สีสัน…ราชสำนักอยุธยาสมัยพระนารายณ์

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

แม้ละครโทรทัศน์เรื่อง “บุพเพสันนิวาส” ผลงานเขียนของ “รอมแพง” จบไปแล้ว แต่กระแสนิยมให้สนใจประวัติศาสตร์ วรรณคดีไทย บทบาทของขุนนางในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นยังอยู่ทั้งอุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติพระนครศรีอยุธยา ที่พระนครศรีอยุธยาและพิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนารายณ์ราชนิเวศน์ เมืองลพบุรี ได้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญต่อยอดเรื่องราวของราชสำนักอยุธยาตอนปลายถึงขุนนางอยุธยา

โดยเฉพาะคือ ขุนศรีวิสารวาจา, คอนสแตนติน ฟอลคอน (เจ้าพระยาวิชเยนทร์), ตองกีมาร์ หรือ ท้าวทองกีบม้า (Tanquimar), ออกญาโหราธิบดี, หลวงศรียศ (แก้ว), ออกญาโกษาธิบดี (เหล็ก), ออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) ซึ่งมีตัวจริงอยู่ในประวัติศาสตร์จนคำไทยๆ จากวรรณคดีที่หายไปนานแล้วก็กลับมาเรียกขาน “ออเจ้า” กันทั้งประเทศ พร้อมกับคำไทยอีกหลายคำเช่น, ชม้ายชายตา, สามหาว, เพ-ลา ชาย, อึดตะปือนัง, ๕ บาท ๑๐ บาท, เทื้อคาเรือน, เวจกุฎี ได้ถูกนำมาอธิบายให้เข้าใจมากขึ้น

สำหรับราชสำนักอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้นต้องถือว่า เมืองลพบุรีเป็นเมืองราชธานีที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชสร้างขึ้น มีโบราณสถานที่ยังรักษาภูมิสถาปัตย์ของพระราชวังไว้สมบูรณ์ ด้วยมีบ้านรับราชทูตของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ขุนนางคนสำคัญผู้สร้างเหตุการณ์ตอนปลายรัชกาลอยู่ที่นี่ จากหลักฐานจดหมายเหตุของชาวต่างชาติจำนวนมากนั้น ต่างให้ข้อมูลตรงกันถึงพระราชกรณียกิจสำคัญทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต

โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศสซึ่งนับเป็นครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๒๕ พรรษา มีพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๓ เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๐๑๘ ปีวอก (ตรงกับวันที่ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๑๙๙) เวลา ๒ นาฬิกา หลังจากประทับในกรุงศรีอยุธยาได้ ๑๐ ปีแล้ว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นเป็นราชธานีแห่งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๙

จากนั้นพระองค์ทรงนิยมเสด็จฯ ไปประทับที่ลพบุรีเป็นประจำทุกปี แต่ละครั้งนั้นเป็นเวลานานหลายเดือน จนกระทั่งเสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๑ ณ พระที่นั่งสุทธาสวรรย์ พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จังหวัดลพบุรี รวมครองราชสมบัติเป็นเวลา ๓๒ ปี มีพระชนมายุ ๕๖ พรรษา พระองค์มีพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวคือ กรมหลวงโยธาเทพ และมีพระปีย์ เป็นบุตรบุญธรรม ในแผ่นดินของพระองค์นั้นทรงรับเอาวิทยาการสมัยใหม่จากยุโรปเข้ามาใช้ เช่น กล้องดูดาว และยุทโธปกรณ์บางประการ รวมทั้งยังมีสร้างน้ำพุ และวางระบบท่อประปาขึ้นภายในพระราชวังด้วย

ในแผ่นดินของพระองค์นั้น พระองค์ทรงปราบปรามหัวเมืองน้อยใหญ่ให้มาสวามิภักดิ์ ทั้งหัวเมืองทางเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ส่วนศึกกับพม่านั้นทรงจัดทัพตีพ่ายกลับไปอยู่เนืองๆ โดยมี “ขุนเหล็ก” คือเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) เป็นแม่ทัพและนักรบคู่ราชบัลลังก์ ด้วยพระองค์ทรงชำนาญในการศึก คล้องช้าง และทรงซื้ออาวุธจากต่างชาติใช้ในการสงครามด้วย อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ติดต่อการค้าและการทูตกับประเทศต่างๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน อังกฤษ และฮอลันดา จึงมีชาวต่างชาติเข้ามาในพระราชอาณาจักรจำนวนมาก

อีกทั้งพระองค์โปรดฯ ให้แต่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ถึง ๔ ครั้งนับเป็นการทูตครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยมีออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เป็นหัวหน้าคณะราชทูตที่สร้างชื่อเสียงจนรู้จักกันมาก นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงพระปรีชาสามารถด้านวรรณคดีจนถือว่าเป็นยุคทองของวรรณคดี

นอกจากพระราชนิพนธ์สมุทรโฆษคำฉันท์แล้วยังมีงานวรรณคดีจากกวีคนสำคัญอีกเช่นขุนเทพกวี แต่งคำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า) คราวสมโภชขึ้นระวางเจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ พ.ศ. ๒๒๐๓ หลวงศรีมโหสถแต่งโคลงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระโหราธิบดีแต่งจินดามณีเป็นตำราเรียนภาษาไทยเล่มแรกและอนิรุทธคำฉันท์ เรื่องราวในราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ได้บันทึกถึงพระองค์ และกรุงศรีอยุธยาไว้มากที่สุด โดยมีภาพลายเส้นเป็นข้อมูลให้ศึกษากัน

ดังนั้น สีสันการแต่งกายแบบไทยจึงเป็นกระแสวัฒนธรรมที่ทำให้คนไทยต่างยินดีร่วมกันทั้งประเทศ

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0