ฮินะมัตสึริ (Hinamatsuri) วันตุ๊กตา หรือ วันเด็กผู้หญิง

ในวันที่ 3 มีนาคม ของทุกปี ที่ประเทศญี่ปุ่น คือวันโมโมะโนะเซ็กกุถือว่าเป็นวันเด็กผู้หญิง จะมีการเฉลิมฉลองการเจริญเติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ของเด็กผู้หญิง ทุกๆ ปีเมื่อใกล้ถึงวันนี้ ก็จะมีการจัดงานเทศกาล “ฮินะ มัตสึริ” (Hina Matsuri) ขึ้นทุกที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นโดยเทศกาลที่มีชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยเอโดะ Edo (1603-1867)

ฮินะ มัตสุริ (Hina Matsuri) มาจากคำว่า ฮินะ (Hina) ซึ่งเป็นคำโบราณที่ หมายถึง ตุ๊กตา ส่วนคำว่า มัตสุริ (Matsuri) หมายถึง เทศกาล

ในช่วงเทศกาลฮินะ มัตสึริจะมีการประดับตุ๊กตาฮินะ หรือ ฮินะนิงเงียว (Hina Ningyo) ไว้ในบ้าน เริ่มประดับกันตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เรื่อยไปจนเมื่อผ่านพ้นวันที่ 3 มีนาคมไปแล้วจึงเลิกประดับ

การประดับชั้นตุ๊กตาในเทศกาล“ฮินะ มัตสึริ” (Hina Matsuri)

ในอดีตญี่ปุ่นมีความเชื่อเรื่องการใช้ตุ๊กตาตุ๊กตาฮินะ เหล่านี้เปรียบเสมือนตัวตายตัวแทนของเด็ก รับสิ่งอัปมงคลเพื่อปกป้องจากอุบัติเหตุและความเจ็บป่วย แต่การนำมาผูกเข้ากับการอธิษฐานให้เติบโตอย่างแข็งแรงนี้ว่ากันว่าเกิดขึ้นในช่วงยุคเอโดะ

พอช่วงเทศกาลฮินะ มัตสึริ (Hina Matsuri) จะมีการประดับตุ๊กตาฮินะ หรือ ฮินะนิงเงียว (Hina Ningyo) ตุ๊กตาแบบดั้งเดิมทำด้วยมือ แต่งกายตามราชสำนักญี่ปุ่นโบราณ  จัดตั้งวางไว้บนชั้นภายในบ้าน ว่ากันว่าจำนวนชั้นจะมากหรือน้อยนั้น ก็เป็นการแสดงถึงฐานะของแต่ละบ้าน  สูงสุดจะมีถึง 7 ชั้น และหนึ่งเซทจะมีตุ๊กตาประมาณ 15 ตัวอ้างอิงถึงพระจักรพรรดิในอดีต ตุ๊กตา 2 ตัวชั้นบนสุดคือพระจักรพรรดิและพระจักรพรรดินี ตุ๊กตา 3 ตัวถัดลงมาคือข้าราชสำนักหญิง 5 ตัวถัดมาคือนักดนตรี และมีตุ๊กตาขุนนาง 2 ตัวทางซ้ายและขวารายล้อมไปด้วยข้าราชบริพาร และเครื่องตกแต่งชิ้นเล็กๆ โดยฉากหลังของชั้น จะประดับด้วยฉากที่เป็นสีทอง ให้เหมือนกับคฤหาสน์จำลอง แต่ใช่ว่าทุกบ้านจะตกแต่งประดับจัดเต็มแบบนี้ เนื่องจากตุ๊กตาหนึ่งตัวราคาค่อนข้างแพง และพื้นที่บ้านของญี่ปุ่นก็คับแคบ หลังๆ จึงประดับเพียงแบบง่ายๆ เหลือเหลือเพียงตุ๊กตาคู่ชายหญิงด้านบนสุดเท่านั้น โดยจะเรียกการประดับแบบนี้ว่า ไดริบินะ หรือบางทีก็เลือกใช้ตุ๊กตาที่ขนาดเล็กเท่าฝ่ามือก็มี

รอบๆ ชั้นจะประดับด้วยเครื่องบูชาเครื่องเซ่นต่างๆ ทั้งของกิน ของหวานและเครื่องดื่ม รวมไปถึงของประดับอื่นเช่น เกวียน ตู้ชา โคมไฟบมโบริ ดอกโมโมะ และดอกส้มทาจิบานะ หลังจากมีการเลี้ยงฉลองกันเรียบร้อย พอหลังจากวันที่ 3 มีนาคมแล้ว มีความเชื่อว่าต้องรีบเก็บตุ๊กตาทันที เพราะหากประดับทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ลูกสาวขึ้นคานได้ แต่ก็มีอีกความเชื่อหนึ่งที่กล่าวว่า จะตั้งตุ๊กตาฮินะประดับไว้จนถึงวันเด็กผู้ชายในวันที่ 5 พฤษภาคม เพื่อเป็นการฉลองต่อเนื่องกันไปเลย จากนั้นจึงค่อยเก็บให้เรียบร้อยเพื่อนำออกมาประดับในปีต่อๆไป

