Taitung more than you know ไถตงมีมากกว่าที่คุณรู้

Story & Photo by Editorial Staff

ท่ามกลางขุนเขาและสายหมอกที่ล่องลอยเอื่อยๆ ละเลียดเรื่อยไปในทิวเขา ค่อยๆ เคลื่อนตัวเข้ามาโอบกอดเราคล้ายต้อนรับการมาถึงของนักเดินทางต่างถิ่นอย่างเช่นเรา

เสียงของหัวหน้าเผ่าปู้หนง (Bunun) หนึ่งในชนเผ่าพื้นเมืองของไต้หวัน กล่าวสักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่พิทักษ์ป่าของพวกเขา และต้อนรับเราสู่พื้นที่ของพิพิธภัณฑ์ป่าไม้ลวนซาน (Lushan Tribe – Forest Museum) อยู่ในเขตการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Eastern Rift Valley ระหว่างเมืองฮัวเหลียน (Hualien) กับเมืองไถตง (Taitung) ซึ่งเป็นเมืองเอกทางตอนใต้ของไต้หวัน จากตัวเมืองไถตงขับรถมาประมาณ 40 นาทีเท่านั้น

East Rift Valley Line
กลับมาที่พิพิธภัณฑ์ป่าไม้ลวนซานหลังจากได้มีการบอกเล่าเก้าสิบกับสถานที่กันแล้ว หัวหน้าเผ่าก็ได้พาพวกเราเข้าไปสำรวจภายในป่าแห่งนี้ ทั้งได้อธิบายเกี่ยวกับชนิดต้นไม้

ประวัติความเป็นมาของป่าแห่งนี้ซึ่งเดิมเป็นที่อาศัยของชนเผ่าพื้นเมืองที่ชื่อหลวนซาน (Luanshan) ต่อมาในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองและมีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ทางรวมทั้งป่าแห่งนี้ อาลีมัน (Aliman) หัวหน้าชนเผ่าได้รวบรวมเงินมาจ่ายให้กับนายทุนและได้เข้ามาดูแลปกป้องรักษาผืนป่าแห่งนี้ไว้แทน โดยเก็บรักษาความเป็นอยู่วิถีธรรมชาติ พร้อมทั้งจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพื่อความยั่งยืน ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้และศึกษากิจกรรมของชนเผ่า

โดยไฮไลต์หลักคือต้นไม้เดินได้ซึ่งยืนต้นเป็นสง่าอยู่กลางป่า เหตุที่เรียกว่าต้นไม้เดินได้เพราะรากของต้นไทรยักษ์ที่ห้อยย้อยลงมาและเชื่อมต่อทอดยาวออกไปคล้ายต้นไม้คืบคลานไปเรื่อยๆ นั่นเอง

เรายังได้ทดลองยิงธนูที่ใช้ในการล่าสัตว์และรับประทานอาหารพื้นเมืองของชนเผ่าด้วย กิจกรรมนี้เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว ทั้งในและต่างประเทศที่เดินทางมาที่ East Rift Valley และหากใครเป็นคอภาพยนตร์ของ Jackie Chan จะพบว่าที่นี่ยังได้รับเลือกให้เป็นฉากของภาพยนตร์ CZ12: Chinese Zodiac ในปี 2011 อีกด้วย

ด้วยพื้นที่ที่เป็นขุนเขาในโซนของ Eastern Rift Valley แห่งนี้มีมากมายหลายจุด อย่างเช่นบริเวณพื้นที่บนภูเขาสูงที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของหลงเตียน (Longtian) ที่เรียกว่า พื้นที่ราบสูง ลูเหย่ (Luye Highland) ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 350 เมตร อยู่ไม่ไกลจากศูนย์นิทรรศการใบชาไฮแลนด์ (Highland Tea Leaves Exhibition Center) มากนัก

