สีสัน…สัมโบร์ไพรกุกแห่งอิศานปุระ

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

กลุ่มปราสาทหินนั้นมีเรื่องราวที่น่าสนใจมาก จนทำให้นักท่องเที่ยวต่างพากันเดินทางมาเที่ยวกัมพูชาเป็นจำนวนมากกว่า ๕ ล้านคนในทุกปี ส่วนไทยก็ได้รับความสนใจกลุ่มปราสาทหินไม่แตกต่างกันแม้จะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ด้วยความมหัศจรรย์ของปราสาทหินทั้งในกัมพูชาและไทยจึงมีการศึกษาเชื่อมโยงถึงกัน โดยเฉพาะกลุ่มปราสาทสัมโบร์ไพรกุกที่ตั้งอยู่ในจังหวัดกำปงธม ประเทศกัมพูชานั้นน่าสนใจมาก

เพราะกลุ่มปราสาทที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาด ๒๕ ตารางกิโลเมตร ใน พ.ศ. ๒๕๖๐ ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ระบุว่า พื้นที่นี้เรียกว่า อิศานปุระ (Ishanapura) ในอดีตนั้นบริเวณนี้เคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรโบราณเจนละ (Chenla) ของวัฒนธรรมขอมในช่วงปลายศตวรรษที่ ๖-๗ ก่อนที่จักรวรรดิขอมจะเข้ามาแทนที่

กระทรวงศิลปะและวัฒนธรรมของกัมพูชาได้แถลงการณ์ว่า “การตัดสินใจของคณะกรรมการยูเนสโกครั้งนี้คือความภาคภูมิใจครั้งใหญ่ของประเทศ” ด้วยการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของกลุ่มปราสาทสัมโบร์ไพรกุกนั้น ทำให้รัฐบาลกัมพูชาต้องจัดเพิ่มงบประมาณเข้าไปดูแลรักษาสถานที่แห่งนี้เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญอีกแห่งหนึ่ง

ปัจจุบันกัมพูชามีแหล่งมรดกโลกที่ประกาศแล้วคือ ปราสาทนครวัด จังหวัดเสียมเรียบได้รับการขึ้นทะเบียน เป็นมรดกโลกในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ ปราสาทเขาพระวิหาร จังหวัดเขาพระวิหารในปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และกลุ่มปราสาทสัมโบร์ไพรกุก ที่ตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญประมาณ ๑๙๓ กม. ไปทางเหนือในพื้นที่ป่าอันสงบเงียบ แหล่งโบราณคดีแห่งนี้เป็นศูนย์กลางทางศาสนาที่สำคัญที่สุดของก่อนยุคอังกอร์เรียน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีปราสาทอยู่หลายแห่งตั้งอยู่ สถาปัตยกรรมของปราสาทนั้นนับเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แหล่งโบราณคดีจากกลุ่มปราสาทสัมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) แห่งนี้สันนิษฐานว่าเคยเป็นนครอิศานปุระ เมืองหลวงแห่งอาณาจักรเจนละ (Chenla Empire) ที่เจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงปลายศตวรรษที่หกจนถึงต้นศตวรรษที่เจ็ด อิศานปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรเจนละ ที่เจริญรุ่งเรืองในปลายศตวรรษที่ ๖ ต่อเนื่องถึงต้นศตวรรษ ๗ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมันที่ ๑ กษัตริย์แห่งอาณาจักรเจนละ จากการสำรวจพบร่องรอยของเมืองแห่งนี้ ประกอบด้วยจุดศูนย์กลางที่มีกำแพงล้อมรอบ รวมถึงวัดวาอารามจำนวนมาก

ซึ่งลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมแบบสัมโบร์ไพรกุกคือ การใช้หินทรายในการตกแต่งส่วนต่างๆ อาทิ ขื่อประตู หน้าจั่ว และเสาค้ำ คำว่า สัมโบร์ไพรกุก (Sambor Prei Kuk) ในภาษาเขมรแปลว่า ‘วัดในป่าที่อุดมสมบูรณ์’ เป็นกลุ่มปราสาทนั้นยังปรากฏร่องรอยของความเป็นเมืองหลวง ที่มีใจกลางเมืองล้อมรอบด้วยกำแพง และปราสาทที่เป็นศาสนสถานสำคัญหลายแห่ง ปราสาทนั้นสร้างขึ้นจากหินทราย มีทับหลัง หน้าบัน

ซึ่งทับหลังเป็นชิ้นส่วนของสถาปัตยกรรมที่พบในศิลปะเขมรโดยติดตั้งอยู่บนกรอบประตูทางเข้าเสมอ ทับหลังนั้นเป็นรูปแบบของทับหลังในศิลปะไพรกเมงที่จะคลี่คลายไปสู่แบบศิลปะกำพงพระ โดยมีการทำเส้นวงโค้งเป็นเส้นตรงเพียงเส้นเดียว กลางทับหลัง และปรากฏเหรียญอยู่กลางเส้นวงโค้งตามรูปแบบของศิลปะไพรกเมง แต่อย่างไรก็ตามตัวเหรียญได้ปรับเปลี่ยนให้เป็นลักษณะของลายใบไม้ซึ่งเหมือนกัน ปลายของทับหลังทั้งสองด้านเป็นลายใบไม้ขนาดใหญ่ซึ่งต่อมาลายใบไม้ดังกล่าวได้เป็นที่นิยมในศิลปะกำพงพระที่มีการสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอิศานวรมันแห่งอาณาจักรเจนละ

หลังจากที่พระเจ้าอิศานวรมันยกทัพยึดฟูนันได้สำเร็จ โปรดให้ย้ายเมืองหลวงมายังเมืองสัมโบร์ไพรกุก บางส่วนที่เหลืออยู่ยังมีสภาพสมบูรณ์จนถือว่าเป็น “ผลงานชิ้นเอก” สถาปัตยกรรมของสัมโบร์ไพรกุกนั้นถือได้ว่าเป็นต้นแบบของสิ่งก่อสร้างของยุคพระนคร (Angkor period) ในช่วงเวลาต่อมา ดังนั้นทั้งศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจึงเป็นสีสันการพัฒนาเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปะเขมรที่ทำให้ทั้งไทย-กัมพูชานั้นต่างได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจากปราสาทหินที่มีอยู่ทั้งสองประเทศ

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0