สีสัน…“สระแก้ว” ประตูสู่อินโดจีน

เรื่องและรูปโดย อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

สุดแดนตะวันออกนั้น ไม่มีใครที่จะไม่รู้จักตลาดโรงเกลือ ซึ่งเป็นตลาดการค้าชายแดนขนาดใหญ่ที่ทำให้พ่อค้าทุกระดับและนักท่องเที่ยวต้องไปที่นี่ คือสุดเส้นทางรถไฟสายอำเภออรัญประเทศของจังหวัดสระแก้ว

ตลาดสินค้าชายแดนแห่งนี้ปัจจุบันขยายเป็นตลาดย่อยอีก ๕ ตลาดคือตลาดโรงเกลือเก่า ตลาดเทศบาล ๒ ตลาดโกลเด้นเกต ตลาดเดชไทยและตลาดเบ็ญจวรรณ ล้วนมีสินค้าหลากหลายจัดขายรวมแล้วมากกว่า ๓,๐๐๐ ห้อง ชนิดเลือกซื้อได้ตามชอบ จนทำให้มีเงินหมุนเวียนหลายสิบล้านบาทในแต่ละวัน

แต่ด้วยพื้นที่จังหวัดสระแก้วมีพื้นที่กว้างกับมีสิ่งที่น่าสนใจอยู่มากมายเกินกว่าจะเดินทางท่องเที่ยวในวันเดียวได้ แต่ด้วยสีสันอันเป็นต้นทุนประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ จึงมีความพยายามที่จะเปิดประตูสู่อินโดจีนในมิติอื่นๆ ให้มากกว่าการเป็นตลาดโรงเกลือไปพร้อมกันด้วย

โดยเฉพาะกลุ่มโบราณสถานที่อยู่ในบริเวณชายแดน อันมีปราสาทเขาโล้น ปราสาทเขาน้อยสีชมพูและปราสาทสด๊กก๊อกธมที่บ้านหนองเสม็ด ตำบลโคกสูงเป็นปราสาทขอมใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออก ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๔ สร้างเพื่อประดิษฐานรูปเคารพคือ ศิวลึงค์และใช้สำหรับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของตามคติความเชื่อในลัทธิไศวนิกายของฮินดู

โบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นในคติของโลกสัณฐานที่มีปรางค์ประธานประดิษฐานศิวลึงค์และเสานางเรียงกันเขตองค์ปรางค์ให้เป็นเขตสถานศักดิ์สิทธิ์ของพระกัมรเตงอัญศรีชเยทรวรมัน (สเตงอัญสทาศิวะ) อันสืบตระกูลพราหมณ์ มาแต่สเตงอัญศิวไกวัลย์ ปรางค์ศักดิ์สิทธิ์นี้หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีคูน้ำล้อมรอบเขาพระสุเมรุหรือเขาไกรลาสทั้งสี่ด้าน ด้านนอกมีกำแพงแก้วสองชั้น อยู่กลางบริเวณกลุ่มโบราณสถานที่กระจายเป็นบริเวณใหญ่ หากข้ามแดนไปทางกัมพูชาก็มีกลุ่มปราสาทบันเตยฉมาร์ กับปราสาทบันทายทัพ ที่มีความสำคัญเชื่อมโยงถึงกัน

เช่นเดียวกันยังมีเหตุการณ์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพมาปราบปรามอริราชศัตรูที่ลักลอบเข้ามาโจมตีกวาดต้อนผู้คนบริเวณชายแดนอยู่เสมอเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๔ ต่อมาได้โปรดให้ตั้งค่ายคูเมือง ปลูกยุ้งฉางข้าวลำเลียงไว้ที่ค่ายพระทำนบเมื่อ พ.ศ. ๒๑๒๕ คือ อ.วัฒนานคร ในปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาตินั้นมีป่าไม้ในอุทยานแห่งชาติปางสีดา และอื่นๆ โดยเฉพาะบริเวณที่เกิดปรากฏการณ์ทางธรณีวิทยาจากการยุบตัวหรือพังทลายของดินที่ถูกฝนและลมพัดกระหน่ำผ่านช่วงเวลามายาวนานนั้น

ทำให้เกิดดินแข็งตั้งอยู่ท่ามกลางดินอ่อนจนเกิดแท่งหินมีรูปร่างที่แตกต่างกันให้เป็นกำแพงหรือเสาดินเหมือนกันกับแพะเมืองผีของจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ ละลุ แปลจากภาษาเขมรคือ การทะลุของดินบนเนื้อที่ ๒,๐๐๐ ไร่

อีกแห่งคือเขาฉกรรจ์ เป็นภูเขาหินปูนสามลูก ต่อเนื่องกันซึ่งมีหน้าผาสูงชันทำมุมเกือบตั้งฉากกับพื้นดิน มีจุดสูงสุดของยอดเขาสูงประมาณ ๓๒๔ เมตรจากระดับน้ำทะเล ภายในถ้ำมีถ้ำเล็กถ้ำน้อยอยู่ถึง ๑๒ แห่ง อาทิ ถ้ำหนุมาน ถ้ำมหาสิงห์ ถ้ำน้ำทิพย์ ถ้ำแก้วพลายชุมพล

ซึ่งในถ้ำต่างๆ เหล่านี้เป็นที่อาศัยของค้างคาวจำนวนมากที่บินออกหากินในตอนเวลาพลบค่ำ โดยภายนอกนั้นมีฝูงลิงใหญ่น้อยเฝ้าอยู่ตามเส้นทางขึ้นเขา นักท่องเที่ยวพากันไปปีนเขาเข้าถ้ำถ่ายภาพกัน อยู่ทุกวัน

นอกจากนี้จังหวัดสระแก้วยังมีแหล่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจมากคือ โรงเรียนกาสรกสิวิทย์ อันเป็นโครงการในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นสถานที่ฝึกควายและสอนคนให้ทำนาเป็น วิทยาลัยโพธิวิชชยาลัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น ซึ่งเป็นแหล่งผลิตน้ำนมใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ

มีโรงผลิตนมภายใต้แบรนด์ นมวังน้ำเย็น ทั้งนมพาสเจอไรซ์ นมเปรี้ยวส่งไปจำหน่ายตามโครงการนมโรงเรียนในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ และที่ขาดไม่ได้คืออาหารญวนสูตรเวียดนามใต้ที่มีรสชาติถูกปากคนไทยยิ่งนัก นี่คือ สีสันของสระแก้วและรสชาติอาหารจากประตูสู่เมืองอินโดจีนที่หาได้ไม่ยากนัก

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0