Miracle of Nature

Story by Editorial Staff

Bromo vocalno at sunrise, East Java, , Indonesia

ภาพกลุ่มควันสีขาวที่ลอยฟุ้งออกมาพร้อมเถ้าถ่านที่พุ่งสูงกว่า 400 เมตร บริเวณปล่องภูเขาไฟโบรโม (Bromo) บนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อประมาณกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2558 เป็นภาพการปะทุล่าสุดของภูเขาจอมพิโรธแห่งนี้

Bromo volcano-2481893

ซึ่งก่อนหน้านั้นเคยปะทุอย่างดุเดือดมาแล้วเมื่อปี 2554 แม้ว่าภูเขาไฟโบรโมแห่งนี้จะถือว่าเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่นับได้ว่าดับสนิท ยังมีอาการพ่นควันคำรามมาเป็นระยะๆ ให้ผู้คนและนักท่องเที่ยวได้แตกตื่นกันเสมอ ขึ้นต้นเรื่องมาแบบนี้ หลายคนคงจะงงว่ามันดูอันตรายแบบนี้ แล้วหลายคนทำไมยังเลือกที่จะเดินทางไปอินโดนีเซีย ตามผมมาฟังเหตุผลกัน

Bromo bromo-2316567

ลมหายใจของเทวะ

ภาพที่คุ้นตาของทุกคนคือ บริเวณภูเขาไฟโบรโมผ่านจุดชมวิวยอดเขาพีนาจากาน (Penanjakan) จุดนี้เป็นจุดชมพระอาทิตย์ที่สวยที่สุดของโบรโม ภาพแสงอาทิตย์ที่สาดส่องกระทบยอดภูเขาไฟที่ถูกล้อมรอบด้วยสายหมอกยามเช้า มีกลุ่มควันที่ลอยละล่องออกจากปากปล่อง เหมือนลมหายใจของภูเขาไฟ ด้วยความงามเช่นนี้เองที่ดึงดูดให้ทุกคนปักหมุดปลายทางการเดินทาง หากได้มาเยือนประเทศอินโดนีเซีย ต้องมาที่ภูเขาไฟโบรโมแห่งนี้ แนะนำว่าควรจะไปตั้งแต่เช้าตีสองตีสาม ไปจับจองพื้นที่ไว้ก่อน เพื่อที่คุณจะเห็นภาพที่สวยงามราวกับสวรรค์ได้อย่างเต็มตา และอีกเหตุผลคือ ด้วยที่ภูเขาไฟโบรโมมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 2,329 เมตร ถือว่าเป็นความสูงที่ไม่สูงมากนัก ทำให้เดินทางเข้าถึงได้ง่าย

Bromo bromo-2096893_1920

จากด้านล่างภูเขาคุณสามารถเดินมาตามเส้นทางขึ้นมาสัมผัสปากปล่องภูเขาไฟได้ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร แม้จะเป็นมือใหม่หัดปีน (อย่างเช่นผม) ก็ตาม อาจมีออกอาการหอบบ้างบางระยะ ตามลักษณะของคนไม่ค่อยเดิน (มากนัก) แต่เมื่อได้พักระหว่างทางเป็นระยะจนขึ้นมาถึงบนปากปล่องภูเขาไฟแล้วละก็ คุณจะรู้สึกได้เลยว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวานเป็นเช่นไร ธรรมชาติมันยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์มากจนกระทั่งความเหนื่อยที่ผ่านมาหายไปในพริบตา

Bromo java-2498447

สำหรับคนที่ไม่อยากเดิน (มาก) คุณสามารถขี่ม้าที่มีบริการ แต่ม้าไปส่งได้แค่ไหล่เขาชั้นต้นเท่านั้น ถัดไปที่เป็นบันไดคุณก็ต้องออกเดินตามขั้นบันไดด้วยตัวเองเป็นระยะทางประมาณ 200 เมตร บริเวณปล่องปากภูเขาไฟมีทางเดินให้เดินรอบ แม้มีรั้วกั้นเพียงเล็กน้อยสูงไม่ถึงหัวเข่า แต่ผมก็คิดว่าคงไม่มีใครอุตริคิดอยากเดินทางออกนอกเส้นทางแน่ ก็เพราะเสียงคำรามของโบรโมที่ยังขู่อยู่เป็นพักๆ ไม่พอบางครั้งก็มีเถ้าถ่านเล็กน้อยกระเด็นออกมาให้ตกใจเล่น

