Exploring Tunisia

Story & Photo by Kanjana Hongthong

ตูนิเซียเป็นประเทศที่มีหลายโหมดและเซี้ยสวยครบเครื่องจริงๆ มีทั้งเมืองตากอากาศริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เมืองริมทะเลทรายซะฮารา ขนาดเมืองโรมันโบราณยังมีเลย

Tunisia 9719

ไซซ์อาจจะต่าง บรรยากาศอาจจะไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันคือ น่าเที่ยวทุกเมือง อย่างที่เมืองกาเบส ซึ่งเป็นเมืองใหญ่อันดับ 6 ของตูนิเซียมีผู้คนอาศัยอยู่แสนกว่าคนยังน่าเที่ยวเลย นี่คือเมืองอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศตูนิเซีย ทำพวกซีเมนต์ อิฐเคมีภัณฑ์และน้ำมัน ตัวเมืองตั้งอยู่บนชายฝั่งของอ่าวกาเบส มองไปโดยรอบจะเห็นโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่แน่นชายฝั่งทะเล ในย่านเมืองเก่าของกาเบส มีตลาดที่น่าเดินมาก

Tunisia 8469

ตลาดนี้เขาเรียกจาราห์ซุค จากต้นทางของตลาดจนกระทั่งเดินลึกเข้ามาสู่ด้านในของตลาด เราก็รู้แล้วว่าเมืองนี้เขาเด่นเรื่องทำกระบุงตะกร้า นอกจากพวกตะกร้าแล้ว พวกเครื่องสานจำพวกเสื่อละหมาด และหมวกก็ถือว่าโดดเด่นไม่แพ้กัน เดินลึกเข้าไปอีก เป็นลานกว้างที่ห้อมล้อมไว้ด้วยร้านค้าสมัยโบราณเวลาจะซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสินค้าเขาก็มามุมนี้กัน

Tunisia 9551

ตอนนี้ร้านค้าแถวนี้มีทั้งขายเครื่องเทศ ของแห้ง และพวกเสื้อผ้าอาภรณ์สำหรับชาวเมือง เราแวะเข้าไปที่ร้านขายเครื่องเทศ หลังจากซื้อชาสะระแหน่ติดมือพ่อหนุ่มเจ้าของร้านก็ขายเฮนนาต่อเลย ที่นี่เขาเอาไว้ย้อมผมและเพนต์มือกัน

Tunisia 9876

ยังมีอีกเมืองหนึ่งที่น่าเที่ยวไม่แพ้กัน นั่นคือเมืองสแฟกซ์ เมืองริมทะเลเหมือนกัน นั่งรถจากกาเบสไปอีกสัก 2 ชั่วโมงก็ถึงสแฟกซ์แล้ว สแฟกซ์เป็นเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียนที่สำคัญเมืองหนึ่งของตูนิเซีย ตั้งอยู่ห่างลงมาทางใต้จากตูนิสสัก 270 กิโลเมตรเห็นจะได้ ดูตามปีเกิดของเมืองก็ต้องบอกว่าเมืองนี้ เข้าข่ายโบราณเก่าแก่ได้เหมือนกันเพราะอายุเกิน 1,100 ปีเข้าไปแล้วที่นี่เป็นเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอยู่อาศัยร่วม 4 แสนคน จะว่าไปสแฟกซ์ถือว่า มีความสำคัญสำหรับตูนิเซียพอสมควร เพราะตูนิสอาจจะเป็นเมืองหลวงก็จริง แต่สแฟกซ์ถือว่าเป็นเมืองหลวงทางด้านเศรษฐกิจ แถมในชั้นเชิงเรื่องการเมืองก็มีความสำคัญเช่นกัน อเดลเล่าว่าในช่วงปฏิวัติดอกมะลิที่เพิ่งเกิดขึ้น เมืองที่ผู้คนลุกฮือขึ้นมาประท้วงก่อนตูนิสก็เริ่มจากสแฟกซ์นี่เอง

