สายวัดรอบตัวที่เมืองน่าน

Story & Photo by Editorial Staff

เอ่ยชื่อจังหวัดน่าน ใครหลายคนเคยได้ยินชื่อในเรื่องของเมืองที่มีชีวิตเนิบช้า ไม่เร่งรีบ ยังคงความงามตามวิถีเมืองล้านนาเอาไว้ได้อย่างสวยงาม การใช้ชีวิตที่ไม่วุ่นวายเหมือนคนเมืองกรุง ส่วนใครที่ชอบไหว้พระ ทำบุญ แค่ตัวเมืองน่าน คุณสามารถไหว้พระทำบุญได้รอบตัว ไม่ว่าจะไปทางไหนสายวัดก็อยู่รอบตัวคุณ มาดูกันว่ามีวัดไหนที่เราจะพาคุณไปทำบุญกัน

Nan Temple 1-2423

วัดพระธาตุเขาน้อย

วัดพระธาตุเขาน้อย เป็นวัดราษฎร์ อายุรุ่นราวคราวเดียวกับพระธาตุแช่แห้ง องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดดอยเขาน้อย ด้านตะวันตกของตัวเมืองน่าน องค์พระธาตุเป็นเจดีย์ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ เป็นศิลปะพม่าผสมศิลปะล้านนา ภายในบรรจุพระเกศาธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

Nan Temple 1-07481

ตามประวัติ พระธาตุองค์นี้สร้างโดยมเหสีรองของพญาภูเข็ง เจ้าผู้ครองนครน่าน เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 20 เจ้าผู้ครองนครน่านอีกหลายองค์ต่อมา ได้บูรณปฏิสังขรณ์องค์พระธาตุโดยตลอด กระทั่งมีการบูรณะครั้งใหญ่ในสมัยพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดชฯ ในปี พ.ศ. 2449 – 2454 โดยช่างชาวพม่า และวิหารก็สร้างในสมัยนี้เช่นกัน หน้าวัดเป็นทางขึ้นเป็นบันไดนาค 303 ขั้น (มีเส้นทางรถสามารถขึ้นไปได้)

Nan Temple 1-07457

บริเวณวัดพระธาตุเขาน้อย เราสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบของตัวเมืองน่าน และยังประดิษฐานพระพุทธมหาอุดมมงคลนันทบุรีศรีน่าน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางประทานพร บนฐานดอกบัวสูง 9 เมตร บนยอดพระเกศาทำจากทองคำหนัก 27 บาท สร้างขึ้นเนื่องในมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542

วัดพระธาตุเขาน้อยตั้งอยู่ที่ ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

Nan Temple 4-2518

วัดภูมินทร์

เดิมชื่อ “วัดพรหมมินทร์” เป็นวัดหลวง อยู่ในเขตพระนครดังปรากฏชื่อ ตำบลในเวียงเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2139 ต่อมาอีกประมาณ 300 ปี มีการบูรณะครั้งใหญ่ ในสมัยเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เมื่อ พ.ศ. 2410 (ปลายรัชกาลที่ 4) ใช้เวลาซ่อมแซมถึง 7 ปี

Nan Temple 4-07236

ความสวยอันเป็นเอกลักษณ์ของวัดภูมินทร์ที่เป็นหนึ่งเดียว คือ เป็นวัดที่สร้างทรงจัตุรมุขแห่งเดียวในประเทศไทย ดูคล้ายตั้งอยู่บนหลังพญานาคขนาดใหญ่ 2 ตัว แหนพระอุโบสถเทินไว้กลางลำตัว พระอุโบสถจัตุรมุขนี้กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าเป็นหลังแรกของประเทศไทย ตรงใจกลางพระอุโบสถจัตุรมุข ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 4 องค์ หันพระพักตร์ออกด้านประตูทั้งสี่ทิศหันเบื้องปฤษฎางค์ชนกัน ประดับนั่งบนฐานชุกชี เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย

Nan Temple 4-07224

อาคารนี้เป็นทั้งพระอุโบสถ พระวิหาร และพระเจดีย์ในหลังเดียวกัน โดยใช้อาคารในแนวตะวันออก-ตะวันตก เป็นพระวิหารและอาคารแนวเหนือ-ใต้ เป็นพระอุโบสถ รัฐบาลไทยเคยพิมพ์รูปวัดภูมินทร์ ในธนบัตรใบละ 1 บาท ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนัง แสดงเรื่องราวชาดก วิถีชีวิตตำนานพื้นบ้าน และความเป็นอยู่ของชาวน่านในอดีต ได้แก่ การแต่งกายคล้ายผ้าซิ่นลายน้ำไหล การทอผ้าด้วยกี่ทอมือ การติดต่อซื้อขายกับชาวต่างชาติ

