สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

ปราบดาภิเษกราชวงศ์จักรี
ปราบดาภิเษกราชวงศ์จักรี

จากประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากการสถาปนาตั้งหลักเมืองและเริ่มการสร้างพระนครขึ้นใหม่แล้ว ในพิธีปราบดาภิเษก พระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ เป็นพระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงค์จักรี เมื่อวันที่ ๑๐-๑๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น พระปฐมกษัตริย์มีพระนามเรียกในครั้งแรกคือ พระเจ้าอยู่หัวแผ่นดินต้น ทรงมีพระนาม สมเด็จพระรามาธิบดินทร

พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี-รัชกาลที่๑
พระปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี-รัชกาลที่ ๑

ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ได้มีการถวายพระนามตามพระพุทธรูปทรงเครื่องที่สร้างอุทิศถวายว่า “พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนาถนเรศวรราชวิวัฒวงศ์ ปฐมพงศาธิราช รามาธิบดินทร สยามพิชิตตินทรวโรดม บรมนารถบพิตร พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก” จึงเรียกพระนามต่อมาว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑

พิธีปราบดาภิเษก
พิธีปราบดาภิเษก

ในพิธีปราบดาภิเษกเมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๒๕ ก่อนการสถาปนาราชวงศ์จักรีนั้น ได้สถาปนาพระอัฐิของพระชนกนาถ (ทองดี) ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ พระปฐมกษัตริย์ ซึ่งเป็นขุนนางสมัยอยุธยาในตำแหน่ง พระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) นั้นขึ้นเป็น “สมเด็จพระชนกาธิบดี” พระปฐมราชวงศ์จักรีขึ้นก่อนแล้วจึงมี พระราชาภิเษก พระอุปราชาภิเษก และสถาปนาพระราชวงศานุวงศ์ให้มีอิสริยศักดิ์ในราชตระกูลเป็นเจ้าฟ้า ๑๙ พระองค์

พระบรมรูป-สมเด็จพระปฐมชนกนาถ (ทองดี) แห่ง ร.๑
พระบรมรูป-สมเด็จพระปฐมชนกนาถ (ทองดี) แห่ง ร.๑

สมเด็จพระชนกาธิบดีหรือสมเด็จพระปฐมบรมชนก (ทองดี) ประสูติในสมัยอยุธยา ณ ลุ่มน้ำสะแกกรัง เมืองอุไทยธานีเก่า เป็นบุตรคนเดียวของจมื่นมหาสนิท (ทองคำ) มหาดเล็กคนสนิทของเจ้าฟ้าเพชร ในแผ่นดินพระเจ้าศรีสรรเพชญ์ที่ ๘ (พระเจ้าเสือ) ต่อมาบิดาได้รับราชการในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ (พระเจ้าศรีสรรเพชญ์ที่ ๙) มีตำแหน่งเป็น พระยาราชนกูล ปลัดทูลฉลอง กรมมหาดไทย และตั้งบ้านเรือนอยู่ภายในพระนครกรุงศรีอยุธยาเหนือป้อมเพชร (บริเวณวัดสุวรรณดารามในปัจจุบัน)

เจ้าพระยาโกษาปาน
เจ้าพระยาโกษาปาน

บรรพบุรุษของตระกูลนั้นสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์สุโขทัย กล่าวคือ พระธิดาของสมเด็จพระเอกาทศรถ ซึ่งแต่งงานกับบุคคลเชื้อสายพระยาพระราม ขุนนางมอญ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๑๒๖ นั้นมีเชื้อสายสืบตระกูลต่อมาจนถึงเจ้าแม่วัดดุสิต (หม่อมบัว) ผู้เป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) พระคลัง แจ่ม พระสนมในสมเด็จพระนารายณ์ฯ และออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) ราชทูต ซึ่งมีฐานะเป็นพระนมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) โดยเฉพาะเมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ ออกพระวิสุทธสุนทร (ปาน) นั้นได้เป็นหัวหน้าคณะราชทูตเดินทางไปถวายพระราชสาส์นของสมเด็จพระนารายณ์ฯ ยังราชสำนักของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส สร้างชื่อเสียงเป็นอย่างมาก ต่อมาออกพระวิสุทธสุนทร ได้เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) มีบุตรชายและลูกหลานรับราชการตามลำดับดังนี้ ขุนทอง บุตรชายคนโตได้เป็น ออกญาพระอัษฎาเรืองเดชและเจ้าพระยาวรวงศาธิราช (ขุนทอง) กรมพระคลัง ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเสือ (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๒๔๖-๒๒๕๑) และมีหลานชื่อ ทองคำ ผู้เป็นบุตรชายของเจ้าพระยาวรวงศาธิราช (ขุนทอง) นั้น ได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นหัวหมื่นมหาดเล็กในเจ้าฟ้าเพชรและออกมาตั้งบ้านอยู่ที่แม่น้ำสะแกกรัง

ตำบลบ้านสะแกกรัง
ตำบลบ้านสะแกกรัง

ซึ่งเป็นท่าสำหรับลำเลียงสินค้าจากเมืองอุไทยธานีเก่า (บ้านสะแกกรังนั้นตั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓) และมีบุตรชายคือนายทองดี ต่อมาได้ถวายตัวเข้ารับราชการอยู่ที่มหาดไทย ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ (ครองราชย์ พ.ศ.๒๒๗๖-๒๓๐๑) มีความชอบเป็น “หลวงพินิจอักษร” และพระอักษรสุนทรศาสตร์ ตำแหน่งเสมียนตรากรมมหาดไทย ตามลำดับ สุดท้ายได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระชนกาธิบดี พระปฐมราชวงศ์จักรี ดังกล่าว

พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวัง
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อพระนครสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว รัชกาลที่ ๑ จึงโปรดฯ ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกโดยสมบูรณ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งในพุทธศักราช ๒๓๒๘ นับเป็นสีสันราชประเพณีโบราณที่ยังรักษารูปแบบมาจนทุกวันนี้

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0