สีสัน-วัฒนธรรม โขนและนาฏศิลป์ไทย

Story & Photo by Paladisai Sitthithanyakij

การฟ้อนระบำรำเต้นเล่นดนตรีนั้นเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ฝังรากอยู่ในสุวรรณภูมิและอุษาคเณย์มาราว ๕,๐๐๐ ปีแล้ว เมื่อแรกนั้น เกิดจากการวิงวอนร้องขอในพิธีกรรมเพื่อความอยู่รอดของคนและชุมชนของคนโบราณ เช่นขอให้หายเจ็บไข้ได้ป่วย ขอให้ฟ้าฝนตกต้องตามฤดูกาล ขอให้ปลูกพืชพรรณธัญญาหารเติบโตอุดมสมบูรณ์ มีข้าวพืชผลเลี้ยงชีวิตตลอดฤดูกาล

นักแสดงชั้้นครูผู้อนุรักษ์โขนรามเกียรติ์

ต่างสืบต่อจนหลายแห่งต่างมีการละเล่นฟ้อนระบำรำเต้นเช่นเดียวกัน จะแตกต่างกันก็ตรงการแสดงนั้นได้ถูกผูกและดัดแปลงให้เหมาะสมกับกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งมีการถ่ายทอดเพื่อแสดงความเป็นชนเผ่าและเครือญาติกันจนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับดินแดนและผู้คนที่อยู่ในสุวรรณภูมิแห่งนี้

รูปซ้าย – ครูวีระชัย มีบ่อทรัพย์ เป็นพระพรหม, รูปขวา – อินทราครวญ

ดังนั้นนาฏศิลป์ไทยและการแสดงโขนจากเรื่องรามเกียรติ์จึงถูกพัฒนาต่อรุ่นต่อสมัยมาจนเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งผ่านการถ่ายทอดต่อยอดและพัฒนาจนเป็นมรดกทางการแสดงที่สร้างชื่อเสียงและหาดูได้ยาก ด้วยเป็นการแสดงที่มีค่าใช้จ่ายจำนวนมากต้องมีเจ้านายคอยเป็นผู้อุปถัมภ์ ฟ้อนระบำรำเต้นในไทย มีทั้งคล้ายคลึงและแตกต่างกันอยู่ในภาคต่างๆ เช่น ภาคเหนือ มีฟ้อนผี ฟ้อนแห่ครัวทาน ฟ้อนต่างๆ ฯลฯ ภาคอีสาน มีฟ้อนผี ฟ้อนต่างๆ ฯลฯ ภาคใต้ มีโนรา ชาตรี ฯลฯ และภาคกลาง มีรำ ระบำ โขน ละคร ฯลฯ

ครูอรรถพล ฉิมพูลสุข เป็นพระอิศวร และครูไพฑูรย์ เข้มแข็ง เป็นพระนารายณ์

แม้จะมีการเรียกให้นาฏศิลป์ไทยนั้นหมายถึง รำ ระบำ โขน ละคร ดูเหมือนจะยกย่องนาฏศิลป์ภาคกลางหรือการแสดงในราชสำนักเท่านั้นเป็น “นาฏศิลป์ไทย” ส่วนนาฏศิลป์ภาคอื่น คือ ภาคใต้, ภาคอีสาน, ภาคเหนือ นั้นเป็น “นาฏศิลป์พื้นเมือง” ดังนั้นการดำเนินการให้การแสดง ไม่ให้สูญหายจึงจำเป็นต้องมีครูและศิลปินผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านมาร่วมกันฟื้นฟูและร่วมถ่ายทอดศิลปะการแสดงสู่คนรุ่นเยาว์ให้มากขึ้น จึงมีการคิดประดิษฐ์ท่ารำแสดงในชุดต่างๆ ขึ้นมากมาย

ระบำนารายณ์เจ็ดปาง

สำหรับการแสดงโขนนั้น ส่วนใหญ่แสดงตอนที่สนุกสนานและไม่จบบทพระราชนิพนธ์ด้วยมีความเชื่อว่า “ยักษ์ใหญ่นั้นไม่จบชีวิตกลางโรง” ทั้งที่มีตัวละครตัวอื่นจบชีวิตกลางโรงได้ เช่น พาลี อินทรชิต กุมภกรรณ เป็นต้น โดยเฉพาะทศกัณฐ์นั้น ถือกันว่าจะแสดงจบชีวิตกลางโรงไม่ได้ ด้วยถูกกำหนดให้มีอายุ ๒,๐๐๐ ปี เมื่อล้มแล้วไปเกิดอีกไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ การแสดงโขนตอนทศกัณฐ์ล้ม จึงมีเรื่องราวเล่าขานจนไม่มีการนำมาแสดงอีก ครูบาอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านเล่าว่า ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้นมีการแสดงในศึกสุดท้ายของทศกัณฐ์โดยใช้ชื่อตอนว่า “ทศกัณฐ์สั่งเมือง หรือ ทศกัณฐ์ล้ม” แสดงโดย พระราชวรินทร์ (กุหลาบ โกสุม) หลังจากได้แสดงแล้วชีวิตของท่านเกิดตกต่ำลงเป็นลำดับ ใครผู้นำไปแสดงก็เชื่อว่าจะมีอันเป็นไปอีกจนเป็นตอนโขนที่ต้องปิดเวทีไม่แสดง แม้แต่เพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงตอนนี้คือ เพลงหน้าพาทย์สยาครัว และเพลงหน้าพาทย์สยาเดิน ก็ถูกจัดเป็นเพลงต้องห้ามหรือต้องทิ้งเสีย

รูปซ้าย – ด.ช.อิสระ ไชยศฺริ แสดงเป็นหนุมาน, รูปขวา – ทศกัณฐ์เกี้ยวนางสีดา

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จนถึงปัจจุบัน การแสดงโขนตอนนี้ได้สูญหายไปกว่าร้อยปีแล้ว หากไม่สร้างหรือจัดการแสดงโขนขึ้นมา ก็จะไม่มีโอกาสได้รู้ได้เห็นกันอีกเลย ศึกสุดท้ายของทศกัณฐ์ก่อนที่จะจบล้มลงนั้น ได้แปลงกายเป็นพระอินทร์มีสิบหน้า ซึ่งไม่มีใครเห็นการแสดงในรูปลักษณ์ของพระอินทร์แปลง หรือทศกัณฐ์หน้าอินทร์ ชมรมอนุรักษ์วัฒนธรรมรามเกียรติ์จึงได้ศึกษาค้นคว้าและนำหัวโขน “ทศกัณฐ์หน้าพระอินทร์” ที่สูญหายไปกว่า ๑๐๐ ปีนั้นกลับมาสร้างสรรค์และนำออกแสดงเพื่อเชิดชูครูบาอาจารย์ขึ้นเป็นครั้งแรกในชุด “ทศกัณฐ์สั่งลา รูปอินทราครวญ” โดยมีผู้ทรงคุณวุฒินาฏศิลป์ศิลปินแห่งชาติและครูโขนคนสำคัญร่วมกันสร้างสีสันให้มีการแสดงโขนตอนนี้เป็นครั้งแรกในรอบ ๑๐๐ ปี เพื่อรักษาไว้ไม่ให้สูญหายไปจากสังคมไทย

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0