนิน ต้องมาเบรกชะลอรถทำให้รถเสียกำลัง หากเบรกไม่ทันอาจจะเกิดอันตรายได้ทั้งฝั่งรถยนต์และคนที่ยืนถ่ายรูป ทางสถานที่จะมีจุดให้ยืนถ่ายรูปในมุมมองที่สวยและเห็นถนนเลข 3 ได้เต็มๆ อยู่แล้ว ทั้งโค้ง I Love และถนนเลข 3 อยู่ในอำเภอปัว

เลยขึ้นไปทาง อ.บ่อเกลือ อีกหนึ่งเส้นทาง ที่สวยงาม คือ โค้งพับผ้า เป็นโค้งที่สลับโค้งกันไปมาเหมือนผ้าที่พับทบซ้อนกัน บ้างก็เรียกว่าถนนลอยฟ้า ด้วยความที่เบื้องหน้าเป็นทิวเขาซ้อนกันไปมา ท่ามกลางเมฆหมอกที่ลอยอ้อยอิ่ง บรรยากาศสวยงามที่ไม่ควรพลาดต้องเก็บภาพกัน ทั้ง 3 จุดนี้มีจุดจอดรถให้เพื่อความสะดวก

บ่อเกลือสินเธาร์ภูเขา

บ่อเกลือ ตั้งอยู่ในอำเภอบ่อเกลือ โดยอยู่ห่างจากตัวเมืองน่าน ประมาณ 80 กิโลเมตร ที่หมู่บ้านเล็กๆ บนภูเขา เป็นบ่อเกลือสินเธาว์บนภูเขาแห่งเดียวของโลก (ถ้าในทะเลจะเรียกเกลือสมุทร ถ้าพบในดินจะเรียกเกลือสินเธาว์ จะไม่มีไอโอดินแต่ได้มีการเติมเข้าไป) ในเมืองไทยจะมีแหล่งเกลือสินเธาว์ขนาดใหญ่ ในแถบภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (แต่ไม่ได้อยู่บนภูเขาแบบที่จังหวัดน่าน)

ปัจจุบันชาวบ้านยังคงต้มเกลือด้วยวิธีแบบดั้งเดิม บ่อเกลือของเมืองน่านบ่อใหญ่ที่สุดคือ “บ่อหลวง” นอกจากบ่อเกลือบ่อหลวงแล้วยังมีบ่อเกลืออีกหลายบ่อกระจายตัวกันไปทางด้านทิศเหนือตามลำน้ำน่านและลำน้ำสาขา การผลิตเกลือของที่นี่เริ่มตั้งแต่ช่วงออกพรรษาถึงเข้าพรรษา จะไม่ทำเกลือในหน้าฝนเนื่องจากทำให้น้ำเค็มธรรมชาติเจือจาง

ในส่วนของบ่อเกลือโบราณยังมีการใช้งานจริง มีข้อกำหนดต่างๆ ในการขึ้นไปถ่ายภาพด้วยความเชื่อและประเพณีที่สืบต่อกันมา

ยังมีร้านค้าชุมชนขายของทั้งเกลือ และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเกลือจำหน่ายให้เลือกซื้อกลับไปในราคาไม่แพง

ในบริเวณหมู่บ้านยังมีวัดบ่อหลวง เป็นที่เคารพศรทธราของคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวต่างก็มากราบสักการะเมื่อแวะเข้ามาที่หมู่บ้านบ่อเกลือแห่งนี้

สะปัน และจุดชมวิว 1715

หมู่บ้านสะปัน ชุมชนเล็กๆ ท่ามกลางธรรมชาติของขุนเขาและสายน้ำจากลำธาร ในอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน จากอดีตที่มีแต่ภูเขาและทุ่งนา

ปัจจุบันมีที่พัก ร้านอาหาร เกิดขึ้นตามการเติบโตของการท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมทั้งในฤดูฝนและฤดูหนาว แต่ก็ยังไม่พลุกพล่านมากนัก ยังคงมีความสงบของวิถีชีวิตดั้งเดิมอยู่มากพอสมควร บรรยากาศยังสงบเงียบ ฉากหลังเป็นภูเขามีลำน้ำว้าและลำน้ำข่า มาบรรจบกันที่สะพานหมู่บ้านสะปัน ที่สะพานมีป้าย “แหล่งโอโซนชั้นดี ต้องที่สะปัน” เป็นจุดถายรูป

