A World Of Bakery – โลกของเบเกอรี

เชื่อว่าคนที่เดินทาง ช่วงเวลาหนึ่งจะมีอารมณ์ต้องการไปนั่งพักที่คาเฟ่สักแห่งไม่ว่าจะแบบที่เงียบสงบหรือคาเฟ่ยอดนิยมและก็จะเห็นขนม พร้อมกับเบเกอรีกลิ่นหอมๆ หน้าตาน่ากิน เยอะแยะไปหมดใช่ไหม? คำว่าเบเกอรี (Bakery) นั้นมีรากศัพท์มาจากคำว่า Bake ที่แปลว่า อบ จึงอาจกล่าวได้ว่าเบเกอรี คือ ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากแป้งสาลีเป็นหลัก และทำให้สุกโดยวิธีการอบนั่นเองยิ่งตอนที่อบออกมาใหม่ๆ กลิ่นหอมฟุ้งชวนให้เคลิ้มเป็นที่สุด

ตามประวัติแล้วมีการระบุว่า เบเกอรีเริ่มมีขึ้นในยุคก่อนประวัติศาสตร์โดยชาวสวิสซึ่งอาศัยอยู่ตามทะเลสาบได้นำเมล็ดธัญพืชชนิดต่างๆ มาคั่วและบดให้แตกแล้วนำไปผสมน้ำ จากนั้นไปย่างบนแผ่นหินให้สุก จึงได้แผ่นแป้งที่มีความกรอบสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นขนมปังยุคแรกต่อมาชาวอียิปต์ได้พัฒนาขนมปังแผ่นให้กลายเป็นขนมปังก้อน ซึ่งเกิดจากความบังเอิญที่หมักก้อนแป้งแล้วลืมทิ้งไว้ เมื่อนำาวางกับหินร้อนแผ่นแป้งนั้นกลับมีเนื้อฟูนุ่มและหอมอย่างไม่น่าเชื่อ และมีการพัฒนานำเอาดินเหนียวมาทำเป็นภาชนะเพื่อใช้ในการอบขนมแทนแผ่นหิน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นเตาอบชนิดแรกของโลก และเตาอบชนิดนี้ แบ่งเป็น 2 ชั้น คือชั้นล่างไว้ก่อไฟ ชั้นบนสำหรับอบขนม ต่อมาในสมัยกรีกได้เริ่มคิดค้นทำเตาอบแบบปิดขนาดใหญ่ขึ้น และได้พัฒนาการทำขนมปัง โดยปั้นเป็นก้อนกลมรี น้ำหนักก้อนละ 1 ปอนด์ และเปลี่ยนรูปแบบเตาอบเป็นลักษณะคล้ายรวงผึ้ง ซึ่งยังใช้ไม้เป็นเชื้อเพลิงเหมือนเดิม ต่อมาในสมัยโรมันก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีการทำขนมปังเพิ่มขึ้น โดยสร้างเครื่องผสมซึ่งประกอบด้วยอ่างหินและพายไม้ และมีการพัฒนาขนมเพิ่มส่วนผสม เช่น น้ำมัน น้ำผึ้ง ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าเพสทรี (Pastry) นั่นเอง

จนถึงศตวรรษที่ 13 ชาวฝรั่งเศสได้บันทึกถึงความก้าวหน้าของการพัฒนาเครื่องทำขนม และในปี ค.ศ. 1492 วงการเบเกอรีก็ถูกปฏิวัติโดยชาวอเมริกัน มีการนำน้ำตาลและโกโก้ใส่ลงไปในเพสทรี จนเมื่อกลางศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมาอุตสาหกรรมขนมอบก็เริ่มเกิดขึ้น และมีการพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมา สำหรับในประเทศไทยเราเบเกอรีหรือขนมฝรั่ง เริ่มมีในเมืองไทยตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้พบหลักฐานในปี พ.ศ. 2230 จากจดหมายเหตุของนักบวชชาวฝรั่งเศส เขียนรายงานเรื่องการซื้อแป้งสาลีมาทำขนมปังในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับแต่แป้งสาลีเข้ามาใหม่ๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่นิยมกันแพร่หลายเพราะขนมที่ทำเป็นขนมแบบเดิมๆ ส่วนผสมของขนมก็ต้องนำเข้ามา ราคาจึงแพง อีกทั้งอุปกรณ์ในการทำก็แพงการลงมือทำขนมฝรั่งแต่ละครั้งจึงค่อนข้างลงทุนสูง ขนมจึงมีราคาแพงมากเมื่อเทียบกับอาหารจานหลัก ทำให้เบเกอรีเป็นที่นิยมอยู่ในวงแคบ

