ไหว้พระทำบุญกัน

เรื่องโดย ทีมงาน Vacationist

ในยามที่สถานการณ์ค่อนข้างตึงเครียดเช่นนี้ การได้ไปไหว้พระทำบุญ ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกสบายอกสบายใจ และเสริมสร้างกำลังใจได้เป็นอย่างดี ครั้งนี้เราเลือก 8 วัด ภาคเหนือ สำหรับคนเที่ยวสายบุญมาฝาก

วัดร่องขุ่น (Wat Rong Khun)

ตั้งอยู่ในตำบลป่าอ้อดอนชัย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เป็นวัดที่เป็นที่รู้จักของคนไทยและคนต่างชาติเป็นอย่างดี วัดนี้ออกแบบและก่อสร้างโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ซึ่งปรารถนาจะสร้างวัดให้เหมือนเมืองสวรรค์ที่มนุษย์สัมผัสได้ เริ่มสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2540

ความโดดเด่นของวัดอยู่ที่ตัวอุโบสถเป็นสีขาวล้วน ตกแต่งด้วยงานปูนปั้นอ่อนช้อยคดโค้งอันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมความแวววับจากกระจกชิ้นเล็กที่ประดับอยู่ ส่องประกายจับตายามที่แสงอาทิตย์กระทบ ที่นี่ได้รับฉายาว่า ‘White Temple’ โดยสีขาวนั้นสื่อถึงพระบริสุทธิคุณของพระพุทธเจ้า

ซึ่งทางอาจารย์เฉลิมชัยมีแรงบันดาลใจในการสร้างวัดแห่งนี้อยู่ 3 ประการ คือ เพื่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ นอกจากอุโบสถสีขาวที่โดดเด่นแล้วภายในอุโบสถยังเต็มไปด้วยภาพวาดฝีมืออาจารย์ที่เน้นโทนสีทองทั้งหมดเป็นภาพเขียนที่แสดงถึงการหลุดพ้นจากกิเลสมาร มุ่งเข้าสู่โลกุตตรธรรม

สถาปัตยกรรมโดยรอบของอุโบสถก็แฝงไปด้วยปริศนาธรรมมากมาย มีสระน้ำรอบล้อมโบสถ์เปรียบดังมหานทีสีทันดร ก่อนขึ้นสะพานครึ่งวงกลมเล็ก หมายถึง โลกมนุษย์ ส่วนวงใหญ่ที่มีเขี้ยวเป็นปากของพญามารหรือพระราหู หมายถึง กิเลสในใจแทนขุมนรก คือทุกข์ การเดินข้ามสะพานคือการเดินข้าม จากวัฏสงสารสู่พุทธภูมิซึ่งคือตัวพระอุโบสถ ที่เปรียบดังดินแดนแห่งการหลุดพ้น

ระหว่างข้ามสะพานก็จะผ่านพระราหูอยู่เบื้องซ้ายและพญามัจจุราชอยู่เบื้องขวา สันของสะพานมีอสูรกลืนกัน ข้างละ 8 ตัว 2 ข้าง รวมกันแทนอุปกิเลส 16 กึ่งกลางสะพานแทนด้วยเขาพระสุเมรุเป็นที่อยู่เทวดา มีดอกบัวทิพย์ 4 ดอกใหญ่ตรงทางขึ้นด้านข้างอุโบสถแทน ซุ้มพระอริยเจ้า 4 พระองค์ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ ส่วนบันไดทางขึ้นนั้นมี 3 ขั้นแทน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จากนั้นผ่านเข้าสู่อรูปพรหม 4 แทนด้วยดอกบัวทิพย์ 4 ดอกและบานประตู 4 บาน บานสุดท้ายเป็นกระจกสามเหลี่ยม แทนความว่าง ซึ่งหมายถึงความหลุดพ้น แล้วจึงก้าวข้ามธรณีประตูเข้าสู่พุทธภูมิ

นอกจากนี้ที่วัดยังมีห้องน้ำสีทองอร่ามสะดุดตา มีหอศิลป์ฯ และห้องแสดงภาพที่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมภาพศิลปะหรือซื้อของที่ระลึกและประติมากรรมที่งดงามได้

วัดร่องเสือเต้น (Wat Rong Suea Ten)