Bromo mountain-2515981

สำหรับในตัวปล่องเองก็เห็นควันลอยขึ้นมาเต็มไปหมด แม้บรรยากาศรอบข้างดูจะอึมครึมไปนิด แต่ก็กระตุ้นอะดรีนาลีนในร่างกายได้ไม่น้อย ผมเห็นนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวที่มาเป็นคู่หลายคน ซื้อดอกไม้ป่าจากชาวบ้านขึ้นมาโยนลงไปในปากปล่องภูเขาไฟ ว่ากันว่า หากตั้งใจอธิษฐานขอสิ่งที่ต้องการ จากนั้นโยนช่อดอกไม้ลงไปในปากปล่องภูเขาไฟ คำอธิษฐานจะสัมฤทธิผล

Bromo 64577135_l

ความสุขขนาดย่อมใกล้เชิงเขา

สายหมอกที่ลอยเอื่อยละเลียดขอบเขา ภาพรถจี๊ปหลากหลายสีสัน ทยอยออกจากหมู่บ้านเพื่อมุ่งสู่ภูเขาไฟโบรโมไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีวันจบ น่าจะเป็นภาพที่คุ้นชินสำหรับคนในหมู่บ้านเซโมโรลาวัง (Cemoro Lawang) หมู่บ้านขนาดย่อมที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของภูเขาไฟโบรโม หมู่บ้านที่เปรียบเสมือนบานประตูสู่ภูเขาไฟยอดนิยมแห่งนี้ ผมเองเมื่อวานก็เป็นคนหนึ่งในขบวนรถเหล่านั้น

Bromo 35780573_m

แต่วันนี้ผมเลือกที่จะไม่เดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวอื่นต่อ แต่เลือกที่จะผ่อนคลายไปกับหมู่บ้านเชิงเขาแห่งนี้ หากคุณมีเวลาอย่างเช่นผม ผมแนะนำให้พักที่นี่อีกสักคืน เพราะคุณจะได้สัมผัสธรรมชาติที่เงียบสงบกับวิวที่แสนแปลกตา ท่ามกลางขุนเขาน้อยใหญ่ แสงแดดสาดส่อง

Bromo 69961737_m

คุณจะเห็นความงดงามของทัศนียภาพและทะเลหมอกที่โอบล้อมหมู่บ้านแห่งนี้ไว้ แม้ว่ากระแสของการท่องเที่ยวจะเป็นที่นิยมแค่ไหน คุณก็ยังจะไม่เห็นร้านค้าที่สีสันฉูดฉาด หรือความหรูหราฟุ้งเฟ้อมากนัก ความเป็นธรรมชาติ เรียบง่าย ยังอยู่ให้คนเดินทางอย่างผมได้มาสัมผัส ซึ่งน่าจะเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้ทุกคนอยากมาที่นี่ เป็นความเรียบง่ายแต่น่าสนใจ


มาดาคาริปุรา ราชินีแห่งสายน้ำ

ถ้าโบรโมเป็นตัวแทนแห่งความรุ่มร้อนแล้วละก็ น้ำตกมาดาคาริปุรา (Madakaripura Waterfall) คือความชุ่มฉ่ำและชุ่มชื่นหัวใจเป็นที่สุด น้ำตกมาดาคาริปุรา อยู่ระหว่างทางผ่านไปหมู่บ้านเซโมโรลาวัง ในเขตหมู่บ้านซาปิห์ (Sapih Village) ซ่อนอยู่ในตอนท้ายของหุบเขาลึก มีแหล่งต้นน้ำมาจากผืนป่าเหนือน้ำตกขึ้นไป

