สีสัน…พระบารมีแห่งพระโพธิสัตว์ อวโลกิเตศวร

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

ในยามประเทศเกิดวิกฤตขึ้นคราวใด คติการเคารพสักการะพระโพธิสัตว์ ดูเหมือนจะมีความสำคัญต่อศรัทธามาก ด้วยหมายว่าพระโพธิสัตว์นั้นมีมหากรุณาที่จะช่วยเหลือได้แน่นอน คติของพระโพธิสัตว์นั้นคือหลักการของการบำเพ็ญความเพียรเสียสละอย่างยวดยิ่งเพื่อบรรลุธรรมจนมีปัญญาคือโพธิ โดยตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

เหตุนี้ภาพหรือรูปพระโพธิสัตว์นั้นจึงเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิหรือพุทธภูมิที่นับถือพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นแบบอย่างการบำเพ็ญเพียร สำหรับประเทศไทยนั้นพบภาพสลักพระโพธิสัตว์บนผนังในถ้ำที่จังหวัดสระบุรี เป็นภาพแกะสลักรูปพระโพธิสัตว์ปางประทับบาท ล้อมรอบด้วยเทวดา และเทพเจ้าฮินดู ได้แก่ พระอิศวร และพระนารายณ์ ในลักษณะถวายความเคารพแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลักษณะของศิลปกรรม น่าจะรับอิทธิพลจากศิลปราชวงศ์คุปตะ-หลังคุปตะ นับเป็นภาพแกะสลักนูนต่ำเก่าแก่ที่สุดที่ได้พบแล้วในไทย และเป็นหลักฐานแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของสองศาสนา

ซึ่งมีพระพุทธเจ้าในพุทธศาสนาและเทพเจ้าของศาสนาฮินดู รวมกันอยู่ในภาพเดียวกัน และปรากฏในที่อื่นๆ อีกเช่นในถ้ำเขางู ราชบุรี คตินิยมของพระโพธิสัตว์นั้นได้ให้ความหมายถึงผู้ที่จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า คำว่า “โพธิสัตว์” นั้นแปลว่า ผู้ข้องอยู่ในพระโพธิญาณ

ดังนั้นพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายาน จึงมีความเชื่อว่าพระโพธิสัตว์นั้นได้อุบัติขึ้นเป็นจำนวนมาก พระธัมมปาละ ได้ระบุไว้ในอรรถกถาสโมทานกถา (ในปรมัตถทีปนี) ว่าผู้เป็นพระโพธิสัตว์มี ๓ ประเภท คือ
๑. พระมหาโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า
๒. พระปัจเจกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๓. พระสาวกโพธิสัตว์ พระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมีเพื่อให้ได้เป็นพระอนุพุทธะ ซึ่งสามารถบำเพ็ญบารมีให้เป็นปัญญาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ปัญญาเป็นตัวนำ ระยะเวลาสร้างบารมีทั้งหมด ๒๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป สัทธาธิกโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้ศรัทธาเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมีทั้งหมด ๔๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป วิริยาธิกโพธิสัตว์ คือพระโพธิสัตว์ที่สร้างบารมีโดยใช้วิริยะเป็นตัวนำ ระยะเวลาการสร้างบารมี ทั้งหมด ๘๐ อสงไขยกับเศษแสนมหากัป ดังนั้นการสร้างบารมีจึงเป็นการกระทำที่ประเสริฐ อันประกอบด้วยกุศลเจตนาคุณงามความดีที่ควรกระทำ คุณงามความดีที่ได้บำเพ็ญมา คุณสมบัติที่ทำให้ยิ่งใหญ่เป็นธรรมส่วนหนึ่งที่สำคัญ คอยช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ปฏิบัติได้ถึงซึ่งโพธิญาณ

บารมีที่พระโพธิสัตว์บำเพ็ญนั่นเองซึ่งมี ๓ ขั้นดังนี้

บารมีขั้นต้น คือ เนื่องด้วยวัตถุ และทรัพย์นอกกาย เช่น การสละทรัพย์ช่วยผู้อื่น จัดเป็น ทานบารมี, รักษาศีลแม้ว่าจะต้องสูญเสียทรัพย์สินเงินทอง จัดเป็นศีลบารมี, หรือยอมถือบวชโดยไม่อาลัยในทรัพย์สิน จัดเป็นเนกขัมบารมี เป็นต้น

บารมีขั้นกลาง หรืออุปบารมี คือ เนื่องด้วยเลือดเนื้ออวัยวะ เช่น การสละเลือดเนื้ออวัยวะแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานอุปบารมี, การใช้ปัญญารักษาอวัยวะเลือดเนื้อของผู้อื่น จัดเป็น ปัญญาอุปบารมี, การมีความเพียรจนไม่อาลัยในเลือดเนื้อหรืออวัยวะ จัดเป็นวิริยอุปบารมี, มีเมตตาต่อผู้ที่จะมาทำร้ายเลือดเนื้ออวัยวะของตน จัดเป็น เมตตาอุปบารมี หรือมีความอดทนอดกลั้นต่อผู้ที่จะมาทำลายอวัยวะของตน จัดเป็น ขันติอุปบารมี เป็นต้น

บารมีขั้นสูงสุด หรือปรมัตถบารมี คือ เนื่องด้วยชีวิต เช่น การสละชีวิตเป็นทานแก่ผู้อื่น จัดเป็น ทานปรมัตถบารมี, ยอมสละแม้ชีวิตเพื่อจะรักษาคำพูด จัดเป็นสัจจปรมัตถบารมี, ตั้งจิตไม่หวั่นไหวต่อคำอธิษฐานแม้จะต้องเสียชีวิต จัดเป็นอธิษฐานปรมัตถบารมี, หรือวางเฉยต่อผู้ที่จะมาทำร้ายชีวิตของตน จัดเป็นอุเบกขาปรมัตถบารมี ทั้งหมดนี้คือการทำในสิ่งประเสริฐ ที่รวมกันเป็นบารมี ๓๐ ทัศ อันเป็นวิถีแห่งบำเพ็ญบารมี

พระโพธิสัตว์หรือพระอวโลกิเตศวร เพื่อให้เป็นแบบอย่างของผู้มีความเพียรพยายามเสียสละอย่างยิ่งในการทำความดี ละความชั่ว ทนทานต่อสิ่งทั้งปวง ไม่ถูกชักจูงไปได้ง่าย เพื่อสำเร็จ พระโพธิญาณ คือตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป ดังชื่อพระโพธิสัตว์หลายองค์ ดังนั้นรูปพระโพธิสัตว์จึงนิยมที่จะมีรูปพระพุทธเจ้าปรากฏอยู่บนพระเศียร และมีความงดงามตามลักษณะของศิลปกรรม แต่ละประเทศแตกต่างกันไป

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0