Nan Temple 4-07221

โดยเฉพาะภาพกระซิบรักบันลือโลก ภาพปู่ม่าน-ย่าม่าน ที่ทุกคนรู้จัก สิ่งน่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คือ บานประตูแกะสลักลึกเป็น 3 ชั้น บนไม้สักทองแผ่นเดียวขนาดใหญ่ ความหนาประมาณ 4 นิ้ว สลักเป็นลวดลายเครือเถา ทั้งดอกและผลระย้า รวมทั้งสัตว์นานาชนิด ฝีมือช่างเมืองน่าน

ตั้งอยู่ ณ ตำบลในเวียง ภายในเขตอำเภอเมือง จังหวัดน่าน ใกล้กับวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

Nan Temple 5-07113

วัดมิ่งเมือง

วัดมิ่งเมืองเป็นที่ประดิษฐานเสาหลักเมืองของจังหวัดน่าน เดิมเป็นวัดร้าง มีเสาหลักเมืองที่เป็นท่อนซุงขนาดใหญ่ 2 คนโอบ พบที่ซากวิหาร ในราวปี 2400 เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าครองนครน่านสถาปนาวัดใหม่ ตั้งชื่อว่า วัดมิ่งเมือง ตามชื่อเรียกเสาหลักเมืองว่า เสามิ่งเมือง ต่อมาปี พ.ศ. 2527 ได้มีการรื้อถอนและสร้างอุโบสถหลังใหม่เป็นแบบล้านนาร่วมสมัยแบบในปัจจุบัน

Nan Temple 5-07112

ลายปูนปั้นที่ผนังด้านนอกของพระอุโบสถ มีความสวยงามวิจิตรบรรจง ฝีมือตระกูลช่างเชียงแสน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังแสดงให้เห็นวิถีชีวิตของชาวเมืองน่าน โดยช่างท้องถิ่น เสาหลักเมืองประดิษฐานอยู่ในศาลาจัตุรมุข ด้านหน้าพระอุโบสถ เสาหลักเมืองสูงประมาณ 3 เมตร ฐานประดับด้วยไม้แกะลวดลาย ลงรักปิดทอง ยอดเสาแกะสลักเป็นรูปพรหมพักตร์มีชื่อ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

Nan Temple 5-07118

เสาหลักเมืองเดิมเป็นไม้สักทองขนาดใหญ่ โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3 ฟุต สูงประมาณ 3 เมตร ลักษณะเป็นเสาทรงกลมส่วนหัวเสาเกลาเป็นดอกบัวตูมฝังไว้กับพื้นที่ดินโดยตรง ไม่มีศาลาหรืออาคารครอบ สันนิษฐานว่าอาจจะสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอัตถวรปัญโญ เป็นเจ้าผู้ครองนครน่านในอดีต

ตั้งอยู่ที่ 36 บ้านมิ่งเมือง ถนนสุริยพงศ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน

Nan Temple 2-2463

วัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร

อยู่ตรงข้ามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน เดิมชื่อ วัดหลวงกลางเวียง เจ้าผู้ครองนครน่าน พญาภูเข็ง เป็นผู้สร้างขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 1949 พระวิหารหลวงวัดพระธาตุช้างค้ำวรวิหาร เป็นวิหารขนาดใหญ่ สร้างตามสถาปัตยกรรมทางภาคเหนือ ภายในโอ่โถง ด้านหน้ามีสิงห์คู่ยืนตรงเชิงบันไดด้านละตัว มีทางเข้า 3 ทาง ภายในพระวิหารกว้างขวาง มีเสาปูนกลมขนาดใหญ่ขนาด 2 คนโอบรอบ จำหลัก ลวดลายปูนปั้นนูนสูง เหนือจากระดับพื้นพระวิหาร 1.50 เมตร เป็นลวดลายกนกระย้าย้อย เหมือนลวดลายที่เสาในวิหารวัดภูมินทร์

Nan Temple 2-2499

ภายในวัดประดิษฐาน เจดีย์ช้างค้ำ ซึ่งเป็นศิลปะสมัยสุโขทัย อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 รอบเจดีย์มีรูปปั้นช้างปูนปั้น เพียงครึ่งตัวประดับอยู่โดยรอบ

Nan Temple 2-2476

นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปทองคำปางลีลา คือ พระพุทธนันทบุรีศรีศากยมุนี ซึ่งเป็นทองคำ 65% สูง 145 เซนติเมตร ยอดพระโมฬีทำเสริมเมื่อ พ.ศ. 2442 หนัก 69 บาท เจ้างั่วฬารผาสุม เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 14 แห่งราชวงค์ภูคา เป็นผู้สร้าง เมื่อวันพุธ เดือน 6 เหนือ พ.ศ. 1969 เป็นศิลปะสุโขทัย ประดิษฐานอยู่ที่หอพระไตรปิฎก ใหญ่ที่สุดในประเทศ