32723157 - madakaripura waterfall, travel indonesia asia

หลังจากที่จ่ายเงินค่าไกด์นำทาง ซึ่งเป็นไกด์ท้องถิ่นไปประมาณ 50,000 รูเปียห์ต่อคน พร้อมค่าเข้าอีกคนละ 3,000 รูเปียห์ เรียบร้อยแล้วก็ออกเดินกันเลย สำหรับใครที่มากับทัวร์เหมาวัน โดยมากค่าใช้จ่ายส่วนนี้จะรวมไว้อยู่แล้ว โดยไกด์นำทางนี้จะเป็นผู้ช่วยเหลือ แนะนำและชี้ชวนให้เราถ่ายรูปในจุดที่น่าสนใจ รวมไปถึงถ่ายรูปให้เราอีกด้วย บริเวณทางเข้าน้ำตกจะมีรูปปั้นของท่านนายพลกาจาห์ มาดา (Gajah Mada) ผู้เป็นทั้งนักปกครอง นักปราชญ์ ผู้นำทางทหารคนสำคัญของอินโดนีเซีย ชื่อของท่านคือที่มาของชื่อน้ำตกนั่นเอง สำหรับระยะทางเดินจากปากทางถึงตัวน้ำตกไม่ไกลมากนัก ประมาณ 1 กิโลเมตร หากเดินแบบไม่อะไร 15-20 นาทีก็ถึง แต่ถ้าเดินไปพลาง ถ่ายรูปไปพลาง ชื่นชมกับธรรมชาติและสายน้ำตกเล็กๆ น้อยๆ ไปพลาง ผมคาดว่าไม่ต่ำกว่าชั่วโมง เพราะป่าสองข้างทางอุดมสมบูรณ์มาก เขียว สูงใหญ่ และสดชื่นเป็นที่สุด

Bromo 53517251_ml

ทางเข้าน้ำตกเป็นทางเดินเรียบๆ มีขึ้นลงตามโขดดินบ้างแต่ไม่ลำบากมากนัก พอใกล้จะถึงน้ำตกก็จะมีที่พักให้แปลงโฉม เก็บกล้องใส่ที่กันน้ำให้ดี ใส่เสื้อคลุมกันฝนให้เรียบร้อย งานนี้ตัวเปียกแน่นอน แต่ถ้าใครไม่มีอุปกรณ์กันน้ำมา ที่บริเวณจุดพักก่อนเข้าน้ำตกก็จะมีบริการให้เช่าอยู่ ไม่ต้องกลัว น้ำตกมาดาคาริปุราเกิดจากการรวมตัวกันของน้ำตกหลายๆ จุดที่ไหลลงจากภูเขาสูง 200 เมตร (660 ฟุต) ลงมาสู่แม่น้ำเล็กๆ ด้านล่างที่เต็มไปด้วยหินขนาดเล็กใหญ่ หากมีโอกาสแนะนำให้เข้าชมด้านในน้ำตกเพื่อสัมผัสน้ำตกจุดที่ใหญ่ที่สุด คุณจะพบว่าที่นี่อลังการสมกับได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งสายน้ำแห่งชวาตะวันออกจริงๆ


ล่องเรือชม ลิงโพรบอสซิส (Proboscis Monkey)

จากสนามบินจูอันดา (Juanda International Airport) ของเมืองสุราบายา ผมเลือกบินสายการบินรอยัลบรูไนบินข้ามไปฝั่งประเทศบรูไน เพื่อไปชมสิ่งมีชีวิตที่เป็นความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติของแถบเกาะบอร์เนียวเท่านั้น

Male and female Proboscis Monkeys in the mangroves

นั่นก็คือ ลิงจมูกยาว ลิงชนิดนี้มีลักษณะเด่น คือ จมูกที่ยาวเหมือนงวงช้างจนเป็นที่มาของชื่อนั่นเอง เราสามารถพบเห็นลิงจมูกยาวนี้อาศัยอยู่ในป่าชายเลน หรือป่าติดริมแม่น้ำ ปัจจุบันแม้ใกล้สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่คุณยังสามารถพบเห็นได้ที่ประเทศบรูไนดารุสซาลามอยู่ โดยเฉพาะที่หมู่บ้านกัมปงไอเยอร์ (Kampong Ayer) หมู่บ้านกลางน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริเวณปากแม่น้ำบรูไน

