3 เมืองสุด Cool ใน India

Story & Photo by Kanjana Hongtong

สแกนไปตรงไหนของอินเดียก็ดูเหมือนว่าจะเต็มไปด้วยเมืองมากสีสันและชุ่มฉ่ำไปด้วยประวัติศาสตร์ที่น่าตามรอยทั้งสิ้น เราขอยกมาแค่ 3 เมืองสุดคูลที่พูดเลยว่า ใครไปอินเดีย ต้องหาโอกาสแวะไปเยือนสักครั้ง และเป็น 3 เมือง 3 อารมณ์ที่ให้นักเดินทางได้สัมผัสอินเดียในมู้ดและโทนที่แตกต่างกัน

LEH (เลห์)

สมัยก่อนเลห์ยังไม่เป็นที่รู้จักของนักเดินทางนัก มีแต่เพียงนักเดินทางสะพายเป้เท่านั้นที่ฝ่าความยากลำบาก ดั้นด้นไปหาเลห์

แต่ พ.ศ. นี้ ใครๆ ก็พูดถึงเมืองเลห์แห่งแคว้นลาดักห์ อาจจะเป็นสถานที่ที่ไม่ได้ชวนให้รู้สึกเหมือนอยู่อินเดียสักเท่าไรนัก เพราะเลห์มีกลิ่นอายความเป็นทิเบตมากกว่าอินเดีย

เอาเป็นว่า ใครที่ไม่รังเกียจหรือกลัวความยากลำบาก มีใจให้การผจญภัย และเป็นพวกนักล่าเมืองที่ชอบซ่อนตัวอยู่ตามหุบเขา

รวมถึงเป็นพวกหลงรักอินเดียอยู่เป็นทุนเดิม ไม่มีใครเมินหน้าใส่เลห์แน่นอน นักเดินทางพันธุ์นี้มีแต่ร้องว้าวใส่พอได้ยินชื่อเลห์

เพราะในโลกของนักเดินทางนี่คือแดนสุดขอบฟ้าอันเร้นลับที่เข้าถึงยาก แน่นอนว่ามีเสน่ห์เย้ายวนให้ดั้นด้นออกเดินทางเพื่อไปค้นหาเสมอ

ถ้านับจากจำนวนปีน่าจะประมาณ 37 ปีมาแล้ว ที่อินเดียแหวกม่านหิมาลัยให้ชาวโลกได้รู้จักกับหมู่บ้านเล็กๆ ที่ทอดตัวอยู่ในหุบเขาอย่างสงบงาม

นับแต่นั้นเลห์แห่งแคว้นลาดักห์ก็ไม่ใช่เมืองลับแลอีกต่อไป จากเดิมพื้นที่บริเวณเหนือสุดของประเทศซึ่งเชื่อมต่อกับพรมแดนจีนและปากีสถาน ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญเชิงการเมืองการปกครอง

แต่เมื่ออินเดียเปิดประตูรับนักท่องเที่ยว แคว้นลาดักห์กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้เหล่านักผจญโลกดั้นด้นฝ่าอุปสรรคและถิ่นทุรกันดารเพื่อได้มาเห็นชุมชนโบราณแห่งนี้

ลาดักห์เป็นชุมทางการค้ามาตั้งแต่สมัยโบราณ การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและศาสนาของผู้คนก็จึงเกิดขึ้นไปโดยปริยาย และเพราะแบบนี้เลยทำให้คนลาดักห์ติดนิสัยชอบทำการค้ามาจนถึงทุกวันนี้

ย่านใจกลางเมืองก็ไม่ได้ใหญ่โตมากนัก เดินเที่ยวได้สบายๆ แต่จะไม่สบายก็ตรงเรื่องอากาศที่เบาบาง