ปี พ.ศ. 2399 จากรายงานของกัปตันเทาเซนต์ แฮรีส ว่ามีการนำแป้งสาลีจากฮ่องกงเพื่อทำขนมปังสำหรับงานเลี้ยงในพระราชวังสมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขนมฝรั่งในยุดแรกๆ ในบ้านเรามีอยู่แถวโบสถ์ซางตาครู๊ส ถือเป็นต้นกำเนิดขนมฝรั่งกุฎีจีนที่ใช้เตาถ่าน หรือที่สะพานหันก็เป็นขนมปังฝรั่ง ซึ่งใช้เตาปิ้งแบบดั้งเดิม ลักษณะมีไฟอยู่ข้างล่างและข้างบนมีไฟครอบอีกที ในเรื่องของเตาทำขนมนี้จีนนับเป็นชาติแรกที่รู้จักการทำขนมปังที่เรียกว่า โรตี ซึ่งเป็นขนมปังของชาวไหหลำ สำหรับเตาเขามีธรรมเนียมการเอาเกลือมาฝังไว้ใต้เตาแล้วก่ออิฐปิด สุมไฟเข้าไป เกลือนี้จะเป็นตัวกระจายความร้อนทำให้ขนมสุกสมัยก่อนชาวไหหลำเป็นคนจีนที่เก่งในการสร้างเตาอบแบบก่ออิฐมอญสมัยโบราณ

หลังจากที่เตรียมทำขนมปังเสร็จก็ถึงขั้นตอนทำให้สุก ขนมปังจะถูกโยนเข้าเตา พออบเสร็จจึงนำออกจากเตา แต่พอมาถึงยุคปัจจุบัน ขนมฝรั่งได้รับการปรับปรุงพัฒนาและมีการสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมามากมาย อุปกรณ์เครื่องมือใช้ในการทำขนมฝรั่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกก็หลายหลากและทนั สมัยมากขึ้น อีกทั้งวัตถุดิบในการทำก็หาง่าย ทำให้ราคาของขนมฝรั่งและขนมอบต่างๆ ไม่แพงจนเกินไป ความนิยมขนมฝรั่งของคนไทยยุคปัจจุบันจึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

เบเกอรีนั้นแบ่งเป็น 4 ประเภทใหญ่ๆ คือ ขนมปัง คุกกี้ เค้กและเพสทรี โดยมีลักษณะเฉพาะดังนี้

ขนมปัง (Bread) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการใช้ยีสต์ ซึ่งจะมีส่วนผสมหลักดังนี้ แป้งสาลี ยีสต์ เกลือ น้ำและส่วนผสมอื่นๆ เช่นนม ไข่ น้ำตาล ผลไม้ ซึ่งส่วนผสมเหล่านี้จะทำให้เกิดขนมปังประเภทต่างๆ มากมาย เช่น ขนมปังผลไม้ ขนมปังหวาน เดนิชชนิดต่างๆและประเภทของขนมปังจะสามารถแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ ได้ตามปริมาณของไขมัน ดังนี้

1.1 ขนมปังที่มีปริมาณไขมันต่ำ 0 – 3 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ขนมปังที่มีลักษณะผิวค่อนข้างแข็ง เช่น ดินเนอร์โรล ขนมปังฝรั่งเศส

1.2.ขนมปังที่มีปริมาณไขมันปานกลาง 3 – 6 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ขนมปังจืด ขนมปังแซนด์วิช ขนมปังหัวกะโหลกชนิดจืด