ตั้งอยู่ริมแม่น้ำกก ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย วัดร่องเสือเต้นแห่งนี้เป็นฝีมือของ “สล่านก หรือนายพุทธา กาบแก้ว” ศิลปินท้องถิ่นชาวเชียงราย ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย และเคยทำงานสร้างวัดร่องขุ่นมาก่อน

ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้อยู่ที่วิหารของวัด ที่นอกจากจะมีความงดงามของศิลปะแนวประยุกต์แล้ว การใช้สีน้ำเงินฟ้าซึ่งเปรียบเสมือนดังท้องฟ้าที่สดใส เป็นศิลปะพุทธศิลป์ร่วมสมัยที่แฝงด้วยธรรมของพุทธองค์ ตัดกับสีทองแปลกตาทำให้ที่นี่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักท่องเที่ยวว่า วัดสีน้ำเงิน หรือ The Blue Temple นั่นเอง

ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธรัชมงคลบดีตรีโลกนาถสีขาวมุกที่มีความงดงามอ่อนช้อย มีความสูง 6.5 เมตร ด้านใต้ของพระพุทธรูปมีพระรอดลำพูน จำนวน 88,000 องค์ แก้วแหวนเงินทองและสิ่งของอื่นๆ

ฝาผนังล้อมรอบด้วยภาพเขียนจิตรกรรมที่ความอ่อนช้อย สวยงามของลายเส้นบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ หากเดินไปด้านหลังของวิหารก็จะเห็นพระพุทธรูปปางห้ามญาติสีขาวองค์ใหญ่ ด้านหลังเป็นสีฟ้าล้อมรอบด้วยสีทองประดิษฐานอยู่

นอกจากนี้ยังมีพระธาตุเกศแก้วจุฬามณี ห้าพระองค์ที่มีความสูง 20 เมตรอยู่อีกด้วย

วัดพระธาตุดอยกองมู (Wat Phrathat Doi Kongmu)

วัดศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ตำบลจองคำ อำเภอเมือง เดิมเรียกว่าวัดปลายดอย ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระธาตุดอยกองมู ตามชื่อของสถานที่ตั้งซึ่งคำว่ากองมูเป็นภาษาไทใหญ่ หมายถึง พระเจดีย์

เนื่องจากวัดตั้งอยู่บนดอยกองมู ทำให้เราสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ของตัวเมืองแม่ฮ่องสอนมุมสูงอย่างสวยงามชัดเจนได้จากที่นี่

วัดมีพระธาตุเจดีย์ที่สวยงาม 2 องค์ พระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่เป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญประดับลวดลายปูนปั้น มีฐานแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยซุ้มพระตามทิศทั้งแปด สร้างโดยพ่อค้าชาวไทใหญ่ชื่อ “จองต่องสู่” เมื่อ พ.ศ. 2403 เป็นที่บรรจุพระธาตุของ พระโมคคัลลานะเถระ ซึ่งนำมาจากประเทศพม่า

ส่วนพระธาตุเจดีย์องค์เล็กเป็นเจดีย์ทรงเครื่องแบบมอญ มีฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนสามชั้น ตรงมุมทั้งสี่ของฐานมีปูนปั้นรูปสิงห์ประดับอยู่ บริเวณฐานด้านล่างประดับด้วยซุ้มพระแบบศิลปะมอญ ซุ้มประธานมีหลังคาประดับเรือนยอดสามยอด สร้างเมื่อ พ.ศ. 2417 โดย “พระยาสิงหนาทราชา” เจ้าผู้ครองเมืองแม่ฮ่องสอนคนแรก เพื่อเป็นที่ระลึกในการขึ้นครองเมืองและเป็นที่บรรจุพระธาตุของพระโมคคัลลานะเถระซึ่งนำมาจากพม่า

ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาสักการะพระธาตุเจดีย์นี้ จะบูชาด้วยพานดอกไม้ ธูป เทียน บูชาด้วยการถือเครื่องสักการะวนรอบเจดีย์ 3 รอบก่อนนำไปวางไว้ที่หน้าพระประจำวันเกิดซึ่งประดิษฐานอยู่รอบพระเจดีย์ นอกจากพระธาตุเจดีย์สีขาวตามแบบศิลปะไทใหญ่ที่สวยงามแล้ว ตัววิหารวัดพระธาตุดอยกองมูที่เป็นอาคารทรงเปิดโล่ง และมีหลังคาซ้อนสามชั้นมุงด้วยกระเบื้องไม้ และฉลุลายตามแบบไทใหญ่ก็สวยงามไม่แพ้กัน

