จุดเช็กอิน อำเภอแม่ลาน้อย แม่ฮ่องสอน

อำเภอแม่ลาน้อย ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดแม่ฮ่องสอนระยะทาง 134 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 108 มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 1,337 ตารางกิโลเมตร มีคำขวัญประจำอำเภอว่า

แม่ลาน้อยเลิศล้ำ ถ้ำแก้วงามวิจิตร ผลผลิตถั่วเหลือง ลื่อเลื่องวัดแม่ปาง เมืองสร้างคนดี ประเพณีเขาวงกต

อำเภอที่ใครหลายคนอาจมองผ่านมีสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย ดังนี้

บ้านดูลาเปอร์ ตำบลห้วยห้อม
บ้านดูลาเปอร์ อยู่บนพื้นที่ที่มีความสูงกว่า 1,200 เมตร ด้วยสภาพอากาศและดินที่ดี ทำให้เป็นแหล่งปลูกกาแฟที่มีชื่ออีกแห่งของอำเภอแม่ลาน้อย สำหรับกาแฟคั่วจากบ้าน ‘ดูลาเปอร์’ นั้น นับได้ว่าเป็นกาแฟเกรดพรีเมี่ยม ที่มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติปนมาในเมล็ดกาแฟ กาแฟที่นี้โดยมากนำส่งประเทศญี่ปุ่น

บ้านห้วยห้อม ตำบลห้วยห้อม
บ้านห้วยห้อม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ อ.แม่ลาน้อย ประมาณ 30 กม. ชาวบ้านที่นี่เป็นชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ ที่มีภาษาพูด และภาษาเขียนเป็นของตนเอง เป็นชุมชนต้นแบบของการใช้ชีวิต ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน มีทัศนียภาพที่สวยงาม

รวมถึงอากาศที่เย็นสบายตลอดปี ของขึ้นชื่อของบ้านห้วยห้อม คือ เมล็ดกาแฟพันธุ์อะราบิกาและผ้าทอขนแกะ ซึ่งหมู่บ้านห้วยห้อมเป็นหมู่บ้านเดียวในประเทศไทยที่สามารถผลิตผ้าทอขนแกะ และส่งออกไปทั่วประเทศและทั่วโลก ทั้งคู่ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาว

บ้านละอูบ ตำบลห้วยห้อม
บ้านละอูบ เป็นชุมชนชาติพันธุ์ละเวือะ หรือละว้า ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันเมื่อความเจริญเข้ามาแทนที่ ความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นก็ลดน้อยถอยลงไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงวิถีชีวิตอันเรียบง่ายที่ใครก็ตามได้สัมผัสแล้ว จะต้องรู้สึกประทับใจ มีผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่น ได้แก่ ผ้าทอละว้า เครื่องเงิน และกาแฟ นักท่องเที่ยวสามารถพักผ่อนในโฮมสเตย์ของหมู่บ้าน มีเมนูอาหารพื้นบ้านให้ลิ้มลอง และสัมผัสวิถีชีวิตชาวละเวื้อะ ที่มีความเรียบง่าย เป็นธรรมชาติ

จุดชมวิวดอยขุมคำ ตำบลห้วยห้อม
จุดชมวิวดอยขุนคำ ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวง 1266 กิโลเมตรที่ 9-10 เส้นทางขึ้นไปทางหมู่บ้านละอูบ หนึ่งในจุดหมายปลายทางของคนที่ชื่นชอบขุนเขา ทะเลหมอกยามเช้าและชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น โดยสามารถชมได้ตลอดทั้งปี ใน “ฤดูฝน” จะเริ่มต้นประมาณกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม และช่วงเวลาที่เหมาะสม เวลาประมาณ 06.00 – 10.00 น. และ 15.00 – 18.00 น.

