สจล. ผนึก ธ.กรุงไทย ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิด “Creator Space (NEXT)” ศูนย์นวัตกร – สตาร์ทอัพ ครบวงจร จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พร้อมเปิดบริการฟรี สิงหาฯ นี้

กรุงเทพฯ 4 กรกฎาคม 2562 – สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย ทรู ดิจิทัล พาร์ค และองค์กรร่วมกว่า 10 องค์กร ร่วมเปิดตัว “Creator Space (NEXT)”  แหล่งพัฒนานวัตกร-สตาร์ทอัพ ครบวงจร จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่มาพร้อม 6 ฟังก์ชันการให้บริการ ได้แก่ ด้านนวัตกรสัมพันธ์ ด้านพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรม ด้านชุมชนดิจิทัล ด้านความรู้และเทคนิคจากพาร์ทเนอร์ ด้านความร่วมมือกับภาครัฐ และด้านการสนับสนุนทางการเงิน นำร่องสร้างนวัตกรรมการเงิน บนพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของนวัตกร ผ่านการเวิร์คชอประบบออนไลน์และคลาสรูม โดยจะเปิดให้บริการในเดือนสิงหาคมนี้ พร้อมกันนี้ สจล. ยังได้เผยเทรนด์ธุรกิจดิจิทัลดาวรุ่ง 4 กลุ่ม แห่งปี 2563 คือ กลุ่มฟินเทคและเทคโนโลยีบล็อกเชน กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ กลุ่มโรโบติกและเอไอ และกลุ่มสมาร์ทซิตี้ สู่การพัฒนาชุมชนผู้ประกอบการ บนพื้นที่ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัล ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมเปิดให้บริการฟรี สิงหาคมนี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ สจล. ธนาคารกรุงไทย ทรู ดิจิทัล พาร์คและพาร์ทเนอร์กว่า 10 แห่ง ได้ร่วมเปิด Creator Space (NEXT) ดังกล่าว ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ ทรูดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ

creator space next 5

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlofficial

creator space next ศ.ดร.สุชัชวีร์ 2

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สจล. โดยสำนักวิจัยและนวัตกรรมพระจอมเกล้าลาดกระบัง (KRIS) ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย (KTB) ทรู ดิจิทัล พาร์ค และพาร์ทเนอร์กว่า 10 ราย อาทิ บริษัท บริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด บีทูเอส จำกัด แอมาซอน เว็ปเซอร์วิส แห่งเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (Asia Pacific and Japan Amazon Web Services) กลุ่มบริษัทในเครือเซนทรัล เป็นต้น จัดตั้ง “Creator Space (NEXT)” แหล่งพัฒนานวัตกร – สตาร์ทอัพ ครบวงจร จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้คำปรึกษาและบ่มเพาะนวัตกร สู่การเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ เพื่อสร้างชุมชนนวัตกรผู้ประกอบการขึ้นในประเทศ ผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของเทคโนโลยี ทั้งด้านการวิจัย การให้ความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การแนะนำการประกอบธุรกิจ การขอสิทธิบัตร และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ เป็นต้น โดยศูนย์ที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดให้บุคคลที่สนใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม เข้าใช้พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฟรี ตั้งแต่เดือนสิงหาคมนี้ เป็นต้นไป อาทิ การเสวนาด้านโรโบติกและเอไอในเดือนสิงหาคม การเวิร์คชอปด้านโดรนในเดือนตุลาคม เป็นต้น

creator space next 7

“Creator Space (NEXT)” ได้ถูกจัดให้เป็นพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ของนวัตกร ผ่านรูปแบบ การเวิร์คชอป การอบรมออนไลน์ เสวนา และคลาสรูม เป็นต้น และมีฟังก์ชันการบริการใน 6 ด้าน ได้แก่