Bromo 2724

Bromo 0319 small

สำหรับกิจกรรมการล่องเรือชม “กัมปงไอเยอร์” เป็นหนึ่งในกิจกรรมสัมผัสธรรมชาติและวิถีชีวิตของกลุ่มคนที่น่าสัมผัส หากคุณได้มาประเทศบรูไน เรือท้องถิ่นซึ่งเป็นเรือไม้ติดเครื่องยนต์นั้นพาพวกเราล่องลำน้ำมาเรื่อยๆ พอถึงแยกเข้าแม่น้ำสายเล็กก็เริ่มจะเห็นไม้โกงกางมาขึ้นหนาทึบเขียวเต็มไปหมด เป็นแถบป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์

Bromo Temuai Leading line

ซึ่งภูมิภาคแบบนี้ที่ลิงจมูกยาวชอบอยู่ มีป่า ใกล้น้ำและแหล่งชุมชนเพราะชาวบ้านมักเอาอาหารมาให้ ขับเรือได้สักพัก จะเริ่มเห็นลิงจมูกยาวโผล่มาเป็นพักๆ ไม่ต้อง กลัวไม่เห็นเพราะไกด์นำทาง ที่รู้จุดที่ลงอยู่ประจำก็จะชี้ชวนให้ดูเอง

Bromo 4637

และเรือรับจ้างนี้เองก็ผ่านหมู่บ้านกัมปงไอเยอร์ หมู่บ้านที่มีอายุกว่า 1,500 ปี มีคนอาศัยอยู่เกือบ 30,000 คน คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนประชากรของประเทศบรูไน ความพิเศษของหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากที่เป็นชุมชนที่แสดงถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ริมน้ำอย่างชัดเจนแล้ว ลักษณะการสร้างบ้านเรือนที่สร้างโดยใช้เสาค้ำยัน เป็นบ้านยกพื้นสูงคล้ายบ้านเรือนไทยของเราเพียงแต่ตั้งอยู่กลางน้ำ บ้านแต่ละหลังจะเชื่อมต่อกันด้วยสะพาน เห็นแบบนี้มีสาธารณูปโภคครบครัน ทั้ง มัสยิด โรงเรียน สถานีอนามัย สถานีตำรวจ ร้านค้า ร้านอาหารและอื่นๆ

Bromo Kg ayer speed boat low

เราจะสังเกตเห็นบ้านแต่ละหลังทาสีสันสดใส บางหลังทาสีเป็นสายรุ้งสะดุดตาเลยทีเดียว มีลานกว้างด้านหน้า บางหลังจะเห็นไม้ดอกไม้ประดับจัดวางอยู่ บ้านบางหลังเห็นเครื่องปรับอากาศหรือเสารับสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียมอยู่ เป็นความเจริญที่เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมได้เป็นอย่างดี ดังนั้นปัจจุบัน หมู่บ้านกลางน้ำกัมปงไอเยอร์เป็นความภาคภูมิใจและเป็นมรดกอันล้ำค่าของประชาชนชาวบรูไนเลยทีเดียว

Bromo BRUNEI forest warm

สัมผัสเมฆที่อุทยานแห่งชาติอูลู เต็มบูรง (Ulu Temburong National Park)

มันเป็นความรู้สึกที่สุดแสนพิเศษสุดๆ เมื่อคุณได้ยืนอยู่เหนือเหล่าต้นไม้สูงใหญ่ และเป็นความหวาดเสียวไปในคราเดียวกันเมื่อทางเดินของคุณคือสะพานแขวนที่แกว่งไปมา ความรู้สึกแบบนี้คุณสามารถสัมผัสได้ที่ อุทยานแห่งชาติอูลู เต็มบูรง

Bromo Hornbill

อุทยานที่รักษาทรัพยากรของป่าฝนเขตร้อนไว้ได้อย่างสมบูรณ์แห่งหนึ่งบนเกาะบอร์เนียว และยังเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า เช่น แมลงหายาก ลิงจมูกยาว นกเงือกและผีเสื้อกว่า 400 ชนิด ด้วยพื้นที่กว่าประมาณ 50,000 เฮกเตอร์ กว้างใหญ่เท่ากับ 1 ใน 4 ของพื้นที่ประเทศบรูไน เต็มไปด้วยพืชพรรณไม้นานาชนิด