นาขั้นบันได โครงการหลวงแม่ลาน้อย ตำบลห้วยห้อม
โครงการหลวงแม่ลาน้อย เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร กลางขุนเขาที่ยังคงมีความเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ และอบอุ่นไปด้วยวิถีชีวิตที่งดงามของชาวเขาเผ่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักเมืองหนาว การปลูกกาแฟในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งป็นฤดูทำนาข้าว นักท่องเที่ยวจะได้ชมความสวยงามของนาข้าวขั้นบันไดและพักผ่อนกับธรรมชาติของพื้นที่ของโครงการ

น้ำตกนทีราชันย์ ตําบลท่าผาปุ้ม
ลักษณะน้ำตกนทีราชันย์ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ยวมฝั่งซ้ายตอนล่าง เป็นน้ำตกที่ตกจากหน้าผาขนาดกว้าง 10 เมตร สูงประมาณ 20 เมตร น้ำตกแห่งนี้รู้จักเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวไทยในพื้นที่ หรือกลุ่มนิยมไพร รวมไปถึงชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยว สภาพธรรมชาติและทัศนียภาพโดยรอบ ทั้งป่าไม้ สายธาร ขุนเขามีความสวยงาม อากาศเย็นสบาย เหมาะแก่การท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งอยู่ไม่ไกลชุมชุนมากนัก

กาดไต แม่ลาน้อย ตำบลแม่ลาน้อย
กาดไต เกิดขึ้นจากแนวคิดพัฒนายกระดับสินค้าพื้นเมือง อาหารพื้นเมือง หัตถกรรม และสินค้าโอทอป ในตลาดชุมชนให้เป็นที่รู้จัก กาดไตตั้งอยู่บริเวณสี่แยกเสาหลักเมืองแม่ลาน้อย นอกจากจะมีสินค้าพื้นบ้าน ของฝากของที่ระลึก อาหารคาวหวานในท้องถิ่นคนไต ชุมชนดั้งเดิมพื้นที่แม่ลาน้อย เช่น ข้าวเส้นโก้ ถั่วเน่าซา ต๋ำจิ้น จิ้นลุง เปงม้ง ขนมวง เป็นต้น เรายังจะได้สัมผัสวิถีชีวิตและศิลปะการแสดงของคนไต ที่เน้นวิถีชีวิตการแต่งกายแบบชาวไทใหญ่อีกด้วย

เฮินไตรีสอร์ท ตำบลแม่ลาน้อย
เฮินไต แปลว่า เรือนของชาวไตหรือชาวไทใหญ่ เป็นบ้านพักเรือนไม้ ประยุกต์แบบวิถีไทใหญ่ผสมล้านนา จากฝีมือเจ้าของที่มีเชื้อสายชาวไทใหญ่ ที่ต้องการสอดแทรกงาน ศิลปะไทใหญ่ไว้ ตัวบ้านตั้งอยู่ติดริมทุ่งนา ที่สามารถสัมผัสถึงวิถีชีวิตแบบชาวบ้านดั้งเดิมและบรรยากาศที่แสนผ่อนคลาย แต่ก็ยังมีความสะดวกสบายและทันสมัย

สุขคอฟฟี่ (sook coffee) ตำบลแม่ลาน้อย
ร้านกาแฟ บรรยากาศสบาย ในตัวอำเภอเมืองแม่ลาน้อย ร้านที่กลิ่นอายกาแฟจากดอย แสนหอม นุ่มละมุนลิ้น พร้อมกับความพิเศษอยู่ที่ทางร้านมีจำหน่ายกาแฟขี้ชะมดพันธุ์อาราบีก้าแท้ ที่ชื่อกาแฟขี้ชะมดบ้านดง (BanDong Civet Grace Coffee) ทั้งเมล็ดสาร/เมล็ดคั่ว ส่ง-ปลีก โดยกาแฟนี้เจ้าของไร่จำหน่ายเอง