1.3 ขนมปังที่มีปริมาณไขมันสูง 6 – 12 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ ขนมปังหวานชนิดที่มีไส้ ขนมปังที่มีเนื้อนุ่ม เช่น ซอฟต์บัน ขนมปังไส้ต่างๆ ขนมปังแฮมเบอร์เกอร์ ขนมปังลูกเกด

1.4 ขนมปังที่มีปริมาณไขมันสูงมากๆ 12 – 24 เปอร์เซ็นต์ ได้แก่ขนมปังหวาน ขนมปังผลไม้ ขนมปังมะพร้าว

คุกกี้ (Cookies) วัตถุดิบในการทำคุกกี้ จะคล้ายกับเค้กมากคือมีแป้ง เนย นม ไข่ น้ำตาล สิ่งที่ช่วยให้ขึ้นฟูและส่วนผสมอื่นๆ จะแบ่งชนิดของคุกกี้ตามชนิดที่นำไปใช้ แบ่งได้ 4 ชนิด คือ

2.1 คุกกี้หยอด เป็นคุกกี้ที่มีรูปร่างไม่คงที่ ใช้ช้อนตักหยอด เป็นรูปต่างๆ หรือใส่กรวยที่มีหัวบีบเป็นรูปต่างๆ เช่นเดียวกัน ตกแต่งหน้าด้วยเชอร์รีหรือลูกเกด เช่น คุกกี้นมสด

2.2 คุกกี้ม้วน ส่วนผสมจะค่อนข้างอยู่ตัว นำมารีดเป็นแผ่นวางลวดลายแบบต่างๆ หรือจะใช้วิธีการม้วนให้เป็นแท่งกลม นิยมใช้ 2 สี เพื่อให้ลายเด่นชัด เมื่อต้องการอบตัดเป็นแว่นๆ ตามขวาง ใส่ถาดที่ทาไขมันวางให้มีระยะห่างกันพอควร

2.3 คุกกี้กด เป็นคุกกี้ที่มีความเข้มข้นมาก คล้ายเค้ก วิธีทำรูปร่างอาจใช้กระบอกคุกกี้ หรือผ่านหัวบีบลักษณะต่างๆ ตกแต่งหน้าด้วยผลไม้เชื่อมแห้ง เช่น คุกกี้เนย คุกกี้กาแฟ

2.4 คุกกี้แท่ง ลักษณะแป้งค่อนข้างอยู่ตัวนำมารีดเป็นแผ่นบางๆ ทาหน้าด้วยไข่ โรยเม็ดมะม่วงหิมพานต์หรืออัลมอนด์สับละเอียดแล้วนำมาตัดเป็นแท่ง เช่น คุกกี้ฟินแลนด์ คุกกี้สิงคโปร์

เค้ก (Cake) วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเค้ก ได้แก่ แป้งสาลี น้ำตาล เกลือ ผงฟู นม ไข่ ไขมัน และกลิ่นรส แบ่งได้เป็น 3 ประเภท

3.1 เค้กเนย เป็นเค้กที่มีปริมาณไขมันสูง การขึ้นฟูของเค้กเกิดจากอากาศที่ได้จากการตีเนย โดยเม็ดไขมันจะเก็บอากาศไว้และจะขยายตัวในระหว่างการอบ เช่น เค้กผลไม้ ช็อกโกแลตเค้ก

3.2 เค้กไข่ เป็นเค้กที่ไม่มีไขมันในส่วนผสม เนื้อเค้กและปริมาณของเค้กขึ้นอยู่กับการขยายตัวของไข่ขาวที่ถูกนำมาตีจนเป็นฟองซึ่งจะเก็บอากาศในระหว่างการตีไข่ ทำให้เค้กขยายตัวและขึ้นฟูในระหว่างการอบ เช่น สปันจ์เค้ก แยมโรล แองเจิลฟู้ดเค้ก

3.3 ชิฟฟอนเค้ก เป็นเค้กที่มีลักษณะของเค้กเนยและเค้กไข่ คือมีโครงสร้างที่ละเอียดของไข่และมีเนื้อที่มันเงาของเนย แต่ชิฟฟอนนิยมใช้น้ำมันพืชแทนใช้เนย