ธรรมชาติสร้างกฎกติกาให้คนมาเลห์กลายเป็นพวกเดินช้า จะมาเดินจ้ำอ้าวติดสปีดไม่ได้

เพราะเมืองที่อยู่บนที่สูง 3,500 เมตรอย่างเลห์ มาใหม่ๆ ต้องจูนคลื่นความถี่ให้หันมาใช้ชีวิตช้าๆ เนิบๆ หากเดินเร็วอาจจะโดนอาการแอลติจูด ซิกเนสโจมตีอย่างฉับพลันได้

ดังนั้นไม่ว่าจะโคจรไปมุมไหนของเลห์ คงต้องพยายามดึงตัวเองให้ใช้ชีวิตเนิบช้าเข้าไว้ที่นี่มีทั้งพระราชวังเลห์ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นกลางเมืองตั้งแต่ช่วงศตวรรษ ที่ 17 ยังมีเจดีย์สันติภาพที่ตั้งบนเนินเขาจังสปา

ขึ้นมาบนนี้นอกจากจะได้ชมรายละเอียดของเจดีย์ที่สวยงามแล้ว ยังเป็นชัยภูมิชั้นดีในการส่องเมืองเลห์อีกด้วย นักท่องเที่ยวหลายคนเลยชอบไต่ขึ้นมารอดูพระอาทิตย์ขึ้นและตกกันบนนี้ไม่เว้นแต่ละวัน

KHAJURAHO (คาจูราโฮ)

ถ้าจะมองหาอินเดียในมุมเอ็กซอติกมากๆ คงไม่มีเมืองไหนของอินเดียที่พอจะอธิบายคำนี้ได้ชัดเจนเท่ากับคาจูราโฮอีกแล้ว คาจูราโฮไม่ใช่แค่เมืองสวยเกลื่อนกลาด แต่เข้าข่ายทั้งสวยแปลกแหวกแนว พูดแบบงามๆ ต้องบอกว่านี่คือเมืองมนตราแห่งกามาวิจิตร

ไฮไลต์ของคาจูราโฮคือการได้รอนแรมไปตามวัดวาอารามที่กระจายตัวอยู่ตามโซนต่างๆ สมัยก่อนวัดในเมืองนี้มีเกือบ 100 แห่ง แต่ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา จนปัจจุบันเหลือวัดให้ดูอยู่ 20 กว่าแห่ง

ถ้าจะตระเวนดูบรรดารูปสลักแนวกามาวิจิตรที่อยู่ตามวัดต่างๆ ให้ทั่ว เผลอๆ อาจต้องใช้เวลาเกินอาทิตย์ แต่หากมีเวลาให้กับคาจูราโฮ อย่างจำกัดจำเขี่ยแนะว่าเที่ยววัดเก่าแก่และสำคัญทางโซนตะวันตกก็อิ่มแล้ว

มาที่นี่ต้องลองไปแหงนคอดูรูปสลักนางอัปสรา มีทั้งที่ยืนโชว์ทรวดทรงแบบธรรมดาและในท่วงท่า เย้ายวน ก็ต้องไปที่วัดลักษมนา เป็นวัดที่ถือว่าเก่าแก่ นอกจากรูปสลักของนางอัปสราที่อยู่รายรอบวัด ยังมีรูปปั้นเทพเจ้าที่อยู่ด้านในด้วย

รูปสลักกามสูตรที่อยู่รายรอบวัดนั้น แกะสลักขึ้นเพื่อบวงสรวงเทพเจ้าตามความเชื่อในยุคนั้น หากแต่ในปัจจุบัน คาจูราโฮก็ถูกพูดถึงว่าเป็นเมืองต้นแบบเชิงศิลปะอันล้ำเลิศของอินเดีย จนเข้าตาองค์การยูเนสโกยกให้วัดและวิหารต่างๆ ทั่วคาจูราโฮ เป็นมรดกโลก