วัดจองคำ และวัดจองกลาง (Wat Chong Kham and Wat Chong Klang)

เปรียบเสมือนวัดแฝด ด้วยตั้งอยู่ในกำแพงเดียวกัน เป็นอีกหนึ่งวัดที่จะได้เห็นศิลปะอันสวยงามของชาวไทใหญ่ หากมองจากด้านหน้าเข้าไป ด้านซ้ายมือคือ วัดจองคำ ส่วนทางขวามือคือวัดจองกลาง วัดตั้งอยู่ตำบลจองคำ อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ทราบหรือไม่ว่าวัดจองคำเป็นวัดที่ถูกสร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และอยู่คู่บ้านคู่เมือง มากว่าร้อยปี ที่มาของคำว่าจองคำมาจากเสาวัดที่ประดับด้วยทองคำเปลวจนเหลืองอร่าม ภายในวิหารแห่งนี้ ประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อโตสร้างขึ้นโดยฝีมือของ “ช่างสล่าโพโต่ง เตชะโกเมนต์” มีลักษณะเป็นองค์พระพุทธรูปปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ที่มีพระพักตร์อวบอิ่มเป็นลักษณะตามศิลปะพม่า อีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นคือ หลังคาวัดทรงปราสาท 9 ชั้น เชิงชายประดับไม้ฉลุดูงดงาม หลังคาที่เป็นยอดปราสาทเช่นนี้สร้างตาม ความเชื่อที่ว่าปราสาทเป็นของสูงสำหรับศาสนาและพระมหากษัตริย์

วัดจองกลางเดิมเป็นเพียงสถานที่ตั้งศาลาของวัดจองใหม่ให้ผู้คนพักระหว่างถือศีลปฏิบัติธรรมก่อนปรับเปลี่ยนเป็นมีพระภิกษุพม่ามาพักอาศัยช่วงร่วมงานฌาปนกิจของท่านเจ้าอาวาสวัดจองใหม่องค์สุดท้าย ชาวบ้านจึงสร้างเป็นวัดขึ้นมา โดยมากผู้คนที่มาวัดนี้ นอกจากกราบนมัสการพระพุทธรูปแล้วก็มักจะแวะชมพิพิธภัณฑ์จัดแสดงตุ๊กตาไม้ ซึ่งตุ๊กตาไม้แกะสลักเหล่านี้ ถูกนำมาจากประเทศพม่าตั้งแต่ พ.ศ. 2400 รวมถึงภาพพระราชประวัติของเจ้าชายสิทธัตถะ และภาพวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตอีกด้วย

วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร (Wat Phra That Doi Suthep)

สำหรับคนที่เดินทางมาจังหวัดเชียงใหม่ ไม่มีใครไม่รู้จักวัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดตั้งอยู่บนยอดดอยสุเทพ ตำบลสุเทพ อำเภอเมืองแห่งนี้ ดอยสุเทพ แต่เดิมเป็นที่อยู่อาศัยของฤๅษี มีนามว่า สุเทวะ เป็นภาษาบาลี มีความหมายว่า เทพเจ้าที่ดี ตรงกับความหมายของคำว่า สุเทพ นั่นเอง เพราะฉะนั้นจึงได้ชื่อว่า ดอยสุเทพ ซึ่งมาจากชื่อของฤๅษี คือ สุเทวะฤๅษี และด้านใต้องค์พระบรมธาตุที่อยู่ด้านบนของดอยสุเทพ มีการฝังพระบรมสารีริกธาตุไว้ใต้ดิน เพื่อให้พระบรมธาตุได้แผ่ความเป็นมงคลไปจนทั่วทั้งเมือง ถือเป็นที่มาของความอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมือง อีกทั้งตามความเชื่อของคนล้านนาวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นพระธาตุประจำปี เกิดของคนปีมะแมอีกด้วย ทำให้ที่นี่เป็นที่เคารพนับถือของชาวเมืองเชียงใหม่และผู้คนทั้งหลายมาช้านาน ความโดดเด่นของวัดแห่งนี้

