สีสัน..ทุ่งไหหินแห่งเมืองเชียงขวาง

Story & Photo by Paladisai Sitthithanyakij

ทุ่งไหหิน (Plain of Jars) ที่เมืองเชียงขวางเป็นแหล่งโบราณคดีแห่งเดียวในอาเซียน ด้วยเป็นที่ตั้งของวัฒนธรรมหินใหญ่ (Megalith) ซึ่งอยู่ทางเหนือของประเทศลาว

กล่าวคือ หินรูปทรงไหขนาดใหญ่จำนวนนับพันนี้มีปรากฏเป็นกลุ่มๆ อยู่ทั่วตลอดแนวเขาและล้อมรอบหุบเขาสูง บนที่ราบสูงเชียงขวางทางบริเวณเหนือสุดของเทือกเขาอันนัม (Annamite Range) เทือกเขาหลักของอินโดจีน

จากการพบทุ่งไหหินเมื่อ พ.ศ ๒๔๗๓ นั้นทำให้มีการศึกษาในเบื้องต้นถึงไหหินขนาดใหญ่ทั้งหมดว่ามีความสัมพันธ์กับพิธีกรรมเกี่ยวกับงานศพในยุคมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์อย่างไร จากการขุดค้นโดยนักโบราณคดีชาวลาวและชาวญี่ปุ่นนั้น ได้พบวัตถุเกี่ยวกับงานศพและเครื่องเคลือบอยู่รอบไหหิน ประมาณได้ว่าอยู่ในยุคโลหะ (Iron Age)

นับเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจมากและสำคัญที่สุดที่มีโครงสร้างหินขนาดใหญ่ ยุคโลหะเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรัฐบาลลาวได้ดำเนินการให้ทุ่งไหหินแขวงเชียงขวางเป็นแหล่งมรดกโลกอีกแห่งหนึ่งคู่กับเมืองหลวงพระบาง แหล่งโบราณคดีเมืองเชียงขวางนี้มีพื้นที่หลายแห่งเต็มไปด้วยไหหินอายุระหว่าง ๒,๕๐๐ – ๓,๐๐๐ ปี ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่โตมากกว่าพันชิ้น

ซึ่งมีตำนานของลาวเล่าต่อกันมาว่า ครั้งหนึ่งมีการต่อสู้ของยักษ์ ผู้อาศัยอยู่บนดินแดนแห่งนี้ โดยมีเรื่อง “ขุนเจือง” ชื่อเหมือนขุนเจื๋องธรรมมิกราชในประวัติเมืองพะเยา แล้วขุนเจืองนี้ได้เข้าปราบปรามยักษ์และต่อสู้กันอย่างยาวนาน ในที่สุดก็สามารถชนะยักษ์ได้

แล้ว “ขุนเจือง” สั่งให้สร้างไหเพื่อชงเหล้าลาวฉลองชัยชนะ ไหนั้นถูกหล่อขึ้นจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ดินเหนียว ทราย น้ำตาล และ ซากพืชซากสัตว์ในรูปแบบหินผสม โดยเชื่อว่าถ้ำที่อยู่บริเวณทุ่งไหหินนั้นคือเตาเผาไหให้เป็นหิน

บ้างว่าไหนี้สร้างขึ้นเพื่อเก็บน้ำฝนในฤดูมรสุมสำหรับกองคาราวานที่เดินทางผ่านไป – มา ด้วยความเก่าของหินขนาดใหญ่ ที่ไม่มีหลักฐานอื่นนี้จึงมีการสันนิษฐานถึง ๓ ประการว่า ไหหินนี้ตัดมาจากหินก้อนใหญ่จำนวนหนึ่งสำหรับบรรจุคนตายยุคก่อนประวัติศาสตร์เมื่อ ๓ – ๔ พันปีตามความเชื่อว่าสถานที่ฝังศพคนตายนั้นต้องอยู่บนที่สูง ป้องกันการเซาะพังทลายจากน้ำท่วม

