ปัตตานี ที่นี่สวย

Story & Photo by Editorial Staff

ภาพมัสยิดกลางปัตตานีที่สะท้อนอยู่ในน้ำยังคงอยู่ในความทรงจำเมื่อครั้งได้เห็นภาพถ่ายจากพี่ที่รู้จัก และคำบรรยายบอกกล่าวว่าเป็นมัสยิดที่สวยงามที่สุดในประเทศไทย แต่ยังไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมครั้งนี้มีโอกาสไปเยือนจังหวัดปัตตานีไม่รอรีที่จะต้องไปเห็นด้วยตาตัวเอง

Pattani 2691

หลังจากเครื่องบินแตะพื้นรันเวย์ที่สนามบินจังหวัดนราธิวาส ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมงเศษเราก็เดินทางถึงชุมชนบางปู ฟังไม่ผิดครับชุมชนบางปูแต่ไม่ใช่บางปูที่จังหวัดสมุทรปราการนะ แต่อยู่ที่ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

Pattani 2684

ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ คนในชุมชนได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลน ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

Pattani 2725

Pattani 2729

Pattani 2736

โดยมีกิจกรรมล่องเรือชมอุโมงค์ต้นโกงกางที่ยาวเป็นกิโลฯ ซึ่งบางต้นอายุกว่า 100-400 ปี ซึ่งจะต้องนั่งเรือที่ผู้ขับเรือเป็นคนของชุมชน เพราะป่าโกงกางที่นี่มีเป็นพันซอยย่อยๆ ตามธรรมชาติ เพื่อความปลอดภัย

Pattani 2766

Pattani 2767

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเก็บหอย ภายในป่าโกงกางบริเวณจุดที่ทางชุมชนกำหนดไว้

Pattani 2790

Pattani 2792

เมื่อสนุกจากกิจกรรมล่องเรือแล้ว ทางชุมชนมีร้านอาหารให้บริการนักท่องเที่ยวด้วยอาหารพื้นบ้านและที่ห้ามพลาดเด็ดขาดก็คือ ปูดำ ของขึ้นชื่อของชุมชน

Pattani 2831

เมื่อก่อนชาวบ้านเล่าว่ามีปูดำมากมาย แต่ด้วยการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบและการทำลายธรรมชาติ สัตว์ทะเลก็หาได้ยากขึ้น แต่ปัจจุบันทางชุมชนอนุรักษ์และฟื้นฟูจนปูดำเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก

Pattani 2827

ต้องชื่นชมความเข้มแข็งของชุมชนบางปู อ.ยะหริ่ง ที่นี่ยังมีโฮมสเตย์ให้บริการด้วย เข้าไปสอบถามได้ที่ fb : ชุมชนท่องเที่ยวบางปู ปัตตานี

Pattani 2644

Pattani 2675

จากชุมชนบางปูเดินทางต่อมาแค่ 10 กว่านาทีเราก็เดินทางถึงมัสยิดกรือเซะ หรือมัสยิดปินตูกรือบันสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช คำว่า “กรือเซะ” มีความหมายว่า ทรายสีขาวใสดั่งไข่มุกเนื่องจากหาดทรายของที่นี่ขาวสะอาด

Pattani 2651

ชื่ออย่างเป็นทางการของมัสยิดกรือเซะคือ มัสยิดสุลต่านมูซัฟฟาร์ซาห์ เพราะสร้างขึ้นในสมัยสุลต่านมูซัฟฟาร์ ซาห์ เป็นเจ้าเมืองปัตตานี

Pattani 2654

Pattani 2671

ที่นี่เป็นมัสยิดแห่งแรกในอาเซียนที่สร้างด้วยอิฐแดง อายุกว่า 300 ปี เป็นศิลปะผสมผสานแบบอาหรับ ซุ้มประตูโค้ง เสาทรงกลม และเมื่อปี พ.ศ. 2478 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน

Pattani 2672

การเข้าเยี่ยมชมสามารถเข้าไปด้านในได้ แต่ต้องสวมผ้าตามระเบียบของทางมัสยิด ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ใจดีเตรียมให้ทางด้านหน้าก่อนเข้ามัสยิด

Pattani 2659

การเข้าไปในสถานที่ทางศาสนาของแต่ละที่ควรสำรวมและเคารพสถานที่ จะมีช่วงเวลาประกอบพิธีทางศาสนาจะไม่อนุญาตให้เข้าไปได้

Pattani 2662

ที่บริเวณใกล้เคียงมัสยิด ยังมีฮวงซุ้ยหรือที่ฝังศพเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวที่ชาวปัตตานีเคารพศรัทธา

Pattani 2901

ในที่สุดก็มาถึงสถานที่ในฝันที่อยากมาเห็นด้วยตาตนเองก็คือมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ถนนยะรัง ต.อาเนาะรู อ.เมืองปัตตานีภาพมัสยิดสวยสง่างาม เป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ ทัชมาฮาล ของประเทศอินเดีย

Pattani 2906

ก่อสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2497 ใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวารทั้ง 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่าบริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ภายในมัสยิดมีลักษณะเป็นห้องโถง มีระเบียงสองข้าง ภายในห้องโถงมีบัลลังก์ทรงสูงใช้เป็นที่สำหรับ “คอฏีบ” ยืนอ่านคุฏบะฮ์ในการละหมาดวันศุกร์

Pattani 2910

หอคอยสองข้างนี้เดิมใช้เป็นหอกลางสำหรับตีกลอง เป็นสัญญาณเรียกให้มุสลิมมาร่วมปฏิบัติศาสนกิจ ต่อมาใช้เครื่องขยายเสียงแทนเสียงกลอง

Pattani 2909

ปัจจุบันขยายด้านข้างออกไปทั้ง 2 ข้าง และสร้างหอบัง (อะซาน) พร้อมขยายสระน้ำและที่อาบน้ำละหมาดให้ดูสง่างามยิ่งขึ้น ภายในมัสยิดประดับด้วยหินอ่อนอย่างสวยงาม ภาพจำยังชัดเจนและสวยงามจริงๆ

Pattani 2843

ไม่ไกลจากมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี สถานที่ต้องแวะมาสักการะขอพรเลยก็คือ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

Pattani 2857

ตำนานว่า เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี เป็นสตรีชาวจีนสมัยราชวงศ์เหม็ง จากเมืองจีนมาตามหาพี่ชายเดินทางมาค้าขายที่ปัตตานี สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชครองกรุงศรีอยุธยาหรือรายอฮีเยาครองปัตตานี บิดามารดาและญาติพี่น้องต่างเป็นห่วง

Pattani 2864

น้องสาวจึงอาสาติดตามพี่ชาย และตั้งสัจวาจาไว้ว่าหากทำการไม่สำเร็จ นางจะขอยอมตายในที่สุดลิ้มกอเหนี่ยวก็เดินทางถึงปัตตานี และได้พบพี่ชายขณะนั้นเป็นนายช่างกำลังก่อสร้างมัสยิดบริเวณบ้านกรือเซะและกำลังหล่อปืนใหญ่เพื่อถวายรายอฮีเยา สตรีเจ้าเมืองปัตตานี

Pattani 2846

นางพยายามอ้อนวอนพี่ชายให้กลับสู่เมืองจีน แต่ลิ้มเตาเคียนปฏิเสธบอกว่าเขาเป็นมุสลิม มีครอบครัวแล้วด้วย นางผิดหวังและเสียใจอย่างยิ่ง จึงตัดสินใจผูกคอตายที่ต้นมะม่วงหิมพานต์ใกล้มัสยิด