คุณจะเห็นลานหญ้าสีเขียวขจีขนาดใหญ่ของศูนย์ฝึกอบรมการกระโดดร่มไฮแลนด์ (Highland Paragliding Training Center) และถ้าคุณปีนจากเนินหญ้าไปยังศาลาชมวิวที่อยู่ด้านบน

คุณจะเห็นภาพของหุบเขาทั้งหมดรวมถึงแม่น้ำเป่ยหนาน (Beinan River) ที่บริเวณนี้มีกิจกรรมเอ็กซ์ตรีม (Extreme) แบบที่ได้ออกไปสัมผัสท้องฟ้าให้คนที่ชื่นชอบกีฬาเช่นนี้ได้สัมผัสกัน กับกิจกรรมขึ้นบอลลูน (hot air balloon)

ก็มีโรงเรียนบอลลูนร้อน (Skyrainbow Arilines – Hot air balloon School) เปิดให้บริการเกี่ยวกับการเรียนรู้เรื่องของบอลลูน และมีกิจกรรมขึ้นบอลลูนบริการ เราสามารถมาแต่เช้าตรู่แล้วขึ้นบอลลูนไปสัมผัสความสดชื่นของแสงยามเช้าได้ สนนราคาไม่แพงมากนักสำหรับลอยอยู่นิ่งตรึงกับพื้นราคาประมาณ 1,000 เหรียญไต้หวัน แต่ถ้าลอยออกไปประมาณ 45 นาทีก็อยู่ที่ 9,000 เหรียญไต้หวันต่อคน

บอลลูนลูกหนึ่งขึ้นได้ประมาณ 4-5 คนรวมทั้งคนบังคับด้วย ถือได้ว่าราคาไม่แพงมากนัก แต่ถ้าชื่นชอบกีฬาที่ได้เหินฟ้า จริงๆ แล้วละก็ ขอแนะนำกิจกรรมพาราไกลดิ้งหรือร่มร่อน (Paragliding) สนนราคาสำหรับให้คุณได้เหินฟ้าราคาจะอยู่ที่ 3,000 เหรียญไต้หวันต่อคน ช่วงเวลาที่เหมาะกับการทำกิจกรรม เหล่านี้คือ เดือนมิถุนายน, กรกฎาคม และสิงหาคม ดังนั้น ในช่วงเวลาดังกล่าวทางไต้หวันจึงมีการจัดเทศกาลประจำปีที่เรียกว่า Taiwan’s Taitung Hot Air Balloon Festival ขึ้น

สำหรับปี 2019 นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2019 ภายในงานจะมีการแสดงบอลลูนจากหลายประเทศ นอกจากที่คุณจะได้ขึ้นไปสัมผัสท้องฟ้าของเมืองไถตง ได้เห็นหุบเขา ท้องทุ่ง และไร่ชา ภายในงานยังมีการแสดงดนตรีให้ได้เพลิดเพลินกันอีกด้วย บอกได้คำเดียวเลยว่าห้ามพลาด

อีกหนึ่งจุดที่ไม่ควรพลาดในโซน Eastern Rift Valley ก็คือทางจักรยานฉือซ่าง (Chihshang Bicycle Trial) แต่ถ้าพูดว่าไปเที่ยวทางจักรยานฉือซ่างเมืองฉือซ่างแล้วละก็ หลายคนอาจจะไม่คุ้นหูน่ะ แต่ถ้าบอกว่าถนนมิสเตอร์บราวน์ (Mr. Brown Avenue) แล้วละก็ อาจพอคุ้นหูอยู่บ้าง

เพราะด้วยโฆษณาชุดหนึ่งของกาแฟมิสเตอร์บราวน์นั่นเองที่สร้างชื่อเสียงให้กับถนนสายนี้ ประกอบกับต่อมามีสายการบินหนึ่งได้ทำโฆษณาเกี่ยวกับไต้หวันและมีภาพของที่นี่ ทำให้ผู้ที่รักการท่องเที่ยวจากทั้งไต้หวันเองและจากต่างชาติเข้ามาสัมผัส