จากนั้นจะมีอาหารที่มีความพิเศษกัน นอกจากนี้ ทุกๆ ปีเมื่อใกล้ถึงวันนี้ ก็จะมีการจัดงานเทศกาล “ฮินะ มัตสึริ” (Hina Matsuri) ขึ้นทุกที่ทั่วประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ตัวอย่างอาหารเช่น

อามาซาเกะ (Amazake) หรือเหล้าหวาน เป็นเครื่องดื่มสีขาวขุ่นที่ได้จากการหมักข้าว เป็นเครื่องดื่มสำหรับเด็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายสาเกขาวแต่ไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชนิดของอามาซาเกะจะแบ่งด้วยตัวหมัก บางชนิดจะไม่มีแอลกอฮอล์เลย บางชนิดจะมี แต่ก็น้อยมาก ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ เด็กเลยดื่มได้

เดิมทีมีความเชื่อว่าการดื่มเหล้าขาวในเทศกาลฮินะมัตสึริจะช่วยขับสิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย แต่เพื่อให้เด็กๆ ดื่มได้ด้วยเลยเปลี่ยนมาเป็นอามาซาเกะ

รูปภาพจาก wikimedia

ฮินะอาราเระ (Hina-arare) ขนมทอดที่ทำจากข้าว มีรูปร่างหน้าตาและรสชาติหลากหลาย สำหรับฮินะอาราเระจะทำเป็นก้อนกลมๆ สีขาว ชมพู และเขียว ซึ่งเป็นสีที่นิยมใช้ในเทศกาลฮินะมัตสึริ

สีขาวหมายถึงฤดูหนาว สีชมพูหรือแดงหมายถึงชีวิต สีเขียวหมายถึงการผลิบานในฤดูใบไม้ผลิ สื่อถึงการเฝ้ารออย่างมีหวังจากฤดูหนาวเพื่อก้าวสู่ฤดูใบไม้ผลิ เชื่อว่าการทานขนมฮินะอาราเระจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงตลอดปี

รูปภาพจาก wikimedia

ชิราชิซูชิ (Chirashi sushi) ไม่ใช่ซูชิที่ถูกปั้นเป็นคำเหมือนที่เรารู้จัก แต่จะจัดข้าวใส่จาน โรยหน้าด้วยเครื่องต่างๆ เช่น รากบัว กุ้ง ไข่หั่นฝอย นิยมทานกันในช่วงเทศกาลหรืองานมงคลเครื่องที่ใส่ก็มีความหมายดีแฝงอยู่ด้วย อย่างรากบัวที่มีรูเพื่อให้มองเห็นอนาคตอย่างทะลุปุโปร่ง มีชีวิตที่ยืนยาวจนหลังโค้งงอเหมือนกุ้ง

ฮิชิโมจิ (Hishimochi) ขนมโมจิทรงสี่เหลี่ยมสีเขียว ขาว และชมพู รับประทานเพื่ออธิษฐานให้มีสุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาว

ซุปหอยตลับ ซุปที่ใช้หอยตลับเป็นวัตถุดิบนี้ เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตคู่ที่มีแต่ความสุข

เมื่อมาถึงช่วงเวลาของเทศกาลฮินะมัตสึริ ก็จะเห็นอามาซาเกะและฮินะอาราเระวางขายตามร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต ในวันที่ 3 มีนาคมยังสามารถหาซื้อชิราชิซูชิที่แต่งหน้าสำหรับเทศกาลฮินะมัตสึริได้ตามร้านกับข้าวหรือร้านซูชิ

ในบางภูมิภาคมีประเพณีนากาชิฮินะ (เอาความโชคร้ายใส่ไปในตุ๊กตาที่ทำขึ้นง่ายๆ ด้วยกระดาษและปล่อยให้ไหลไปตามแม่น้ำ) บางชุมชนก็จัดงานเทศกาลการประดับตุ๊กตาฮินะร่วมร้อยตัวเป็นชั้นสูงนับสิบชั้นอย่างอลังการ ลองแวะไปชมเทศกาลฮินะมัตสึริในญี่ปุ่นกันนะ

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0