ท่องถิ่นซามุไรที่ฮากิ
Story & Photo by Orawan
ย้อนไปสมัยเอโดะ (1603-1867) เมืองฮากิ (Hagi) แห่งนี้ถือเป็นเมืองหลวงของตระกูลโมริ (Mori Clan) หนึ่งในตระกูลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในช่วงยุคศักดินา
ขุนนางโมริปกครองเมืองยะมะงุชิ (สมัยก่อนรู้จักกันในชื่อ Choshu) มานานกว่า 250 ปี และมีบทบาทสำคัญเป็นผู้นำในยุคการฟื้นฟูเมจิในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 และเป็นเมืองแห่งซามุไรมีชื่อหลายคน
การเดินทางท่องเที่ยวภายในตัวเมืองฮากิ สามารถใช้บริการรถ Hagi Loop-line Bus : Hagi Junkan Ma-ru Bus ได้ สถานที่ท่องเที่ยวที่อยากแนะนำที่แรกเลยก็คือ ย่านเมืองเก่า ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น บริเวณนี้เราจะเห็นสภาพบ้านเรือน ถนนหนทางที่ยังคงสภาพเดิม
ด้วยเพราะเมืองฮากิสามารถรอดพ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งสำคัญตั้งแต่สมัยเอโดะ ผังเมืองดั้งเดิมจึงยังคงความสวยงามอยู่เช่นเดิม จนได้รับการการันตีว่าเป็น 1 ในถนน 100 สายที่สวยที่สุดในญี่ปุ่น
เราจะเห็นว่าผนังสีขาวจากคฤหาสน์ของอดีตซามุไรและพ่อค้าเรียงรายอย่างสวยงาม คฤหาสน์ที่โดดเด่นที่สุดในบรรดาที่อยู่อาศัยเก่าในเมืองนี้ คือคฤหาสน์คิคูยะ (Kikuya Residence) ของครอบครัวคิคูยะ ซึ่งเป็นซามุไรที่หันมาทำธุรกิจการค้า และได้รับการยกย่องจากประชาชน ตัวอาคารมีอายุกว่า 350 ปี
สำหรับฉันที่น่าทึ่งและประทับใจที่สุดคงเป็นบานประตูที่สามารถเปิดกว้างให้เห็นสวนด้านนอกที่จัดอย่างสวยงาม ค่าเข้าชมไม่แพงมากนัก
ส่วนคฤหาสน์คูโบตะ (Kubota Residence) ของครอบครัวที่มีอาชีพเกี่ยวกับชุดกิโมโนและเหล้าสาเกก็น่าสนใจ อายุก็เกือบ 200 ปีเลยทีเดียว
ที่สังเกตได้ คือ คฤหาสน์แทบทุกหลัง ด้านในของแต่ละห้องสามารถปรับเปลี่ยนประตูบานเลื่อนให้เปิดปิดเชื่อมต่อกันเป็นห้องใหญ่ หรือเปิดออกสู่สวนด้านนอกได้ บริเวณส่วนที่นักท่องเที่ยวเดินชมกันนั้นเป็นส่วนด้านนอกเขตปราสาทซึ่งเป็นที่พักของเหล่าซามุไร และพ่อค้าวาณิชต่างๆ
นอกจากโซนเมืองเก่าของซามุไรยุคศักดินา แล้วอีกโซนหนึ่งของเมืองคือโซนมรดกโลกด้านการปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อนยุคเมจิ เตาหลอมเหล็กกล้า (Hagi Reverberatory Furnace)
เป็นเตาที่สร้างขึ้นมาครั้งแรกเลียนแบบเตาของชาติตะวันตก จากเดิมที่ใช้เตาเผากันแบบญี่ปุ่น เพื่อให้ผลิตเหล็กกล้าได้มากขึ้น แต่เตาอันนี้ไม่ได้ถูกใช้งานจริง