หรือเป็นไหเหล้าของนักรบโบราณตามตำนานเมื่อศตวรรษที่ ๘ คือ ขุนเจือง ผู้กล้าหาญของลาวในอดีตผู้หนึ่งที่นำไพร่พลสู้กับยักษ์แล้วฉลองชัยอยู่เป็นเวลา ๗ เดือนจนคนลาวทั่วไปเรียกว่า “ไหเหล้าเจือง” หรือจะเป็นไหหินธรรมชาติตั้งเช่นเดียวกับสโตนเฮนจ์ ในประเทศอังกฤษ ส่วนจะเชื่ออย่างไหนว่ากันไปตามสบาย

ส่วนสีสันของวัฒนธรรมหินตั้งบนทุ่งไหหินแห่งนี้พอให้ถ่ายภาพงามๆ ได้มากมาย ด้วยทุ่งไหหินมีจำนวนมากต่างแยกกันอยู่บนเขาเป็น ๓ กลุ่มคือกลุ่มทุ่งไหหินขนาดใหญ่และมีมากที่สุด ๒๐๐ ใบ อยู่ห่างจากเมืองโพนสวรรค์ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๗.๕ กิโลเมตรด้านทางเมืองคูน

เมืองหลวงเก่าแห่งนี้มีถ้ำที่มีช่องแสงสูงประมาณ ๖๐ เมตร กลุ่มทุ่งไหหิน ๙๐ ใบ อยู่ห่างจากเมืองไปทางใต้ ๒๕ กิโลเมตร และกลุ่มที่สามทุ่งไหหิน ๑๕๐ ใบทางใต้ ๑๐ กิโลเมตรห่างจากโพนสวรรค์ ๓๕ กิโลเมตร จากการศึกษาทางโบราณคดีพบว่าไหหินนี้ถูกทำขึ้นด้วยมนุษย์ให้มีรูปทรงเหมือนไหหรือโกศขนาดใหญ่โดยเจาะตรงกลางเป็นหลุมขนาดใหญ่สำหรับใส่ศพมนุษย์ไว้ข้างในและมีฝาปิด โดยเข็นขึ้นไปตั้งไว้บนเนินสูงสำหรับคนชั้นผู้นำชนเผ่า

ส่วนไหหินที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบเชิงเขาซึ่งห่างออกไปนั้นเป็นคนทั่วไป แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อายุสมัยเป็นก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนเรื่องขุนเจืองในประวัติเมืองพะเยาที่มีชื่อเหมือนกันนั้นประสูติ พ.ศ. ๑๖๔๑ เป็นโอรสของขุนจอมธรรม เป็นผู้มีความสามารถในวิชาดาบ มวยปล้ำ เพลงชัย จับช้าง จับม้า และเพลงอาวุธต่างๆ พระชนมายุ ๒๔ พรรษาได้ครองราชย์สืบแทนพระบิดา

ต่อมาขุนเจืองนี้รวบรวมรี้พลยกไปชุมนุมกันที่สนามดอนไชยหนองหลวงและตีข้าศึกแตกกระจัดกระจาย ขุนชิน ผู้เป็นลุงได้ยกธิดา “พระนางอั๊วคำคอน” ให้และสละราชสมบัตินครเงินยางเชียงแสนให้ขุนเจืองครองแทน เมื่อขุนเจืองได้ครองราชย์เมืองเงินยางแล้วมีพระนามว่า “พระยาเจืองธรรมมิกราช” โดยให้โอรสชื่อ“ลาวเงินเรือง” ครองเมืองพะเยาแทน

ขุนเจืองนั้นได้ราชธิดาเมืองแกวมาเป็นชายานามว่า “นางอู่แก้ว” มีโอรส ๓ พระองค์คือ ท้าวผาเรืองครองเมืองแกว (ญวน) ท้าวคำห้าว ครองเมืองล้านช้าง (ลาว) และท้าวสามชุมแสง ครองเมืองน่าน ส่วนจะให้พัวพันเป็นขุนเจือง คนเดียวกันได้หรือไม่แล้วแต่คิด ด้วยไม่มีใครตัดสินได้นอกจากไหหินใบใหญ่ๆ วางเต็มทุ่ง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0