ทางจักรยานที่ล้อมรอบไปด้วยนาข้าวสีเขียวที่กำลังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองทองสุดสายตาจรดกับฉากของท้องฟ้าสีครามและภูเขาสีเขียวขจี คือทิวทัศน์อันสวยงามจนได้รับฉายาว่า “Green Road of Paradise” หากมาด้วยตนเองสามารถลงรถไฟที่สถานีฉือซ่าง

จากนั้นเช่าจักรยานปั่นมาได้ ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรจากสถานีรถไฟ หรือเช่ารถจากสถานีมาส่งแล้วมาเช่าจักรยานที่นี่ได้ มีบริการเช่าจักรยานทั้งแบบปั่นเอง ปั่นเป็นคู่ หรือจะปั่นรวมกับพ้องเพื่อนแบบ 4 คนได้ และที่สำคัญไม่ต้องกลัวเหนื่อยมากจักรยานที่นี่เป็นจักรยานไฟฟ้า

ห่างออกไปไม่ไกลนัก เราสามารถไปแวะรับประทานอาหารท้องถิ่นของไถตงได้ที่บริเวณสหกรณ์การเกษตรฉือซ่าง (Rice – Husking Mill of Farmers Association of Chihshang Hsiang)

ฉือซ่างเป็นพื้นที่ทางตอนเหนือของไถตงที่เป็นพื้นที่หุบเขา มีทรัพยากรดินที่อุดมสมบูรณ์ น้ำที่สะอาดใสบริสุทธิ์ รวมถึงอากาศที่อบอุ่น

เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวสายพันธุ์ Tsisan ซึ่งเป็นสายพันธุ์อันมีชื่อเสียง ที่สหกรณ์แห่งนี้ก็มีการจำหน่ายข้าวหลากหลายชนิดให้เลือกซื้อไปบริโภคและเป็นของฝากได้

East Coast Line
ด้วยระยะทางความยาวกว่า 70 กิโลเมตรเลาะเลียบตามชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ที่ติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นภูมิทัศน์ที่แสดงให้เห็นถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของเมืองไถตงแห่งนี้ จากสถานีขนส่งหรือสถานีรถไฟไถตงมุ่งไปตามถนนหมายเลข 11 จะผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายจุด ยกตัวอย่างเช่น ซั่นเซียนไถ (Sanxiantai) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอำเภอเฉิงกง ไถตง

เกิดจากการรวมตัวของหินภูเขา เดิมเป็นแหลมที่ยื่นออกไปในทะเล แต่เมื่อเวลาผ่านไปถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนปลายของแหลมขาดออกเป็นเกาะกลางทะเล ซึ่งบนเกาะนั้นมีหินรูปร่างแตกต่างกันมากมาย ในจำนวนนั้นมีหินขนาดใหญ่ 3 ก้อน

โดยชาวไต้หวันเขาเปรียบหินทั้งสามก้อนนี้เสมือนนักบุญ 3 องค์ นั่นก็คือ หลี่ เถีย ไกว่ หรือ หลี่ขาเหล็ก (Li Tieguai) ลหฺวี่ ต้งปิน (Lu Dongbin) และ เหอเซียนกู่ (He Xian Gu) เคยมาเยือนที่เกาะแห่งนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ซั่นเซียนไถ นั่นเอง

พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 220,000 ตารางเมตร จุดสูงสุดอยู่เหนือระดับน้ำทะเลประมาณ 77 เมตร พื้นที่โดยรอบของเกาะล้อมรอบด้วยแนวปะการัง ที่เกิดการกัดเซาะ ทำให้เกิดเป็นรูปทรงหลายอย่าง ปัจจุบันมีการสร้างสะพานแปดโค้งรูปคลื่น คล้ายกับมังกรใหญ่ที่แหวกว่ายในทะเลจากเกาะไต้หวันไปยังเกาะซั่นเซียนไถ