อีกแห่งที่ไม่ควรพลาดคือ น้ำตกสะปัน ซ่อนตัวอยู่ในป่า มีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ระยะทางประมาณ 800 เมตร เป็นน้ำตก 2 ชั้น ความสูง 5 เมตร แต่ด้วยความที่ไปในช่วงหน้าฝน ฝนตกหนักลงมาทำให้มีน้ำไหลแรง น้ำเป็นสีแดงทั้งในส่วนของน้ำตก และลำน้ำที่สะพานหมู่บ้านสะปัน

จุดชมวิว 1715 เป็นจุดชมวิวที่ตั้งอยู่บนถนนเส้นทางสายปัว-บ่อเกลือในตำบลภูคา อำเภอปัว บริเวณดอยภูคาบนความสูง 1,715 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภายในเขตอุทยานแห่งชาติดอยภูคา

อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยภูคาเพียง 8 กิโลเมตร มองเห็นทัศนียภาพของขุนเขาเขียวขจีที่ทอดตัวสลับซับซ้อนสุดลูกหูลูกตา เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามเป็นอย่างมาก และในช่วงปลายฝนต้นหนาวก็อาจจะได้เห็นความสวยงามของทะเลหมอกที่ปกคลุมทิวเขาบริเวณนี้อีกด้วย

วัดพระธาตุจอมทอง

พระธาตุจอมทองตั้งอยู่เนินเขาหลังหมู่บ้านดอนสถาน ตำบลสถาน อำเภอปัว ถือเป็นพุทธศาสนสถานที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของอำเภอปัว ตำนานเล่ากันว่าผู้ที่สร้างพระธาตุจอมทอง คือ ปู่ลั๊วะ ย่าลั๊วะ สองสามีภรรยาที่มาทำไร่ในบริเวณนี้ ได้พบพระสงฆ์รูปหนึ่งจึงเข้าไปกราบไหว้ พระสงฆ์รูปนั้นจึงได้แสดงตนเป็นพระพุทธเจ้า ได้ถอนพระเกศาใส่ใบตองมอบให้สองสามีภรรยาเพื่อนำไปสร้างพระธาตุ เมื่อสร้างเสร็จจึงตั้งชื่อว่าพระธาตุจอมตอง ต่อมาเจ้าเมืองน่านได้เสด็จมานมัสการ และบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่ เรียกชื่อพระธาตุใหม่ว่า “พระธาตุจอมทอง”

วัดพระธาตุจอมทองได้รับประกาศขึ้นทะเบียนจากกรมศิลปากร การขึ้นไปกราบนมัสการองค์พระธาตุนั้นขึ้นได้ 2 วิธี คือ จอดรถตรงเชิงบันไดนาคแล้วเดินขึ้นบันไดประมาณ 300 กว่าขั้น หรือขับรถขึ้นไปจอดด้านบนได้เลย

องค์พระธาตุมีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมซ้อนกัน 2 ชั้น และเป็นรูปน้ำเต้าซ้อนกันขึ้นไปอีก 3 ชั้น องค์พระธาตุมีสีทอง ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วศิลปะล้านนาโบราณ มีอุโบสถอยู่คู่กับพระธาตุด้วย

วัดพระธาตุเบ็งสกัด

ตั้งอยู่ที่บ้านแก้ม หมู่ที่ 5 ตำบลวรนคร อำเภอปัว เป็นวัดเก่าแก่ สร้างขึ้นในสมัยพญาภูคา ราวปีพุทธศตวรรษที่ 18 มีโบราณสถานที่สำคัญ คือ องค์พระธาตุเบ็งสกัด บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่มีอายุกว่า 700 ปี เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปัวมาช้านาน

ตัววัดตั้งอยู่บนเนินสูง สามารถมองเห็นทุ่งนาของหมู่บ้านด้านล่าง และวิวเนินเขาที่สวยงาม

คำว่า “เบ็งสกัด” หมายถึง สิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดจากบ่อดินที่ใช้ไม้แหย่ลงไปแล้วขาดเป็นท่อนๆ เหมือนมีอะไรมากัดให้ขาด และมีแสงเกิดขึ้นในคราวเฉลิมฉลอง จึงเป็นที่มาของชื่อพระธาตุแห่งนี้ องค์พระธาตุและพระวิหารสร้างเสร็จประมาณปี พ.ศ. 1826

วิหารเป็นทรงตะคุ่ม ศิลปะแบบพื้นบ้านไทลื้อ หรือที่เรียกว่า “ทรงเตี้ยแจ้” มีหลังคา 2 ชั้น 2 ตับ มุงด้วยแป้นเกล็ด (ทำจากไม้สักทอง) มีซุ้มประตูเป็นศิลปะล้านช้าง ได้รับการบูรณะในสมัยพระยาอนันตยศ และโปรดให้นำพระแก้วซึ่งมีเกศาเป็นทองคำบรรจุในองค์พระธาตุ วัดแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติในปี พ.ศ. 2487

