สีสัน…กรุงศรีอยุธยามรดกโลก

Story & Photo by Paladisai Sitthithanyakij

การเข้าสู่ปีที่ ๒๕ แห่งการเป็นมรดกโลกของนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา จากยูเนสโก (UNESCO) อีกทั้งยังเป็นปีที่ ๖๖๖ ของการสถาปนากรุงศรีอยุธยา นั้นทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๙ มีการสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยา เพื่อให้ประชาชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาและความเกี่ยวเนื่องกับประเทศอาเซียน รวมทั้งนานาประเทศ จากองค์ความรู้แขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์ความรู้จากจารึก วรรณกรรม พงศาวดาร เอกสารไทย เอกสารต่างชาติ หลักฐานทางโบราณคดี และศิลปกรรม ฯลฯ เพื่อให้สอดคล้องกับความสำคัญจึงนำความมีสีสัน..จากการค้นใหม่ ในกรุงศรีอยุธยามาเรียนรู้กัน

ทุกคนรู้มาตั้งแต่เรียนหนังสือว่าสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของไทย ขึ้นใน พ.ศ. ๑๘๙๓ และรู้ว่าพระเจ้าอู่ทองเป็นเชื้อสายราชวงศ์ไชยปราการเชียงแสน ได้อภิเษกสมรสกับพระธิดาของกษัตริย์แคว้นสุพรรณภูมิและได้ครองเมืองอู่ทอง แคว้นสุพรรณภูมิ ต่อมา เกิดกันดารน้ำคือแม่น้ำจรเข้สามพันตื้นและเกิดโรคระบาดขึ้น พระเจ้าอู่ทองจึงอพยพผู้คนมาจากเมืองอู่ทองและมาตั้งตำหนักเวียงเหล็กขึ้น

ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓ นั้น เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่อาจจะเป็นอหิวาตกโรคหรือกาฬโรค กาฬโรคโคจรจากเมืองจีน และได้ระบาด ไปทั่วโลกในช่วง พ.ศ. ๑๘๗๘ – ๑๘๙๓ ทำให้มีการย้ายเมืองจากด้านตะวันออกมาสร้างใหม่ที่ตำบลหนองโสน ครั้งนั้นได้สร้างพระราชวังและพระนครกรุงศรีอยุธยา ณ ตำบลหนองโสน ใกล้กับเมืองอโยธยาเดิมหรือเมืองอโยธยาศรีรามเทพนคร

เมื่อสร้างพระนครเสร็จ พระองค์ได้สถาปนาราชวงศ์ขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า สมเด็จพระรามาธิบดี ที่ ๑ สำหรับการสร้างพระนครครั้งนั้นได้มีการขุดดินตำบลหนองโสน จนเป็นบึงขนาดใหญ่คือบึงพระราม เมื่อสร้างเสร็จแล้วจึงได้มีการสถาปนาเป็นพระนครมีนามว่า “กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา มหาดิลกภพนพรัตน์ ราชธานีบุรีรมย์” เมื่อวันศุกร์ เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๗๑๒ พ.ศ. ๑๘๙๓ (ค.ศ. ๑๓๕๑) เพลารุ่งแล้ว ๓ นาฬิกา ๙ บาท ตรงกับวันศุกร์ที่ ๔ มีนาคม (แบบจูเลียน) หรือวันที่ ๑๔ มีนาคม (แบบเกรกอเรียน – ที่ใช้ในปัจจุบัน)

“กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” ตั้งอยู่บริเวณ หนองโสน (บึงพระราม) บนเกาะเมืองอยุธยา โดยมีแม่น้ำสำคัญไหลผ่าน ๓ สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำป่าสัก โดยมีเมืองละโว้ เมืองสุพรรณบุรี เมืองอโยธยา ร่วมมือกันสร้างความเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านการเมือง การปกครอง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ประเพณี และความสัมพันธ์กับต่างประเทศ ด้วยความเป็นมาของปฐมกษัตริย์อยุธยาไม่ชัดเจนนั้นมีข้อสันนิษฐานมากมายถึงถิ่นกำเนิดว่าเดิมมาจากเมืองอู่ทอง แคว้นสุพรรณภูมิ

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๘๙๐ เมืองอู่ทองซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่ง แม่น้ำจรเข้สามพัน ประสบภัยธรรมชาติ ลำน้ำจรเข้สามพันตื้นเขิน ขาดแคลนน้ำ จึงเกิดโรคระบาด (โรคห่าหรืออหิวาตกโรค) มีผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระเจ้าอู่ทองจึงทรงทิ้งเมือง อพยพผู้คนข้ามฟากแม่น้ำมาตั้งเมืองใหม่ที่บริเวณตำบลหนองโสน (บึงพระราม) ใช้เวลาสร้างเมืองใหม่ ๓ ปี และสถาปนาขึ้นเป็นกรุงศรีอยุธยา ราชธานีแห่งใหม่ ใน พ.ศ. ๑๘๙๓ บ้างว่า มีถิ่นกำเนิดเดิมมาจากเมืองอโยธยา บริเวณปากแม่น้ำลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นละโว้ โดยพระเจ้าอู่ทองทรงอพยพไพร่พลทิ้งเมืองอโยธยา หนีภัยอหิวาตกโรคระบาด มาสร้างเมืองใหม่เช่นกัน มีฐานะเป็นพระราชโอรสของแคว้นละโว้ พระราชบิดาของพระเจ้าอู่ทองเป็นกษัตริย์แห่งแคว้นละโว้ และมอบหมายให้พระเจ้าอู่ทองไปครองเมืองเพชรบุรี ในฐานะเมืองลูกหลวง

ครั้งเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระเจ้าอู่ทองจึงเสด็จกลับมาครองราชสมบัติในแคว้นละโว้และต่อมาได้ย้ายมาตั้งราชธานีแห่งใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา การถือกำเนิดของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งใน พ.ศ. ๑๘๙๓ นั้น เป็นช่วงที่แคว้นสุโขทัย แคว้นของคนไทยอีกกลุ่มหนึ่งทางตอนบนของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มเสื่อมอำนาจลง และเป็นเวลาเดียวกับดินแดนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างนั้นมีแคว้นของคนไทยตั้งบ้านเมืองมั่นคงเป็นปึกแผ่นอยู่ก่อนแล้ว ได้แก่ ลพบุรี และสุพรรณบุรี ต่อมาเมืองต่างๆ นี้ได้ถูกรวมให้เป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรที่มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์อำนาจและเศรษฐกิจให้มีความสำคัญมีชื่อเสียงและได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกในวันนี้

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0