สีสัน…พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรแห่งสุวรรณภูมิ

Story & Photo by Paladisai Sitthithanyakij

การสร้างกรุงเทพมหานครเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ในดินแดนสุวรรณภูมินั้นได้มีการสถาปนาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ขึ้นเป็นปฐมแห่งพระบรมมหาราชวังแห่งใหม่ คือ กรุงรัตนโกสินทร์ เพื่ออัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต ประดิษฐานเป็นพระพุทธรูปสำคัญของพระราชอาณาจักรสยามให้เป็นสิ่งเคารพนับถือสูงสุดของแผ่นดิน

จากตำนานในชินกาลมาลีปกรณ์นั้นกล่าวว่า พระแก้วมรกตองค์นี้สร้างเมื่อ พ.ศ. ๕๐๐ โดยพระนาคเสนเถระ วัดอโศการามกรุงปาฏลีบุตร ในแผ่นดินพระเจ้ามิลินท์หรือเมนันเดอร์ สืบจากการที่สมเด็จพระอมรินทราธิราช (พระอินทร์) พร้อมกับพระวิสสุกรรมเทพบุตร นำแก้วโลกาทิพยรัตตนายกอันมีรัตนายกดิลกเฉลิม ๑,๐๐๐ ดวงสีเขียวทึบ (แก้วมรกต) มาจำหลักเป็นพระพุทธรูปถวายให้พระนาคเสนถวายพระนามว่า พระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต พระนาคเสนได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุลงไปในพระพุทธรัตนพรรณมณีมรกต ๗ องค์ คือพระโมลี พระนลาฏ พระนาภี พระหัตถ์ซ้าย-ขวา และพระเพลาซ้าย- ขวา เมื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุแล้วอัญเชิญขึ้นประดิษฐานในคราวนั้นได้เกิดเหตุอัศจรรย์แผ่นดินไหวขึ้น พระนาคเสนจึงพยากรณ์ว่าพระแก้วมรกตองค์นี้จะได้เสด็จไปโปรดสรรพสัตว์ในเบญจประเทศคือ ลังกาทวีป กัมโพชะศรีอโยธยาโยนะวิสัย ปะมะหละวิสัย และสุวรรณภูมิ

ต่อมาภายหลังนั้นพระแก้วมรกตองค์นี้ ได้ถูกอัญเชิญไปประดิษฐานในดินแดนต่างๆ หลายแห่งตามคำพยากรณ์และหายไป โดยไม่มีใครได้กล่าวถึงอีก จนมีหลักฐานการพบในสุวรรณภูมิหรือไทยว่า มีการพบครั้งแรกจากเจดีย์วัดป่าญะ ตำบลเวียง เมืองเชียงราย ปัจจุบัน คือวัดพระแก้ว ในคราวนั้นได้เกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าองค์พระเจดีย์เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๗๗ ทำให้พระเจดีย์พังทลายลง จึงพบพระพุทธรูปพอกปูนลงรักปิดทองจึงอัญเชิญประดิษฐานในวิหาร ต่อมาปูนที่พอกอยู่ได้กะเทาะออกตรงบริเวณพระนาสิกจึงเห็นเป็นเนื้อแก้วมรกต เมื่อกะเทาะปูนออกหมดจึงเห็นเนื้อหยกสีมรกตทั้งองค์

พระเจ้าสามฝั่งแกนแห่งเมืองเชียงใหม่ทราบเรื่องการค้นพบพระแก้วมรกตจึงอัญเชิญมาเพื่อประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ แต่ช้างที่อัญเชิญพระแก้วมรกตนั้นกลับเดินทางไปเมืองลำปาง จึงอัญเชิญไว้ที่วัดพระแก้วดอนเต้า จนถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตกลับมาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ แม้จะสร้างวิหารทรงปราสาทเพื่อประดิษฐานให้ก็ถูกฟ้าผ่าอยู่หลายครั้ง ต่อมาพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งล้านช้างซึ่งเป็นญาติกับราชวงศ์ล้านนาได้ครองเมืองเชียงใหม่อยู่ระยะหนึ่ง เมื่อเสด็จกลับหลวงพระบางนั้นได้อัญเชิญพระแก้วมรกตพร้อมกับพระพุทธสิหิงค์ไปด้วยกัน

ต่อมาเมืองเชียงใหม่ขอคืนพระพุทธรูปจึงได้แต่พระพุทธสิหิงค์กลับคืน ส่วนพระแก้วมรกตนั้นเมื่อล้านช้างย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมายังนครเวียงจันทน์จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตไปประดิษฐานที่หอพระแก้ว เมื่อสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง พระองค์ได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบาง มาจากนครเวียงจันทน์ครั้งแรกประดิษฐานที่วัดอรุณราชวราราม

เมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ในรัชกาลที่ ๑ จึงอัญเชิญพระแก้วมรกตลงบุษบกในเรือพระที่นั่งข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชทานนามพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” ส่วนพระบางนั้นได้ส่งคืนกลับให้แก่อาณาจักรล้านช้าง ด้วยเหตุที่พระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปประจำพระราชอาณาจักรจึงสถิตเป็นประธานในพระราชพิธีอยู่ทุกสมัยรัชกาล

เช่น พระราชพิธีตรียัมปวายและตรีปวาย, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชา-วิสาขบูชา-อาสาฬหบูชา, พระราชพิธีศรีสัจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา, พระราชพิธีสงกรานต์, พระราชพิธีฉัตรมงคล, พระราชพิธีพืชมงคล, พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเข้าพรรษา-อุปสมบทนาคหลวง, พระราชพิธีบรมราชาภิเษก, พระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพล, พิธีจารึกพระสุพรรณบัฏดวงพระราชสมภพและแกะพระราชลัญจกร, พระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก, พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรตามกำหนดการดังนี้ เครื่องทรงฤดูร้อน ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ เครื่องทรงฤดูฝน ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หรือปีอธิกมาส จะเลื่อนเป็นวันแรม ๑ ค่่ำ เดือน ๘ หลัง ซึ่งตรงกับวันเข้าพรรษาของทุกปี เครื่องทรงฤดูหนาว ทรงเปลี่ยน วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นประจำทุกปีฤดูกาล

ด้วยความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธรูปหนึ่งเดียวที่สร้างด้วยศิลปกรรมงดงามนั้น ได้ทำให้พระแก้วมรกต องค์นี้เป็นสิ่งเคารพนับถือของปวงชนชาวไทยได้กราบไหว้สักการะสืบต่อกันมาและยังนำพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้ได้ชื่นชมสีสัน ความงดงามแห่งพระพุทธรูปและสถาปัตยกรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนนำรายได้เข้าสู่ประเทศมาจนทุกวันนี้


Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0