เทคนิคการขับรถขึ้นเขา

ในปลายปี เมืองไทยเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ผู้คนมักเลือกเดินทางไปเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นภูเขาเพื่อสัมผัสทะเลหมอก อากาศเย็นและวิวทิวทัศน์มุมสูงมากขึ้น การที่จะขับรถขึ้นไปบนพื้นที่ที่มีความชันมากๆ ต้องใช้ความชำนาญในการขับรถ และเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ที่ไม่คาดฝัน เรามีเคล็ดลับ ขับรถ ขึ้นเขา-ลงเขา มาฝาก

ใช้เกียร์ต่ำทั้งขาขึ้นและขาลง

ทางขึ้นเขาจะมีความชันมาก รถจึงต้องการแรงมากกว่าการขับรถบนถนนปกติทั่วไป และเกียร์ที่สามารถใช้ในการขับรถขึ้นทางชันได้ ก็มีเพียงแค่เกียร์ 1 และ 2 เท่านั้น เพราะมีแรงมากกว่าเกียร์อื่นๆ ส่วนรถเกียร์ออโต้ ให้เปลี่ยนเกียร์ไปตำแหน่ง L ดีที่สุด ส่วนการขับรถขาลงเขา ก็ควรใช้เกียร์ต่ำเช่นกันเพราะต้องการแรงฉุดจากเครื่องยนต์ให้รถวิ่งช้าลง เพื่อให้สามารถเบรกและเข้าโค้งได้อย่างมั่นคง ควรใช้อยู่ที่เกียร์ 1 หรือ 2 เท่านั้นและห้ามดับรถหรือใช้เกียร์ว่างลงเขาเด็ดขาด

ห้ามใช้เกียร์ว่าง

การขับรถลงทางลาดชัน หรือภูเขา “ห้าม” ใส่เกียร์ว่าง ปล่อยรถให้ไหลโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เสียการทรงตัว และพุ่งลงเขาด้วยความเร็วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามแรงโน้มถ่วงโลก อาจเกิดอันตรายได้ ควรใช้แรงฉุดจากเครื่องยนต์ (ENGINE BRAKE) ในการช่วยเบรก ด้วยการลดเกียร์ลงครั้งละ 1 จังหวะ ตามแต่ความเหมาะสม โดยต้องเปลี่ยนให้สัมพันธ์กับความเร็ว ซึ่งมีผลให้รอบเครื่องยนต์เพิ่มสูงขึ้น แต่ความเร็วของรถจะลดลงอย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถควบคุมรถได้

ระวังทางโค้งและห้ามแซง
ปกติแล้วถนนบนเขา มักมีความคับแคบและคดเคี้ยวมาก ทำให้ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ชัดเจน ดังนั้นเวลาเข้าโค้งจึงควรขับชิดซ้าย (ตามลักษณะการขับขี่ของประเทศนั้น) เข้าไว้ เผื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้หลบหลีก และไม่ควรขับแซงในเขตห้ามแซงหรือไม่ควรขับแซงในที่ที่ไม่สามารถมองเห็นรถอีกฝั่งได้ อย่าได้คร่อมกินเลนหรือคร่อมเลนเข้าไปโดยเด็ดขาด

การใช้ความเร็วและเบรก

ควรขับให้ช้ากว่าปกติ เพราะยิ่งช้าเรายิ่งควบคุมรถได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะทางโค้งลงเขาและถ้าเราไม่ชำนาญเส้นทางด้วยแล้ว ขับให้ช้าลงและชิดซ้ายไว้ ยิ่งทางชันมาก รถยิ่งต้องการระยะเบรก เพิ่มขึ้นกว่าปกติ ควรคำนวณระยะเบรกให้เพิ่มขึ้นด้วยและเว้นระยะห่างจากรถคันหน้าให้มากขึ้น ห้ามเหยียบเบรกค้างนานๆ เพราะจะทำให้เบรกไหม้และเบรกไม่อยู่ ควรเหยียบเบรกให้ลึกแล้ว ปล่อยเป็นจังหวะไปตลอดทาง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0