Desiged Building in Bangkok

เชื่อหรือไม่ว่านักท่องเที่ยวหลายคนที่เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ นอกจากจะเดินทางมาสัมผัสกับวัฒนธรรม ความสวยงามทดลองชิมอาหารอร่อยแสนประหยัดของเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานครแล้ว หลายคนยังเดินทางมาเพื่อชมตึกสวยๆ ดีไซน์แปลกใหม่ในเมืองกรุงแห่งนี้อีกด้วย สำหรับตึกที่น่าสนใจ ทางเราขอยกตัวอย่างสัก 5 ตึกมาให้ได้ชมกัน

ตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร (King Power MahaNakhon)
ตึกคิง เพาเวอร์ มหานคร เป็นอาคารสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ บริเวณสีลมและสาทรติดกับสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี โดยอาคารสูง 78 ชั้น (ความสูง 314 เมตร) แห่งนี้ ถือเป็นอาคารที่สูงที่สุดในประเทศไทย (พ.ศ. 2559-2561 โดยปี พ.ศ. 2562 ได้เปลี่ยนตำแหน่งให้กับตึกไอคอน สยาม ทาวเวอร์ เอ ย่านเจริญกรุง ความสูง 315 เมตร ต่างกันเพียง 1 เมตร) ตึกได้รับการรับรองจากสภาตึกสูงและที่อยู่อาศัยในเมืองเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2559 ด้วยการออกแบบร่วมกันของบริษัท เพซ ดีเวลลอปเมนท์ และอินดัสเทรียล บิลดิ้งส์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (IBC) ออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นลวดลายริบบิ้น 3 มิติพันวนรอบโครงการ กรุกระจกทั้งตึก และจากการที่ต้องการให้เจ้าของห้องชุดสามารถเทกวิว 270 องศา ทำให้อาคารบางส่วนดูเหมือนเว้าไปบ้าง แต่ก็ทำให้ตึกนี้เป็นอาคารสถาปัตยกรรมอันโดดเด่นของกรุงเทพฯ ภายในเป็นประเภทใช้ประโยชน์ผสมผสาน ที่มีความอเนกประสงค์ ประกอบไปด้วย

  1. โรงแรมโอเรียนท์ เอ็กซ์เพรส กรุงเทพมหานคร (Orient Express Hotel MahaNakhon Bangkok) ซึ่งเป็นโรงแรมร่วมทุนระหว่างกลุ่มแอคคอร์ โฮเต็ล (Accor Hotels) และแอ็สแอนเซแอ็ฟ อินเตอร์เนชันแนล (SNCF International)
  2. ห้องชุดเพื่อการพักอาศัย เดอะ ริทซ์-คาร์ลตันแบงค็อก (The Ritz-Carlton Bangkok)
  3. มหานคร สกายวอล์ก (Mahanakhon SkyWalk) จุดชมทัศนียภาพบนชั้นดาดฟ้าของอาคาร
  4. มหานคร แบงค็อก สกายบาร์ (Mahanakhon Bangkok Sky Bar) ห้องอาหารและบาร์ที่สูงที่สุดใน
  5. ประเทศไทย ออกแบบโดยได้แรงบันดาลใจของสายน้ำเจ้าพระยา
  6. มหานคร คิวบ์ (Mahanakhon CUBE) อาคารไลฟ์สไตล์ รีเทล
  7. คิง เพาเวอร์ อินทาวน์สโตร์ (King Power Intown Store)

จีแลนด์ทาวเวอร์ (G Land Tower)
อาคารรูปตัว ‘G’ ตั้งอยู่หัวมุมสี่แยกตัดระหว่างถนนพระราม 9 และถนนรัชดาภิเษก โดยมีเจ้าของโครงการ คือ บริษัท แกรนด์ คาแนล แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ จีแลนด์ ถูกพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานระดับพรีเมียม มีพื้นที่ทั้งสิ้น 134,779 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารสูง 36 และ 26 ชั้น พร้อมด้วยที่จอดรถใต้ดิน 2 ชั้น สำหรับพลาซ่า และที่จอดรถ 6 ชั้น ความพิเศษของตึกคือ ลักษณะการออกแบบโครงสร้างแบบ Column Free Design ไม่มีเสาโครงสร้างกลางห้อง ทำให้ผู้เช่าสามารถออกแบบเพื่อใช้พื้นที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและความสูงจากพื้นถึงฝ้า 3.00 เมตร ซึ่งเป็นความสูงที่สุดของพื้นที่

มาตรฐานของอาคารสำนักงานเกรด เอ จึงให้ความรู้สึกโปร่งสบาย สร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน นอกจากนั้นอาคารยังถูกออกแบบเพื่อเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาตรฐาน LEED (The Leadership in Energy and Environmental Design) ในระดับ Gold จากสถาบันด้านอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกาที่มีชื่อเสียงในระดับโกลด์ จัดให้มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่บริเวณด้านหน้าอาคาร และดาดฟ้า เทคโนโลยีอนุรักษ์พลังงานที่มีประสิทธิภาพ เพื่อการประหยัดค่าใช้จ่าย และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งออกแบบมาเพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืน

โรสวู้ด แบงค็อก (Rosewood Bangkok)
ตั้งอยู่ใจกลางย่านธุรกิจและช้อปปิ้งบนถนนเพลินจิต โรงแรมหรู 32 ชั้นแห่งนี้ เป็นตึกของบริษัท เรนด์ เพลินจิต โฮเต็ล จำกัด เจ้าของคือ พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ และออกแบบโดยบริษัท แทนเด็ม อาร์คิเท็ค โดยได้แรงบันดาลใจมาจากการไหว้ อันเป็นสัญลักษณ์ของคนไทยที่ใช้ในการทักทายและการต้อนรับอันอ่อนน้อมของคนไทย ตึกจึงมีหน้าตาเอียงคล้ายฝ่ามือสองข้างประกบทำท่าไหว้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นศูนย์กลางทางด้านความคิดสร้างสรรค์ แฟชั่น และการออกแบบของภูมิภาค โดยตัวอาคารได้รับรางวัล BEST FUTURA PROJECT จาก MIPIM ASIA AWARDS 2557 (เอ็มไอพีไอเอ็ม เอเชีย อะวอร์ด 2557) ซึ่งเป็นรางวัลงานดีไซน์ระดับโลกมาแล้ว และได้บริษัท ซีเลีย ชู ดีไซน์ แอสโซซิเอทส์ (Celia Chu Design Associates) เป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบภายใน

โดยสร้างสรรค์การตกแต่งสไตล์ร่วมสมัยที่แฝงไปด้วยความอบอุ่น ราวกับเป็นคฤหาสน์ร่วมสมัยใจกลางเมือง โรสวู้ด แบงค็อก เป็นโรงแรมระดับ 6 ดาว ประกอบด้วยห้องพัก 146 ห้อง ร้านอาหาร 2 แห่ง บาร์ สปา สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ห้องประชุมพร้อมพื้นที่อเนกประสงค์สไตล์ห้องพัก และ Sky Villa ชั้นบนสุดของโรงแรม เริ่มเปิดให้บริการในปี พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

เพิร์ล แบงค็อก (Pearl Bangkok)
ตึกเพิร์ล แบงค็อก หรืออาคารไข่มุกแห่งกรุงเทพฯ นั้นเป็นสำนักงานใหญ่ของ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท โดยคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ อาคารตั้งอยู่บนถนนพหลโยธิน ห่างจากสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ประมาณ 200 เมตร ที่มาของชื่อ ‘The Pearl’ มาจากแนวคิด ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’ ตัวตึกมีจำนวนชั้นทั้งหมด 25 ชั้น และมีความสูงเพียง 130 เมตรเท่านั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 30,000 ตารางเมตร ความโดดเด่นของอาคารก็คือ ตัวอาคารทรงรี ที่การออกแบบได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงโค้งมน กลมกลืน และสีสันที่สวยงามของ ‘ไข่มุกแห่งอันดามัน’ ตามชื่อนั่นเอง อาคารแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ‘Pearl Dome’ ด้านหน้าอาคาร ออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ด้วยโครงสร้างเหล็กปราศจากเสาภายใน ใช้สำหรับจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ และ ‘Pearl Tower’ เป็นอาคารสำนักงานให้เช่า สูง 25 ชั้น นอกจากนี้ในตัวอาคารยังมีเทคโนโลยีและระบบต่างๆ ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในทศวรรษนี้ตามมาตรฐาน LEED อาคารเขียว (Green Building) เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ตึกช้าง (Elephant Building, Chang Building)
ตึกช้าง ตึกเก่าแก่ที่สร้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997) เป็นอาคารสูง 32 ชั้น สูง 102 เมตร (335 ฟุต) ตั้งอยู่บนถนนพหลโยธินและถนนรัชดาภิเษก มีบริษัทอรุณ ชัยเสรี คอนซัลติ้ง เอนจิเนียร์ส จำกัด โดย ศ.ดร.อรุณ ชัยเสรี เป็นวิศวกรโครงสร้าง โดย องอาจ สาตรพันธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ด้านสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ปี พ.ศ. 2552 เป็นผู้ออกแบบ ตึกช้างเคยได้รับรางวัลอันดับ 4 ใน 20 อันดับตึกสูงที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นที่สุดของโลก จัดโดย CNNgo เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) เดิมการออกแบบอยู่บนพื้นฐานของอาคารสำนักงานบวกกับอาคารที่พักอาศัย และถูกบังคับให้สร้างตามพื้นที่ที่เป็นลักษณะแนวยาว ด้วยกฎหมายและความต้องการของเจ้าของโครงการจึงแบ่งอาคารเป็น 3 อาคารได้แก่ อาคาร A – สำนักงาน อาคาร B – สำนักงาน อาคาร C – ที่พักอาศัย ต่อมาเมื่อมีความต้องการเรื่องพื้นที่ขายมากขึ้นจึงจำเป็นต้องเชื่อม 3 ทาวเวอร์เข้าด้วยกัน แต่ด้วยข้อกำหนดเรื่องพื้นที่เปิดโล่ง จึงทำให้เชื่อมอาคารได้เพียงส่วนบนและเกิดช่องว่างขนาดใหญ่ 2 ช่อง ศ.ดร.อรุณเห็นว่าอาคารมีลักษณะคล้ายช้างซึ่งถือเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของคนไทยและเป็นสัตว์ที่อยู่ในประวัติศาสตร์ไทย กอปรกับส่วนตัว ศ.ดร.อรุณ ชื่นชอบช้างอยู่แล้ว อาจารย์องอาจจึงออกแบบตกแต่งส่วนของอาคารเพิ่มเพื่อให้รูปลักษณ์คล้ายช้างมากขึ้น แม้ตึกช้าง จะไม่ได้สวยงามมาก แต่ด้วยความสูงโดดเด่นทำให้ตึกช้างกลายเป็นที่สะดุดตาแก่ผู้ที่ผ่านไปมาเป็นอย่างมาก

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0