มีการสร้างเตาจริงคล้ายแบบนี้อีกแห่งหนึ่ง ส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตเหล็กของญี่ปุ่นเจริญรุดหน้าไปมาก สถานที่สอง คือ อู่ต่อเรือเดินสมุทร (Ebisugahara Shipyard) ตรงบริเวณอู่ต่อเรืออาจจะดูไม่ค่อยมีอะไรมากนัก มีเพียงกองหินและที่ผูกเรือขนาดใหญ่อยู่ริมท่า
แต่ที่นี่มีประวัติศาสตร์ที่น่าค้นหามากมาย เราจะเห็นเจ้าหน้าที่ของทางญี่ปุ่นกำลังขุดเจาะ พื้นที่บนลานโล่งบริเวณใกล้เคียงเพื่อค้นหาอดีตซากอู่เรือเก่าที่โตกุกาวะ โยชิโนบุ” (Tokugawa Yoshinobu) โชกุนลำดับที่ 15 ได้สร้างอู่ต่อเรือเอบิสึกาฮาระขึ้นเพื่อแสดงศักยภาพคล้ายประกาศก้องว่าไม่ยินยอมต่อการรุกราน
ตลอดแนวท่าเรือจะมีป้ายแสดงเรื่องราวประวัติความเป็นมาให้นักท่องเที่ยวได้อ่านเพื่อทำความรู้จักกับสถานที่แห่งนี้ให้มากขึ้น สถานที่สามคือ โรงผลิตเหล็กกล้า (Ohitayama Tatara Iron Works) ซึ่งอยู่ห่างออกไปไกลเกินเวลาที่ฉันจะแวะไปได้
ขอข้ามไปที่โรงเรียนของท่านโยชิดะ โชอิน (Shokasonjuku Academy) ซามุไรผู้เป็นนักปรัชญาและนักวิชาการศึกษา ที่เคยใช้ชีวิตอยู่ที่นี่
ท่านโชอินสอนหลักคำสอนของเม่งจื๊อ (Mencius) และคำสอนของนักปรัชญาอื่นๆ แก่ลูกศิษย์ และสอนให้ลูกศิษย์ออกไปเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ ในช่วงบั้นปลายของชีวิตที่เขาถูกกักบริเวณ
ภายในบ้านพักของตนเอง และเสียชีวิตในขณะที่อายุได้ 30 ปี ลูกศิษย์ของเขาก็คือผู้บุกเบิกการสร้างความทันสมัยให้กับญี่ปุ่น อย่างเช่น ท่านชินซะกุ ทะกะซุงิ (Shinsaku Takasugi) ที่เห็นรูปปั้นของท่านในย่านเมืองเก่านั่นเอง
ไม่ไกลจากบ้านพักของท่านโชอินเป็นศาลเจ้าชื่อ ศาลเจ้าโชอิน (Shoin Shrine) บรรยากาศเงียบสงบมาก
การได้มาท่องเที่ยวในเมืองที่มีความเป็นอดีตและประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน และยังคงอยู่เช่นนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อีกทั้งเมืองนี้ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวมากนักทำให้ไม่ต้องแย่งวิวกับใครเลย ช่างเป็นโชคดีของฉันเสียจริง
– เมืองฮากิ (Hagi) เป็นเมืองในจังหวัดยะมะงุชิ (Yamaguchi) ในภูมิภาคชูโงะกุ (Chugoku)
– การเดินทางมาเมืองฮากิสามารถใช้บริการของรถไฟความเร็วสูงอย่างชิงกันเซ็ง (shinkansen) จากฟุกุโอะกะ (Fukuoka) โอซะกะ (Osaka) หรือโตเกียว (Tokyo) มาลงที่สถานี ชิน ยะมะงุจิ (Shin Yamaguchi Station) จากนั้นให้คุณเปลี่ยนมาใช้บริการของรถไฟท้องถิ่นมาลงยังสถานีฮากิ นอกจากนี้ยังสามารถโดยสารเครื่องบินภายในประเทศมาลงยังสนามบินยะมะงุชิ (Yamaguchi Ube) หรือสนามบินอิวะมิ (Iwami) ได้อีกด้วยโดยต่อรถบัสเพียงแค่ 70 นาทีก็จะถึงเมืองฮากิแล้ว