Tunisia 0846

พอมาถึง สแฟกซ์ก็ต้อนรับเราสีสันอันฉูดฉาดของตลาดที่อยู่ในเขตเมืองเก่า ต้องบอกว่าเป็นตลาดที่น่าดูและน่าเดินมาก มีทั้งตลาดขายปลา กลิ่นคาวปลาคละคลุ้งไปทั่วก็ประสาเมืองริมทะเล แถมสแฟกซ์ยังมีสะพานปลา และเป็นท่าเรือประมงแห่งแรกของประเทศตูนิเซียด้วย เลยมีปลาให้เลือกซื้อเยอะไปหมด แถมราคาถูกอีกต่างหาก บรรยากาศสนุกสนานมาก ทั้งพ่อค้าและลูกค้าซื้อขายกันชุลมุนไปหมด

Tunisia 0716

แต่โดยรวมๆ ต้องบอกว่าผู้คนที่นี่ก็ยิ้มแย้ม และพร้อมจะเป็นนายแบบกันทั้งนั้น จากฝั่งตลาดปลา ยังมีตลาดผักผลไม้และของชำก็น่าดูไม่แพ้กัน เป็นวันที่ผู้คนออกมาเดินจับจ่ายกันเยอะมาก ก็เหมือนกับเมดิน่าของเมืองอื่น ที่ภายในไม่ได้มีแค่ตลาด แต่มีมัสยิดประจำเมืองและโรงเรียนสอนศาสนาอยู่ด้วย ร้านน้ำชากาแฟก็ขาดไม่ได้

Tunisia 0688

พอเดินพ้นออกมาจากชายคาเมดิน่า เราก็เจอป้อมปราการประจำเมืองที่ใหญ่โตโอ่อ่ามากโอบล้อมเมืองเก่าเอาไว้ ที่จริงทางเข้าเมดิน่า มี 6 ประตู แต่ทางเข้าที่ว่าสวยและคึกคักที่สุดคือ Bab Diwan ที่มีอยู่ 3 ประตู มุมนี้ตอนแดดร่มลมตกผู้คนจะออกมาเดินเยอะมาก ใครไม่รีบร้อนไปไหนมานั่งดูผู้คนแถวนี้น่าจะดี แต่เราเดินข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง จากเมดิน่ามีถนนเชื่อมไปหาซิตี้ฮอลล์ ถนนสายนี้นี่มีแต่วัยรุ่นออกมาเดินเตร็ดเตร่เที่ยวเล่นกันเต็มไปหมด สองฝั่งมีทั้งร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายดอกไม้ ใครๆ ก็เลยพากันออกมานั่งเล่นตรงนี้

Tunisia 0829

ถือว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งของตูนิเซียที่ทำให้เราจากมาด้วยรอยยิ้ม จากเมืองสแฟกซ์เราไปเที่ยวต่อกันที่เมืองเอลเจม เมืองที่ได้ชื่อว่า เป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวตูนิเซีย มีดีกรีเป็นมรดกโลกเมื่อปี 1979 เรียกได้ว่าเป็นสถานที่ที่คนมาตูนิเซีย น่าจะจัดให้อยู่ในหมวดจำเป็นต้องมา อารมณ์เดียวกับไปโรมแล้วต้องเห็นโคลอสเซียม และภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้าเหมือนยกโคลอสเซียมที่โรมมาไว้ที่ตูนิเซียเลย

Tunisia 0136

ใครที่เกิดมาเพื่อตามรอยเมืองโรมันโบราณ ขอให้มุ่งหน้ามาที่นี่ เพราะเอลเจมได้ทิ้งมรดกตกทอดชิ้นใหญ่เอาไว้ให้คนรุ่นนี้ได้ชมกันอย่างเต็มตา ในอดีตที่นี่คือเมืองโรมันโบราณที่สร้างตั้งแต่ปี ค.ศ.117 หรือเมื่อ 1,800 กว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็เหมือนกับทุกเมือง ที่ถึงแม้จะค้าขายมะกอกจนร่ำรวยแต่วันหนึ่งก็เดินมาถึงยุคเสื่อมถอยจนเอลเจมค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงในที่สุด

Tunisia 0072

ของชิ้นหนึ่งในเอลเจมที่พอบอกได้ว่าสมัยก่อนอาณาจักรรุ่งเรืองในแถบนี้แค่ไหน ก็คงเป็นโรงละครโรมัน ที่นี่เป็นโคลอสเซียมใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาณาจักรโรมัน และถือเป็นโคลอสเซียมที่มีชื่อเสียง และสำคัญที่สุดในแอฟริกาเหนือก็ว่าได้