ยังมีวัดกานดาริยาที่ยังคงมีรูปสลักแนวกามาวิจิตรรายรอบวัด เอาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้ชมงานศิลปะแนวอีโรติกกันอย่างจุใจ ส่วนใหญ่วัดและวิหารที่สร้างขึ้นในยุคนั้น มักจะบูชาเทพเจ้าองค์ต่างๆ มีทั้ง พระศิวะ พระวิษณุ พระพิฆเนศ พระองค์อื่นๆ อีกมากมาย หรือไม่ก็บูชาพระอาทิตย์ไม่มีคำไหนเหมาะจะเรียกคาจูราโฮว่า อีโรติกซิตี้ อีกแล้ว

JAIPUR (ชัยปุระหรือไจปูร์)

คงไม่มีเมืองไหนของอินเดียที่เปล่งสีชมพูอมส้มอวดแขกเหรื่อได้ดีเท่ากับเมืองชัยปุระ หรือไจปูร์อีกแล้ว เมืองทั้งเมืองถูกทาสีชมพู

เพื่อต้อนรับเจ้าชายจากอังกฤษเมื่อปี ค.ศ. 1876 นับจากนั้นมาก็มีกฎหมายตีกรอบให้ทุกบ้านในเขตเมืองเก่า ทาสีชมพูเพื่อรักษาธีมเมืองเอาไว้ ใครไม่ทาถือว่าผิดกฎหมาย

หากสัญจรอยู่ภายในเมืองก็จะพบว่าชัยปุระเป็นเมืองที่ถูกออกแบบผังเมืองได้อย่างประณีต ซึ่งคงต้องยกความดีความชอบให้มหาราชา ไสว ชัย ซิงห์ ที่เป็นผู้ก่อร่างสร้างเมืองขึ้นเมื่อ ต้นศตวรรษที่ 18

แลนด์มาร์กของเมืองที่เป็นดั่งแม่เหล็กเหนี่ยวให้นักท่องเที่ยวไปยืนแหงนคอมองกันทุกคนคงจะเป็น “พระราชวังแห่งสายลม” (Palace of Winds) หรือ ฮาวา มาฮาล (Hawa Mahal) สิ่งปลูกสร้างหินทรายสีชมพูอมส้มที่มีหน้าต่างเป็นช่องเล็กๆ เกือบพันช่อง

เอาไว้ให้เหล่าหญิงสาวผู้เป็นนางในพระราชวังได้มาดูความเคลื่อนไหวของโลกภายนอก แต่คนด้านนอกไม่อาจเห็นพวกเธอได้

ขยับจากฮาวา มาฮาล เดินเข้าซิตี้พาเลซ พระราชวังที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงเนรมิตชัยปุระขึ้นเป็นเมือง ด้านในมีทั้งโซนที่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงข้าวของเครื่องใช้ของอดีตมหาราชา ตำหนัก สวน และบางส่วนยังเป็นโซนที่มีมหาราชาองค์ปัจจุบันอาศัยอยู่

เมื่อไปถึงชัยปุระ ควรจะนั่งรถออกนอกเมืองไปสักนิดเพื่อไปที่ป้อมแอมเบอร์ที่ทอดตัวอยู่บนเนินเขา

มุมที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของมหาราชาแห่งชัยปุระมาหลายยุคหลายสมัย ทั้งป้อมปราการและพระราชวังจะทำให้ทุกคน ตะลึงกับความยิ่งใหญ่

นี่คือ 3 เมืองของอินเดียที่จะทำให้คำว่า Incredible India ดูมี น้ำหนักขึ้นเยอะเลย

-จากกรุงเทพฯ บินไปชัยปุระ คาจูราโฮ และเลห์ บินไปตั้งหลักที่ นิว เดลี กันก่อน
สายการบินไทยมีบินไป นิว เดลี ทุกวัน คลิกไปดูที่ www.thaiairways.com
-คนไทยไปอินเดียต้องทำวีซ่า สอบถามที่ 0 2258 3063-4 หรือส่งอีเมลไปถามที่
info.inbkk@vfshelpline.com


Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0