และที่นี่เป็นจุดที่คุณจะได้เห็นแสงอาทิตย์แรกของเกาะไต้หวัน ดังนั้นตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ทางที่ทำการวนอุทยานแห่งชาติชายฝั่งทะเลตะวันออกจึงได้จัด “กิจกรรมต้อนรับแสงอรุณแรกแห่งปีซั่นเซียนไถ” ขึ้นเป็นประจำในวันที่ 1 มกราคมของทุกปี

ทำให้ในช่วงปีใหม่จะมีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาชมแสงแรกของปี ทำให้ที่นี่เป็นสัญลักษณ์ที่มีชื่อเสียงของชายฝั่งทะเลตะวันออกในที่สุด

จากซั่นเซียนไถระหว่างทางแวะกันที่จุดชมวิวที่สามารถมองเห็นวิวแบบพานอรามาที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิกและ อ่าวจินซั่น (Jinzun Harbour) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของหมู่บ้านชาวประมงดองฮี (Donghe Village) รูปทรงอ่าว คุณจะเห็นรูปร่างของอ่าวและแผ่นดินที่เชื่อมต่อกันไปเป็นลักษณะคล้ายกับรูปสมอเรือ

ส่วนพิเศษของที่นี่คือ หาดทรายที่ทอดยาวกว่า 3 กิโลเมตร มีบันไดไม้ที่สามารถเดินลงไปเดินเล่นบนชายหาด ฟังเสียงคลื่นได้ ด้วยพื้นที่ที่ลาดชันของชายหาดที่นี่จึงไม่เหมาะกับการว่ายน้ำ แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงมีนาคม ที่อากาศเป็นใจ คลื่นลมกำลังดี เราจะเห็นเหล่านักโต้คลื่นเดินทางมาเล่นกระดานโต้คลื่นกันที่นี่มากมาย

สำหรับคนที่ไม่ถนัด แนะนำให้ขึ้นไปกินลมชมวิวและดื่มกาแฟหอมที่ทำจากน้ำกรองจากหินบริเวณนี้ ก็น่าสนใจไม่ใช่น้อย ไม่ไกลจากจุดชมวิวอ่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ครั้งแรกอาจจะธรรมดาแต่แปลกตาไม่ใช่น้อยกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นั่นคือ จุดชมสายน้ำที่ไหลย้อนสู่เบื้องสูง (Water Flowing Upwards)

เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์ในครั้งแรกเมื่อเราวางใบไม้ลงไปในร่องน้ำ แล้วใบไม้กลับไหลไปตามสายน้ำที่ยกระดับขึ้นไปด้านบนของเนินเขา ดูแล้วช่างขัดแย้งกับแรงดึงดูดของโลกไม่ใช่น้อย แต่ในความจริงแล้วหลักการง่ายมากคือ ด้านข้างของร่องน้ำเป็นถนนสายเล็กๆ ที่เป็นทางลาดลงเขาแต่ร่องน้ำไม่ได้ลาดลง เมื่อเรายืนในจุดที่ต่ำและมองร่องน้ำไปพร้อมๆ กัน จึงเกิดเป็นภาพลวงตาเหมือนว่าสายน้ำไหลขึ้นไปตามเนินเขา

นอกจากทัศนียภาพทางภูมิศาสตร์ที่แปลกใหม่แล้ว ศูนย์พักผ่อนยังมีร้านค้าจำหน่ายผลไม้ ของแปรรูปและของที่ระลึกให้ได้เลือกซื้อด้วย

เดินทางกันต่อไปที่ศูนย์อนุรักษ์ปลาฟู่ซ่าน (Fushan Marine Sanctuary/ Fushan Fishery Reserve) เป็นพื้นที่เชิงนิเวศทางทะเลที่สวยงามแห่งหนึ่ง

