สีสัน…วันธงช้างอุไทยธานีสู่ธงชาติแถบสี

เรื่องและภาพโดย อาจารย์พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

วันที่ ๑๓ กันยายน เป็นวันธงช้างอุไทยธานีครบ ๑๐๑ ปี (เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๐ ) นั่นหมายความว่า ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนธงช้างมาเป็นแถบสีขาว – แดงนั้นมีการใช้ธงช้างเป็นธงชาติมาก่อนแล้วในรัชกาลที่ ๓

โดยเปลี่ยนธงช้างในกงจักรซึ่งใช้บนเรือกำปั่นที่ใช้แต่รัชกาลที่ ๒ นั้นมาเป็นธงช้างเปลือย โดยหมายให้เป็นธงที่มีการใช้โดยทั่วไปทั้งราษฎร์และทางราชการคือเป็นธงสำหรับออกไปค้าขาย จึงเรียกกันว่า ธงค้าขาย และใช้เป็นธงชาติต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จประพาสไปตามหัวเมืองชายน้ำต่างๆ นั้น พระองค์ทรงถือโอกาสเสด็จประพาสที่เมืองอุไทยธานีเพื่อชมวัดที่ตั้งอุ่ยสุ่นรายงานการสร้าง ในคราวนั้นจมื่นอมรดรุณารักษ์” ได้เล่าไว้ใน” วชิราวุธานุสรณ์ พ.ศ. ๒๔๙๖ ซึ่งเขียนกันตอนหลังในเรื่อง “ธงชาติไทย” ว่าพอเวลาบ่ายของวันที่ ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๙ เรือยนต์พระที่นั่งประจำทวีปนำโดยเรือยนต์ของจังหวัดอุทัยธานี พร้อมด้วยเรือพระที่นั่งรองและเรือพระประเทียบทั้งหลาย อันแล่นเป็นขบวนลดหลั่น แต่ช้าๆ สง่างามเป็นทิวแถวแล่นเข้าเทียบท่าหน้าเมืองอุทัยธานี

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายสดุดีต้อนรับอยู่กึกก้องของบรรดาข้าราชการและประชาชนชาวจังหวัดทั้งจังหวัด ที่มาคอยเฝ้าแน่นขนัดสองฝั่งแม่น้ำสะแกกรังอย่างล้นหลาม ณ ริมแม่น้ำศาลากลางจังหวัด อันเป็นศูนย์กลางของตัวเมือง ที่เรือพระที่นั่งเข้าจอดเทียบท่าเป็นฉนวนใหญ่ยาว หลังคามุงจากสูงรโหฐาน พอเรือยนต์พระที่นั่งและเรืออื่นๆ จอดพักได้สบาย ตัวพลับพลาที่ประทับนั้นสร้างด้วยไม้ไผ่อันเป็นของพื้นเมืองที่หาได้จากภูมิประเทศใกล้เคียง มุงหลังคาจาก รูปลักษณะสี่เหลี่ยมทำนองศาลา แต่กั้นห้องเรียบร้อยและสวยงามด้วยไม้ไผ่เขียวสด ยังเครื่องใช้ต่างๆ ที่จัดไว้ถวายเช่น โต๊ะ เก้าอี้ที่ประทับอื่นๆ ก็จัดสรรขึ้นด้วยไม้ไผ่ของพื้นเมืองเราทั้งสิ้น นับว่าเป็นศิลปะของไทยแท้ที่ทำด้วยความฉลาดสามารถเป็นที่สะดุดตาอย่างอวดฝีมือกันทีเดียว ทั้งนี้ปรากฏว่าเป็นที่สบพระราชหฤทัยและถึงกับรับสั่งชมเชยเป็นอันมาก

ในวันนั้นหลังจากได้เสด็จขึ้นบนพลับพลาให้บรรดาข้าหลวงและเหล่าข้าราชการประจำท้องที่เฝ้ารับเสด็จ กับได้ทรงมีพระราชดำรัสปฏิสันถารโดยควรแก่เวลาแล้ว ได้ประทับแรมของการประพาสเมืองอุไทยธานี

ครั้งวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันกำหนดเสด็จประพาสวัดเขาสะแกกรัง บรรดาผู้ตามเสด็จเตรียมคอยอยู่พร้อม ณ หน้าพลับพลาหลวงที่ประทับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงฉลองพระองค์ด้วย พระภูษาม่วงหางกระรอกสีปีกแมลงทับ ฉลองพระองค์แพรขาวแบบข้าราชการ กระดุมทองลงยาห้าเม็ด ทรงพระมาลาแบบปีกกว้างหางนกยูงมีธารพระกรอยู่ในพระหัตถ์ และทรงฉลองพระบาทสวมหุ้มส้นอย่างธรรมดา ก็เสด็จขึ้นประทับนั่งพระแคร่หามโดยพระตำรวจหลวงซึ่งแต่งกายแบบไทยเดิมคือ นุ่งม่วงสีน้ำเงินสวมเสื้อนอกกระดุมห้าเม็ดสีขาวคาดรัดประคดแดง ใส่ถุงเท้าขาวและรองเท้าแบบสวม สวมหมวกทรงประพาส มีมหาดเล็กถวายพระกลดเดินเคียงไปใกล้ๆ แวดล้อมด้วยราชองครักษ์ทั้งสี่และข้าราชบริพารใหญ่น้อยตามลำดับชั้น เคลื่อนขบวนเสด็จออกจากพลับพลา หน้าเมืองไปตามถนนเลียบริมน้ำ ท่ามกลางประชาชนที่คอยเฝ้าชมพระบารมีอยู่แออัดตลอดทาง ฯลฯ ในระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นธงชาติรูปช้างผืนหนึ่งในลักษณะช้างกลับหัวเอาสี่เท้าชี้ขึ้นฟ้า อันเป็นเหตุให้เห็นใจพสกนิกรอย่างยิ่ง ทำให้พระราชดำริค้างคาเรื่องการเปลี่ยนธงชาติที่มีมาก่อนหน้านั้นสรุปได้ในทันทีว่าควรที่จะได้รับการแก้ไขใหม่โดยเปลี่ยนเป็นแถบสีแทนใช้รูปช้างเสียเพื่อสะดวกในการใช้เหมือนธงของนานาประเทศ

นับเป็นการเปลี่ยนธงช้างเป็นธงแถบสีขาว – แดงคือธงแถบสีขาว – แดง ซึ่งทดลองใช้อยู่ ๑ ปี แล้วพระองค์โปรดฯ ให้เพิ่มสีขาบหรือน้ำเงินแก่ อีกสีหนึ่ง คือเป็นธงไตรรงค์ที่ประกาศใช้ในวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๔๖๐

ดังนั้นสีสัน..เมืองอุไทยธานีในวันนี้ จึงพากันจัดงานและประดับธงช้าง – ธงแถบสีขาว – แดง เพื่อย้อนอดีตในรัชกาลที่ ๖ ก่อนเมืองอื่น เพราะเป็นแห่งเดียวที่มีเหตุให้เปลี่ยนเป็นธงแถบสีขึ้นครั้งแรก

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0