อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา – จ.พังงา

เรื่องและรูปโดยทีมงาน Vacationist

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทยมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในเขตท้องที่ของอำเภอเมืองพังงา อำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา มีพื้นที่ครอบคลุมประมาณ 400 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 250,000 ไร่

นั่งเรือหางยาวลำใหญ่ของชาวบ้านที่จอดรอนักท่องเที่ยวอยู่ที่ท่าเรือของ อบจ.พังงา หรือจะขึ้นที่ด้านหน้าอุทยานฯ ก็ได้

ถ้ามาเป็นหมู่คณะก็สะดวกไม่ต้องรอนาน หรือถ้าเช่าเหมาลำก็แล้วแต่สะดวก ครั้งนี้ไปเที่ยวเกาะตาปู เขาพิงกัน ถ้ำลอด และเกาะปันหยี ราคาประมาณ 1,200-4,500 บาท แล้วแต่จำนวนคนตามขนาดของเรือ และฤดูท่องเที่ยว ใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง

ระหว่างนั่งเรือมา จะผ่านตรงบริเวณที่เรียกว่า เขาหมาจู เป็นภูเขาหินปูนขนาดเล็กมีแมกไม้ขึ้นปกคลุม มองแล้วรูปร่างเหมือนหมาจูที่ชาวบ้านเรียก อยู่ระหว่างเส้นทางไปเกาะปันหยี ไม่สามารถลงไปที่เกาะได้

เส้นทางก็จะผ่านเกาะปันหยีก่อน ซึ่งจะแวะตอนขากลับ

ถ้ำลอด เป็นภูเขาลักษณะเกาะทะลุ ปากถ้ำกว้างประมาณ 50 เมตร สูง 40 เมตร เรือขนาดเล็กหรือจะพายเรือคายัคแล่นผ่านทะลุไปอีกด้านของถ้ำได้ บนเพดานถ้ำมีหินย้อยดูสวยงาม แต่รอบนี้ไม่ได้ทะลุไปเนื่องจากระดับน้ำสูงเกินไป จึงถ่ายรูปความสวยงามของถ้ำลอดและเลยไปจุดไฮไลต์เลยคือ เขาตาปู

ไฮไลต์ที่เมื่อมาเที่ยวที่ อช.อ่าวพังงา หากใครเป็นแฟนภาพยนต์หนังเรื่อง เจมส์ บอนด์ 007 คงรู้จัก “เขาตาปู” ในฉากดวลปืนของ เจมส์ บอนด์ (นำแสดงโดย โรเจอร์ มัวร์) ภาค “The Man with the Golden Gun” ทำให้เขาตาปูเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก จนได้ชื่อว่า “เกาะเจมส์ บอนด์” (James Bond Island) อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.พังงา

เขาตาปู อยู่ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ลักษณะของเกาะเป็นเกาะเดี่ยวไม่สามารถขึ้นไปได้ เดิมเป็นส่วนหนึ่งของเกาะ แต่เกิดจากการกัดเซาะตามธรรมชาติ เหลือเป็นลักษณะของเกาะหินโด่ง โดยส่วนฐานจะคอดกิ่วส่วนบนมีขนาดใหญ่กว่า เหมือนกับตาของปู หรือมองดูเหมือนตะปูขนาดยักษ์ที่ปักลงไปในทะเล

บริเวณด้านหน้าของเขาตาปูจะมีชายหาด มีนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ มีร้านของขายจากชาวบ้านในพื้นที่ใกล้เคียง

มีมุมให้ถ่ายรูปทั้งจากทางด้านหาด หรือเดินขึ้นมาด้านบนตามบันไดก็จะเห็นเขาตาปูในมุมสูงขึ้น

เขาพิงกัน อยู่บริเวณเดียวกันกับเขาตาปู ขึ้นจากเรือมาเดินเจอเขาพิงกันก่อน เป็นภูเขาที่มีลักษณะพิเศษแปลกตา แตกต่างจากภูเขาอื่นๆ

คือมีลักษณะเป็นภูเขาสองลูกที่แนบติดกัน เป็นแนวเส้นตรงจากยอดเขาสู่ตีนเขา เกิดจากการเลื่อนตัวของหินตามแนวรอยแยก รอยเลื่อน ด้วยแรงโน้มถ่วงของโลก โดยหินบริเวณส่วนฐานถูกคลื่นน้ำทะเลกัดเซาะทำให้หินส่วนบนซึ่งมีน้ำหนักมาก เลื่อนตัวลงมาเป็นลักษณะเหมือนเขาหินวางพิงกัน