เพสทรี (Pastry) วัตถุดิบที่ใช้ในการทำเพสทรีเป็นส่วนผสมหลักมีดังนี้ แป้งสาลี ไขมัน น้ำ เกลือ ไข่ มี 2 ชนิดคือ พายร่วนและพายชั้น

สำหรับร้านเบเกอรีชั้นนำที่หากคุณได้เดินทางไปในที่ต่างๆ แล้วผ่านไปควรแวะยกตัวอย่างเช่น

ร้าน Ladure e ที่ปารีส ฝรั่งเศส

ร้าน Ladurée อยู่ที่ถนนฌ็องเซลิเซ่(Champs Elysees) เรียกว่าเป็นถนนช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดในปารีส ร้านนี้มีขนมสุดอร่อยและขึ้นชื่ออย่างมาการอง (macaron) ที่ส่งกลิ่นความอร่อยหอมฟุ้งกันเลยทีเดียว ถ้านั่งกินที่ร้านต้องรอคิวนานหน่อย แต่ถ้าซื้อกลับก็สะดวกง่ายๆ ร้านก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1862(ปี 2021 ก็อายุ 159 ปีแล้ว) Ladurée ออกเสียงตามภาษาฝรั่งเศสอ่านว่า “ลาดูเฮ่” ร้านเคยมาเปิดที่เมืองไทยช่วงหนึ่งแต่ปัจจุบันปิดไปแล้ว

Ladurée ก่อตั้งโดยเจ้าของโรงสีแห่งหนึ่งที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส ชื่อว่าหลุยส์ แอร์เนส ลาดูเฮ่ (Louis Ernest Ladurée) เริ่มจากเปิดร้านขนมเล็กๆ ที่ถนน Royale ในกรุงปารีส กระทั่งในปี ค.ศ. 1871 บารอน ออสมันน์ (Baron Haussmann) ได้เข้าเปลี่ยนภาพลักษณ์ของมหานครปารีสบรรดาคาเฟ่ต่างๆ ในปารีส ปรับตัวให้หรูหราและทันสมัยมากขึ้น ร้านลาดูเฮ่ ก็ได้ปรับเปลี่ยนโดยการออกแบบตกแต่งร้านโดย ฌูลส์ เชอเร่ต์ (Jules Cheret) ศิลปินภาพวาดและนักออกแบบโปสเตอร์ชื่อดัง และฌอนน์ ซูชาร์ด (Jeanne Souchard) ภรรยาของหลุยส์แอร์เนส ลาดูเฮ่ เปิดทีรูมแห่งแรกขึ้นในกรุงปารีส อันเป็นต้นกำเนิดของ Salon de Théในปี 1930 โดย ปิแอร์ เดฟองเทนส์(Pierre Desfontaines) ลูกพี่ลูกน้องของหลุยส์ แอร์เนส ลาดูเฮ่ ได้คิดค้นการนำขนมหวานสองชิ้นมาประกบกัน แล้วสอดไส้ด้วยครีมกานาช (ganache) เลิศรส กลายเป็นศิลปะการทำขนมที่รังสรรค์ขึ้นจากรสสัมผัส
นับพัน และเรียกว่า ‘มาการอง’ ต่อมากลุ่มธุรกิจโฮลเดอร์ กรุ๊ป ได้ซื้อกิจการลาดูเฮ่ และมาเปิดที่ ถนนฌ็องเซลิเซ่