Pattani 2897

ว่ากันว่าที่ลิ้มเตาเคียนสร้างมัสยิดไม่สำเร็จ เมื่อก่อหลังคาครั้งใดก็ถูกฟ้าผ่า จนถึงสามครั้งสามครา มัสยิดที่กรือเซะจึงสร้างค้างคามาจนทุกวันนี้ เป็นเพราะคำสาปแช่งของลิ้มกอเหนี่ยว เดิมที่นี่คือ ศาลเจ้าโจวซือกง เนื่องจากมีองค์โจวซือกง (พระหมอเชงจุ้ยโจวซือกง) เทพเจ้าแห่งการรักษาคนเจ็บไข้ได้ป่วย

Pattani 2867

ต่อมาได้อัญเชิญรูปแกะสลักองค์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งเดิมอยู่ในศาลเจ้าใกล้กับสุสานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ) มาประทับที่ศาลเจ้าแห่งนี้ จึงเรียกขานศาลเจ้าแห่งนี้ว่าศาลเจ้าเล่งจูเกียง หมายถึง ศาลเจ้าแห่งความเมตตาและศักดิ์สิทธิ์ ส่วนใหญ่เรียกว่า ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาจนถึงทุกวันนี้

Pattani 2897

บริเวณข้างๆ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวยังมีหอนิทรรศน์สานอารยธรรม จังหวัดปัตตานี หรือพิพิธภัณฑ์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว

Pattani 2877

Pattani 2878

Pattani 2893

อาคารสถาปัตยกรรมแบบจีน มีส่วนที่จัดแสดงเกี้ยวที่ใช้อัญเชิญ และงานพิธีสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว, ห้องมัลติมีเดีย และห้องรำลึกมหาราชา ฯลฯ

Pattani 2890

Pattani 2887

Pattani 2885

ประมาณ 10 นาที จากศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ก็จะมาพบกับสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวอีกหนึ่งที่ คือ สกายวอล์กปัตตานี แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของปัตตานี

Pattani 2918

ตั้งอยู่ภายในบริเวณสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ สวนเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา หรือสวนแม่สวนลูก ต.สะมิแล อ.เมืองปัตตานี

Pattani 2937

Pattani 2925

เป็นสะพานเหล็กขนาดใหญ่มั่นคง มีความสูงเท่ากับตึก 3 ชั้น หรือประมาณ 12 เมตร มีทางเดินด้านบนยาวประมาณ 400 เมตร เป็นตาข่ายเหล็กสามารถมองเห็นด้านล่างได้ มีบันไดขึ้น-ลง 2 จุด

Pattani 2923

Pattani 2933

ระหว่างทางเดินมีศาลาที่พัก 5 จุดไว้ให้นั่งพักชมบรรยากาศ แต่ละศาลาจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันด้วยเช่น ศาลาจิกทะเล, ศาลาสารภีทะเล ฯลฯ

Pattani 2953

Pattani 2967

Pattani 2955

สถานที่แห่งนี้มีทั้งส่วนทางเดินด้านบน กับส่วนพื้นดินที่เป็นสวนป่าชายเลนเป็นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ส่วนด้านบนจะมองเห็นทั้งสวนสาธารณะป่าชายเลนด้านล่างที่สวยงาม อุดมสมบูรณ์ มีนกและสัตว์น้ำ

Pattani 2929

อีกด้านจะเห็นท้องทะเลอ่าวไทย มองไปอีกนิดจะเห็นปลายแหลมตาชี หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าแหลมโพธิ์

Pattani 2922

การได้เดินทางมาจังหวัดปัตตานีครั้งนี้ แม้เป็นช่วงเวลาไม่นาน ไม่สามารถเที่ยวได้ทั้งจังหวัด แต่ก็เก็บความประทับใจกลับไปได้มากโข รวมทั้งยังได้เพิ่มภาพจำจากภาพถ่ายให้มีมิติเพิ่มขึ้นผ่านดวงตาจากสถานที่จริง เป็นภาพที่ไม่ได้ผ่านการตกแต่งด้วยโปรแกรมตกแต่งภาพต่างๆ ให้สวยงามเกินจริงเพราะที่เห็นของจริงต้องบอกว่าสวยจริงๆ ไม่ใช่สวยเกินจริง

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0