อธิบดี พช. ย้ำ ก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2562 เน้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

อธิบดี พช. ย้ำ ก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2562 เน้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน หนุน OTOP นวัตวิถี กระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสุขมวลประชาชน

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดบ้าน พช. พบปะสื่อมวลชนพร้อมเน้นย้ำก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2562 เน้น มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ต่อยอดตลาดประชารัฐ และ OTOP นวัตวิถี เน้นการทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข เพื่อกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความสุขมวลรวมประชาชน

CDD 74678276

วันนี้ (25 ม.ค. 61) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดบ้านกรมการพัฒนาชุมชนให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ประเด็น “อธิบดี พช. เล่าขานงาน พช. ก้าวย่างปี 2562” ณ ห้องประชุม 5001 ชั้น 5 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ

นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้วางแนวทาง “ก้าวย่างกรมการพัฒนาชุมชน ปี 2562” เพื่อการดำเนินงานไว้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางหลัก ได้แก่ “ก้าวย่างพื้นฐาน” จะเน้นการขับเคลื่อน “หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อพัฒนาให้ชุมชนมีความ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ด้วยการสร้างความ “มั่นคง” ผ่านกิจกรรมจิตอาสาในหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงทั้งประเทศ “ทำความดีด้วยหัวใจ” การมีแผนชุมชนที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ การบริหารจัดการขยะ โดยร่วมมือกับหน่วยงานหลักขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะอย่างจริงจัง การจัดทำบัญชีครัวเรือน เน้นไปที่การสร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้จักการกำหนดเป้าหมายในครัวเรือน ขณะที่การสร้างความ “มั่งคั่ง” จะส่งเสริมการสร้างสัมมาชีพชุมชน โดนพิจารณาจากข้อมูลครัวเรือนตกเกณฑ์ พัฒนาอาชีพให้แก่คนกลุ่มนี้เพื่อให้เกิดรายได้ การพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ และการส่งเสริมการออม ขณะที่การสร้างความ “ยั่งยืน” จะมุ่งเน้นการแก้ปัญหาครัวเรือนยากจนตามเป้าหมายของ UN การส่งเสริมหมู่บ้านปลอดยาเสพติด และการสนับสนุนกองทุนสวัสดิการชุมชน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงในชีวิตให้กับคนในชุมชน โดยตัวชี้วัดที่แสดงผลสำเร็จในก้าวย่างพื้นฐานนี้คือ ความสุขมวลรวมของประชาชนที่เกิดขึ้น (GVH)

ขณะที่ “ก้าวย่างการพัฒนา” จะมุ่งเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP ให้มี “คุณภาพ มาตรฐาน ก้าวสู่ความเป็นสากล” โดย “คุณภาพ” คือ ถ้าเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์ต้องสะอาด ปลอดภัย No Foam ถ้าเป็นประเภทผ้า ผลิตภัณฑ์ต้องมีดีไซน์ทันสมัย Mix & Math มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย ถ้าเป็นของที่ระลึก ต้องเล็ก ดี มีคุณภาพ ดู Inter เป็นที่ยอมรับ พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีโรงเรียน OTOP Academy สอนพื้นฐานการพัฒนา “มาตรฐาน” คือ ส่งเสริมความเป็นอัตลักษณ์ และมีมาตรฐานด้านต่าง ๆ อาทิ อย. มผช. GI การพัฒนาสินค้าด้วยวิทยาศาสตร์ เป็นต้น รวมไปถึงการส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ OTOP ด้วย ส่วน “การก้าวสู่ความเป็นสากล” จะเข้มข้นขึ้นในการนำเสนอขยายโอกาสด้านการตลาดสินค้า OTOP ในตลาดต่างประเทศ อาทิ OTOP on board Modern trade e-Commerce ตลาดประชารัฐ อีกทั้งยังสนับสนุน “ชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี” นำเสนอภาพความสำเร็จของโครงการที่ก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชนและเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ส่วน “ก้าวย่างแห่งความยั่งยืน” คือแนวทางการพัฒนางานให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ทั้งการสร้างความร่วมมือ (MOU) กับหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนงานกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม และเกิดนวัตกรรมในการทำงาน การดำเนินงานเกี่ยวกับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (SE) เพื่อต่อยอดชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี รวมถึงการส่งเสริมการตลาด ในรูปแบบ e-Commerce เพื่อขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยียุคใหม่

CDD 74670092

อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี เพิ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรก นับว่าภาพรวมความสำเร็จอยู่ในระดับที่ค่อนข้างน่าพอใจ เพราะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ว่าในบางชุมชนยังมีปัญหาติดขัดอยู่บ้าง แต่กรมฯ ก็เร่งดำเนินการเพื่อให้ทุกชุมชนหมู่บ้านสามารถขับเคลื่อนโครงการนี้ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยเฉพาะชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี 50 ชุมชนต้นแบบระดับประเทศ และ 110 ชุมชนระดับจังหวัด ที่กรมฯ ได้ดำเนินการเชื่อมประสานทุกภาคส่วนในการต่อยอดให้ชุมชนเหล่านี้เกิดการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางส่งเสริมการสร้างความสุขให้แก่ทุกชุมชนได้อย่างชัดเจน

ดังตัวอย่างความสำเร็จของชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในพื้นที่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว อาทิ ชุมชนบ้านแพะ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ที่มีผู้ได้รับประโยชน์กว่า 80 ครัวเรือน จากการจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP และกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน นอกจากนี้ ยังมีบ้านดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ที่เน้นการจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น และสินค้า OTOP มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินทางไปเยี่ยมชมทุกสัปดาห์ สร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่ บ้านป่าตาล อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีการจำหน่ายอาหารพื้นถิ่น สินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ OTOP และบริการที่พักโฮมสเตย์ รวมผู้รับประโยชน์ 46 ครัวเรือน ส่วนที่บ้านแม่แจ๋ม อ.เมืองปาน จ.ลำปาง มีรายได้เกิดขึ้นจากผลิตภัณฑ์ OTOP ร้านค้าชุมชน บริการที่พักโฮมสเตย์ และการให้บริการต่างๆ ในชุมชน มีผู้ได้รับประโยชน์มากถึง 181 ครัวเรือน

นอกจากนี้ กรมการพัฒนาชุมชนอยู่ระหว่างการหารือกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) หรือธุรกิจการจัดประชุมและแสดงนิทรรศการให้เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจ บนพื้นฐานความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม โดยเชื่อว่าจะสามารถเชื่อมโยงผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ที่มีอยู่ทั่วประเทศเข้าร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ เพื่อนำเสนอสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“การทำงานของบุคลากรกรมการพัฒนาชุมชนในขณะนี้เน้นเรื่อง “การทำงานเป็นทีมอย่างมีความสุข” โดยจะต่อยอดการดำเนินงานของตลาดประชารัฐ และชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ซึ่งกรมฯได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล ให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานดังกล่าวที่สามารถก่อให้เกิดการกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ กรมฯ จะดำเนินการต่อเนื่องเพื่อบำรุงสุขให้แก่ประชาชนทุกชุมชนหมู่บ้าน นอกจากนี้ เรามีบุคลากรของกรมที่ทำงานใกล้ชิดกับชาวบ้านในชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ และทุกคนพร้อมยืนเคียงข้างและก้าวเดินไปกับประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อสร้างความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว/ชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพราะความสุขของประชาชน คือเป้าหมายสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวทิ้งท้ายอย่างมุ่งมั่น

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0