Tunisia 9951

ที่นี่ถือว่าเป็นโรงละครสมบูรณ์ที่สุด ถูกสร้างเป็นโรงละครเพื่อชมการแสดง การต่อสู้ระหว่างคนกับคน และคนกับสัตว์ และบางครั้งเป็นการแข่งรถม้า เพื่อให้ความเพลิดเพลินแก่บรรดาขุนนางและกษัตริย์ ใครที่เคยเห็นโคลอสเซียม ในโรมคงจะเห็นแล้วว่าผุพังไปเยอะแล้ว แต่ที่นี่ส่วนใหญ่ยังสมบูรณ์อยู่มาก แต่ที่นั่นใหญ่กว่าและจุคนได้ถึง 8 หมื่นคน พอเดินลงไปดูด้านล่าง ก็เจอกับห้องหับต่างๆ ที่เขาเอาไว้เก็บตัวพวกทาสที่เป็นนักสู้และสิงโตก่อนจะออกไปแสดงการต่อสู้ ประมาณว่าเป็นห้องพักนักกีฬาที่กำลังจะออกไปแข่ง ก็เหมือนกับโคลอสเซียมที่โรมนั่นแหละ ที่ใต้อัฒจันทร์และใต้ดินมีห้องนับร้อย ไว้สำหรับขังสิงโตและนักโทษที่รอการประหารชีวิต

Tunisia 0064

พูดถึงการประลองกำลังกันนั้น สมัยก่อนเขาก็ซาดิสต์ไม่เบา เพราะก่อนจะแข่งขันเขาจะปล่อยให้สิงโตอดอาหาร ถ้านักสู้คนไหนเอาชนะ ฆ่าสิงโตได้ด้วยมือเปล่าได้ก็รอดชีวิตไป บางครั้งก็เอาไว้ใช้เป็นที่ประลองฝีมือในเชิงฟันดาบของบรรดาเหล่าทาสให้ต่อสู้กันเอง ยิ่งถ้าต่อสู้กัน จนถึงสามารถฆ่าคู่ต่อสู้ตาย ก็จะได้รับเกียรติอย่างสูง เพราะเป็นการต่อสู้ที่ชาวโรมันนิยมและยกย่องกันมาก จนสมัยก่อนเขาว่าปีปีหนึ่งต้องสูญเสียชีวิตนักโทษและทาสเยอะมาก

Tunisia 9984

จะว่าไปแล้ว ในยุคนั้นโคลอสเซียมไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็ถูกสร้างเพื่อใช้เป็นแหล่งบันเทิงล้วนๆ ไม่มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง ผู้มาเสพความบันเทิงก็คือกษัตริย์ ขุนนาง และชายชาวโรมที่ส่วนใหญ่จะว่างงาน และอยู่ได้ด้วยสวัสดิการจากกษัตริย์ ส่วนเหยื่อที่ถูกใช้เพื่อสร้างความบันเทิงก็คือบรรดาสิงสาราสัตว์และชายฉกรรจ์ที่ต้องลงสนามสู้นั่นเอง ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นทุกครั้ง คือต้องมีการหลั่งเลือดให้คนรอบสนามได้โห่ฮา คนดูอาจจะสนุก แต่บางครั้งคนลงสนามต้องเดิมพันด้วยชีวิต ว่ากันว่าช่วงเวลาที่โคลอสเซียมเปิดประตูรับผู้ชม มีสัตว์ใหญ่จากทวีปแอฟริกาต้องสังเวยชีวิตในสนามนี้เยอะมาก ยังไม่นับชีวิตมนุษย์อีกไม่น้อย

จากกาเบส สแฟกซ์ มาจนถึงเอลเจม พูดเลยว่า ตูนิเซียนี่เปล่งประกายเป็นดาวจรัสแสงในแถบแอฟริกาเหนือจริงๆ

-สายการบินกาตาร์ แอร์เวย์สบินไปตูนิสทุกวัน คลิกไปดูได้ที่ www.qatarairways.com
-ที่พักแต่ละเมืองมีให้เลือกพอสมควร คลิกไปสำรวจที่เว็บไซต์บุกกิ้ง www.booking.com
-ตูนิเซียเที่ยวได้ตลอดทั้งปี อากาศไม่ร้อนหนาวจนเกินไป

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0