ในปี 1997 หลังจากนั้นก็ได้รับความนิยม และมีชื่อเสียงเรื่อยมาไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนี้
ต่อมาปี 2012 ลาดูเฮ่ ก็ได้เริ่มทำการคิดค้นเครื่องสำอางที่ได้แรงบันดาลใจมาจากขนมมาการองหลากสี และเริ่มมีวางขายในประเทศญี่ปุ่นเเละทวีปยุโรปความพิเศษของมาการองที่นี่คือ ด้านนอกกรอบ ส่วนเนื้อครีมกานาช ละลายในปากและให้รสสัมผัสละเอียดอ่อนของอัลมอนด์ ไข่ น้ำตาล คลุกเคล้าเข้ากันด้วยเทคนิคเฉพาะของทางร้าน ราคาชิ้นละ 2.6 ยูโร Ispahan มาการองกลีบกุหลาบชิ้นยักษ์ สอดไส้ด้วยราสเบอร์รี และลิ้นจี่ โปะด้วยกลีบกุหลาบราคาประมาณ 12 ยูโรก็อร่อย สำหรับใครที่ต้องการซื้อเป็นของฝาก ถ้าไม่รู้จะเลือกรสใดให้เลือกเซต Miss Peregrine เต็มไปด้วยมาการอง หลากหลายรสชาติก็ได้

ร้านตั้งอยู่ที่ 75 Avenue des Champs Elyse,es 75008 เปิดทุกวัน วันธรรมดาเปิด
07.30 – 23.00 น. ส่วนวันเสาร์เปิดถึงเที่ยงคืน และวันอาทิตย์ถึง 22.00 น.

ร้าน Pasteis de Belem เมืองลิสบอน โปรตุเกส

ร้านขนมเจ้าดังที่ใครแวะมาที่เมืองลิสบอนก็ต้องแวะกินทาร์ตไข่(Portuguese Egg Tart) หรือภาษาโปรตุเกสเรียกว่า Pastel de nata ที่ร้านนี้เป็นคนคิดสูตรเป็นเจ้าแรกของโลก ร้านอยู่ใกล้สถานที่เที่ยวอย่าง มหาวิหารเจโรนิโมส์ (Jerónimos Monastery) หอคอยแห่งเบเลม (Belem Tower) และอื่นๆ อีกมากมาย ในย่านเบเลม (Belem)

ทาร์ตไข่โปรตุเกส นั้นถือกำเนิดขึ้นจากกลุ่มแม่ชีประจำมหาวิหารเจโรนิโมส์ ที่ต้องการใช้ประโยชน์จากไข่แดงที่หลงเหลือจำนวนมากเมื่อกว่า 200 ปีก่อน ทาร์ตไข่ต้นตำรับที่เปิดในย่านนี้ตั้งแต่ปี 1837 เมื่ออารามสงฆ์และสำนักนางชีปิดตัวลง นักบวชจึงออกมาเผยแพร่ขนมสูตรลับสู่โลกภายนอก และเมื่อชาวโปรตุเกสเป็นนักเดินทางโดยเรือไปทั่วโลก ขนมหวานชนิดนี้จึงเดินทางไปทั่วโลก ถึงมาเก๊า ดินแดนในครอบครองของโปรตุเกสจนเป็นที่นิยม
ถ้าได้ไปที่ร้านที่ลิสบอนจะเห็นป้ายไฟชื่อเต็มของร้านว่า “Unica Fábrica dos Pastéis de Belém” ซึ่งแปลว่า “Unique Belem’s Pastry Factory” เหตุผลเพราะว่า ร้านนี้มีการทำทาร์ตไข่ที่เป็นสูตรโบราณและเป็นความลับทั้งเชฟและพนักงานทุกรุ่น ต้องเซ็นสัญญาห้ามนำสูตรไปเผยแพร่ ทั้งยังนำสูตรขนมนี้ไปขึ้นทะเบียนจดลิขสิทธิ์ภายใต้ชื่อ Pastéis de Belém ถ้าคุณได้กินทาร์ตไข่ที่ไหนแม้ว่าจะหน้าตาและรสชาติคล้ายกัน แต่ไม่ใช่ของที่นี่ เลยเรียกทาร์ตไข่ที่อื่น ว่า Custard Pastry หรือภาษาโปรตุเกส คือ Pastéis de Nata นั่นเอง

นอกจากเมนูทาร์ตไข่ที่ขึ้นชื่อ ซึ่งมีแป้งทาร์ตด้านนอกบางกรอบรสชาติ หอม ไม่หวานมากราคาประมาณ 1.15 ยูโรต่อชิ้น ถ้ากินที่ร้านจะมีชินนามอน (Cinnamon) และน้ำตาลไอซิ่งไว้ตามโต๊ะเผื่อใครอยากเอาโรยหน้า แต่ถ้าซื้อกลับก็มีใส่ซองมาให้ นอกจากทาร์ตไข่ Pastéis de Belém ก็มีขนมอบและขนมหวานอีกหลายอย่าง เช่น พาย โดนัทคัสตาร์ด เค้ก หรือแซนด์วิช เป็นต้น

ร้านตั้งอยู่ที่ R. de Bele,m 84-92, 1300-085 Lisboa, Portugal
เปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 08.00 – 23.00 น.