แจง คอฟฟี่ (Jang Coffee) ตำบลแม่ลาน้อย
หนึ่งในร้านกาแฟที่พร้อมเสริ์ฟ เค้กและขนมแบบโฮมเมด ให้คุณได้อิ่มอุ่นในวันพักผ่อนที่แสนสบาย ร้านแจง คอฟฟี่ ตั้งอยู่ที่ตัวอำเภอแม่ลาน้อย ภายในร้านตกแต่งโทนอบอุ่น ด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ และสดชื่นด้วยไม้แขวนสีเขียวสดใสให้ความผ่อนคลายกับผู้ที่มาใช้บริการ

วนอุทยานถ้ำแก้วโกมล ตำบลแม่ลาน้อย
“ถ้ำแม่ลาน้อย” หรือชื่อที่พระราชทานโดย สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ว่า “ถ้ำแก้วโกมล” หมายถึง แก้วแห่งความงาม สมกับลักษณะผลึกภายในที่จับตัวเป็นลักษณะต่างกันไป เป็นความมหัศจรรย์ ที่มีเพียง 1 ใน 3 ของโลก (แห่งแรก ประเทศจีน และแห่งที่ 3 คือประเทศออสเตรเลีย) ภายในแบ่งเป็นห้อง 5 ห้องได้แก่ ห้องพระทัยธาร, ห้องวิมานเมฆ, ห้องเฉกหิมพานต์, ห้องม่านผาแก้ว และ ห้องเพริศแพร้วมณีบุปผา ถือว่าเป็นห้องที่งดงามที่สุดในถ้ำแก้วโกมลเนื่องจากถ้ำแก้วโกมลเป็นถ้ำที่มีผลึกแร่แคลไซท์ ซึ่งจะหากสัมผัสกับมนุษย์ ก็จะทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเหงื่อของมนุษย์ ทำให้ดำและไม่สามารถเจริญเติบโตต่อได้อีก ดังนั้น การเข้าชมถ้ำแก้วโกมล จึงห้ามจับผนังถ้ำอย่างเด็ดขาด

วัดแม่ปาง ตำบลสันติคีรี
เดิมชื่อ “สำนักสงฆ์ป่าริมธาราวาส” เป็นศูนย์รวมความศรัทธาแห่งชาวแม่ลาน้อย ที่สร้างจากความเลื่อมใสในพระครู วิบูลธรรมกิจ หรือ หลวงพ่อบัวเกตุ ที่ได้ธุดงค์ไปที่อำเภอแม่ลาน้อย วัดฯ มีเนื้อที่ประมาณ 19 ไร่ 2 งาน ภายในอุโบสถรวบรวมเอาศิลปะเด่นของล้านนา ล้านช้าง ไทยใหญ่ ภาคกลาง นอกจากนั้นยังมีสถาปัตยกรรม เช่น ลายปูนปั้น มณฑป ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มเรือนหงษ์ ซุ้มหน้าต่าง ใบระกา ที่สวยงามมาก

สะพานแขวน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวา
พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวาอยู่ทางด้านตะวันตกของประเทศไทย มีเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ที่มีสภาพป่าดีมาก มีพันธุ์ไม้หลายชนิดที่เป็นทั้งแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสัตว์ เหมาะสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า หลายชนิด มีพันธุ์ไม้หลายชนิด ตลอดจนดินโป่ง ก็มีโป่งใหญ่ๆ กระจายอยู่ทั่วไป จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าหายาก เช่น วัวแดง กระทิง หมี เก้ง กวาง เลียงผา กวางผา เสือดาว เป็นต้น และตรงทางเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ยวมฝั่งขวานั้น มีสะพานแขวนที่สวยงามเป็นอีกหนึ่งจุดถ่ายรูป ห่างจากถนนเส้นหลัก เพียง 2 กิโลเมตรเท่านั้น

ต้องการข้อมูลการท่องเที่ยวภายในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพิ่มเติม สอบถามได้ที่
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแม่ฮ่องสอน
เลขที่ 4 ถ.ราชธรรมพิทักษ์ ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน 58000
โทร. 0 5361 2982-3

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0