การขึ้นเกาะเพื่อชมเขาตะปูและเขาพิงกันจะต้องจ่ายค่าเข้าอุทยานฯ : คนไทย ผู้ใหญ่ 60 บาท เด็ก 30 บาท, ชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่ 300 บาท เด็ก 100 บาท

เกาะปันหยี หมู่บ้านกลางน้ำ ชุมชนเก่าแก่บนเกาะเล็กๆ ตั้งอยู่ตอนบนของปากอ่าวพังงา คำว่า “ปันหยี” แปลว่า “ธง” ชาวเกาะส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ชาวเกาะปันหยีส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน

ปัจจุบันเกาะปันหยีเป็นชุมชนที่รองรับนักท่องเที่ยว โดยบนเกาะมีร้านอาหารและร้านขายของให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวได้ซื้อติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากของที่ระลึก ทั้ง สร้อย กำไล แหวน ผ้าบาติก น้ำพริกกุ้งเสียบ กะปิ ฯลฯ นักท่องเที่ยวที่มากับทัวร์ในเส้นทางนี้จึงนิยมแวะพักทานอาหารกลางวัน และซื้อหาสินค้าที่ระลึกที่เกาะปันหยี แห่งนี้

โรงเรียนของเด็กๆ บนเกาะปันหยี มีสนามฟุตบอลและสนามกีฬา วิวสวยงามติดทะเล แต่ถ้าเป็นหน้ามรสุมคงน่ากลัวเหมือนกัน

นักท่องเที่ยวสามารถเดินเลือกซื้อของ และเที่ยวชมวิถีชีวิตของชาวเกาะปันหยี ที่มีน้ำใจ อัธยาศัยไมตรีต้องรับนักท่องเที่ยว และอย่าพลาดไปชมสนามฟุตบอลลอยน้ำ ที่ต้องบอกว่าวิวสวยงามระดับโลก (แต่แน่นอนอย่าเตะออกไปไกลนะ)

เมื่อก่อนที่จะเป็นสนามบอลแบบนี้ เด็กๆ ที่หมู่บ้านร้วมกันสร้างสนามบอลลอยน้ำจากเศษไม้เก่าๆ มาต่อวางบนทุนลอยน้ำ ใช้เล่นใช้ซ้อม จนสามารถออกไปแข่งขันภายนอก สร้างความประหลาดใจว่าบนเกาะปันหยีจะมีที่ให้ฝึกซ้อมได้อย่างไร

หลังจากเป็นข่าวออกไป ก็มีผู้ใหญ่ใจดีช่วยสร้างสนามฟุตบอลลอยน้ำแห่งนี้ขึ้น กลายเป็นจุดที่เมื่อมาเกาะปันหยีแล้วต้องมาที่สนามแห่งนี้ ไม่ต่างจากไปเยือนสนามบอลดังระดับโลกเลยทีเดียว

เขาเขียน หรือ ภาพเขียนสีโบราณ เป็นทางผ่านที่จะไปยังเกาะปันหยี บริเวณหน้าผาจะมีรูปเขียนเป็นภาพสัตว์ชนิดต่างๆ สันนิษฐานว่าเป็นภาพวาดโดยนักเดินเรือสมัยโบราณที่แวะมาจอดพักหลบมรสุม

ซึ่งมีเวิ้งที่สามารถขึ้นไปนั่งหลบพายุฝนได้ คาดว่าขึ้นไปตอนที่ระดับน้ำทะเลขึ้น กรมศิลปากรได้ทำการศึกษาว่าน่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่า 3,000 ปี

– อ่าวพังงามีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินตะกอนและหินแปรสลับอยู่เป็นแนวยาว มัภูเขาหินปูนลูกโดดแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ นอกจากนี้ยังพบภูเขาหินดินดานที่บางแห่งสลายตัวกลายเป็นเนินเขาบนิเวณชายฝั่ง เป็นผลมาจากลักษณะโครงสร้างรอยเลื่อนของเปลือกโลก มีชื่อทางธรณีวิทยาว่า “รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย” และ “รอยเลื่อนพังงา”
– ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยา เกิดโพรงถ้ำบนเกาะและภูเขา เกิดเว้าทะเลจากการดักเซาะของน้ำทะเล ยังเป็นที่อาศัยของคนมานานหลายพันปี จากหลักฐานภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์
– อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ แต่อยู่ในอ่าวปิด สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0