แต่เดิมพื้นที่แห่งนี้ได้รับความเสียหายจากการทำการประมงที่ผิดกฎหมาย แต่หลังจากที่ได้มีการจัดตั้งศูนย์อนุรักษ์แห่งนี้ขึ้น ผ่านไป 2 ปี ระบบนิเวศวิทยาที่นี่ก็ดีขึ้น จะเห็นปะการังเปลือกหอย สายพันธุ์ปลาท้องถิ่น ได้จากบริเวณศูนย์นี้

แม้ว่าชายหาดของที่นี่เป็นหาดหินไม่ใช่หาดทรายอย่างเช่นที่บ้านเรา แต่ทางศูนย์ฯ ก็ได้ทำทางเดินลงไปที่ทะเลให้เราได้ไปศึกษาระบบนิเวศทางทะเลได้ ที่นี่จึงเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัวอย่างมาก

Kalolowan

อีกหนึ่งจุดชมวิวที่น่าสนใจนอกจากจุดชมวิวทะเลที่ซั่นเซียนไถแล้วที่เจียลู่หลาน (Jialulan Recreation Area) ก็เป็นอีกหนึ่งจุดที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะมีศาลาพักผ่อน ระเบียงชมวิว ท่ามกลางท้องทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสเสียงคลื่น สายลมและแสงแดดแล้ว ที่นี่ยังมีการจัดแสดงงานนิทรรศการศิลปะกลางแจ้งให้ได้เยี่ยมชมอีกด้วย และในช่วงฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงของทุกปี ก็จะมีการจัดตลาดนัดงานหัตถกรรมเจียลู่หลานขึ้น โดยภายในงานก็จะมีการแสดงผลงานจากวัสดุธรรมชาติของผู้รักงานศิลปะในเขตชายฝั่งทะเลตะวันออกมาจัดแสดง เรียกได้ว่ามางานเดียวได้ทั้งเสพงานศิลป์ และดื่มด่ำไปกับธรรมชาติในคราเดียว

Art & Culture Line
เสียงดนตรีที่ครึกครื้น เรียกให้ผู้ฟังขยับร่างกายไปกับจังหวะดนตรีของนักชนเผ่าที่ศูนย์วัฒนธรรมชนเผ่าอาเหม่ยหรือที่บางคนเรียกว่าอามิส (Amis Folk Center)

ที่นี่มีการแสดงรูปแบบบ้านพักของชนเผ่า ข้าวของเครื่องใช้รวมไปถึงมีการจัดกิจกรรมแสดงดนตรีชนเผ่าโดยใช้เครื่องดนตรีดั้งเดิมอย่างกาเกิง (Kakeng) ซึ่งทำจากไม้ไผ่

การทำให้เครื่องดนตรีเกิดเสียง ทำได้โดยการเป่าลมหายใจจากจมูกใส่เข้าไปในกระบอกไม้ไผ่นั้น ดูแล้วทึ่งไม่น้อยที่เห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ยังสามารถทำเสียงดนตรีไพเราะได้ด้วยลมหายใจเท่านั้น

พูดถึงการแสดงดนตรีแล้วที่ หมู่บ้านดนตรีเตี่ยฮัว (Tiehua Music Village) ในตัวเมืองไถตง

ก็มีการแสดงดนตรีจากเหล่าศิลปินเปิดหมวกมากมาย เดิมทีที่นี่เป็นสถานีรถไฟเก่าที่ถูกทิ้งร้าง

ก่อนจะมีการปรับปรุงให้เปิดเป็นตลาดนัดทางศิลปะ

ที่คุณสามารถจับจ่ายสินค้าทำมือ สินค้าของที่ระลึก หรืออาหาร

รวมทั้งสามารถชมงานศิลปะที่จัดแสดงกระจายอยู่โดยรอบไปพร้อมเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีจากหลากหลายศิลปิน

ส่วนใครที่อยากทดลองทำสิ่งของทำมือด้วยตัวเองแล้วละก็ให้ไปที่ศูนย์กิจกรรมโตเหลียน (Duoliang Wood)

ที่นี่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีการแปรรูปเศษไม้มาเป็นของใช้ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คุณสามารถลองทำของใช้ด้วยตนเองสักชิ้นหรือถ้าเวลาไม่พอสามารถอุดหนุนสินค้าจากทางศูนย์ก็ได้

เพราะรายได้ส่วนหนึ่งจะถูกนำไปพัฒนาหมู่บ้านที่อยู่ติดกับศูนย์อีกด้วย และข้อดีของการมาที่นี่คือคุณจะได้ชมสถานีรถไฟที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของไต้หวัน สถานีรถไฟโตเหลียน (Duoliang Station) เป็นสถานีรถไฟที่อยู่เลียบกับชายฝั่งทะเลแปซิฟิก

แม้ว่าปัจจุบันสถานีจะหยุดให้บริการแล้วก็ตาม แต่ภาพของรถไฟที่วิ่งผ่านทะลุอุโมงค์ขุนเขาออกมาโดยมีฉากหลังเป็นท้องทะเล ก็เป็นภาพที่สร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไต้หวันและต่างชาติเป็นอย่างมากสำหรับเราที่ชอบสุดสำหรับเมืองไถตงคงเป็น

ศูนย์ข้อมูลและห้องสมุดแห่งชาติมหาวิทยาลัยไถตง (National Taitung University Library and Information Center) อาคารของห้องสมุดสร้างเป็นทรงพีระมิด 5 ชั้น สร้างเลียนแบบภูเขาที่เป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย

ด้านบนของหลังคาที่ลาดเอียงนั้นปลูกหญ้าสีเขียวให้ตัวอาคารมีความกลมกลืนกับภูเขาที่อยู่โดยรอบ ตัวอาคารออกแบบให้สามารถใช้ได้ทั้งภายในและภายนอก ด้านภายนอกมีบันไดที่สามารถเดินขึ้นไปด้านบนเพื่อชมทิวทัศน์โดยรอบได้

อาคารหันหน้าไปทางมหาสมุทรแปซิฟิก วันที่อากาศแจ่มใสเราจะเห็นวิวทิวทัศน์ของท้องทะเลได้อย่างชัดเจน ส่วนภายในอาคารนอกจากจะเต็มเปี่ยมไปด้วยหนังสือมากมายหลากหลายรูปแบบแล้ว

พื้นที่อ่านหนังสือและเก้าอี้นั่งภายในนั้นก็ถูกจัดให้อยู่ในมุมที่แตกต่างออกไป บางจุดก็อยู่ริมหน้าต่างให้คุณได้อ่านหนังสือได้ด้วยและชมวิวไปด้วย

บางจุดก็เป็นมุมส่วนตัวที่ปล่อยให้ผู้อ่านได้เข้าไปในโลกส่วนตัวของตนเองได้อย่างเต็มที่ สมแล้วที่ห้องสมุดนี้จะได้รับรางวัล Best Architectural Design and Spatial Planning 2014

ไถตงอาจเป็นเมืองที่อยู่นอกสายตาของเหล่านักท่องเที่ยวหลายท่าน ด้วยเพราะชื่อที่ไม่คุ้นหูเท่าไร การเดินทางที่ไม่สามารถเดินทางมาได้โดยตรงจากหลายประเทศ แต่ด้วยเหตุผลเหล่านี้เองทำให้เมืองไถตงในวันนี้ยังคงความบริสุทธิ์ของธรรมชาติ วัฒนธรรมอยู่ และรอให้คุณไปสัมผัส แล้วคุณจะรู้ว่าไถตงมีอะไรมากกว่าที่คุณรู้อย่างแน่นอน

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0