Nan Temple 2-2480

พระธาตุฯ แห่งนี้บรรจุพระบรมสารีิริกธาตุไว้ภายใน ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะสุโขทัย จากเจดีย์ทรงลังกา คือเจดีย์วัดช้างล้อม สร้างด้วยอิฐถือปูน มีสัณฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซ้อนกัน 3 ชั้น มีรูปช้างค้ำอยู่ในลักษณะเหมือนฐานรองรับไว้ด้านละ 6 เชือก ทั้งหมด 24 เชือก ช้างแต่ละเชือก โผล่ส่วนหัวลอยออกมาครึ่งตัว ปัจจุบันพระธาตุเจดีย์ช้างค้ำ ได้รับการบูรณะซ่อมแซม และหุ้มด้วยแผ่นทองเหลืองทั้งองค์

ตั้งอยู่ที่ ถนนสุริยพงศ์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

Nan Temple 5-07133

วัดศรีพันต้น

วัดศรีพันต้น สร้างโดยพญาพันต้น เจ้าผู้ครองนครน่าน แห่งราชวงศ์ภูคา (ครองนครน่าน ระหว่าง พ.ศ. 1960 – 1969) ชื่อวัดตรงกับนามผู้สร้าง คือพญาพันต้น บางสมัยเรียกว่า วัดสลีพันต้น (คำว่า สลี หมายถึง ต้นโพธิ์) ในอดีตมีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ด้านทิศเหนือและทิศใต้ของวัด ปัจจุบันถูกโค่นเพื่อตัดเป็นถนนไปแล้ว วัดศรีพันต้นได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2505

Nan Temple 5-07146

ภายในวัดมีวิหารที่สวยงาม ตั้งเด่นเป็นสง่ามีสีทองเป็นประกายระยิบระยับ เป็นอีกวัดในจังหวัดน่านที่มีจิตรกรรมปูนปั้นที่สวยงามโดยเฉพาะพญานาคเจ็ดเศียรสีทอง เหลืองอร่ามสวยงามตระการตา เฝ้าบันไดหน้าวิหารวัด ปั้นโดยช่างชาวน่านชื่อ นายอนุรักษ์ สมศักดิ์ หรือ “สล่ารง”

Nan Temple 5-07141

ภายในวิหารได้มีการเขียนภาพลายเส้นประวัติของพระพุทธเจ้า และประวัติการกำเนิดเมืองน่าน โดยช่างชาวน่าน เป็นภาพเขียนลายเส้นลงสีธรรมชาติสวยงามและทรงคุณค่ายิ่ง

ตั้งอยู่ที่ ถนนเจ้าฟ้า ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของเขตเทศบาลเมืองน่าน

Nan Temple 3-07594

วัดพระธาตุแช่แห้ง

วัดพระธาตุแช่แห้ง (พระธาตุประจำปีเถาะ) พระอารามหลวง เดิมเป็นวัดราษฎร์ ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวง องค์พระธาตุตั้งอยู่บนเนินเขาลูกเตี้ยๆ เป็นสีทองสุกปลั่งงดงาม มองเห็นแต่ไกล เนื่องจากสูงถึง 2 เส้น เป็นอนุสรณ์ของความรักและความสัมพันธ์ ระหว่างเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยในอดีต

Nan Temple 3-07536

พระบรมธาตุแช่แห้ง สันนิษฐานว่ามี อายุราว 600 ปี พญาการเมืองโปรดให้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1891 เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ที่ได้มาจากกรุงสุโขทัย องค์พระธาตุมีีความสูง 55.5 เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 22.5 เมตร บุด้วยทองเหลืองหมดทั้งองค์

Nan Temple 3-07564

เป็นโบราณสถานที่งดงามที่สุดแห่งหนึ่งของล้านนา แสดงให้เห็นถึงแบบอย่างสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมสกุลช่างน่าน ทุกปีจะมีงานนมัสการ พระบรมธาตุแช่แห้ง ระหว่างวันขึ้น 11 ค่ำ ถึง 15 ค่ำเดือน 6 ทางเหนือ ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคมของทุกปี

Nan Temple 3-07577

บริเวณด้านข้างภายในวัดยังมีพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ (พระวิหารพระเจ้านอน) หลังสีขาวสวยงามตั้งอยู่ตรงข้ามกันกับพระมหาเจดีย์ชเวดากองสีขาวจำลองที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้น

ตั้งอยู่ที่ หมู่ 3 บ้านหนองเต่า ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 3 กิโลเมตร

Nan Temple 3-07552

ยังมีวัดอีกมากมายในจังหวัดน่าน ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวพุทธทั้งคนเมืองน่านและจากทั่วประเทศไทย ที่เมื่อมาเที่ยวจังหวัดน่านจะต้องแวะมากราบสักการะเป็นมงคลกับชีวิต นอกการเข้าวัดเพื่อทำบุญแล้ว ยังได้ทราบถึงเรื่องราวของวิถีชาวบ้านในถิ่นนั้นๆ และเพื่อให้เราเดินทางท่องเที่ยวอย่างมีสติอีกด้วย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0