ร้าน Dominique Ansel Bakery เมืองนิวยอร์กซิตี้ สหรัฐอเมริกา

Dominique Ansel Bakery คือ ร้านขนมหวานชื่อดังจากมหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของร้านคือ โดมินิก แอนเซล(Dominique Ansel) เชฟชาวฝรั่งเศส ร้านนี้เปิดตัวเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2011 โดยร้านเบเกอรีแห่งนี้กลายเป็นที่รู้จักกันดีและมีชื่อเสียงมากด้วยการรังสรรค์เมนูขนมหวานที่มีเอกลักษณ์และลายเซ็นเป็นของตัวเองมากมายของโดมินิก แอนเซลโดยเฉพาะโครนัท(Cronut) ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 2013 ชื่อ Cronut ก็มาจาก Croissant doughnut เป็นขนมที่ผสมผสานระหว่างครัวซองต์และโดนัทเข้าด้วยกัน โดยเอาแป้งครัวซองต์มาผ่านการทอดแบบโดนัท ความฮิตของขนมชิ้นนี้ ว่ากันว่าขายหมดในเวลาไมถึงสิบเอ็ดโมงเช้าด้วยซ้ำ

เนื่องจากมีการทำจำนวนจำกัดประมาณวันละ 200-300 ชิ้น และมีโควตาให้ซื้อได้เพียงแค่คนละ 2 ชิ้นและถ้าสั่งล่วงหน้าออนไลน์ได้คนละ 6 ชิ้น โดยรสชาตินั้นจะหมุนเวียนกันไปเดือนละ 1 รส ดังนั้นใครอยากกิน แนะนำให้ไปรอตั้งแต่ก่อนร้านเปิด สำหรับราคาขายหน้าร้านของ Cronut นั้นราคาชิ้นละ 5 ดอลลาร์ ขนมชิ้นนี้เมื่อซื้อแล้วต้องรีบรับประทานเนื่องจากมีอายุที่สั้น และไม่สามารถใส่ตู้เย็นได้หรือ The Cookie Shot ขนมคุกกี้ช็อกโกแลตชิปส์ โครนัทรูปถ้วยภายในใส่นมสดให้คุณจิบได้ หรือจะเป็น Blossoming Hot Chocolate ช็อกโกแลตร้อนที่มีกิมมิกน่ารักคือดอกไม้มาร์ชแมลโลว์จะค่อยๆ บานจนเต็มถ้วยเผยให้เห็นเกสรช็อกโกแลตด้านใน และขนมอบอื่นๆ อีกเพียบหลังร้านจะมีโซนที่แต่งผนังตามฤดูกาล บางครั้งก็จะมีดอกกุหลาบเหมาะกับสายถ่ายรูปเป็นอย่างยิ่ง และโซน Garden แบบ Outdoor รับซัมเมอร์

ที่ตั้ง: 17-21 Elizabeth St, Belgravia, London SW1W 9RP
เวลาเปิดให้บริการ: 08.00 – 20.00 น.