Bromo Plant and Flower 9

และทางอุทยานฯ ก็ยังมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมให้เลือกทำมากมายไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการล่องแพไปตามแม่น้ำที่น้ำใสจนเห็นพื้นน้ำด้านล่าง หรือกิจกรรมการตกปลา แคมปิ้งกลางป่า กิจกรรมการเดินเที่ยวชมสัตว์ป่าน้อยใหญ่หลากหลายสายพันธุ์ที่หาได้ดูยากและซึ่งยังมีอยู่ให้ดูไม่มากนัก

Bromo BRUNEI_489_DK

แต่หนึ่งกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลต์คือ การเดินชมตามเส้นทางธรรมชาติมี คาโนปี วอล์กเวย์ (Canopy Walkway) สร้างไว้สำหรับศึกษาพรรณไม้ต่างๆ มีความสูงจากพื้นที่ประมาณ 20 เมตร เชื่อมต่อกับสะพานแขวน จะเห็นได้ว่าในแถบสุราบายาและบรูไนแห่งนี้ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวขาลุยเป็นอย่างยิ่ง

– ภูเขาไฟโบรโม อยู่ในเขตเมืองสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองศูนย์กลางการบริหารของจังหวัดชวาตะวันออก (East Java) และเป็นเมืองใหญ่อันดับที่ 2 ของอินโดนีเซีย สุราบายา มาจากคำสองคำผสมกัน คือ สุรา + บายา (Sura or Soro + Baya or Bayo) ซึ่งหมายถึงฉลามและจระเข้ ที่เป็นสัญลักษณ์เมือง นอกจากนี้ที่นี่ยังถือว่าเป็นเมืองของวีรบุรุษ “Hero City” ซึ่งมีฮีโร่ที่เกิดจากการทำสงครามเพื่ออิสรภาพ และเสียชีวิตไปเมื่อ 10 พ.ย. 1945 และเป็นบ้านเกิดของประธานาธิบดี ซูการ์โน
– โบรโม มาจากตัวสะกดในภาษาชวาของคำว่า “พรหม” ซึ่งเป็นพระนามของเทพเจ้าในศาสนาฮินดู ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปีจะมีเทศกาล Yadnya Kasada ซึ่งเป็นงานของชนชาวพื้นเมืองที่ออกเดินเท้าขึ้นไปบนปากปล่องภูเขาไฟ และประกอบพิธีเซ่นไหว้เทพเจ้าโดยการโยนอาหาร ดอกไม้ และสัตว์บูชายัญลงในแอ่งภูเขาไฟ
– การเดินทางท่องเที่ยวในเส้นทางสุราบายา และบรูไน สามารถทำได้ง่ายๆ โดยสายการบิน รอยัล บรูไน (Royal Brunei) สายการบินแห่งชาติของประเทศบรูไนดารุสซาลาม (หนึ่งในประเทศสมาชิก AEC ซึ่งผู้โดยสารชาวไทยสามารถเดินทางโดยไม่ต้องใช้วีซ่า) ผู้ให้บริการบินตรงจากกรุงเทพฯ สู่กรุงบันดาเสรีเบกาวัน ประเทศบรูไนดารุสซาลาม 6 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ด้วยระยะเวลาบินเพียง 2 ชั่วโมง 45 นาที กับบริการอันแสนอบอุ่นและคลาสสิกแบบฟูลเซอร์วิส (Full Service) และสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยัง ประเทศอินโดนีเซีย ผ่านทางสนามบินจูอันดา (Juanda International Airport) ของเมืองสุราบายาได้อย่างง่ายดาย ใช้เวลาบินเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

ขอขอบคุณ สายการบิน รอยัล บรูไน

Logo Royal Brunei Airlines

ติดต่อสอบถามและบริการสำรองที่นั่งบัตรโดยสารราคาพิเศษได้ที่
สายการบิน รอยัล บรูไน สำนักงานประเทศไทย
โทร. 02 638 3050 หรือ www.flyroyalbrunei.com

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0