นอกจากจะเป็นจุดที่สามารถเห็นวิวมุมสูงที่สวยงามของเชียงใหม่แล้ว สถาปัตยกรรมต่างๆ เริ่มจากทางขึ้นพระธาตุซึ่งบันไดนาคนี้ ก่อนจะเป็นบันไดนาค 7 เศียร 185 ขั้นในทุกวันนี้ บันไดแห่งนี้มีนาคเศียรเดียวและมีบันได 173 ขั้นเท่านั้น องค์เจดีย์ทรงเชียงแสน สีทองอร่าม ก่อสร้างตามแบบศิลปะล้านนา ตามความเชื่อแล้วการได้มาสักการะพระธาตุด้วยข้าวตอก ดอกไม้ ธูปเทียนแล้วเดินเวียนขวา 3 รอบ พร้อมกล่าวคำนมัสการพระธาตุ จะทำให้เราสำเร็จสมหวังดังปรารถนา แคล้วคลาด ผ่านอุปสรรคนานาไปได้ พระธาตุมี 4 ทิศ แต่ละทิศก็ให้อานิสงส์ที่ต่างกัน ทั้งขอให้ขึ้นสวรรค์ สำหรับทางทิศตะวันออก เป็นต้น มากราบนมัสการพระธาตุดอยสุเทพแล้ว อย่าลืมไปกราบอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ประดิษฐานอยู่ตรงเชิงดอยสุเทพเพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย

วัดอุโมงค์-สวนพุทธธรรม (Wat Umong Suan Phutthatham)

หากคุณต้องการสัมผัสความเป็นวัดท่ามกลางป่า ธรรมชาติสีเขียวละก็ ต้องมาที่ วัดอุโมงค์ (สวนพุทธรรม) ซึ่งตั้งอยู่ ตำบลสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

จุดโดดเด่นของวัดนี้อยู่ที่อุโมงค์ใต้พระเจดีย์ 700 ปี ที่มีความแปลกแบบที่ไม่สามารถพบเห็นได้จากวัดทั่วไป ซึ่งในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราชสร้างขึ้นเพื่อถวายให้พระมหาเถรจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกใช้เป็นที่วิปัสสนากรรมฐานโดยเป็นอุโมงค์ที่เชื่อมต่อกันถึง 4 อุโมงค์

เพดานของอุโมงค์มีการเขียนภาพสีน้ำมันไว้ตลอดเน้นสีเขียวกับแดง ส่วนฝาผนังเจาะช่องสำหรับจุดเทียนประทีป เพื่อให้เกิดแสงสว่างยาวที่พระเดินจงกรม ส่วนตัวองค์พระเจดีย์ 700 ปี ซึ่งเป็นเจดีย์เหนืออุโมงค์นั้นเป็น เจดีย์ทรงระฆังคว่ำ ทรวดทรงแบบพระเจดีย์ในเมืองลังกา

นอกจากนี้วัดอุโมงค์ ยังมีสถานที่สำคัญอื่นๆ ซึ่งแบ่งเป็นหลายส่วนด้วยกัน คือ เสาหินอโศกจำลอง, หลักศิลาจารึก, บันไดขึ้นไปเจดีย์, เศียรพญานาค, รูปพระโพธิสัตว์, พิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง, โรงภาพปริศนาธรรม, หอสมุดธรรมโฆษณ์, พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ และสำนักงานสวนพุทธธรรมอีกด้วย

วัดพระธาตุลำปางหลวง (Wat Phra That Lampang Luang)

ตั้งอยู่ที่ตำบลลำปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ตามความเชื่อของคนล้านนา วัดพระธาตุลำปางหลวงเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จในปีฉลูเช่นกัน เป็นวัดไม้ที่สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย ภายในองค์พระเจดีย์กลมทรงระฆังควำ ซึ่งเป็นเจดีย์แบบพุกามล้านนา ประกอบด้วยฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมด้วยบัวมาลัยสามชั้น เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ฉลุลายนั้น บรรจุพระเกศา และพระอัฐิธาตุจากพระนลาฏข้างขวา พระศอด้านหน้าและด้านหลัง ที่รั้วทองเหลืองรอบองค์พระธาตุมีรูกระสุนปืนที่หนานทิพย์ช้างยิงท้าวมหายศปรากฏอยู่