ร้าน Demel กรุงเวียนนา ออสเตรีย

ถ้าชอบขนมหวาน พร้อมได้ชมเชฟอบขนม แต่งเค้ก และได้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เค้กด้วยละก็ที่ร้าน Demel ที่นี่เหมาะกับคุณร้านเดเมล (Demel) หรือชื่อเต็ม Demel K.U.K. HOFZUCKERBÄCKER เป็นร้านกาแฟเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเวียนนา ประเทศ
ออสเตรีย ขึ้นชื่อเรื่องของขนมหวานและช็อกโกแลต ยังเป็นร้านโปรดของจักรพรรดิ
ฟรานโจเซฟที่ 1 (Franz Joseph I) ทรงให้นำส่งขนมเข้าวัง พระราชินี Sisi ที่มีพระสิริโฉม
งดงามที่สุดของยุโรปก็เป็นลูกค้าของที่นี่ ชื่อร้านจึงมีคำว่า K.U.K. HOFZUCKERBÄCKER
ต่อท้าย หมายถึง “PURVEYOR TO THE IMPERIAL AND ROYAL COURT”

ร้านเปิดมาตั้งแต่ปี 1786 โดยลุดวิกเดห์เน (Ludwig Dehne) ก่อนจะขายกิจการให้กับคริสตอฟ เดเมล (Christoph Demel) ในปี 1857 และเป็นที่มาของชื่อร้าน ปัจจุบันดำเนินกิจการโดยบริษัท DO&CO เจ้าของธุรกิจร้านอาหารชื่อดัง อยู่ที่ถนนโคลมาร์ต (Kohlmarkt) ถนนสายช้อปปิ้งไม่กี่นาที พิกัดง่ายๆ คือตั้งอยู่ตรงข้ามพระราชวังฮอฟบูร์ก (Hofburg Palace) ร้านมี 3 ชั้นตกแต่งสไตล์คลาสสิกตามแบบยุโรป ด้านล่างมีขายเค้กต่างๆ แบบซื้อกลับบ้าน ชั้น 2 เป็นโซนนั่ง คุณสามารถจิบกาแฟ กินขนมและดื่มด่ำไปกับบรรยากาศหน้าวังได้

ช่วงโควิด-19 ไม่อนุญาตให้นั่งกินในร้าน ทางร้านจึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นขายขนม traditional ของออสเตรียที่เรียกว่า ไคเซอร์ชมารน์ (Kiaserschmarn) ลักษณะจะคล้ายแพนเค้กราดซอสแยม

ร้านตั้งอยู่ที่ Vienna CH. DEMEL’ S SOHNE GmbH Kohlmarkt 14 A-1010 Vienna
เปิดทุกวัน 09.00-19.00 น.

ร้าน Van Stapele Koekmakerij อัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์

ร้านเล็กที่อยู่ระหว่างซอยระหว่าง Singel และ Spuistraat ที่ขายเพียงคุกกี้อย่างเดียว แต่กลับได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2013 คุกกี้ Van Stapele ถือกำเนิดขึ้นในห้องครัวเล็กๆ ของVera van Stapele เธอตกหลุมรักคุกกี้แสนอร่อยที่ทำขึ้นมา และไม่รีรอที่จะแบ่งปันความอร่อยให้กับคนทั้งโลกได้รับรู้ ดังนั้นในวันที่ 1 ธันวาคม 2013 เธอเปิดร้าน Van Stapele

Koekmakerij ในตรอกเล็กๆ ของเมือง อัมสเตอร์ดัม คุกกี้ Van Stapele อันเลื่องชื่อทำจาก
แป้งดาร์กช็อกโกแลตคุณภาพสูงที่ทำจากโกโก้จาก Valrhona สอดไส้ไวต์ช็อกโกแลตแสนอร่อย ชิ้นหนึ่งประมาณ 2 ยูโร มีเป็นเซต 6 ชิ้นอยู่ที่ 10 ยูโร ส่วนใครอยากซื้อกล่องแบบ tin box ใส่ราคากล่องอยู่ที่ 5 ยูโร คุกกี้มีความกรอบรอบๆ ขอบ แต่ด้านในไส้ไวต์ช็อกโกแลตนุ่ม หนึบและละลายในปาก คุกกี้มีอบตลอดทั้งวันแทบทุก 10 นาที ดังนั้นไม่ว่ามาช่วงเวลาไหน คุกกี้ของคุณก็จะยังคงอุ่นอยู่เมื่อคุณสั่งซื้อแนะนำให้กินทันทีในขณะที่ยังอุ่นและไส้ยังฉ่ำๆ

