สีสัน…พรรณไม้ภูพิงคราชนิเวศน์

เรื่องและภาพโดย อ.พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ

bhubingpalace 1

พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ได้พระราชนิพนธ์ทำนองเพลงเพลินภูพิงค์ ซึ่งท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ได้ประพันธ์คำร้องให้เห็นภาพอันสวยงามไว้ตอนหนึ่งว่า “ตามหุบผาพงไพรได้มาเห็นภูพิงค์ แพรวพราย สวยจริงดอกไม้สะพรั่งบานทั้งปี ดูหลากสีเรียงราย โชยกลิ่นหอมอวลอบชื่นใจ ดุจจะลอยฟ้าดั่งทิพย์วิมานทอง”

bhubingpalace 10

ความประทับใจจากเพลงพระราชนิพนธ์นี้ ทำให้หลายคนปรารถนาที่จะได้เยี่ยมเยียน ภูพิงคราชนิเวศน์ ที่ดอยภูพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งในฤดูหนาวนั้น กลุ่มสายหมอกจะลอยพาดผ่านยอดดอยพระตำหนักแห่งนี้ ซึ่งมีหมู่มวลดอกไม้นานาพันธุ์ที่งดงามโดยเฉพาะดอกกุหลาบหลากหลายสี ที่จะพบได้ยากจากที่แห่งใดในผืนแผ่นดินไทย นอกจาก “พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์”

bhubingpalace 5

ในยามที่คนไทยทั้งประเทศพากันอาลัยถึงการสวรรคตและระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดไม่ได้นั้น หลายคนได้ใช้โอกาสเยี่ยมชมสถานที่สำคัญจากการทรงงานโครงการหลวงและโครงการพระราชดำริในที่ต่างๆ มากขึ้น จนพากันตั้งปฏิญาณว่าจะเจริญรอยตามพระองค์อย่างไม่มีข้อสงสัยได้เลย ด้วยผลประจักษ์ที่พระองค์ทรงงานหนักมาตลอดนั้น ได้ทำให้ประชาชนมีความสุขสบายและดำรงอยู่ตามที่พระองค์ทรงสอนให้รู้จักพอเพียงเลี้ยงตัวเอง และนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการสร้างตนสร้างชีวิตให้มีความมั่นคงดำรงอยู่ได้ตามอัตภาพ

bhubingpalace 11

โดยพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ ซึ่งเป็นพระตำหนักแห่งแรกตั้งอยู่บนดอยบวกห้า ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ความสูงจากระดับน้ำทะเล ๑,๓๗๓.๑๙๗ เมตร มีพื้นที่โดยรอบพระตำหนักประมาณ ๔๐๐ ไร่ นั้น แบ่งเป็นบริเวณที่ เปิดให้นักท่องเที่ยว ได้ชื่นชมประมาณ ๒๐๐ ไร่

bhubingpalace 10

“ดอยบวกห้า” ในคำพื้นเมืองนั้น หมายถึงภูเขาที่มีหนองน้ำและต้นหว้า คำว่า “บวก” หมายถึง หนองน้ำ ห้า หมายถึง ต้นหว้า ซึ่งเป็นยอดดอยที่มีหนองน้ำอุดมไปด้วยต้นหว้าขึ้นปกคลุมทั่วบริเวณหนองน้ำนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔

bhubingpalace 6

พระราชทานนามพระตำหนักองค์นี้ว่า ภูพิงคราชนิเวศน์ โดยทรงเลือกชื่อจากชื่อที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อครั้งเป็นที่ พระศาสนโสภณ เป็นผู้คิดชื่อถวาย คือ “พิงคัมพร” กับ “ภูพิงคราชนิเวศน์” พระตำหนักแห่งนี้จึงเป็นสถานที่แห่งแรกที่พระองค์ ทรงสร้างขึ้นสำหรับใช้เป็นที่ประทับในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนิน แปรพระราชฐานมาประทับแรม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทรงงาน และเยี่ยมเยียนราษฎรในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือ

bhubingpalace 2

รวมทั้งเพื่อรับรองพระราชอาคันตุกะที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทยในโอกาสต่างๆ การที่พระองค์ทรงเลือกสร้างที่จังหวัดเชียงใหม่นั้น เนื่องจากเป็นสถานที่ที่มีอากาศเย็นสบาย ภูมิประเทศสวยงาม อีกทั้งเป็นสถานที่ตั้งของเมืองหลวงของราชวงศ์กษัตริย์โบราณมาก่อน ซึ่งยังมีกลุ่มชาติพันธ์และพลเมืองดำรงจารีตขนบธรรมเนียม ประเพณีของตนไว้เป็นอย่างดี

bhubingpalace 8

พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ นั้นลักษณะเป็นเรือนไทยภาคกลางเรียกว่า “เรือนหมู่” ซึ่งมีรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณีประยุกต์ ก่ออิฐถือปูน ยกพื้นสูงหลังคาทรงไทย ภายในประกอบไปด้วยท้องพระโรง ห้องเสวย ห้องบรรทม และห้องสรง สำหรับพระราชอาคันตุกะ ตั้งอยู่คนละด้าน มีเฉลียงใหญ่ และพลับพลาหอนกเป็นที่ประทับทอดพระเนตรทัศนียภาพของเมืองเชียงใหม่ ชั้นบนเป็นที่ประทับ ชั้นล่างเป็นที่อยู่ของมหาดเล็ก และคุณข้าหลวง

bhubingpalace 7

ออกแบบแปลนโดยหม่อมเจ้า สมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษ กรมศิลปากร ออกแบบรูปด้าน โดยหม่อมราชวงศ์ มิตรารุณ เกษมศรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สำนักงานทรัพย์สิน ส่วนพระมหากษัตริย์ดำเนินการก่อสร้าง ปัจจุบันได้รับการดูแลเป็นอย่างดี ซึ่งมีการจัดสวนพรรณไม้นานาพันธ์และกุหลาบ..นับเป็นสีสันของการเที่ยวพักผ่อนที่สำคัญของภาคเหนือที่ทุกคนไม่ควรพลาด

bhubingpalace 3

Share This Post:Share on Facebook0Share on Google+0Tweet about this on TwitterShare on LinkedIn0