ความสุขราวกับได้พรวิเศษ ที่บ้านเมืองปอน

Story & Photo by Orawan

อันธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ  ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ
ประโยคนี้น่าจะเข้ากับสถานการณ์ในตอนนี้ได้ดี ในวันที่ฉันแวะมาเยือนที่หมู่บ้านเมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

Mueang Pon   Mueang Pon3

ป้าคำหลู่และบรรดาน้า อา ได้ยกสำรับกับข้าวสารพัดอย่างมาต้อนรับบริเวณตั่งทานข้าวใต้ถุนของบ้านป้าคำหลู่ ซึ่งเป็นบ้านรูปแบบคนไทยใหญ่ หรือคนไต ที่มีอายุร่วมกว่าร้อยปี อาหารสำรับนี้ ประกอบด้วยเมนูของชาวไทใหญ่ไม่ว่าจะเป็นน้ำพริกอุ๊บ, เน่อลุง แบบมีน้ำซุป (เน่อ=เนื้อ,ลุง=กลม), ยำยอดมะขามอ่อน  ทั้งหมดทานกับข้าวสวย เพราะชาวไตใหญ่ไม่ได้ทานข้าวเหนียวแบบชาวล้านนา ของกินที่น่าที่น่าลองอีกอย่างคือ ข้าวปุ๊กเป็นข้าวเหนียวตำเสียงดังปุ๊กๆ ผสมเข้ากับงาดำ รสชาติอร่อย ยิ่งเวลาจิ้มกับน้ำอ้อยหวานแล้วรสชาติดีจนต้องร้องว้าวกันเลย

Mueang Pon10   Mueang Pon12

นอกจากอาหารที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ความน่าสนใจของที่นี่น่าจะเป็นเรื่องของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ที่อยู่มากมายในชุมชน โดยจะมีแบ่งเป็นฐานกระจายอยู่ทั่วชุมชน ยกตัวอย่างเช่น การทำจองพาราที่บ้านคุณตาแหลงคำ คงมณี ซึ่งเป็นสล่า (สล่า=ช่าง) ที่ทำจองพารามากว่า 60 ปี มาสอนการทำจองพาราที่สมมุติเป็นปราสาทรับเสด็จพระพุทธองค์เมื่อลงมาจากสวรรค์ในวันออกพรรษาให้ได้ชม จองพารามีลักษณะคล้ายปราสาทสูง 7 ชั้นหรือ 9 ชั้น ตัวโครงทำด้วยไม้ไผ่ ประดับประดาด้วยกระดาษที่ฉลุลายสวยงาม สีสันสดใส

Mueang Pon5   Mueang Pon8

Mueang Pon6

อีกฐานกิจกรรมที่สาวๆชอบกันมากนั่นก็คือ ส่วนตัดเย็บเสื้อผ้าชาวไทยใหญ่ เสื้อที่ว่านี้เรียกว่าเสื้อไต มีลักษณะเป็นเสื้อคอกลม แขนยาวบ้าง สามส่วนบ้าง ตรงคอเสื้อหรือชายแขนจะมีการฉลุลาย และความพิเศษอีกอยู่ตรงที่กระดุมที่เป็นรูปใบโพธิ์บ้าง ดอกพิกุล ซึ่งแต่ละเม็ดจะเย็บด้วยมือ โดยการผลิตเสื้อหนึ่งตัวนั้นก็เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของกลุ่มสตรีชาวเมืองปอนที่มีการแบ่งปันหน้าที่กัน เช่นกลุ่มหนึ่งเย็บกระดุม กลุ่มหนึ่งฉลุลายเสื้อ เป็นต้น ปัจจุบันชาวบ้านหลายคนยังนิยมแต่งกายด้วยเสื้อผ้าชนิดนี้กันอยู่อาจจะมีปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ทันยุคสมัยบ้างแต่ก็งดงามตามแบบฉบับของขาวไทยใหญ่เช่นเดิม แต่ถ้าอยากเห็นทุกคนในหมู่บ้านใส่เสื้อผ้าแบบนี้ต้องไปช่วงงานบุญ หรืองานประเพณีซึ่งจะมีจัดทุกเดือนสามารถสอบถามวันเวลาก่อนได้  สิ่งของอีกหนึ่งชิ้นคือ หมวกกุ๊ปไตป็นหมวกที่ทำจากกาบไม้ไผ่สาน ลักษณะคล้ายดอกเห็ดและมีจุกอยู่ด้านบน
Mueang Pon7 Mueang Pon9