ที่อยู่ร้าน HEISTEEG 4 1012 WC AMSTERDAM
เปิดตั้งแต่ 10.00 น. – จนคุกกี้ชิ้นสุดท้ายขายหมด ประมาณ 4-5 โมงเย็น

Pasticceria Marchesi มิลาน อิตาลี

ร้าน Pasticceria Marchesi เป็นร้านเบเกอรีระดับ 5 ดาวที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 1824 ใจกลางมิลาน หลายคนชื่นชอบที่จะเพลิดเพลินกับกาแฟเอสเปรสโซ่แก้วโปรดของคุณที่วางอยู่บนบาร์ไม้ของร้านพร้อมดูผู้คนที่ผ่านไปมา เจ้าของผู้ก่อตั้งคือ Angelo Marchesi เริ่มจากการให้บริการ กาแฟ ในตอนเช้า ค็อกเทลยามค่ำคืน นอกเหนือจาก เค้กอบสดใหม่ ทาร์ต คุกกี้และขนมหวาน ความเอาใจใส่ในการปรับการชงกาแฟให้สมบูรณ์แบบที่สุด ผนวกเข้ากับการทำขนมอบและขนมพื้นเมือง ตลอดจนช็อกโกแลตที่ทำเองซึ่งเข้ากันดีกับกาแฟที่ชงด้วยความชำนาญ ทำให้ร้านได้รับความนิยมเรื่อยมา

นอกจาก ช็อกโกแลตสด ขนมปังบริโอช (Brioche) เอสเปรสโซ่และขนมหวานที่ขึ้นชื่อแล้ว อาคารที่ตั้งร้าน Pasticceria Marchesi ก็ยังคงความคลาสสิกของบรรยากาศการตกแต่งแบบดั้งเดิมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 สไตล์อาร์ตเดโค อย่างเช่น เพดานกรุกระจกโบราณ ซุ้มประตูที่หรูหราในศตวรรษที่ 18 เข้าร้านไปเหมือนตัวเองอยู่ในดินแดนมหัศจรรย์ก็ว่าได้
ปัจจุบัน Pasticceria Marchesi อยู่ภายใต้การดูแลของหลานชายของ Angelo Marches

ที่ตั้งร้าน Pasticceria Marchesi, Via Roma,6, 31030 Dosson TV, Italy

ร้าน Peggy Porschen ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

ร้านขนมสีชมพูหวานแหวว ที่ก่อตั้งในปี 2003 โดย Peggy Porschen และสามีของเธอ Bryn Morrow จุดเด่นของร้านนอกจากอาคารซึ่งเป็นเฉดสีชมพูขาวที่แสนจะสดใสแล้ว เค้กของร้านที่มีธีมสีพาสเทล ยังได้รับรางวัลดีไซน์เค้กยอดเยี่ยมอีกด้วย บริเวณภายในร้าน ที่ไม่ใหญ่มากนัก เป็นพื้นไม้คู่กับชั้นวางสีขาวและมีขนมวางโชว์อยู่ ข้างในร้านมีโต๊ะนั่งประมาณ 2-3 โต๊ะ และมีโต๊ะข้างนอกร้านอีก 6-7 โต๊ะขนมยอดนิยมคงหนีไม่พ้นเค้กสีหวานของทางร้าน และคัพเค้กขนาดพอคำ ถ้าไม่สะดวกที่จะยืนรอสามารถซื้อกลับได้ ราคาคัพเค้กอยู่ที่ 4.5 ยูโร เค้กขนาด 6 นิ้ว 10 เลเยอร์ อยู่ที่ 55 ยูโร

ที่อยู่ 116 Ebury St, Belgravia, London SW1W 9QQ,United Kingdom อยู่แถว London Victoria Station
เปิดทุกวัน 10.00 – 17.00 น. (ช่วงนี้ปิดชั่วคราว)

ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ร้านบางร้านมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขาย ตลอดจนเวลาเปิดปิดตามสถานการณ์ของแต่ละประเทศ ข้อมูลที่แสดงเป็นสถานการณ์ในเดือนปัจจุบันเท่านั้น

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0