พช. พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.)

พช. พัฒนาระบบจัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ใช้เป็นฐานข้อมูลกลาง สร้างความสุขให้กับพี่น้องประชาชน

community development department 35285

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เป็นประธานเปิดกิจกรรม “จปฐ. UPDATE : HAPPINESS FOR ALL 2019” ณ ห้องสัมมนา 3003 ชั้น 3 กรมการพัฒนาชุมชน ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

คณะกรรมการพัฒนาชนบทแห่งชาติ (กชช.) มอบหมายให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จัดเก็บข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) 76 จังหวัดเป็นประจำทุกปี ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลา 29 ปี โดยมีการปรับปรุงข้อคำถามและเครื่องชี้วัดให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทุก 5 ปี ข้อมูล จปฐ. เป็นข้อมูลที่มีขนาดใหญ่ ทันสมัย เพราะจัดเก็บทุกปี และครอบคลุมทุกสภาพความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนทุก ๆ ด้าน สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่จะให้ทุกกระทรวงวิเคราะห์ Big Data ของหน่วยงานตนเองเพื่อให้ทราบว่าสิ่งใดสำคัญ สิ่งใดต้องแก้ไข สิ่งใดต้องทำก่อนทำหลัง และสิ่งใดต้องเร่งพัฒนาให้ครอบคลุมทุกมิติ (เศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคง) โดยอาศัยเหตุและผลของข้อมูล รวมถึงบริบทของพื้นที่นั้น ๆ เป็นฐานในการวิเคราะห์เพื่อดำเนินการ ข้อมูล จปฐ. จึงเป็นข้อมูลที่ตอบโจทย์การขับเคลื่อนนโยบายลดความเหลื่อมล้ำ และการแก้ไขปัญหาความยากจนของประชาชน เห็นได้จากการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลได้ใช้ข้อมูล จปฐ. เป็นฐานในการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2562 กรมการพัฒนาชุมชน ได้มีการจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2561 ถึงเดือน มีนาคม 2562 โดยมีอาสาสมัครลงพื้นสอบถามข้อมูลตามครัวเรือนเป้าหมาย จำนวน 12,935,000 ครัวเรือน

community development department 142730

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้นำข้อมูล จปฐ.กับข้อมูลผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ มายืนยันกันระหว่าง คนที่ได้รับการสำรวจว่าจน (survey-based) และคนที่มาลงทะเบียนว่าจน (register-based) นอกจากนี้ข้อมูล จปฐ. ยังเป็นเครื่องมือช่วยชี้เป้า ว่าปัญหาคืออะไร อยู่ตรงไหน ทำให้แก้ปัญหาได้ตรงจุดและรวดเร็วขึ้น เป็นข้อมูลกลางของประเทศ ที่นำไปยึดถือ ใช้อ้างอิงได้ ทำให้หน่วยงานรัฐโปร่งใส่ มีธรรมาภิบาลสำหรับการดำเนินการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ปี 2562 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) แบ่งเป็น 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย

หมวดที่ 1 สุขภาพ มี 7 ตัวชี้วัด
1. เด็กแรกเกิดมีน้ำหนัก 2,500 กรัม ขึ้นไป
2. เด็กแรกเกิด ได้กินนมแม่อย่างเดียวอย่างน้อย 6 เดือนแรกติดต่อกัน
3. เด็กแรกเกิดถึง 12 ปี ได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค
4. ครัวเรือนกินอาหารถูกสุขลักษณะ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน
5. ครัวเรือนมีการใช้ยาเพื่อบำบัด บรรเทาอาการเจ็บป่วยเบื้องต้นอย่างเหมาะสม
6. คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี
7. คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที

หมวดที่ 2 สภาพแวดล้อม มี 7 ตัวชี้วัด
8. ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และบ้านมีสภาพคงทนถาวร
9. ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน
10. ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน
11. ครัวเรือนมีการจัดบ้านเรือนเป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และถูกสุขลักษณะ
12. ครัวเรือนไม่ถูกรบกวนจากมลพิษ
13. ครัวเรือนมีการป้องกันอุบัติภัยและภัยธรรมชาติอย่างถูกวิธี
14.ครัวเรือนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

หมวดที่ 3 การศึกษา มี 5 ตัวชี้วัด
15. เด็กอายุ 3 – 5 ปี ได้รับบริการเลี้ยงดูเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
16. เด็กอายุ 6 -14 ปี ได้รับการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี
17. เด็กจบชั้น ม.3 ได้เรียนต่อชั้น ม.4 หรือเทียบเท่า
18. คนในครัวเรือนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ
19. คนอายุ 15 – 59 ปี อ่าน เขียนภาษาไทย และคิดเลขอย่างง่ายได้

หมวดที่ 4 การมีงานทำและรายได้ มี 4 ตัวชี้วัด
20. คนอายุ 15 – 59 ปี มีอาชีพและรายได้
21. คนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้
22. รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี (38,000 บาท/คน/ปี)
23. ครัวเรือนมีการเก็บออมเงิน

และหมวดที่ 5 ค่านิยม มี 8 ตัวชี้วัด
24. คนในครัวเรือนไม่ดื่มสุรา
25. คนในครัวเรือนไม่สูบบุหรี่
26. คนอายุ 6 ปีขึ้นไป ปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
27. ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
28. ผู้พิการ ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
29. ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน
30. ครัวเรือนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมสาธารณะเพื่อประโยชน์ของชุมชน หรือท้องถิ่น
31. ครอบครัวมีความอบอุ่น

community development department 514293771

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการพัฒนาชุมชน และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) : CAT ได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการจัดทำระบบสำรวจจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ในรูปแบบดิจิทัล (Digital Survey) โดยการนำเทคโนโลยีโมบายล์แอปพลิเคชั่น (Mobile Application), คลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติการด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อใช้งานสำรวจและจัดเก็บข้อมูลภาคสนามได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

community development department 5

โดยในปี 2562 ได้มีการนำร่องจัดเก็บข้อมูลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเริ่มจัดเก็บช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ และคาดว่าระบบนี้จะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2564 ดังนั้น ข้อมูล จปฐ. ที่ถูกต้องเป็นจริงนั้นเป็นสิ่งสำคัญสุด โดยตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2561 ถึงเดือน มีนาคม 2562 นี้ จะมีอาสาสมัครลงพื้นที่ทั่วประเทศไปเคาะประตูบ้านท่านเพื่อสอบถาม และจัดเก็บข้อมูล จปฐ. ข้อมูลที่ได้จะไม่กระทบสิทธิ์ใดๆ ของท่าน ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านและครอบครัว จึงอยากเชิญชวนพี่น้องประชาชนได้ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมา บนหลักคิดที่ว่า “ร่วมพัฒนาประเทศไทย ร่วมให้ข้อมูล จปฐ.ที่เป็นจริง” ครับ

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0