วัดภูเก็ต

ชื่อบอกว่าวัดภูเก็ต แต่ทำไมมาอยู่ที่จังหวัดน่านได้ ที่มาของชื่อนี้เพราะตั้งอยู่ใน หมู่บ้านเก็ต ตำบลวรนคร อำเภอปัว และตัววัดตั้งอยู่บนดอย หรือ ภู จึงเป็นที่มาของชื่อวัดภูเก็ต เป็นวัดที่มีภูมิทัศน์และวิวที่สวยงาม

ด้านหลังของวัดมีระเบียงชมวิวทุ่งนาที่กว้างไกลพร้อมฉากหลังเป็นภูเขาของวนอุทยานดอยภูคา และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ด้านล่างของวัด จะมีบึงน้ำเป็นที่อาศัยของปลาและสัตว์น้ำต่างๆ เป็นเขตอภัยทาน นักท่องเที่ยวสามารถให้อาหารจากด้านบนได้เลย โดยไหลลงผ่านท่อลงไป

พระอุโบสถทรงล้านนาประยุกต์ มีจิตรกรรมฝาผนังสวยงาม เป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อแสนปัว หรือหลวงพ่อ พุทธเมตตา ที่ชาวบ้านเคารพศรัทธา ภายในวัดยังมีเทมเพิลสเตย์ ชื่อว่า ภูเก็ตสนธยา เทมเพิลสเตย์ เป็นอาคารที่พักสำหรับผู้ที่มาปฎิบัติธรรมหรือนักท่องเที่ยวที่สนใจก็สามารถเข้าพักได้

วัดศรีมงคล (บ้านก๋ง)

วัดตั้งอยู่ที่ตำบลยม อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน เป็นวัดเก่าแก่ที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2395 ในอดีตวัดบ้านก๋งเป็นวัดร้าง ไม่มีพระภิกษุและสามเณรมาจำพรรษา

จนในปี พ.ศ. 2432 ชาวบ้านบ้านก๋งจึงได้นิมนต์พระครูมงคลรังษี (หลวงปู่ครูบาก๋ง) หลังจากออกธุดงค์ไปตามป่าเขาในเขตภาคเหนือเป็นเวลา 6 ปี มาอยู่จำพรรษาบนกุฏิร้างมุงหญ้าคา ซึ่งมีอยู่หลังเดียวเท่านั้นในบริเวณวัด หลวงปู่ได้อบรมสั่งสอนธรรมแก่ชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านก็ได้ช่วยกันทะนุบํารุง บูรณะซ่อมแซมวัด ให้พัฒนาขึ้นตามลำดับ

ภายในวัดมีวิหารหลวง ที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม โดยเลียนแบบการวาดของหนานบัวผัน จิตรกรชาวน่านเชื้อสายไทลื้อ ซึ่งวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัวของจังหวัดน่าน มีองค์พระธาตุประดิษฐานอยู่ด้านหน้า บรรยากาศโดยรอบของวัดตกแต่งแบบไทยล้านนา มีเฮือนมะเก่า ภายในบ้านมีข้าวของเครื่องใช้โบราณ สามารถเข้าไปชมและถ่ายภาพได้

ด้านในยังมี “พิพิธภัณฑ์มงคลธรรมรังสี” (หอคำหลวง) เป็นเรือนไม้สักทองทรงล้านนา 2 ชั้น รวมรวมของโบราณต่างๆ ให้ได้ชม เช่น พระพุทธรูปโบราณ พระธรรมคัมภีร์ใบลาน ตำรายาสมุนไพร เครื่องเงินเครื่องเขินโบราณ อาวุธต่างๆ ในสมัยโบราณ เครื่องรางของขลัง ฯลฯ

ด้านหลังของวัดเป็นระเบียงกว้าง ตรงนี้จะมองเห็นนาข้าวด้านล่างกว้างไกล มีจุดถ่ายรูปเยอะมาก รวมทั้งมีร้านขายของชุมชนในราคาไม่แพง และมีสะพานไม้ไผ่เชื่อมจากตัววัด สามารถลงไปเดินเล่นถ่ายภาพได้อีกด้วย

จังหวัดน่านสวยงามด้วยธรรมชาติ ศาสนา และวิถีชีวิตของผู้คน ยังมีที่เที่ยวที่น่าสนใจและน่ามาเยือนอีกมากมาย จังหวัดที่เมื่อมาครั้งใด ก็ประทับใจทั้งสถานที่และผู้คนอยู่เสมอ แล้วจะ
ไม่ให้หลงรักน่านได้อย่างไรเล่า

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0