Mueang Pon14   Mueang Pon15
สำหรับคนที่ชื่นชอบในเรื่องของสถาปัตยกรรมชุมชน เด่นสุดคงหนีไม่พ้น เฮินไตของป้าคำหลู่ที่ยกสำรับมาเลี้ยงพวกเรา เป็นเรือนที่ยังคงเอกลักษณ์แบบไทยใหญ่อย่างสมบูรณ์แบ คือเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ที่มีหลังคาจั่วติดกัน 2 จั่ว มีชานเรือน และแยกบริเวณครัวออกไปอีกหลัง ยกพื้นสูง และที่สำคัญคือส่วนของหลังคาที่มุงด้วยใบตองตึง หรือใบต้นพลวง ที่จะความเย็นฉ่ำกับตัวบ้าน บ้านหลังนี้เป็นหนึ่งในโฮมสเตย์ของที่นี่ อัตราการเข้าพักคืนละ 150 บาท (ไม่รวมอาหาร) อาหารมื้อละ 70 บาท  ถัดจากบ้านเรือนคือ วัดเมืองปอน มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบไทยใหญ่ทั้งวิหาร,กุฏิ และศาลาการเปรียญ ตัววิหารมีหลังคาผสมระหว่างหลังคาซ้อนแบบยอดประสาท ประดับตกแต่งด้วยไม้หรือโลหะฉลุลาย จิตรกรรมต่างๆ ได้รับอิทธิพลมาจากทางพม่า เดินอ้อมไปทางด้านหลังวัดเมืองปอน เราจะเห็นไม้สูงเสียดฟ้า ประดับด้วยฉลุไม้หรือแผ่นสังกะสี หรือกระดาษฉลุลาย ตั้งวางอยู่มากมาย เป็นงานศิลปะพื้นบ้านอีกประเภททางเหนือ ที่โดยมากจะเรียกว่า ตุงกระด้าง ใช้บูชาพระธาตุ, อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับหรือให้เกิดผลบุญแก่ตนเองในภายหน้า แต่ชาวไทยใหญ่ เรียกว่าไม้นี้ว่า ตำข่อน จะทำเพื่อถวายในช่วงหลังออกพรรษาให้กับผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

Mueang Pon16
ไม่ห่างจากวัดมากนัก ด้านนอกกำแพงวัดทางทิศตะวันออก เป็น ศาลเจ้าเมือง เป็นเสมือนที่รวมจิตใจของหมู่บ้าน ใครจะเดินทางก็จะมาขอพรให้เดินทางปลอดภัย, ตามหาสิ่งของที่หายไปหรือลูกชายจะสอบก็มาบอกกล่าวให้อุดหนุนช่วยเหลือ

Mueang Pon13
หลังกิจกรรมทุกคนก็แยกย้ายกันกลับโฮมสเตย์ของตัวเอง สำหรับฉันกลับมาพูดคุยกับคุณตา คุณยายเจ้าของโฮมสเตย์ที่บอกเล่าเรื่องราวอดีตก่อนเก่าของผู้คนสมัยยังค้าขายกับทางพม่าและญี่ปุ่นที่เคยยกพลมาตั้งทัพกันที่นี่ รวมไปถึงวิถีชีวิตที่ยังขึ้นกับเกษตรกรรมอย่างการทำนา ไร่ สวนเป็นอาชีพหลัก เหมือนคุณตาเจ้าของโฮมสเตย์ของฉันก็มีไร่ถั่วลิสง ที่วันนี้คุณตาเก็บมาเพื่อให้คุณยายต้มใส่บาตรในวันรุ่งขึ้นพร้อมข้าวสวยหอมกรุ่น เป็นของตักบาตรที่หลายคนจะรู้สึกเหมือนจะน้อยนิด แต่สำหรับฉันสัมผัสได้ถึงศรัทธาและความตั้งใจในการทำอย่างแท้จริง

Mueang Pon17
บ้านเมืองปอน ตั้งอยู่ที่ ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน จากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 มุ่งหน้าไปยังองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองปอน ผ่านบ่อน้ำพุร้อนบ้านหนองแห้ง ตรงไป ระยะทางประมาณ 12 กิโลเมตร ก็จะพบโฮมสเตย์บ้านเมืองปอน ผู้สนใจท่องเที่ยว-พักค้างโฮมสเตย์

ติดต่อได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร. 0-5361-2982, กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านเมืองปอน โทร. 08-2162 0459

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0