  • ด้านนวัตกรสัมพันธ์ (Human Resources) พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษา นักวิจัย และผู้ที่สนใจ กับนวัตกรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาสู่สตาร์ทอัพในภาคธุรกิจดิจิทัล
  • ด้านพื้นที่สร้างสรรค์และกิจกรรม (Maker Space and Offline Activities) พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานและนวัตกรรม การเวิร์คชอป การเทรนนิ่ง การแข่งขันสร้างสรรค์ไอเดีย หรือแฮกคาร์ธอน (Hackathon) เป็นต้น
  • ด้านชุมชนดิจิทัล (Online Community) พื้นที่ในการสร้างแบรนด์ และพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ผ่านการสนับสนุนจากเครือข่ายในชุมชนดิจิทัล และการแข่งขันทางธุรกิจในโลกออนไลน์
  • ด้านความรู้และเทคนิคจากพาร์ทเนอร์ (Knowledge & Technical Partners) พื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้และวิธีการสร้างสรรค์ ระหว่างพาร์ทเนอร์และนวัตกร นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจดิจิทัล
  • ด้านความร่วมมือกับภาครัฐ (Government) การสนับสนุนเงินทุนในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อกระตุ้นการลงทุนในโครงการสตาร์ทอัพ ส่งเสริมธุรกิจดิจิทัลรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • ด้านการสนับสนุนทางการเงิน (Financial Support) การสนับสนุนทางการเงิน และการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับองค์กรภาคเอกชน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมต่อยอดเศรษฐกิจ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า สำหรับเทรนด์ข้อมูลธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคตในปี 2563 ที่จะได้รับความนิยมสูงแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มฟินเทคและเทคโนโลยีบล็อกเชน (Fintech and Blockchain) นวัตกรรมทางการเงินที่จะมาปฏิวัติระบบการเงินทั่วโลก การจัดการความเสี่ยงทางการเงินและความปลอดภัยในโลกดิจิทัล การมีผู้ช่วยเสมือนจริงทางการเงิน และความมั่งคั่งของคนรุ่นใหม่ กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (Smart Healthcare) ระบบเทเลเมดีซีน (Telemedicine) และคลาวด์ จัดเก็บข้อมูลการรักษาทางการแพทย์ อินเทอร์เน็ตออฟติงทางการแพทย์ (the Internet of Medicine Things – IoMT) การใช้ระบบเอไอ (AI) ในกระบวนการรักษา เป็นต้น กลุ่มโรโบติกและเอไอ (Robotic and AI) การพัฒนาเทคโนโลยีสู่ระบบอัตโนมัติทางการพิมพ์ในภาษาต่างๆ เพื่อเช็คความถูกต้อง การพัฒนาการใช้ประโยชน์หุ่นยนต์ในบ้านและสำนักงาน เป็นต้น กลุ่มสมาร์ทซิตี้ (Smart City) การพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี รองรับการใช้ชีวิตของคนเมือง การทำธุรกิจในโลกดิจิทัล ระบบขนส่งสาธารณะและการสื่อสารที่จะพัฒนาสู่ 5G ในอนาคตอันใกล้ เป็นต้น

creator space next นายผยง 3

ด้าน นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ กรรมการบริหาร และกรรมการกำกับดูแลความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะสถาบันทางการเงิน เห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยี ที่เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ ฟินเทค (Fintech) มีอิทธิพลในระบบการเงินทั่วโลก ธนาคารกรุงไทย ได้สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะนวัตกรผู้ประกอบการขึ้น เพื่อเปิดพื้นที่ในการสร้างสรรค์ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มนักนวัตกร พร้อมผสานนวัตกรรมการเงินดิจิทัล อาทิ เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Face Recognition) นวัตกรรมการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีการใช้เอไอ (AI) สื่อสารในภาษาต่างๆ เป็นต้น ทั้งนี้ การสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว จะนำมาสู่การพัฒนาบุคลากรของประเทศ ตอกย้ำเจตนารมณ์ของธนาคารในการก้าวสู่ Invisible Banking และเป็นโอกาสที่ธนาคารจะได้ร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรชั้นนำร่วมสร้างนวัตกรรมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่  โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนและเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ให้กับนวัตกรรมสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมในทุกรูปแบบ พร้อมกับการเป็นผู้บริหารกิจการ หรือผู้ประกอบการที่มีความสามารถ นำไปสู่โอกาสในการแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับสากลต่อไป

creator space next นายฐนสรณ์ 4

ด้าน นายฐนสรณ์ ใจดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า ทรู ดิจิทัล พาร์ค ศูนย์กลางด้านนวัตกรรมดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ สจล. พร้อมด้วยเหล่าพันธมิตรชั้นนำ ที่มีความเชี่ยวชาญจัดตั้ง Creator Space (NEXT) ศูนย์นวัตกรผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่จะ ความร่วมมือในการสร้างศูนย์ดังกล่าวเป็นอีกมิติหนึ่งที่สำคัญ ของการพัฒนาชุมชนผู้ประกอบการ และเติมเต็มระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์แบบ ให้ครบวงจร ผ่านกิจกรรมด้านเฮกคาร์ทอน (Hackathon) หรือ การระดมสมองด้านไอทีผ่านการดีไซน์ การสร้างสรรค์ เป็นต้น ด้านสตาร์ทอัพ และด้านการพัฒนานวัตกรรมระหว่างประเทศ สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการสร้าง พื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมดิจิทัล ภายใต้แนวคิด Open Innovation ที่เป็นศูนย์รวมบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ เหล่าสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการ นักลงทุน มหาวิทยาลัย และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งยังเพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ที่รองรับทั้งการทำงานและการใช้ชีวิต ในยุคดิจิทัลได้อย่างลงตัว ท่ามกลางบรรยากาศที่เอื้อต่อการพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แบ่งปันความรู้ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างไม่รู้จบ เชื่อมั่นว่า Creator Space (NEXT) จะช่วยสร้างนวัตกรไทยหน้าใหม่ให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในเวทีโลก เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

creator space next 6

ทั้งนี้ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ธนาคารกรุงไทย ทรู ดิจิทัล พาร์ค และพาร์ทเนอร์กว่า 10 แห่ง ได้ร่วมกันจัดตั้ง “Creator Space (NEXT)” เพื่อบ่มเพาะและให้คำปรึกษานวัตกร สู่การเป็นผู้ประกอบการ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัล เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค สุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8111 เว็บไซต์ www.kmitl.ac.th หรือ www.facebook.com/kmitlofficial

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0