พระธาตุลำปางหลวง ถือว่าเป็นตัวแทน เขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางจักรวาล ตามที่ช่างโบราณได้จำลองจักรวาลที่มีอยู่ในคัมภีร์โบราณเช่นในไตรภูมิพระร่วงมาไว้ที่นี่ องค์พระธาตุนั้นเปรียบได้กับพระเจดีย์จุฬามณี ที่ประดิษฐานบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นวิมานของพระอินทร์ การได้มานมัสการพระธาตุลำปางหลวงก็เปรียบเสมือนได้ไป นมัสการพระเจดีย์จุฬามณีอันศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง

บริเวณโดยรอบของวัดยังมีสถาปัตยกรรมเก่าแก่อีกมากมายทั้งวิหารหลวง, วิหารพระพุทธ, ซุ้มพระบาท, กุฏิพระแก้ว, วิหารพระเจ้าศิลา และพิพิธภัณฑ์ สิ่งหนึ่งที่หลายคน มาที่นี่แล้วต้องทำ คือการชมความมหัศจรรย์ของเงาพระธาตุ และพระวิหารในด้านมุมกลับบริเวณซุ้มพระบาท ซึ่งสร้างครอบพระพุทธบาท แต่จุดนี้ให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นจึงจะเข้าไปด้านในได้ ผู้หญิงไม่อนุญาตให้เข้า

วัดพระธาตุหริภุญชัย (Wat Phra That Haripunchai Woramahawihan)

ตามความเชื่อของคนล้านนาวัดพระธาตุหริภุญชัย เป็นพระธาตุประจำปีของคนเกิดปีระกา ตั้งอยู่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นวัดที่รวมจิตใจของชาวลำพูน ก่อนเข้าวัดจะเห็นซุ้มประตูก่ออิฐถือปูนลวดลายสวยงามที่เกิดจากช่างฝีมือสมัยศรีวิชัย ที่สะดุดตาอย่างหนึ่งคือ สิงห์คู่ สีน้ำตาลอมแดงโดดเด่น

ซึ่งปั้นขึ้นในสมัยพระเจ้าอาทิตยราช เมื่อครั้งถวายวังให้เป็นสังฆาราม เดินเข้าซุ้มประตูไปจะเห็นวิหารหลวงหลังใหญ่ ใช้ประกอบศาสนกิจ ภายในประดิษฐานพระมหามุนีศรีหริภุญชัย ก่ออิฐถือปูน ลงรักปิดทองเป็นองค์ประธาน

ข้างองค์พระประธานมีองค์พระบริวาร 2 องค์อยู่ซ้าย-ขวาและมีพระพุทธปฏิมาหล่อโลหะขนาดกลางสมัยเชียงแสนชั้นต้น และชั้นกลางอีกหลายองค์ ด้านหลังของวิหารหลวงคือ พระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาไทยแท้หุ้มทองจังโกสีทองงดงาม มีพระเกศบรมธาตุบรรจุในโกศทองคำ

โดยรอบพระบรมธาตุ มีสัตติ-บัญชร (รั้วเหล็กและทองเหลือง) 2 ชั้น นอกจากนี้ยังมีโคมประทีป และแท่นบูชาก่อประจำไว้เพื่อเป็นที่สักการบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วไป ภายในบริเวณวัดยังมีโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น หอธรรม มี 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นอาคารปูน ชั้นบนเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องไม้ ประดับลวดลายฉลุไม้ลงรักปิดทองอย่างสวยงาม

หรือหอระฆัง-กังสดาล ซึ่งอยู่ทางเหนือใกล้กับวิหารหลวง จะเห็นอาคารปูนโล่ง 2 ชั้น ด้านล่างมีฆ้องใบใหญ่ หล่อขึ้นที่วัดพระสิงห์ใน พ.ศ. 2402 ชั้นบนแขวนระฆังสัมฤทธิ์ที่หล่อขึ้นในสมัยพระเจ้าดาราดิเรกรัตนไพโรจน์ ผู้ครองเมืองลำพูน ช่วง พ.ศ. 2414-2433 และอาคารพิพิธภัณฑ์ 50 ปี ด้านในจัดแสดงวัตถุโบราณและสิ่งของต่างๆ มากมาย นับเป็นศาสนสถานที่เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้อีกทางหนึ่ง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0